Skip to main content
sharethis

'อนุสรณ์ ธรรมใจ' แนะคลายล็อกดาวน์อย่างมียุทธศาสตร์และมีเงื่อนไข ทางรอดเศรษฐกิจไทย เตรียมงบประมาณจ่ายเยียวยาให้ภาคธุรกิจและประชาชนเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 300,000 ล้านบาท หากต้องขยายล็อกดาวน์ถึงปลายปี 2564

22 ส.ค. 2564 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต เปิดเผยว่ารัฐบาลควรเดินหน้าคลายล็อกดาวน์ในทุกพื้นที่ ในบางกิจกรรมหากตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่ำกว่าผู้ได้รับการรักษาหายป่วยมากพอและสามารถทำให้ผู้ป่วยที่ต้องรักษาในระบบสาธารณสุชลดลงมาเหลือต่ำกว่า 100,000 รายจากปัจจุบันอยู่ที่ 200,339 ราย จากระบบสาธารณสุข ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าควรต้องจัดการความเสี่ยงด้านอุปทานเพิ่มขึ้นโดยจัดสรรงบประมาณให้โรงพยาบาลของรัฐตามความเสี่ยงของประชากรที่ขึ้นทะเบียนกับโรงพยาบาลต่าง ๆ นั่นคือ ผู้ให้บริการในพื้นที่เสี่ยงสูงและต้องดูแลประชากรที่มีความเสี่ยงสูงควรจะเหมาจ่ายต่อหัวสูงกว่าผู้ให้บริการหรือโรงพยาบาลที่ดูแลประชากรที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า ไม่ควรกำหนดการเหมาจ่ายแบบคงที่ทั่วทั้งประเทศ 

"แนวทางตามที่ผมเสนอนี้ควรจะนำมาใช้ในสถานการณ์ที่โรงพยาบาลต่าง ๆ มีภาระในการดูแลรักษาผู้ป่วย COVID-19 ฉีดวัคซีน และป้องกันการแพร่ระบาดแตกต่างกันด้วย ฉะนั้นงบประมาณต้องจัดสรรไปตามภาระและแผนงานกิจกรรมที่ต้องทำ และ ไม่ควรรวมศูนย์การตัดสินใจเพราะจะทำให้แก้ปัญหาล่าช้าและไม่ทันกาล หากมีความจำเป็นต้องขยายล็อกดาวน์เพราะตัวเลขติดเชื้อไม่ลดลงเลยและมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น และต้องล็อกดาวน์ไปอีกอย่างน้อยจนถึงปลายปีในขณะที่รอฉีดวัคซีนกันอยู่ รัฐบาลต้องเตรียมงบประมาณจ่ายเยียวยาให้ภาคธุรกิจและประชาชนเพิ่มเติมหากต้องขยายล็อกดาวน์ และ ควรประกาศล่วงหน้าและเยียวยาทันทีก่อนสั่งปิดพื้นที่หรือกิจกรรมเพื่อไม่ให้ “ความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจ” รุนแรงไปกว่าระดับวิกฤติในขณะนี้ ควรเตรียมเงินงบประมาณไม่ต่ำกว่าอีก 300,000 ล้านบาทหากต้องล็อกดาวน์ถึงปลายปี" รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุ

การคลายล็อกดาวน์และเปิดให้บางกิจกรรมตามเงื่อนไขที่กล่าวมา (ผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวในระบบสาธารณสุขต่ำกว่า 100,000 คน) การให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตเป็นไปตามปรกติเพื่อให้ประชาชนมีงานทำ กิจการธุรกิจต่างๆมีรายได้ รัฐจะได้เก็บภาษีมาบริหารประเทศและแก้วิกฤตการณ์ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ข่าวบวกจากการคลายล็อกดาวน์และตัวเลขติดเชื้อที่ลดลงจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในสัปดาห์หน้าและดัชนีตลาดหุ้นไทยอาจทดสอบระดับ 1,565-1,580 จุดได้ อย่างไรก็ตาม ตลาดการเงินโลกยังคงผันผวนและรอดูความชัดเจนจากการประชุมใหญ่ประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐในช่วงสุดสัปดาห์ที่เมืองแจ็กสัน โฮล หัวข้อ Monetary Policy Framework Review จะทำให้ นักลงทุนและผู้บริหารเศรษฐกิจประเทศต่างๆทราบว่า ทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยตลาดการเงินให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการปรับลดวงเงิน QE จะลดลงเท่าไหร่จากระดับการเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตราการ QE อย่างน้อย 120,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน โดยธนาคารกลางซื้อพันธบัตรรัฐบาลวงเงิน 80,000 ล้านดอลลาร์ และ ซื้อตราสารที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันจำนอง (MBS) 40,000 ล้านดอลลาร์  จะลดวงเงิน QE เท่าไหร่ก็ตามในปลายปีนี้ย่อมส่งผลต่อตลาดการเงินทั่วโลกปรับฐานลงอย่างแน่นอน มากหรือน้อยอยู่ที่เม็ดเงินที่ลดลง หรือ QE Tapering นั่นเอง กระแสเงินทุนอาจไหลออกจากตลาดเอเชียไปยังตลาดการเงินสหรัฐอเมริกามากขึ้นหลังการทำ QE Tapering นอกจากนี้ ช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯทำ Reverse Repo หรือ การขายพันธบัตร การขายพันธบัตรเพื่อดูดสภาพคล่องออกจากระบบอย่างต่อเนื่อง หรือ Reverse Repo เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากระดับ 400,000 ล้านดอลลาร์ต่อวัน ขึ้นไปแตะระดับ 1.087 ล้านล้านดอลลาร์ต่อวัน สิ่งนี้ส่งสัญญาณชัดว่า การลดวงเงิน QE เกิดขึ้นแน่หากตัวเลขเศรษฐกิจยืนยันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน 

"การคลายล็อกดาวน์และเปิดประเทศอย่างมียุทธศาสตร์นั้นเริ่มต้นต้องอยู่บนพื้นฐานของการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศและโลกได้อย่างถูกต้องด้วยข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเป็นวิทยาศาสตร์ ต้องสร้างความน่าเชื่อถือและศรัทธาต่อข้อมูลข่าวสารและระบบการสื่อสารโดยภาครัฐ อย่าปิดกั้นความเห็นต่างที่สร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศหรือมองเพื่อนร่วมชาติด้วยสายตาหวาดระแวง ต้องศึกษาบทเรียนจากความล้มเหลวจากการคลายล็อกดาวน์ในสองครั้งที่ผ่านมาว่าเกิดจากปัจจัยอะไรและเร่งแก้ไขไม่ให้เกิดซ้ำรอยอีก การเปิดพื้นที่และการเปิดบางกิจกรรมต้องกำหนดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องผ่านการฉีดวัคซีน มีผลการตรวจเชื้อ ในบางกิจกรรมรัฐต้องจัดให้มีการสนับสนุนการตรวจหาเชื้อด้วย ไม่ควรผลักภาระให้เอกชนต้องรับผิดชอบฝ่ายเดียวโดยเฉพาะกิจการ SME ที่มีการจ้างงานในระบบมากกว่า 12 ล้านคน ครอบคลุมไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบริษัท ควรมีการสนับสนุนโดยงบประมาณของรัฐบางส่วน ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ถึงใหญ่มากประมาณเพียงไม่กี่พันบริษัทมีความสามารถประคับประคองตัวเองได้ และมีงบประมาณมากพอในการดูแลให้การดำเนินการต่างๆของกิจการเป็นไปตามมาตรฐานทางด้านสาธารณสุขอยู่แล้ว แต่รัฐต้องคลายล็อกให้บริษัทเหล่านี้ประกอบกิจการหรือธุรกิจได้โดยกำหนดเงื่อนไขทางด้านสาธารณสุขเอาไว้" รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุ

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่าขณะนี้จำเป็นต้องกระจายวัคซีนไปยังต่างจังหวัดมากขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง หลายจังหวัดยังได้รับวัคซีนน้อยถึงน้อยมาก หากเกิดการแพร่ระบาดรุนแรงจะไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์วิกฤติได้เลย เพราะสัดส่วนการฉีดวัคซีนต่ำมากๆ และระบบสาธารณสุขก็ไม่ได้มีความพร้อมเช่นเดียวกับจังหวัดใหญ่ ๆ และแม้นจำนวนการติดเชื้อเพิ่มรายวันจะลดลงไม่มากและน่าจะเลยจุดพีคมาแล้ว มีสัญญาณดี คือ จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันต่ำกว่าจำนวนหายป่วยกลับบ้าน หากเปรียบเทียบประเทศที่มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกันอย่างประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสจำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตของไทยต่ำกว่า ขณะเดียวกันความเสียหายทางเศรษฐกิจของไทยจากการล็อกดาวน์สูงกว่าสองประเทศนี้มาก การระบาดระลอกใหม่ในอนาคตอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และโรคระบาดอุบัติใหม่และการกลายพันธุ์ของไวรัส COVID-19 ก็สามารถเกิดขึ้นได้อีก การปฏิรูปการใช้จ่ายงบประมาณทางด้านสาธารณสุขและบริการสุขภาพใหม่มีความจำเป็น การปฏิรูประบบสาธารณสุขและการบริการสุขภาพนี้ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ การปฏิรูปนี้ต้องมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณทางด้านสาธารณสุขและการบริการสุขภาพโดยไม่ไปลดความเสมอภาคในการเข้าถึงการใช้บริการและสามารถตอบสนองต่อความจำเป็นของประชาชนภายใต้การแพร่ระบาดของ COVID-19 และเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกหลายระลอก 

"วิธีการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมคือการแบ่งแยกผู้ซื้อและผู้ขายบริการสุขภาพออกจากกัน การจ่ายเงินแบบเหมาจ่ายต่อหัว (Capitation) มากขึ้น การกำหนดให้มีการ Contracting-out การทำ self-governing hospital เป็นต้น การปฏิรูปแนวทางนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้งบประมาณผ่านตลาดภายในของบริการสุขภาพเอง อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดการลดลงของคุณภาพในการให้บริการโดยการกำหนดธรรมาภิบาลในทางคลินิคเพื่อให้ได้คุณภาพที่เป็นมาตรฐาน คุณภาพที่เป็นมาตรฐานหมายถึง รักษาและบริการสุขภาพอย่างถูกต้องให้กับผู้ป่วยที่สมควรได้รับในเวลาที่เหมาะสมและต้องพยายามทำทั้งหมดนี้ให้ได้ในครั้งแรกสำหรับผู้ใช้บริการหรือผู้ป่วย COVID-19" รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุ

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่ออีกว่ามีตัวอย่างของการปฏิรูปโครงการทางด้านสาธารณสุขและงบประมาณในหลายประเทศ ที่ประเทศไทยสามารถนำมาเป็นบทเรียนได้ในการแก้ปัญหาความไม่เพียงพอของงบประมาณ โดยเฉพาะดูแลผู้มีรายได้น้อยและคนที่ไม่มีประกันสุขภาพ ด้วยการทำให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้ซื้อประกันสุขภาพเพื่อให้องค์กรของผู้ใช้บริการมีอำนาจในการต่อรองกับผู้ให้บริการโรงพยาบาลเอกชนเพื่อให้ได้ราคาบริการสุขภาพที่เหมาะสม รัฐจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อปิดจุดอ่อนของระบบสาธารณสุขและการบริการสุขภาพไทย ดังนี้ การลดความซ้ำซ้อนการบริหารจัดการสุขภาพในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ลงทุนทางด้านระบบข้อมูลสารสนเทศทางด้านสุขภาพทั้งระบบโดยเฉพาะข้อมูลด้านอุปสงค์ ขณะเดียวกัน ก็ต้องพิจารณาถึงความจำเป็นทางด้านการเงินการคลังว่า จะหาเงินและงบประมาณมาจากไหนเนื่องจากรายจ่ายทางด้านสาธารณสุขและบริการสุขภาพเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากสังคมผู้สูงอายุและผลกระทบของโรคระบาด เราจะเก็บภาษีผ่านกรมสรรพากร หรือ เก็บเงินสมทบผ่านสำนักงานประกันสุขภาพ ซึ่งผลของการสนับสนุนทางการเงินอาจแตกต่างกันได้ 

"ขณะนี้เราต้องหยุดการแพร่ระบาดในคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรมและภาคการผลิตให้ได้ หากหยุดไม่ได้จะกระทบต่อเศรษฐกิจการส่งออก การจ้างงานและรายได้ประชาชนมาก จะทำให้เศรษฐกิจทรุดตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ต้องแก้ปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูลที่เป็นผลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการ ลูกจ้างหรือแรงงานโดยเฉพาะแรงงานรายวัน อาจปกปิดการติดเชื้อ COVID-19 เพราะเกรงผลกระทบต่อรายได้และการมีงานทำ รัฐและเอกชนต้องร่วมกันจ่ายชดเชยให้กับลูกจ้างหรือแรงงานรายวันทันทีเพื่อให้เขาหยุดรักษาตัวและกักตัวทันที ที่ผ่านมา ระบบการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมและการไม่มีระบบการจ่ายเยียวยาชดเชยรายได้ที่ดีพอทำให้การป้องกันการติดเชื้อในโรงงาน ในตลาดสด ในแคมป์คนงาน และ ในชุมชนแออัดที่มีแรงงานอิสระรับจ้างรายวันอาศัยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการติดเชื้อในครอบครัวของแรงงานรายวันอีก ความไม่สมมาตรของข้อมูล (asymmetric Information) ในหลายกิจกรรมในระบบเศรษฐกิจไทย ทำให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard) เกิดปัญหาการเลือกรับภัยที่ขัดประโยชน์หรือการเลือกที่ก่อให้เกิดผลเสีย (Adverse Selection) ขึ้นอันเป็นผลจากการล้มเหลวของกลไกตลาด รัฐจึงต้องเข้าแทรกแซงด้วยการประกันรายได้ให้กับแรงงานติดเชื้อ ชดเชยรายได้ให้กับกิจการขนาดย่อมขนาดเล็กและประคับประคองสถานประกอบการที่ต้อง Lockdown จากคำสั่งของรัฐ ซึ่งในหลายกรณีเป็นคำสั่งที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและล้มเหลวในการควบคุมการแพร่ระบาดแต่สร้างความเสียหายต่อกิจการของผู้ประกอบการและฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ใช้แรงงานอย่างรุนแรง การปรับเปลี่ยนมาตรการที่ไม่ใช่ ไม่มีประสิทธิผลเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจโดยไม่ชักช้า" รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net