นิธิ เอียวศรีวงศ์: สวรรค์ล่ม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นรกไทยมีความเสมอภาคมากกว่าสวรรค์ไทยอย่างเทียบกันไม่ได้ แทบจะกล่าวได้ด้วยซ้ำว่า ความมั่นคงของสวรรค์ไทยนั้นเกิดขึ้นได้ก็เพราะความไม่เท่าเทียมกันของเทวดานางฟ้าบนสวรรค์นั่นแหละ

อันที่จริง ทั้งหลักฐานวรรณกรรมโบราณที่ส่อให้เห็น กับคำให้การของคนที่พูดภาษาไทยในยูนนานและกวางสี ส่วนที่ไม่ได้นับถือพุทธ แสดงให้เห็นว่าก่อนที่คนพูดภาษาไทยจะได้พบกับพระพุทธศาสนา คงไม่มีแนวคิดเรื่องนรก-สวรรค์ เพราะฉะนั้น ที่เรียกว่านรกไทยหรือสวรค์ไทยนั้น ที่จริงแล้วคือนรก-สวรรค์บาลี ที่อาจผสมด้วยจินตนาการของคนไทยเสริมต่อลงไปอีกส่วนหนึ่ง

นรกบาลีผสมไทย และสวรรค์บาลีผสมไทยนี้ คือการลงโทษและให้รางวัลแก่การกระทำที่ถือว่าชั่วและดีนั่นเอง ตราบเท่าที่ศาสนาไม่สนใจจะกำหนดว่าการกระทำอะไรชั่ว และการกระทำอะไรดี (หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือความคิดเชิงศีลธรรม) แนวคิดเรื่องนรก-สวรรค์ก็ไม่จำเป็น และศาสนาของสังคมโบราณทั้งหลาย ก็ไม่เสนอความคิดเชิงศีลธรรม

แม้กระนั้น ชีวิตหลังความตายของคนพูดภาษาไทยก็ดูจะไร้ความเสมอภาคมาแต่ต้นแล้ว เพราะคนที่ตายแล้วกลายเป็นแถน ซึ่งอยู่บนฟ้า จะมีได้ก็แต่เฉพาะพวก “เจ้า” เท่านั้น หมายถึงคนที่สืบเชื้อสายมาในตระกูลผู้นำของชุมชน และมีสถานะที่สูงกว่าคนอื่นๆ เช่นครอบครองที่นาและแรงงานจำนวนหนึ่ง ซึ่งต้องมาทำงานในไร่นาของ “เจ้า” ในช่วงหนึ่งของแต่ละปี ซ้ำยังต้องแบ่งส่วนผลผลิตหรือสินค้าอื่นๆ ให้แก่ “เจ้า” ที่เป็นท้าวเป็นนายด้วย

ส่วนคนทั่วไปซึ่งไม่ใช่ “เจ้า” ตายแล้วไม่ได้เป็นแถน ต้องข้ามเขาข้ามน้ำไปอยู่ในดินแดนของบรรพบุรุษ ว่ากันว่าชาวไทดำที่เพชรบุรี เมื่อสิ้นชีวิตแล้วต้องมีพิธีกรรมนำเอาวิญญาณไปส่งยังเมืองไล (หรืออะไรสักเมืองหนึ่ง ผมก็จำไม่ได้) ในดินแดนสิบสองจุไทโน่น เพราะเป็นปากทางไปสู่ดินแดนของบรรพบุรุษ

แต่ในขณะเดียวกัน คนที่พูดภาษาไทยนับตั้งแต่สิบสองจุไทไปจนถึงรัฐชาน ก็มักนับถือผีบ้านผีเรือน ซึ่งก็อ้างว่าเป็นผีบรรพบุรุษเช่นกัน ผมเลยไม่รู้แน่เหมือนกันว่า คนทั่วไปที่ไม่ใช่ “เจ้า” ตายแล้วไปไหนกันแน่

อย่างไรก็ตาม ชีวิตหลังความตาย ก็ไม่มีความเสมอภาพ คนชั้นสูงไปทาง และคนทั่วไปไปอีกทาง (ดูเหมือนไม่ได้เชื่อในการเวียนว่ายตายเกิดด้วย ดังนั้น “สถานภาพ” ทางสังคมจึงถูกกำหนดตายตัวชั่วนิรันดร) นับเป็นการตอกย้ำอุดมคติทางสังคมที่แบ่งแยกสิทธิกันตามสถานภาพอยู่แล้ว อันเป็นหน้าที่หลักของศาสนาอย่างหนึ่งทุกศาสนา

แม้เมื่อได้รับพุทธศาสนาแล้ว คติตายไปเป็นแถนก็ยังอยู่ เพราะกษัตริย์ไทยทุกองค์ ไม่ว่าจะดีหรือชั่ว ตายแล้วก็ย่อม “สวรรคต” เสมอ ซ้ำยังสร้างรูปปั้น (จริงหรือเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ก็ตาม) ไว้บวงสรวงบูชา และยังติดต่อกับคนข้างล่างนี้ผ่านพิธีกรรมสืบมา (เหมือนแถนที่ถึงกับยกทัพมาช่วยลูกหลานรบก็ยังได้) ไม่เฉพาะแต่ในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เท่านั้น ในสมัยอยุธยาก็กล่าวกันว่ามีรูปพระเจ้าอู่ทองที่ขุนนางต้องไปบวงสรวงบูชาในพิธีถือน้ำ และในปลายอยุธยา ก่อนเสียกรุง รูปพระนเรศวรยังลุกขึ้นมากระทืบพระบาทได้

จะว่าเรารับคติ “สวรรคต” จากฮินดูผ่านกัมพูชามาก็ได้ แต่ผมเห็นว่าค่อนข้างจะเอียงไปทางนับถือแถนมากกว่า

แม้ยังคง “สวรรคต” อยู่ แต่เมื่อหันมารับนับถือพุทธศาสนาแล้ว ก็เกิดปัญหาว่า กษัตริย์ที่ก่อกรรมชั่วไว้มาก สิ้นชีวิตแล้วจะลงนรกหรือขึ้นสวรรค์

ว่ากันอย่างเคร่งครัดตามคัมภีร์บาลี และนิทานบาลีที่ยกขึ้นประกอบคำเทศน์ต่างๆ ประชากรนรกมีทั้งพระยามหากษัตริย์, ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ผู้น้อย, เจ้าสัวทั้งผูกขาดและไม่ผูกขาด, ไปถึงคนธรรมดาสามัญหรือทุคคตะเข็ญใจ ซึ่งก่อกรรมทำเข็ญมามาก หรือฝ่าฝืนศีลข้อต่างๆ ต้องรับโทษอย่างหนักจากยมบาล

อันนี้ก็ตรงกับหลักคำสอนในศาสนาพุทธ เพราะสถานภาพทางสังคมย่อมเป็นเพียงสมมติ และเป็นอนิจจัง แม้แต่เมื่อมีชีวิตอยู่ก็เป็นสมมติและอนิจจังดังกล่าว ตายแล้วยังจะยึดถือไว้ต่อไปได้อย่างไร ย่อมแตกดับไปเหมือนร่างกาย

นรกบาลี+ไทย หรือนรกไทยจึงเป็นดินแดนแห่งความเสมอภาค ไม่เว้นหน้าอินทร์หน้าพรหม ในขณะเดียวกันพญายมก็ใช้ “กฎหมาย” อย่างไม่เลือกหน้าเสมอ (ในขณะที่ตาชั่งอาจเอียงได้ โดยเฉพาะเมื่อผู้ถือตาชั่งไม่ปิดตาตนเอง) ดังนั้น ถึงพญายมจะมีอำนาจบารมีและบริวารมากมายสักเพียงไร ก็ถูกบังคับควบคุมให้อยู่ใต้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเสมอ

อย่างที่ผู้ปกครองในสังคมเสมอภาคต้องเป็น

ตรงกันข้ามกับสวรรค์ไทย-บาลี สวรรค์คือดินแดนแห่งความไม่เท่าเทียม เราเห็นเรื่องนี้ได้จากนิทานชาวบ้าน, วรรณกรรมราชสำนักและกระฎุมพี, ภาพเขียนฝาผนัง และการแสดงในรูปต่างๆ ทั้งของราชสำนักและของชาวบ้าน

ที่มีผู้กล่าวถึงไว้บ่อยครั้งแล้ว ก็เรื่องไม่มีความเสมอภาพระหว่างเพศ เทพบุตรดูจะแสวงหาความสุขจากเทพธิดาได้ไม่อั้น ในขณะที่เทพธิดาแทบไม่มีบทบาทอะไรมากไปกว่ายกพานไปโปรยข้าวตอกดอกไม้ เมื่อเทพบุตรเหาะไปไหนๆ เรียกว่าเป็นตัวประกอบฉากให้เทพบุตรเท่านั้น

แน่นอนว่าบนสวรรค์มีอำนาจปกครอง (ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะมี เพราะในสังคมที่ทุกคนเป็นคนดีหมด เหมือนในสังคมยุคต้นที่กล่าวถึงในอัคคัญสูตร ก็ไม่จำเป็นต้องมี “ราชา”) อำนาจนั้นอยู่ในมือของเทพเจ้าใหญ่องค์หนึ่ง คือพระอินทร์ในพุทธศาสนา แต่ในรามเกียรติ์ซึ่งเป็นฮินดูมากหน่อย ก็เป็นพระอิศวร

พระอินทร์ได้สถานภาพและอานุภาพอันยิ่งใหญ่นั้นมาจากกรรมดีที่ได้ก่อไว้ในชาติที่เกิดเป็นมนุษย์ พูดอีกอย่างหนึ่งคือในบรรดาสิ่งมีชีวิตบนสวรรค์ทั้งหมด ไม่มีใครมีบุญบารมีเท่ากับพระอินทร์ เพราะฉะนั้น พระอินทร์จึงมีอำนาจเหนือเทวดาทั้งหมด กลายเป็นผู้กระจายทรัพยากรแก่ผู้อื่น และอาจริบทรัพยากรที่กระจายไปแล้วกลับคืนมาก็ได้ อย่างน้อยก็ตามนิทานชาวบ้าน คือขับลงจากสวรรค์เสียก็ได้ (ระหว่างอำนาจของ “กฎแห่งกรรม” กับอำนาจของพระอินทร์ ใครจะใหญ่กว่ากัน ออกจะสับสนอยู่จนไม่รู้แน่ชัดเหมือนกัน)

ที่คนไทยควรทำดี สร้างกุศลนานาชนิดในชีวิต ก็เพื่อจะได้เกิดเป็นข้ารองบาทพระอินทร์อีกนั่นแหละ

ฤทธิ์หรืออำนาจของพระอินทร์ในฐานะเทพเจ้าไม่ได้มาจากตัวพระอินทร์เอง แต่มาจากบารมีหรือผลบุญที่ได้กระทำมาแต่อดีต ผลบุญนี้ใช้ไปนานเข้าก็ร่อยหรอลงจนหมดไปสักวันหนึ่ง พระอินทร์ก็จะจุติไปเกิดเป็น “สัตว์” อื่น มีคนที่สั่งสมบารมีมามากเกิดเป็นพระอินทร์องค์ใหม่แทน

สวรรค์ไทย-บาลีจึงสะท้อนอุดมคติทางการเมืองการปกครองของไทยเสียยิ่งกว่านรกไทย-บาลี คือถือเอาสถานภาพที่ไม่เท่าเทียมกันเป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งของ “ระเบียบ” ทางสังคม ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาแก่คนไทยน้อยกว่าการไม่ปฏิบัติตามกติกาของความเหลื่อมล้ำ เช่น ไม่รู้จักที่สูงที่ต่ำ, กระด้างกระเดื่องต่อสถานภาพที่สูงกว่า, ไม่มีหัวมีก้อย ฯลฯ

ในส่วนบุคคลผู้ถืออำนาจสูงสุด ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณของบุญบารมีที่สั่งสมไว้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของประชาชน หรือกับกฎหมายแท้ๆ คงทราบกันอยู่แล้วว่า ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวไกลของไทย เราไม่เคยมีกฎเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติตายตัวเลยจนถึง ร.5 การสืบราชสมบัติเป็นเรื่องของกำลังทางการเมือง ซึ่งใครจะมีมากน้อยและใช้อย่างได้ผลหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับบุญบารมีของเขา… เป็นกฎเหนือกฎที่ไม่มีใครไปบังคับควบคุมได้

รัฐประหารอาจผิดกฎหมาย แต่ไม่ได้ผิดกฎเหนือกฎนะครับ

อย่างไรก็ตาม ขอกล่าวซ้ำอีกครั้งว่า ไม่ว่านรกหรือสวรรค์ก็ล้วนตอกย้ำอุดมคติทางสังคมของยุคสมัยทั้งสิ้น ยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว คนไทยยังเชื่อเรื่องนรกสวรรค์อยู่หรือไม่ก็ตาม แต่ถึงเชื่อภาพของนรกสวรรค์ที่เคยเชื่อกันมา ก็ไม่สอดคล้องกับอุดมคติทางสังคมของปัจจุบันไปเสียแล้ว

ทั้งนรกสวรรค์ยังเป็นเรื่องของโลกหน้า สังคมปัจจุบันเปิดโอกาสให้แต่ละคนบรรลุรางวัลจากการทำดี หรือถูกลงโทษจากการทำชั่วได้ในโลกนี้ ไม่ต้องรอไปถึงโลกหน้า นรกสวรรค์ของสังคมโบราณจึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในความคิดและการตัดสินใจของคนไทยปัจจุบันน้อย เป็นธรรมดา

แม้กระนั้น ผมยัง “รู้สึก” (คือไม่รู้ว่าจริงหรือไม่) ว่า สวรรค์นั้นล่มไปแล้วในสังคมไทย แต่นรกยังพอเหลือเค้าให้เห็นอยู่มากกว่า อย่างน้อยก็มีภาพของนรกให้เราได้เห็นใน “สวนนรก” ของวัดหลายแห่ง ในภาพยนตร์ ในนิยาย และในละครทีวี รวมทั้งในคำสาปแช่งด้วย แต่เราแทบไม่เห็นสวรรค์ถูกกล่าวถึงที่ไหนเลยในปัจจุบัน

ถ้าเป็นจริงอย่างที่ผมสังเกต นรกยังพอมีความหมายทางศีลธรรมในสังคมไทย ในขณะที่สวรรค์ไร้ความหมายไปแล้ว

เหตผลง่ายๆ ก็เพราะ ความสุขอย่างที่สวรรค์ไทย-บาลีบรรยายไว้นั้น ไม่น่าจะตรงกับความใฝ่ฝันของใครในปัจจุบันไปเสียแล้ว กิเลสที่สวรรค์ไทย-บาลีตอบสนองค่อนข้างเป็นกิเลสหยาบๆ เช่นกามารมณ์และความอยากได้ใคร่ดีทางวัตถุ แน่นอนครับสิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็นที่ปรารถนาของคนไทยปัจจุบันอยู่ แต่ไม่ใช่เท่านี้ ยังมีความปรารถนาหรือกิเลสที่ละเอียดซับซ้อนกว่านี้อีกแยะ เช่นการยอมรับจากคนอื่น, ชื่อเสียงเกียรติยศ และความมีหน้ามีตา, ชัยชนะเหนือคู่แข่ง, การมีอำนาจ ฯลฯ สวรรค์ไทย-บาลีไม่ปรนเปรอความสุขเหล่านี้เลยนะครับ

อันที่จริงสิ่งเหล่านี้เป็นทรัพยากรทางสังคมซึ่งย่อมมีจำกัดเสมอ ให้ใครไป คนอื่นก็อด ทุกคนจะมีหน้ามีตาเสมอเหมือนกันหมด ก็เท่ากับไม่มีใครมีหน้ามีตาเลย หรือถ้าให้คนหนึ่งชนะคู่แข่ง ก็ต้องมีอีกคนหนึ่งแพ้คู่แข่งเสมอ

สวรรค์ไทย-บาลีไม่เสนอสิ่งเหล่านี้ให้เป็นรางวัล นอกจากเทพเจ้าไม่กี่องค์ แต่สิ่งเหล่านี้แหละเป็นที่ปรารถนาของผู้คนมากขึ้นในยุคสมัยที่มนุษย์ในหลายประเทศรุ่มรวยมั่งคั่งขึ้น เช่น คนจำนวนมากหลุดรอดจากความหิวไปค่อนข้างเด็ดขาด หรือคนจำนวนมากมีหลังคาคุ้มหัวที่มั่นคง หรือคนจำนวนมากมองเห็นรายได้ที่จะไหลเข้ากระเป๋าอย่างสม่ำเสมอไปเรื่อยๆ

เช่นเดียวกับคนจำนวนมากใฝ่ฝันถึงชีวิตอิสระ ไม่มีนายที่คอยบงการอย่างโง่ๆ จะขึ้นสวรรค์ไปเป็นบริวารของเทพเจ้าไปทำไม ความเสมอภาพจะมีความหมายแก่นักปราชญ์อย่างไรก็ตาม แต่ความหมายแก่ผู้คนทั่วไปก็ง่ายๆ แค่นี้แหละครับ คือเป็นอิสระแก่ตนเอง

และเพราะโลกหน้ามีบทบาทในชีวิตคนไทยน้อยลง รางวัลแห่งการประกอบกรรมดีตามความปรารถนาของผู้คนจึงเลื่อนมาอยู่ในโลกนี้ด้วย เช่น ทำทานทั้งทีน่าจะถูกหวย

ตรงกันข้ามกับนรก ในโลกที่คนชั่วลอยนวลอยู่ตำตา นรกช่วยปลอบประโลมใจผู้คนได้มาก นรกจึงเป็นความสาแก่ใจในจินตนาการ ยิ่งทารุณโหดร้ายเท่าไร ก็ยิ่งสาแก่ใจกับความ-อยุติธรรมนานาชนิดที่ชีวิตต้องเผชิญ และด้วยเหตุดังนั้น “ภาพ” ของนรกจึงปรากฏให้เห็นในชีวิตของคนไทยได้บ่อย จนเหมือนนรกยังมีอยู่จริงในความเชื่อ

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_449599

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท