Skip to main content
sharethis

3 ชุมชนกะเหรี่ยง อ.อมก๋อย ระดมพืชอาหารช่วยคนจนเมือง-คนไร้บ้าน จ.เชียงใหม่ ผ่านโครงการ “ปั๋นอิ่ม” และ “สู้ภัยโควิดด้วยสิทธิชุมชน” พร้อมสร้างความเข้าใจวิถีชาติพันธุ์ คนอยู่กับป่า ย้ำกำลังประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ-ความไม่มั่นคงด้านที่ดิน ด้านมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือย้ำศักยภาพความมั่นคงทางอาหารชาติพันธุ์ ขอรัฐคืนความมั่นคงด้านที่ดิน

22 ส.ค. 2564 3 ชุมชนกะเหรี่ยง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ได้แก่ บ้านกะเบอะดิน บ้านผาแดง และบ้านแม่ต๋อม ได้ร่วมระดมพืชอาหารจากพื้นที่สูงเข้าสมทบโครงการ “ปั๋นอิ่ม” และ “สู้ภัยโควิดด้วยสิทธิชุมชน” เพื่อช่วยเหลือคนจนเมืองและคนไร้บ้านในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ท่ามกลางสถานการณ์ราคาผลผลิตตกต่ำที่สุดในรอบทศวรรษ และสถานการณ์ความไม่มั่นคงด้านที่ดิน โดยผลผลิตที่ระดมมาได้แก่ ข้าวสาร มะเขือเทศ ฟักทอง กะหล่ำปลี ฟักเขียว กะเพราะ แขนง ตะไคร้ ใบมะกรูด ถั่วฝักยาว และหน่อไม้


พรชิตา ฟ้าประธานไพร ชาวกะเหรี่ยงบ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

พรชิตา ฟ้าประธานไพร ชาวกะเหรี่ยงบ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตนได้ทำงานเป็นผู้ประสานร่วมกับโครงการปั๋นอิ่ม และโครงการสู้ภัยโควิดด้วยสิทธิชุมชน เห็นว่าคนจนเมืองและคนไร้บ้านกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ในขณะที่ชุมชนชาติพันธุ์มีความมั่นคงทางอาหารจึงได้ระดมผลผลิตแบ่งปัน และจะดำเนินการต่อไปจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะดีขึ้น

“เรารู้สึกดีใจที่ได้ช่วยเหลือพี่น้องในเมือง เราก็เห็นกันว่าหลายๆ พื้นที่ในเมืองได้รับผลกระทบจากโควิดหนักมาก ตกงาน ไม่มีงานทำ พอไม่มีงานก็ไม่มีเงิน ไม่มีเงินก็ไม่มีข้าวกิน บางคนก็มีลูกหลานต้องเลี้ยง สองคือเราได้โชว์ศักยภาพในหมู่บ้านเราว่าเรามีพื้นที่ป่า ชาวบ้านใช้พื้นที่ป่าในการสร้างความมั่นคงทางอาหารเหล่านี้เพื่อมาแจกจ่ายคนในเมืองได้ มันเป็นเรื่องราวอย่างหนึ่งที่ทำให้สังคมได้รู้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์เรามีความมั่นคงทางอาหาร สามารถจัดการตัวเองได้โดยไม่ต้องมีหน่วยงานมาจำกัดสิทธิของเรา” พรชิตากล่าว

อย่างไรก็ตาม ชาวกะเหรี่ยงอมก๋อยเผยว่า การระดมความช่วยเหลือดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ราคาผลผลิตตกต่ำจนชาวบ้านต้องนำผลผลิตที่ไม่สามารถขายได้ไปทิ้ง รวมทั้งสถานการณ์ความไม่มั่นคงด้านที่ดินจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ทั้งอุโมงค์ผันน้ำยวม และเหมืองแร่อมก๋อย ซึ่งได้มีการยื่นขอสัมปทานที่ดิน 284 ไร่ 30 ตารางวา ทับพื้นที่นาและที่สวนของชุมชน อาจทำให้วิถีชีวิตของชุมชนเปลี่ยนไป

“วิถีชีวิตของชาวบ้านอาจจะเปลี่ยนไป ชาวบ้านอาจไม่สามารถทำอาชีพเกษตรกรได้ การขนส่งอาจจะลำบาก สุขภาพ พื้นที่ทำกินก็หายไป น้องๆ นักเรียนที่ไปเรียนก็อาจต้องใช้เส้นทางร่วมกับทางที่เขาขนแร่ ซึ่งใน EIA เขาบอกว่ารถจะผ่านวันละ 50 คัน มันเป็นรถหกล้อ รถใหญ่ เราต้องหลบให้เขาตลอด หรืออาจเกิดอุบัติเหตุ ผลผลิตก็น่าจะไม่ได้เหมือนเดิม คือมันเป็นฝุ่นละออง มันเป็นเคมี แล้วมันตกอยู่ในผลผลิตของเรา มันก็อาจจะทำให้ผลผลิตไม่ออก หรือไม่มีคนกล้าซื้อเพราะปนเปื้อน” ชาวกะเหรี่ยง อ.อมก๋อย กล่าว


พชร คำชำนาญ เจ้าหน้าที่รณรงค์สื่อสาร มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

ด้าน พชร คำชำนาญ เจ้าหน้าที่รณรงค์สื่อสาร มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ผู้ประสานงานโครงการสู้ภัยโควิดด้วยสิทธิชุมชน กล่าวว่า ชุมชนใน อ.อมก๋อย นับเป็นชุมชนที่ 12 ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ แสดงให้เห็นว่าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ ชุมชนชาติพันธุ์ได้รับผลกระทบด้านอาหารน้อยมาก เพราะชุมชนมีศักยภาพในการผลิตอาหารที่สูงมากแม้ต้องเผชิญข้อจำกัดด้านกฎหมาย และการพยายามแย่งยึดที่ดินจากทั้งรัฐและทุน

“พื้นที่อมก๋อยเป็นป่า กลุ่มชาติพันธุ์ต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างไม่มั่นคง โครงการเหมืองแร่ขนาดใหญ่ อุโมงค์ผันน้ำ และโครงการปลูกป่ากำลังคืบคลานเข้าไปในชุมชน ความเข้าใจของสังคมต่อกลุ่มชาติพันธุ์ยังคงมีอคติ การระดมความช่วยเหลือครั้งนี้จากพี่น้องอมก๋อย จะเป็นภาพสะท้อนว่าการแย่งยึดที่ดินและทรัพยากรไปจากกลุ่มชาติพันธุ์นั้นไม่ใช่เพียงการทำลายความมั่นคงทางอาหารของชุมชน แต่ยังทำลายแหล่งความมั่นคงทางอาหารของคนทั้งเชียงใหม่ รวมทั้งคนทั้งประเทศไทยด้วย” พชร กล่าว
 
ด้วยเหตุนี้ ผู้ประสานงานโครงการสู้ภัยโควิดด้วยสิทธิชุมชนจึงเสนอแนะต่อรัฐว่าต้องคืนสิทธิด้านที่ดินให้ชุมชนชาติพันธุ์ เพราะในสถานการณ์ที่รัฐไม่ได้ให้ความช่วยเหลือผู้เดือดร้อนเท่าที่ควร ชุมชนชาติพันธุ์ได้พยายามแบ่งปันเต็มศักยภาพ จึงควรต้องรักษาพื้นที่แบบนี้ไว้ ไม่ใช่ยิ่งเดินหน้าทำลาย

“ในเมื่อชุมชนชาติพันธุ์มีศักยภาพขนาดนี้ แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบีบรัดและมีข้อจำกัดขนาดนี้ พวกเขาก็ยังมีผลผลิตและมีจิตใจที่คิดจะแบ่งปัน พื้นที่แบบนี้ไม่ได้เหลืออยู่มากมายนักในประเทศไทย ทำไมแทนที่เราจะไปทำลายเขา เราไปช่วยส่งเสริมเขาดีกว่าไหม อย่างแรกคือคุ้มครองพื้นที่การทำมาหากินของเขา คืนสิทธิด้านที่ดินทำกินให้เขา เขาอยู่ในพื้นที่มาก่อน ดูแลป่ามาก่อน ถึงได้มีฐานทรัพยากรสมบูรณ์ขนาดนี้ นี่เป็นเวลาสำคัญที่คนต้นน้ำและคนปลายน้ำจะได้เข้าใจกัน เพราะในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้เราก็เห็นกันแล้วว่ารัฐไม่ช่วยอะไร มีแต่ประชาชนเท่านั้นที่ช่วยกันเอง” พชร ย้ำ

เป็นเวลาหนึ่งเดือนหลังโครงการดังกล่าวเริ่มต้นขึ้น มีชุมชนชาติพันธุ์และชุมชนเกษตรกรที่มีฐานการผลิตร่วมแบ่งปันทั้งสิ้น 12 ชุมชน กระจายตัวอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง และแม่ฮ่องสอน แบ่งปันสู่ชุมชนคนจนเมือง รวมถึงคนไร้บ้านในจุดประสานงานหลัก ได้แก่ ข่วงประตูท่าแพ กาดหลวง และประตูช้างเผือก และยังมีแผนจะขยายโครงการไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในแคมป์แรงงาน จนถึงการคิดรูปแบบการแลกเปลี่ยนอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ส่งคืนสู่ชุมชนบนพื้นที่สูงต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net