Skip to main content
sharethis

สช.เดินหน้ากระบวนการร่าง “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3” ต่อเนื่อง สู่เป้าหมายสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ วางสถานภาพเป็นทั้ง “ข้อผูกพันทางกฎหมาย” สมดุลกับ “สัญญาใจ” ใช้ความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ เพื่อมุ่งขจัด “ภัยคุกคามร่วม” เชื่อมโยงแนวคิดอุดมคตินามธรรม มาสู่รูปธรรมในการสื่อสารและการปฏิบัติได้จริง

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมหารือเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2564 เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน พร้อมหารือต่อเนื่องถึงกรอบแนวคิดการจัดทำธรรมนูญฯ รวมถึงการบูรณาการการทำงานของคณะอนุกรรมการจัดทำธรรมนูญฯ ทั้ง 3 คณะ

สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานกรรมการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 เปิดเผยว่า จากกระบวนการสัมภาษณ์และรับฟังความเห็นที่ผ่านมา ได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นถึงสถานภาพของธรรมนูญฯ ฉบับนี้ ที่จะเป็น “Soft Legal Binding” หรือการมีผลผูกพันทางกฎหมายแบบอ่อนๆ คือ นอกจากความชอบธรรมด้วยสถานะตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่จะเป็นกรอบแนวทางซึ่งมีผลผูกพันไปยังหน่วยงานอื่นๆ แล้ว ในทางปฏิบัติธรรมนูญฯ ฉบับนี้ยังต้องการให้มีสถานะเป็น “ร่ม” ที่เชื่อมโยงเป้าหมายยุทธศาสตร์ หรือแผนงานด้านสุขภาพในระดับต่างๆ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันในการสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ พร้อมลักษณะที่เป็นเหมือนสัญญาประชาคม (Social contract) ที่ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจ ยอมรับ และนำไปปฏิบัติร่วมกัน

ทั้งนี้ การสร้างพลังที่จะมุ่งให้ผู้คนทุกส่วนนำธรรมนูญฯ ฉบับนี้ไปใช้อ้างอิงนั้น หลักสำคัญคือการวางแนวคิดธรรมนูญฯ จะต้องดีพอ สามารถทำให้คนเชื่อในตัวธรรมนูญฯ ว่าจับต้องได้จริง มีความใกล้ตัว และมีความสัมพันธ์กับตนเอง ด้วยการมองถึงประเด็นความท้าทาย ภาวะปัญหาต่างๆ ที่ผู้คนกำลัง “suffer” ขณะนี้ และเปลี่ยนเป็นโอกาสที่จะทำให้ผู้คนเกิดความ “sustain” ได้อย่างไร

สุวิทย์ กล่าวว่า ดังนั้นมิติแรกที่ควรมีในธรรมนูญฯ ฉบับนี้ คือ จะต้องทำให้ผู้คนรับรู้ถึง “ภัยคุกคามร่วม” ซึ่งหลายเรื่องเป็น Global commons เช่น โรคระบาด หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วจึงเป็นเรื่องของโอกาสที่เราจะสามารถทำอะไรร่วมกันเพื่อหลุดพ้นจากภัยคุกคามเหล่านี้ โดยธรรมนูญฯ จะต้องมีการสร้างสมดุลระหว่างการเขียนที่เป็นเชิงข้อผูกพันตามกฎหมาย (mandatory) กับส่วนที่ใช้ความร่วมมือ (participatory) นอกจากนี้ยังหมายถึงสมดุลระหว่างความเป็นปัจเจกบุคคล (individualization) กับส่วนที่จะต้องดำเนินร่วมกัน (commonization)

“เราต้องทำตั้งแต่ Grand to Ground คือ แปลงกรอบการทำงานในภาพใหญ่ที่เป็นกลยุทธ์ ลงมาสู่กรอบการทำงานในระดับปฏิบัติที่จะใช้เป็นฐานในการไปสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายตามบริบทที่แตกต่างกัน เช่น การคุยกับบุคลากรในระบบสาธารณสุขเราก็คุยแบบหนึ่ง กับนักการเมืองที่ดูนโยบายใหญ่เราก็คุยอีกแบบหนึ่ง หรือกับประชาชน ชุมชนก็ต้องคุยอีกแบบ ฉะนั้น สิ่งสำคัญคือ ต้องถอดรหัสออกมาเป็นรูปธรรมเพื่อสามารถใช้สื่อสารและนำไปสู่การปฏิบัติได้ จึงเป็นความยากของการเขียนธรรมนูญฯ ฉบับนี้” สุวิทย์ กล่าว

สุวิทย์ กล่าวอีกว่า สุดท้ายแล้วเป้าหมายสูงสุดของธรรมนูญฯ คือการสร้างวิถีที่ให้คนดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นนามธรรม ดังนั้น สิ่งสำคัญคือจะต้องเป็น “From ideal to real” หรือธรรมนูญฯ ฉบับนี้จะต้องทำการถอดรหัสจากอุดมคติให้มาสู่ความเป็นจริง โดยต้องแสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องกับสถานการณ์ที่แท้จริงในบริบทของโลกขณะนี้ และยังต้องแสดงถึงกรอบทิศทางภายใน 5 ปีข้างหน้าด้วยว่าจะนำไปสู่ความเป็นธรรมด้านสุขภาพได้อย่างไร ทั้งนี้ ธรรมนูญฯ ต้องไม่เขียนให้กว้างหรือแคบจนเกินไป

“สิ่งที่ธรรมนูญฯ ฉบับนี้สร้าง จะเหมือนกับ Snake in a tunnel หรืองูที่อยู่ในอุโมงค์ คือเราเป็นอุโมงค์ที่ให้ทิศทางแล้ว แต่อิสระจะอยู่ที่การเลื้อยของงูตามแต่สถานการณ์ในขณะนั้น” สุวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับกระบวนการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสัมภาษณ์และรับฟังความเห็นจากกลุ่มต่างๆ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการยกร่างธรรมนูญฯ ซึ่งคาดว่าจะได้ร่างที่นำไปสู่การรับฟังความเห็นอีกครั้งในช่วงเดือน ต.ค. - ธ.ค. 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net