Skip to main content
sharethis

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ประกาศ 3  ทีมชนะเลิศ ออกแบบไอเดียพลิกเกมโกง โดยใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีเพิ่มความโปร่งใส ด้านประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ประกาศสนับสนุนให้เป็นต้นแบบที่นำไปใช้จริง และสร้างแรงบันดาลใจดึงคนกลุ่มต่างๆร่วมแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่มีความหลากหลาย

เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2564 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT และพันธมิตร จัดการแข่งขันรอบสุดท้าย ของ 5 ทีมที่เข้ารอบ Final Round Demo Day  ในกิจกรรม ACTkathon: Anti-Corruption VIRTUAL HACKATHON 2021 ภายใต้แนวคิด “พลิกเกมโกงให้อยู่หมัด สร้างไอเดียรัฐเปิดเผย” ซึ่งได้คัดเลือกผู้เข้าแข่งขันกว่า 100 คน จาก 20 ทีม เหลือ 5 ทีมสุดท้าย โดยถ่ายทอดสด ผ่าน Facebook Page: องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (https://www.facebook.com/act.anticorruptionThailand) ตั้งแต่ เวลา 13.00 – 18.30 น.

นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวเปิดงานว่า การแข่งขันในครั้งนี้ประโยชน์ที่จะได้สูงสุด คือ การมีส่วนร่วมในเรื่องที่สำคัญในชีวิตของเรา จะทำให้ทุกคนได้ร่วมกันจัดการกับความเบื่อหน่าย ความเป็นกังวลกับปัญหาคอร์รัปชัน ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต การที่สังคมถูกเบียดเบียนด้วยการโกง การกิน การรีดไถ ชักหัวคิวเพื่อประโยชน์พวกพ้อง ฮั้ว ฟอกเงิน หลับตาข้างเดียว บิดบังเบียดเบียนข้อมูล ฉ้อราษฎร์บังหลวงในหลายรูปแบบ หลายท่านอาจจะมีความชินชา น่าเบื่อและสิ้นหวัง แต่เราจะยอม เพิกเฉย ทิ้งให้อนาคตของเราถูกกัดกินต่อไปแบบนี้ไม่ได้ และขอขอบคุณทุกทีมที่ใช้นวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อการต้านโกงอย่างเป็นระบบ เป็นต้นแบบที่จะถูกนำไปใช้จริง เพื่ออำนวยให้คนไทยอีกจำนวนมาก เข้ามามีส่วนร่วม 

“หวังว่าจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้คนกลุ่มต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเครื่องมือที่หลากหลายเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ผมรู้สึกมีความหวังและคาดหวังการมีส่วนร่วมของทุกท่าน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯถือว่า เรื่องนี้เป็นพันธกิจที่จะร่วมสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วม กระบวนการที่สร้างสรรค์ สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ได้นำเครื่องมือเหล่านี้ไปขยายผลอย่างจริงจัง ในการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันต่อไป” นายวิเชียรกล่าว 

ผลการแข่งขันนำเสนอผลงานรอบสุดท้ายของทั้ง 5 ทีม ปรากฎกว่า 3 ทีม ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และเงินรางวัล ได้แก่  ทีม 17: ขิงบ้านเรา รู้จักชุมชนของเราให้ดีกว่าที่เคย  แพลตฟอร์มตรวจสอบการใช้งบประมาณของท้องถิ่น, ทีม 1: Application PICA เรดาห์จับโกง แพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ร้องเรียนสิ่งผิดปกติโดยไม่ต้องเปิดผยตัวผู้ร้องเรียน และ ทีม 4 :  Corruption Analysis “กินยกแก๊ง” แพลตฟอร์ม วิเคราะห์ความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมือง เครือข่ายธุรกิจ และเครือญาติเพื่อหาความผิดปกติในการคอร์รัปชัน  สำหรับทีมที่ได้รับรางวัล Popular Vote คือ ทีม 1: Application PICA เรดาห์จับโกง ได้เงินรางวัลด้วย โดยผู้ชมร่วมโหวตตั้งแต่เวลา 15:30 -18.00 น.                                        

สำหรับแนวทางในการใช้เทคโนโลยีจัดการกับการคอร์รัปชันของทีมชนะเลิศทั้ง 3 ทีม  มีดังนี้ 

ทีม 1: Application PICA เรดาห์จับโกง  Application PICA จะทำให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลโครงการที่มีความสงสัย และส่งข้อมูลเรื่องร้องเรียนได้ทันที รวมถึงสามารถแชร์ผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อให้มีผู้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ผู้ร้องเรียนต้องยืนยันตัวตน ข้อมูลจะบันทึกบนบล็อกเชน ระบบหลังบ้านจะใช้ทั้ง AI และเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบซ้ำ ข้อมูลที่ได้จากภาคประชาชนจะส่งต่อไปให้องค์กรภาคีต่อต้านคอร์รัปชัน สร้างไวรัลมาร์เก็ตติ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบและสร้างไวรัลเน็ตเวิร์คสร้างเครือข่ายการตรวจสอบ 

สมาชิกของทีม ประกอบด้วย วสันต์ เวียนรุ่งเรือง,ปัณณธร นันทิประภา และ วรพัชชา บุญมี

ทีม 4: Corruption Analysis “กินยกแก๊ง” การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมือง เครือข่ายธุรกิจ และเครือญาติ การค้นหาความจริงจากเครือข่ายทุจริต มีความยุ่งยากในการเชื่อมโยงข้อมูล Corruption Analysis เชื่อมโยงเชิงปริมาณทั่วประเทศ โดยเอาข้อมูลมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ และแสดงแนวโน้มการทุจริต ตั้งแต่วิธีการจัดซื้อจัดจ้าง การทุจริตเชิงนโยบาย และการทุจริตในกระบวนการประมูล 

สมาชิกของทีม ประกอบด้วย ณัฐพงษ์ พัฒนผล, ศุภฤกษ์ พิสิฐศุภกานต์, นภา วงศ์ไชยบริหาร คำนันท์ และ ถมทอง นาถมทอง

และทีม 17: ขิงบ้านเรา รู้จักชุมชนของเราให้ดีกว่าที่เคย  แพลตฟอร์มเน้นไปที่การตรวจสอบการใช้งบประมาณของท้องถิ่น โดยพัฒนาแพลตฟอร์มต่อยอดแอปพลิเคชั่น ACT Ai ในการทำให้การนำเสนอข้อมูลของงบประมาณท้องถิ่นเข้าใจง่าย เพื่อให้คนช่วยกันติดตามการใช้งบประมาณอย่างสะดวก โดยจะวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งบประมาณโครงการในท้องถิ่น เริ่มจากการรวบรวมงบประมาณในท้องถิ่นเพื่อให้คนในท้องถิ่นได้รับรู้ว่ามีโครงการอะไรบ้าง สามารถตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างในพื้นที่ วงเงินงบประมาณ รายละเอียดการใช้จ่ายเงินงบประมาณ อนาคตสามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากแพลตฟอร์มไปยังหน่วยงานของรัฐเพื่อตรวจสอบหาความเชื่อมโยงของผู้เกี่ยวข้องได้
สมาชิกของทีม ประกอบด้วย  ยุทธนา ศรีสวัสดิ์,เมธวิน เมธาววีนิจ, จรรยนนท์ โลหอุ่นจิตร, พิมพ์อร เสนากัสป์ และอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net