Skip to main content
sharethis

สปสช.ปรับเกณฑ์จ่ายชดเชยค่าบริการ Home Isolation และ Community Isolation โรงพยาบาลไหนมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่นๆสนับสนุนค่าอาหารให้ผู้ป่วย ให้เบิกได้วันละ 600 บาท แต่ถ้าโรงพยาบาลเป็นผู้จัดอาหารให้ผู้ป่วยเอง ให้เบิกได้วันละ 1,000 บาทเหมือนเดิม พร้อมเพิ่มรายการจ่ายค่าออกซิเจนให้อีกวันละ 450 บาท

สปสช.ปรับเกณฑ์จ่ายค่าอาหาร Home Isolation พร้อมเพิ่มค่าออกซิเจนวันละ 450 บาท

22 ส.ค. 2564 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2564 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดประชุมชี้แจงระบบการจ่ายชดเชยบริการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้าน (Home Isolation) และการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดในระบบชุมชน (Community Isolation) สำหรับผู้มีสิทธิหลักประกันหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผ่านระบบ Zoom meeting โดยมีผู้แทนโรงพยาบาลต่างๆเข้าร่วมประชุมหลายพันคน  

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เดิมที สปสช.จ่ายค่าดูแลรักษาใน Home Isolation หรือ Community Isolation แบบเหมาจ่าย 1,000 บาท/วัน โดยเป็นค่าใช้จ่ายที่รวมอาหาร 3 มื้อ ค่าติดตามประเมินอาการ ให้คำปรึกษา และค่ายาพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม หลังจากใช้หลักเกณฑ์นี้ไปได้ระยะหนึ่งมีเสียงสะท้อนกลับมาว่าในพื้นที่ต่างจังหวัดส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนอาหารจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้เกิดการเบิกจ่ายค่าอาหารที่ซ้ำซ้อนกับ สปสช. และมีข้อเสนอให้แยกค่าใช้จ่ายในการให้บริการโดยไม่รวมค่าอาหาร  

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ สปสช.จึงมีการปรับหลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยค่าบริการให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป จะมีการเปลี่ยนแปลงในกรณีที่หน่วยบริการไม่สามารถจัดอาหารให้ผู้ป่วยได้ในช่วงวันแรกๆ หรือมีงบประมาณจากที่อื่นมาสนับสนุนแล้ว ให้หน่วยบริการเบิกค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยแบบไม่รวมค่าอาหาร โดย สปสช. เหมาจ่ายในอัตรา 600 บาท/วัน ซึ่งเงินค่าอาหาร 400 บาทที่ลดทอนลงไปนั้นอ้างอิงจากราคาจากกรมบัญชีกลาง อย่างไรก็ตาม หากหน่วยบริการไหนที่จัดบริการโดยจัดหาอาหารแก่ผู้ป่วยด้วย ให้เบิกในอัตราเดิมคือ 1,000 บาท/วัน  

นอกจากนี้แล้ว สปสช.ยังเพิ่มรายการจ่ายเพิ่มเติมคือค่าออกซิเจนสำหรับการดูแลรักษา สปสช.ก็จ่ายให้ในอัตรา 450 บาท/วัน  

ทั้งนี้ สำหรับระบบการให้บริการจะเริ่มตั้งแต่การตรวจคัดกรองด้วย Antigen Test Kit หรือ ATK หากผลเป็นบวก ถ้ามีความจำเป็นก็ส่งต่อเข้าโรงพยาบาลโดยต้องตรวจด้วย RT-PCR ซ้ำอีกครั้ง หากอาการไม่รุนแรงก็ทำ Home Isolation, Community Isolation โดยกรณีเข้า Community Isolation ต้องยืนยันผลด้วย RT-PCR  เช่นกัน แต่ถ้า ทำ Home Isolation ไม่จำเป็นต้องตรวจซ้ำด้วย RT-PCR ซึ่งในการจ่ายค่าชุดตรวจ ATK ถ้าเป็น Chromatography สปสช.จ่ายตามจริงไม่เกิน 450 บาท/ครั้ง แต่ถ้าเป็น FIA จ่ายตามจริงไม่เกิน 550 บาท/ครั้ง และถ้าต้องตรวจยืนยันผลด้วย RT-PCR สปสช.จะจ่ายค่าเก็บ Swab 100 บาท/ครั้ง ค่าตรวจแล็บ 1,100-1,300 บาท/ครั้ง และค่าอื่นๆในห้องแล็บ 300 บาท/ครั้ง ส่วนค่าดูแลการให้บริการผู้ป่วย กรณีหน่วยบริการจัดอาหารให้ผู้ป่วย  สปสช.จ่าย 1,000 บาท/วัน แต่ถ้าหน่วยบริการไม่ได้จัดอาหารให้หรือมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนแล้ว ให้ใช้หลักเกณฑ์ใหม่คือเบิกได้ 600 บาท/วัน  

นพ.จเด็จ กล่าวว่า นอกจากนี้ในส่วนของค่าอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วย เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดระดับออกซิเจน จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,100 บาท ค่ายาเฉพาะโควิด-19 จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาท และกรณีที่ต้องมีการส่งต่อ สปสช.จ่ายค่ารถให้ตามจริง บวกค่าทำความสะอาด 3,700 บาท กรณีต้องเอกซเรย์ปอด จ่ายในอัตรา 100 บาท/ครั้ง และรายการใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาคือค่าออกซิเจนสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ จ่ายในอัตรา 450 บาท/วัน และสำหรับการดูแลใน Community Isolation เพิ่มเติมค่า PPE หรือค่าอื่นๆเพื่อป้องกันการติดเชื้อ จ่ายตามจริงไม่เกิน 740 บาท/วัน  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net