Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นักวิชาการไทย/เทศที่ศึกษาประวัติศาสตร์พุทธศาสนาไทยมองว่า พุทธศาสนาไทยสมัยใหม่ (modern Thai Buddhism) เริ่มขึ้นโดยขบวนการปฏิรูปธรรมยุติกนิกาย นำโดยวชิรญาณภิกขุหรือ ร.4 ความเป็นสมัยใหม่ คือการตีความคำสอนในไตรปิฎกที่เน้นความมีเหตุมีผลเข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์ เช่น การตีความของ ร.4, เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรโรส เป็นต้น

ที่ชนชั้นนำสยามตีความเช่นนี้ ก็เพื่อโต้แย้งพวกบาทหลวง, มิชชันนารี ที่วิจารณ์ “ความงมงาย” ของพุทธศาสนาแบบไตรภูมิพระร่วง และความเชื่อที่ผู้คนสมัยนั้นยึดถือกันทั่วไป จากนั้นชนชั้นนำสยามก็วิจารณ์กลับว่า ความเชื่อเรื่องพระเจ้าสร้างโลกในคริสต์ศาสนาต่างหาก ที่งมงายและขัดหลักวิทยาศาสตร์ 

ในหนังสือ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” รัชกาลที่ 5 ถึงกับอธิบายว่า ศาสนาที่เชื่อพระเจ้าคือ พราหมณ์, คริสต์ และอิสลามเป็น “สาแหรกเดียวกัน” และว่าความเชื่อเรื่องพระเจ้าสร้างโลกอาจเหมาะกับสังคมโบราณ แต่ในสังคมสมัยนี้ดูน่าขบขันและยากจะเชื่อได้ 

ทั้งๆ ที่ในเชิงคำสอน ความเชื่อ และประวัติศาสตร์แล้ว พุทธมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพราหมณ์มาตลอด อาจเรียกได้ว่า ในศาสนาแบบอินเดีย “พุทธคือสาแหรกหนึ่งของพราหมณ์” แต่ชนชั้นนำสยามก็ยกพุทธว่าเป็นศาสนาที่มีเหตุผลเหนือพราหมณ์ รวมทั้งคริสต์และอิสลาม

อย่างไรก็ตาม แม้ในทางความเชื่อ พราหมณ์, คริสต์ และอิสลามจะเป็นศาสนาเทวนิยมเหมือนกัน แต่กลับมีประวัติศาสตร์ขัดแย้งกันมากกว่าจะร่วมมือกันได้ในทางการเมือง เฉพาะในไทย พราหมณ์, คริสต์ และอิสลามต่างคนต่างอยู่ ไม่มีปัญหาอะไรกัน และไม่ได้ร่วมมือกันในทางการเมือง

ส่วนพุทธกับพราหมณ์ เราได้เห็น “วิวาทะ” ของสองศาสนานี้ในไตรปิฎกและอรรถกถา แต่ประวัติศาสตร์พุทธกับพราหมณ์ในสยามไทย เห็นชัดมากเลยว่า ใน “ทางการเมือง” พุทธกับพราหมณ์ “ร่วมมือกันอย่างแข็งขัน” ในการสถาปนา “ระบบศักดินาไทย” หรือ “รัฐพุทธศักดินา” ที่ยึดถือปรัชญาการเมืองแบบพุทธผสมพราหมณ์ ถือว่ากษัตริย์มีสถานะและอำนาจเด็ดขาดแตะต้องไม่ได้ตามกฎหมายธรรมศาสตร์ของพราหมณ์ฮินดู และปกครองโดยธรรมตามคติพุทธ ส่วนความเป็นชนชั้นกษัตริย์ ขุนนางพระและฆราวาส และไพร่ ทาส ก็อิงความเชื่อเรื่องบุญกรรมตามคติไตรภูมิพระร่วง

ขณะที่มิติความเป็นศาสนาของชนชั้นปกครอง พุทธกับพราหมณ์ร่วมมือกันใน “ทางการเมือง” อย่างแข็งขันในการสถาปนาสถานะและอำนาจชอบธรรมของกษัตริย์ และระบบชนชั้นศักดินา แต่ในระดับศาสนาของชาวบ้าน พุทธกลับเหยียดพราหมณ์, ผี และยกตนเองเหนือคริสต์และอิสลามในเชิงความมีเหตุผล สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์มากกว่า 

และการผลิตสร้าง/ผลิตซ้ำวาทกรรมเหยียดพราหมณ์, ผี และวาทกรรมพุทธเหนือกว่าคริสต์และอิสลาม ก็คือการผลิตสร้าง/ผลิตซ้ำโดยชนชั้นปกครอง, ปราชญ์, ปัญญาชนพุทธทั้งพระและฆราวาสที่ตอกย้ำว่า ความเชื่อทางศาสนาแบบชาวบ้านๆ ที่งมงายใดๆ ล้วนเป็นเพราะถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของพราหมณ์และผี 

ทางแก้ความงมงายคือ ต้องสอนให้ประชาชนเข้าถึง “แก่นแท้” ของพุทธศาสนาในไตรปิฎกที่ชนชั้นปกครองและคณะสงฆ์พุทธศักดินา-ศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยมช่วยกันรักษาสืบทอด “ความบริสุทธิ์ถูกต้อง” มายาวนาน

แต่ขณะที่ยืนยันว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีเหตุผลสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ ในอีกด้านหนึ่ง ชนชั้นปกครอง เช่น ร.6 ก็ยืนยันแข็งขันว่า ศาสนาคริสต์ เป็นศาสนาของชาวตะวันตก เป็นศาสนาประจำชาติของฝรั่ง พุทธศาสนาก็เป็นศาสนาของชนชาติไทย เป็น “ศาสนาประจำชาติ” ของคนไทย และถือว่าพุทธศาสนาเป็นหนึ่งในอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์

น่าสังเกตว่า ปราชญ์และปัญญาชนพุทธร่วมสมัย ไล่มาแต่พุทธทาส, ป.อ. ปยุตฺโต และนักวิชาการพุทธอื่นๆ ล้วนรับประเพณีการตีความพุทธศาสนาสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์จากยุค ร.4 มาสานต่ออย่างแข็งขัน 

พุทธทาสยืนยันว่า พุทธศาสนาเป็น “อริยวิทยาศาสตร์” เป็น “วิทยาศาสตร์ทางจิต” หรือศาสตร์แห่งการดับทุกข์ที่พิสูจน์ได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ป.อ. ปยุตฺโต ออกหนังสือ “พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์” และตีความพุทธธรรมประยุกต์กับศาสตร์สมัยใหม่แทบทุกศาสตร์ 

พูดอย่างทั่วไป เราได้เห็นหนังสือประเภท “ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น” มีงานวิชาการแนวพุทธที่ “สนทนากระนุ๋งกระนิ๋ง” กับทฤษฎีสัมพัทธภาพ, ทฤษฎีควอนตัมฟิสิกส์, ชีววิทยาของดาร์วิน, จิตวิทยา และอื่นๆ เยอะแยะไปหมดในวงวิชาการพุทธไทย

แต่กับแนวคิดโลกวิสัย (secularism) และการทำให้เป็นโลกวิสัย (secularization) ป.อ. ปยุตฺโตออกมาเป็นด่านหน้าต่อต้านอย่างแข็งขัน อ้างว่าเป็น “แนวคิดตะวันตก” ที่ตอบโจทย์บริบทประวัติศาสตร์ตะวันตกเท่านั้น ไม่เหมาะกับไทย กระทั่งรวบรัดตัดสินว่า การแยกศาสนากับรัฐ “ไม่เกี่ยวกับเสรีภาพทางศาสนา” และถือเป็น “ความติดตันทางอารยธรรม” เลยทีเดียว (ดูการวิพากษ์ประเด็นนี้โดยละเอียด ในหนังสือ “อำลาพุทธราชาชาตินิยม” 2564, หน้า 51-81) 

ส่วนกับเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy) พุทธทาส (ในหนังสือ “ธรรมะกับการเมือง”) บอกว่า “ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีธรรมะจะเป็นระบอบเลวร้ายที่สุด” การเมืองทั่วโลกที่มันมีปัญหาเพราะเป็นการเมืองที่ละทิ้งศาสนา ละทิ้งพระเจ้า ละทิ้งธรรมะ ระบบการปกครองอะไรก็ตามไม่ว่าจะเผด็จการหรือประชาธิปไตย ถ้ามีธรรมะก็ดีหมด เป็นการเมืองของธรรมะ การเมืองของพระเจ้า

ส่วน ป.อ. ปยุตฺโตนั้นยืนยันว่า “เพราะธรรมาธิปไตยไม่มา จึงหาประชาธิปไตยไม่เจอ” ซึ่งน่าถามกลับตรงๆ ว่า เพราะธรรมาธิปไตยไม่มาเสียทีใช่ไหม ระบบปกครองสงฆ์ไทย (มหาเถรฯ) ที่มีมานานกว่าร้อยปี จึงหาประชาธิปไตยไม่เจอเลย และ “การปกครองโดยธรรม” ของสยาม/ไทย ที่ชนชั้นปกครองและพระสงฆ์ยืนยันว่ามีมาแต่สุโขทัยนั้น มันเป็นประชาธิปไตยยังไงหรือ เห็นอ้างกันว่าเป็นระบบการปกครองโดยธรรมที่ธรรมาธิปไตยมาเต็มๆ เลยมิใช่หรือ แต่ทำไมยังหาประชาธิปไตย “ไม่เจอ” มาร่วมพันปี! 

ทุกวันนี้ประชาชนออกมาเรียกร้องให้ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ที่ยึดอุดมการณ์ “ปกครองโดยธรรม” (หรือยึดถือ “ธรรมาธิปไตย” ตามคติพุทธ) ให้เป็นสถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่ประชาชนมีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบได้ แต่ทำไมต้องจับประชาชนเข้าคุก แล้วปราชญ์พุทธ, ปัญญาชนพุทธทำไมไม่ใช้ธรรมาธิปไตยมาหาประชาธิปไตยในสถาบันที่ปกครองโดยธรรมและระบบปกครองสงฆ์ให้เจอก่อนที่จะนำธรรมาธิปไตยมาสอนนักการเมืองและประชาชน!

ที่ว่ามาทั้งหมด เพื่อจะชวนตั้งคำถามต่อ “แก่นแกน” ของพุทธสมัยใหม่แบบไทย ที่เต็มไปด้วย “ความย้อนแย้ง” มาตลอด

ด้านหนึ่ง คือการกระตือรือร้นที่จะโชว์ความ “ทันสมัย” ด้วยการแสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนาเข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์ หรือมีความเป็นวิทยาศาสตร์ 

แต่ในอีกด้านหนึ่ง กลับเดินสวนทางคุณค่าสมัยใหม่ เช่น คุณค่าแบบโลกวิสัย เสรีประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ด้วยการแสดงจุดยืนแบบ “ย้อนยุค” ไปยืนยันการเมืองการปกครองแบบอิงหลักคำสอนศาสนา และยืนยันการไม่แยกศาสนาจากรัฐแบบยุคสังคมจารีตมาเป็นคำตอบของสังคมสมัยใหม่

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net