นิธิ เอียวศรีวงศ์: กำลังตาย แต่ยังไม่เกิด

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

Sir James George Scott บอกไว้ชัดเจนว่า พวกเขินก็ตาม ลื้อก็ตาม ไม่เคยเรียกตัวเองว่าไทหรือไต ยืนยันว่าตนเป็นเขินหรือเป็นลื้อ ซึ่งก็ไม่ต่างจากพวก “ลาว” ในฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำโขง ก็เรียกตนเองว่า “ลาว” เสมอ ไม่เคยเรียกว่าไทเลย จนถึงทุกวันนี้พวก “จ้วง” ในกวางสีก็ยังยืนยันว่าเขาเป็น “จ้วง” (ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ใหม่ที่จีนเหมารวมไว้ด้วยกัน) ไม่ใช่ไทหรือไต

ในบรรดาประชาชนที่พูดภาษาไทย มีคนที่เรียกตนเองว่าไทหรือไตอยู่ไม่กี่กลุ่ม หมอดอดด์ซึ่งเดินทางเท้าจากแถบสิบสองปันนาไปจนถึงเมืองนานนิง เพื่อต่อเรือไปเมืองกวางตุ้งในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 แม้ได้พบคนพูดภาษาไท-ไตอยู่หลายกลุ่มตลอดเส้นทาง แต่พวกเขาต่างเรียกตนเองด้วยชื่ออื่นๆ เป็นส่วนใหญ่ ตัวหมอดอดด์เองต่างหากที่ไปเรียกพวกเขาว่าเป็นไท-ไต

นอกจากหมอดอดด์แล้ว ชาวตะวันตกในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทั้งที่เป็นนักวิชาการและมิชชันนารี ซึ่งได้พบปะหรือถึงศึกษากลุ่มคนที่พูดภาษาไท-ไต ต่างเรียกพวกเขาว่าเป็นประชาชนในกลุ่มไท-ไต เพราะเห็นได้ชัดว่าภาษาของเขาคือภาษาเดียวกับที่ใช้กันในสยาม อันเป็นดินแดนที่ประชาชนเรียกตนเองว่าคนไทย

ไท-ไต-ไทยจึงกลายเป็นชื่อชนชาติขึ้นมาจากชื่อทางวิชาการ

เมื่อผมมาอยู่เชียงใหม่แรกๆ ประชาชนที่นี่ต่างเรียกตนเองว่าเป็น “คนเมือง” แทนคำว่า “ยวนหรือโยน” ซึ่งเคยเป็นชื่อชาติพันธุ์อันใช้มาแต่เดิม ไม่ต่างจากเขิน, ลื้อ, และลาว ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อไรที่ “คนเมือง” ใช้คำว่า “คนไทย” ในสมัยนั้นเขาหมายความเฉพาะถึงคนที่มาจากภาคกลาง (และภาคใต้) เท่านั้น

ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า ประชาชนที่พูดภาษาไท-ไต แล้วเรียกตนเองว่าไทหรือไตก็มีอยู่ด้วยนะครับ ที่เรารู้จักกันดีก็คือพวก “ไตโหลง” หรือไทยใหญ่ในรัฐชาน อันเป็นผลให้ประชาชนในอะหมซึ่งเป็นอาณาจักรที่พวกไตโหลงเคลื่อนย้ายไปตั้งขึ้น ก็เรียกตนเองว่าไตเหมือนกัน เช่นเดียวกับประชาชนที่พูดภาษาไท-ไตในสิบสองจุไท เช่น ไทดำและไทขาว ต่างก็เรียกตนเองว่าเป็นไตเช่นกัน

ทั้งนี้ ไม่นับ “คนไทย” ในภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งเป็นพวกที่ค่อนข้างประหลาดอยู่สักหน่อย เพราะเป็นคนพูดภาษาไท-ไตที่เป็นแขนง d/ph (มีเสียง ท. และ พ.) เพียงกลุ่มเดียวในภูมิภาคนี้ ที่เรียกตนเองว่าไทย ในขณะที่พวกลาวซึ่งเป็นแขนง d/ph เหมือนกันหาได้เรียกตนเองว่าไทยไม่

แม้ว่าชื่อชนชาติไทยเป็นเพียงชื่อเรียกทางวิชาการ แต่ก็ถูกรัฐบาลกรุงเทพฯ ใช้เป็นชื่อชาติพันธุ์รวมประชาชนที่พูดภาษาไท-ไตในราชอาณาจักรไว้ด้วยกันหมด ไม่แต่เพียงเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น “ไทย” ในสมัยนายกฯ ป.พิบูลสงคราม เท่านั้น แม้ก่อนหน้านั้นเมื่อกรุงเทพฯ ตัดสินใจเลิกเรียกมณฑลต่างๆ ด้วยชื่อชาติพันธุ์เดิม เช่น ลาวกาว, ลาวเฉียง ฯลฯ หันมาเรียกตามทิศทางภูมิศาสตร์ (อุดร, พายัพ ฯลฯ) ก็อ้างว่าเพราะล้วนเป็นคนไทยด้วยกัน

พูดอีกอย่างหนึ่ง ความเป็นชาติพันธุ์ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเป็นปึกแผ่นของรัฐ เรียกเป็นศัพท์ว่า ethno-nationalism คือชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์

ชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างชาติในบางชาติเหมือนกัน โดยเฉพาะในยุโรปกลางและตะวันออก ส่วนหนึ่งก็เพื่อต่อต้านอำนาจของ “จักรวรรดิ” ซึ่งครอบงำตนอยู่ (ออสเตรียและรัสเซีย) แต่ไม่ใช่ในรัสเซีย (ซึ่งเป็นจักรวรรดิในตัวเอง ก่อนจะเป็น “สหภาพโซเวียต”) ไม่ใช่ชาตินิยมอินเดีย หรืออินโดนีเซีย และไม่ใช่ในอเมริกาเหนือและละตินอเมริกา

ชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์นำมาสู่ความเป็นชาติได้จริง แต่ปัญหาของชาติเช่นนั้นมีอย่างน้อยสองอย่าง หนึ่งรัฐประชาชาติแต่ละแห่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางการเมือง ซึ่งหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะรวมเอาคนชาติพันธุ์อันหลากหลายไว้ภายในเส้นเขตแดนตายตัวของรัฐ อันเป็นสิ่งที่เพิ่งกำเนิดขึ้นใหม่ในรัฐชาติ จะจัดการกับ “ชนส่วนน้อย” เหล่านั้นอย่างไร ในท้ายที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นในหลายรัฐก็คือจัดลำดับขั้นของชาติพันธุ์ให้เป็นพลเมืองชั้น 1 หรือ 2, 3, 4 ซึ่งมีสิทธิในทางปฏิบัติไม่เท่ากัน ดังนั้น แทนที่จะเกิดความเป็นปึกแผ่นในชาติ ก็กลับเป็นตรงกันข้าม

ปัญหาอย่างที่สองก็คือ ชาติพันธุ์ก็เป็นสิ่งประดิษฐ์เหมือนกัน แต่เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางสังคมและวัฒนธรรม เมื่อประดิษฐ์ขึ้นแล้ว ก็มักทำให้ผู้คนเข้าใจว่า ชาติพันธุ์นั้นๆ มีอยู่หรือดำรงอยู่มาแต่บรมสมกัลป์จนถึงปัจจุบัน หนึ่งในประจักษ์พยานของการมีอยู่คือภาษา ซึ่งหากสืบค้นไปก็จะพบว่าล้วนใช้กันมาแต่โบราณเก่าแก่ทั้งนั้น ความเข้าใจเช่นนี้ทำให้ไปสมมุติว่า “ชาติ” ของตนเป็นอะไรที่มีมาแต่โบราณเก่าแก่เหมือนกัน “ชาติ” จึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่หลุดลอยออกไปจากความเป็นจริง ผู้คนต้องเคารพบูชาชาติอย่างมืดบอด เปิดโอกาสให้คนกลุ่มเล็กๆ เอารัดเอาเปรียบคนอื่นทั้งหมดในนามของ “ชาติ” อย่างไม่จบไม่สิ้น

ผมคิดว่าชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์ของไทย บรรจุปัญหาทั้งสองอย่างไว้ครบถ้วน แต่พัฒนาการของคติชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์ของไทยไม่ได้เป็นเส้นตรงเสียทีเดียว มีการหักงอคดเคี้ยวแปรผันมาเรื่อยๆ จนปัจจุบัน

แม้ว่ารัฐบาลในสมัย ร.5 อาศัยชาติพันธุ์สร้างสำนึกความเป็นปึกแผ่นให้แก่รัฐที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ แต่เมื่อมาถึงปลายรัชกาลสำนึกนี้เริ่มแปรผันไปสู่ความเป็นปึกแผ่นของประชาชน (หรือที่เรียกว่า “ราษฎร” ในสมัยนั้น) ในหมู่ผู้ได้รับการศึกษาแผนใหม่ ชาติคือประชาชน ผู้เป็นเจ้าของตัวจริงของชาติ และด้วยเหตุดังนั้นชาติจึงมีความสำคัญสูงสุดเหนือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

จะเห็นได้จากความเคลื่อนไหวของนายทหารหนุ่มใน ร.ศ.130 ซึ่งเกิดขึ้นเพียงปีเดียวหลังสิ้นรัชกาลที่ 5

ผมเข้าใจว่า สำนึกชาตินิยมที่ถูกปลุกขึ้นในสมัย ร.6 ก็คงมีจุดหมายจะตอบโต้สำนึกชาตินิยมของผู้ได้รับการศึกษาแผนใหม่นี้เอง เพื่อทำให้ความเป็นชาติแยกไม่ออกจากพุทธศาสนาและสถาบันกษัตริย์ เป็นสามสถาบันที่แยกออกจากกันไม่ได้

ชาติจึงมีความหมายถึง “บ้านเมือง” มากกว่าประชาชน และในฐานะบ้านเมือง ชาติไทยย่อมมีมาแต่บรมสมกัลป์ โดยมีพระมหากษัตริย์และพุทธศาสนาเป็นหลักชัยตลอดมา ส่วนลำดับขั้นเชิงชาติพันธุ์ ก็เปลี่ยนจากระยะห่าง-ใกล้กับชาติพันธุ์หลัก เป็นห่าง-ใกล้จากสถาบันกษัตริย์ไปแทน ใกล้มากก็เป็นพลเมืองชั้น 1 ห่างออกมาเท่าใด ก็เรียงลำดับลงไป

หลัง 2475 จนถึงรัฐประหาร 2490 แกนนำคณะราษฎรช่วงชิงกันนิยามชาติในสองความหมาย ฝ่ายหนึ่งยังอิงอยู่กับชาตินิยมแบบ ร.6 แต่ลดความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ลงไป ส่งเสริมการเขียนประวัติศาสตร์ที่เน้นอานุภาพทางการเมืองและการทหารของ “ชาติ” ไทยมาแต่ดึกดำบรรพ์ โดยเน้นย้ำบทบาทสำคัญให้อยู่กับชาติพันธุ์ไท-ไต อีกฝ่ายหนึ่งถือว่าชาติคือประชาชน และพยายามผลักดันนโยบายที่เอื้อต่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน รวมทั้งขยายบทบาทและอำนาจทางการเมืองของประชาชนด้วย

ฝ่ายแรกซึ่งมีกองทัพหนุนหลังได้โอกาสการนำสูงกว่า และหลังรัฐประหาร 2490 ก็สามารถขจัดฝ่ายหลังออกไปจากวงการเมืองได้เกือบสิ้นเชิง และด้วยเหตุดังนั้น “ชาติไทย” สืบต่อมาอีกหลายทศวรรษ จึงเป็นชาติของกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ไตมากกว่าของประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นพลเมือง

ความทรงจำเกี่ยวกับการถูกเลือกปฏิบัติในหมู่คน “เชื้อสาย” จีน, มลายู, เวียดนาม, กะเหรี่ยง, แม้ว-เย้า, ขมุ, อาข่า ฯลฯ ยังมีอยู่ในหมู่พลเมืองจำนวนมาก และแม้จนถึงทุกวันนี้ ก็ใช่ว่าทุก “เชื้อสาย” จะสามารถหลุดพ้นจากการเลือกปฏิบัติเช่นนั้นได้หมด

อย่างไรก็ตาม การเปิดเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบเสรีนิยมในต้นทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา ทำให้พลเมือง “เชื้อสาย” อื่น โดยเฉพาะจีน เข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่มากขึ้น ทำให้การกีดกันพลเมืองกลุ่มนี้ออกไปจากการเมืองทำได้ยากขึ้น จนในที่สุดก็หลุดออกไปจากการถูกเลือกปฏิบัติ ในขณะที่พลเมืองซึ่งยังไม่อาจเข้าสู่เศรษฐกิจแบบใหม่ได้เต็มที่ ยังต้องตกเป็นพลเมืองชั้น 2, 3 ต่อไป

แม้ยังมีพลเมืองที่ในทางปฏิบัติแล้ว หาได้มีความเท่าเทียมกับคนอื่นอยู่อีกมากในสังคมไทย แต่ข้ออ้างที่จะรอนสิทธิ์ผู้อื่นด้วยเหตุแห่งชาติพันธุ์ไม่อาจใช้ได้อีกแล้ว ผมจำได้ว่าในการสังหารหมู่ของวันที่ 6 ตุลานั้น ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายอันธพาลก่อความรุนแรง ต่างก็อ้างว่านักศึกษาที่ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีแต่ลูกญวนบ้าง ลูกจีนบ้าง ทั้งนั้น แต่ผมไม่ได้ยินข้ออ้างเช่นนี้เพื่อให้ความชอบธรรมแก่การใช้ความรุนแรงของตำรวจต่อผู้ประท้วงในช่วงระยะหลังเลยจนถึงปัจจุบัน

ในการชุมนุมของกลุ่ม พ.ธ.ม. เพื่อต่อต้านคุณทักษิณ ชินวัตร ผู้เข้าร่วมบางกลุ่มถึงประกาศตนเลยว่าเป็น “ลูกจีนรักชาติ”

อย่างน้อยหลักการกระจายสิทธิด้วยความต่างทางชาติพันธุ์ในประเทศไทย ก็กลายเป็นหลักการที่ไม่อาจประกาศโดยเปิดเผยได้เสียแล้ว และจะให้ผลร้ายทางการเมืองและสังคมแก่ผู้อ้างหลักการนี้จนไม่คุ้ม

ความเป็นชาติของไทยกำลังเปลี่ยน ชาติที่รวมตัวกันภายใต้บารมีของสถาบันหลักแห่งชาติก็ตาม ชาติที่อาศัยชาติพันธุ์หลักคือไทยเป็นแกนกลางให้ผู้คนรวมตัวกันเข้ามาก็ตาม ไม่ได้อยู่ในจินตนาการของคนรุ่นใหม่ไปเสียแล้ว ชาติในทัศนะของเขา กลายเป็นฐานอันแข็งแกร่งเพื่อรองรับระบบคุณค่าประชาธิปไตย เช่น เสรีภาพ, ความเท่าเทียม, ความยุติธรรม เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ในการบริหารสาธารณะ ก็เรียกร้องประสิทธิภาพ, ความซื่อสัตย์ และความสำเร็จเป็นความอยู่ดีกินดีของประชาชน ซึ่งชาติแบบเดิมไม่เคยมอบให้ได้เลย บางส่วนของความใฝ่ฝันเหล่านี้ ก็เป็นที่ต้องการของกลุ่มที่ไม่เรียกตนเองว่าเป็นรุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน

หากดูจากความใฝ่ฝันของคนรุ่นใหม่ แม้แต่ตัดส่วนที่เป็นคุณค่าประชาธิปไตยออกไป ชาติภายใต้สถาบันหลักก็ตาม ชาติเชิงชาติพันธุ์ก็ตาม ไม่อาจตอบสนองได้เสียแล้ว ไม่ใช่ขัดข้องเชิงอุดมการณ์เพียงอย่างเดียว แต่รัฐชาติในความหมายทั้งสองอย่างนั้นได้เดินมาถึงจุดเสื่อมจนไร้พลังจะตอบสนองได้อีกเลย

เช่น ลองคิดดูเถิดว่า กองทัพซึ่งเป็นกำลังค้ำจุนหลักของรัฐชาติทั้งสองแบบจะต้องปฏิรูปตนเองขนานใหญ่, กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบจะต้องปรับเปลี่ยนตนเองเพื่อผดุงความยุติธรรมตามกฏหมายแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียม, ระบบเศรษฐกิจที่ยกความได้เปรียบให้แก่นายทุนใหญ่ ต้องหันมาลดความได้เปรียบนี้ลง และเปิดโอกาสให้คนเล็กคนน้อยได้เข้าถึงปัจจัยการพัฒนาตนเองที่สำคัญๆ อย่างทั่วถึง, ระบบการศึกษาทั้งระบบต้องเปลี่ยนมาสู่การเรียนรู้แทนการยัดเยียด ฯลฯ กองทัพ, กระบวนการยุติธรรม, ระบบเศรษฐกิจ, ระบบการศึกษา และอะไรอื่นอีกมากมายหลายอย่างจะทำได้หรือ… ไม่ว่านายกฯ จะมาจาก “คนใน” หรือ “คนนอก”

การประท้วงของประชาชนที่ขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง และการยึดกุมอำนาจอย่างดื้อดึงแข็งขืนที่สุดเท่าที่จะทำได้ของฝ่ายอำนาจในเวลานี้ เป็นสัญญาณชี้ให้เห็นความตายอย่างเชื่องช้าและอย่างทรมานของ “ชาติ” ในความหมายแบบเก่าได้อย่างดี

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_452476

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท