Skip to main content
sharethis

ม.นเรศวร ร่วมกับ ม.เชียงใหม่ จัดบรรยายพิเศษหัวข้อ "จากรั้ววัง รั้วโรงเรียน สู่รั้วอะคาเดมี่ ประวัติศาสตร์เส้นทางนักฟุตบอลอาชีพในสังคมไทย" ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการวงการฟุตบอลไทยจากกีฬารอบรั้ววังมาสู่ วงการลูกหนังขาสั้น และการเป็นวัฒนธรรมแห่งมวลชน

พงศกร สงวนศักดิ์ บรรยายพิเศษหัวข้อ "จากรั้ววัง รั้วโรงเรียน สู่รั้วอะคาเดมี่ ประวัติศาสตร์เส้นทางนักฟุตบอลอาชีพในสังคมไทย" (ที่มา ไลฟ์เพจเฟซบุ๊ก ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร)

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับ แผนงานคนไทย 4.0 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดบรรยายพิเศษผ่านโปรแกรมประชุมทางไกล และถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก ‘ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร’ ในหัวข้อ "จากรั้ววัง รั้วโรงเรียน สู่รั้วอะคาเดมี่ ประวัติศาสตร์เส้นทางนักฟุตบอลอาชีพในสังคมไทย" โดย พงศกร สงวนศักดิ์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตล้านนา

พงศกร แบ่งยุคของประวัติศาสตร์ฟุตบอลไทยออกเป็น 3 ยุค ได้แก่ ยุครั้ววัง (พ.ศ. 2444-2500 และ 2500-2520) ยุครั้วโรงเรียน (พ.ศ. 2520-2552) และยุครั้วอะคาเดมี (พ.ศ.2552-ปัจจุบัน)

ยุครั้ววัง (พ.ศ. 2444-2500 และ 2500-2520)

พงศกร กล่าวถึงที่มาของการตั้งชื่อยุคนี้ว่า “รั้ววัง” มาจากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 5 เป็นผู้นำกีฬาฟุตบอลจากอังกฤษเข้ามาสู่สังคมไทย โดยเริ่มให้ผู้คนแวดล้อมเป็นผู้ทดลองเล่น หลังจากนั้น จึงให้กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ริเริ่มแปลกฎระเบียบการเล่น และให้โรงเรียนนำกีฬาฟุตบอลบรรจุในหลักสูตร จึงทำให้ผู้คนในสังคมเริ่มรู้จักกีฬาที่เรียกว่า ‘ฟุตบอล’ แม้จะมีการบรรจุกีฬาฟุตบอลลงในหลักสูตรของโรงเรียน แต่ด้วยสภาพสังคมในขณะนั้นอยู่ในช่วงการปฏิรูปการปกครอง โรงเรียนในช่วงยุคแรกจึงมีแต่บริเวณโดยรอบวังเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้มีมากและกระจายทั่วทุกพื้นที่อย่างทั่วถึงเช่นในปัจจุบัน ดังนั้น กีฬาฟุตบอลในยุคแรกจึงมีความใกล้ชิดกับวัง แม้มีในหลักสูตรของโรงเรียน แต่ก็มีเฉพาะโรงเรียนบริเวณโดยรอบวัง โดยในทางการปกครอง ยุคนี้ถือเป็นยุคสร้างรัฐ (ชาติ) แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นการปฏิรูปการปกครองโดยรวมศูนย์อำนาจไว้ที่สถาบันกษัตริย์ ดังนั้น จึงต้องพยายามสร้างพลเมืองเพื่อมาตอบสนองต่อรัฐชาติสมัยใหม่ที่สร้างขึ้น ซึ่งพลเมืองในความหมายสมัยใหม่ เน้นการอยู่ในระเบียบกติกา ไม่ดิบเถื่อน ในช่วงแรกภารกิจหลักของการรับเอากีฬาฟุตบอลเข้ามา เพื่อเป็นการกล่อมเกลาผู้คนให้ไม่ดิบเถื่อน รวมถึงมีความศิวิไลซ์แบบตะวันตก

ฟุตบอลในฐานะตัวแทนความศิวิไลซ์

การที่ฟุตบอลเป็นภาพแทนของความศิวิไลซ์นั้นสืบเนื่องมาจากในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงนำเข้ามาจากอังกฤษ โดยขณะนั้นอังกฤษเป็นภาพแทนที่มีความศิวิไลซ์กว่าสยาม กีฬาฟุตบอลซึ่งมีระเบียบกติกาและลักษณะที่บ่งบอกถึงความศิวิไลซ์ มีความเป็นผู้ดีแม้จะมีการใช้กำลังในการเล่น ต่างจากกีฬาที่เคยมีในสยามสมัยก่อนซึ่งมีความไร้ระเบียบ กติกาไม่ชัดเจน และมีความรุนแรงเกิดขึ้นในการแข่งขัน งานศึกษาชิ้นหนึ่งของ ชาญ พนารัตน์ เสนอว่า การที่รัชกาลที่ 5 ทรงนำกีฬาฟุตบอลเข้ามา เป็นการจงใจนำมาใช้เพื่อเป็นการกล่อมเกลา และสร้างสุขพลานามัยที่ศิวิไลซ์ให้แก่พลเมือง ซึ่งสะท้อนว่าในหลวงรัชกาลที่ 5 มองกีฬาฟุตบอลไม่ใช่กีฬาที่แข่งขันเพื่อความสนุกเพียงอย่างเดียว แต่มีความหมายแฝงอยู่คือเรื่องการเคารพกฎกติกา ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นต่อสังคมไทยในขณะนั้นที่มีกฎกติกาใหม่ๆ เกิดขึ้นในสังคมจำนวนมาก อาทิ การยกเลิกเจ้าเมืองแต่ละเมือง และให้ยอมรับกฎระเบียบรวมถึงเจ้านายที่ทางการส่งไปเป็นผู้ว่า เพราะถ้าผู้คนดื้อด้าน จะออกจากกรอบตลอดเวลา ดังนั้น จึงพยายามให้ผู้คนเคารพกฎกติกาใหม่ๆ ที่ออกมา

ฟุตบอลเพื่อชาติและความเป็นชาย

เมื่อมาสู่รัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 6 ซึ่งหลายคนยกให้เป็นยุคเฟื่องฟูของฟุตบอลไทย เนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้คนมาเล่นฟุตบอลกัน มีการให้เล่นหน้าพระที่นั่ง ตั้งตนเป็นประธานสโมสรฟุตบอล อีกทั้งส่งเสริมให้คนมาเล่นฟุตบอลโดยเฉพาะพวกนายใน “มีการตั้งฟุตบอลทีมชาติไทยขึ้นเป็นครั้งแรก” ในสมัยนี้ โดยจากหนังสือเรื่อง “นายใน” (เขียนโดย ชานันท์ ยอดหงส์) ในรัชกาลที่ 6 กล่าวไว้ว่า กีฬาฟุตบอลเป็นกีฬาที่รัชกาลที่ 6 ทรงสนับสนุนไปพร้อมๆ กับลูกเสือ และสิ่งต่างๆ โดยทรงกล่าวไว้ในหลายวาระว่า เป็นการฝึกเป็นชายให้สมกับเป็นชายชาตรี รวมถึงมีคุณลักษณะที่ต้องเป็นชายของชาติ เป็นชายที่ต้องรับใช้ชาติ

ฟุตบอลสมัยคณะราษฎร (ไม่ถูกใจสิ่งนี้)

ล่วงมาในสมัยคณะราษฎร จากข้อมูลของ ภิญญพันธ์ พจนะลาวัลย์ พบว่า คณะราษฎรสั่งยกเลิกรายการการแข่งขันฟุตบอลถ้วยพระราชทานต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2475-2490 ซึ่งกล่าวได้ว่า วงการฟุตบอลหยุดชะงักไปพอสมควรในสมัยนี้ โดยประมาณ พ.ศ. 2491 ถึงมีการกลับมามีการแข่งขัน แต่ไม่ใช่ถ้วยพระราชทานเหมือนสมัยยุคต้นรั้ววัง เป็นถ้วยบอล ก. หรือบอลลีกทั่วไป 

การพัฒนาในยุคสงครามเย็น

จากยุครั้ววังมาถึงยุคแห่งการพัฒนาในช่วงสงครามเย็น (พ.ศ. 2500-2520) ในยุคนี้กีฬาฟุตบอลเริ่มพ้นจากรั้ววังมากขึ้น โดยผ่านโรงเรียน และผ่านการพัฒนาโทรคมนาคมที่ทำให้สามารถดูฟุตบอลต่างประเทศได้ อีกทั้งมีส่วนริเริ่มวัฒนธรรมประชานิยมในสังคมไทย เนื่องจากการรับสารผ่านสื่อต่างๆ อาทิ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ซึ่งสื่อเหล่านี้เป็นแหล่งข้อมูลที่คนเข้าถึงได้จำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม นักกีฬาฟุตบอลส่วนใหญ่ยังคงวนเวียนอยู่ในรั้ววัง และรอบวัง

ตัวอย่างนักฟุตบอลในยุคนี้ คือ วิทยา เลาหกุล เกิดปี พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มยุคสงครามเย็น โดยเติบโตมากับการดูฟุตบอลผ่านทีวี ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในอาชีพนักฟุตบอล ประกอบกับเป็นช่วงที่เริ่มมีรายการแข่งขันมากขึ้น อาทิ กีฬาเขตการศึกษา ซึ่งวิทยา ค่อยๆ ก้าวมาสู่ตัวแทนเขต พัฒนาไปสู่ระดับจังหวัด รวมถึงสโมสร และติดทีมชาติ ท้ายที่สุดด้วยความโดดเด่นจึงทำให้วิทยาได้ไปเล่นให้กับสโมสรแฮร์ธา เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดสูงสุดของนักฟุตบอลไทยคนหนึ่งในตอนนั้น

ยุครั้วโรงเรียน (พ.ศ. 2520-2552)

พงศกร กล่าวว่า เหตุผลที่ตั้งชื่อยุคว่า "รั้วโรงเรียน" เพราะว่ากีฬาฟุตบอลในยุคนี้เริ่มออกจากรั้ววัง กระจายไปสู่สังคมในวงกว้างผ่านโรงเรียนกีฬาต่างๆ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่โยงเข้ากับกีฬาที่เริ่มมีในต่างจังหวัด หรือโรงเรียนกีฬาประจำจังหวัด อาทิ สุพรรณบุรี นครสวรรค์ ซึ่งมีส่วนในการผลิตนักฟุตบอลในสมัยนั้น ในยุคนี้สภาพความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นคือการพัฒนาโทรคมนาคมอย่างเข้มข้น คนที่เกิดในยุคนี้จึงเติบโตมากับการได้ดูฟุตบอลอย่างเป็นกิจวัตร และเป็นปัจจัยทำให้เกิดการนำเข้าวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์ (Pop culture) ซึ่งต่อมาฝังรากลึกในสังคมไทย ส่วนด้านวงการฟุตบอลในยุคนี้ เรียกว่าเป็น "ฟุตบอลกึ่งอาชีพ" หมายถึงฟุตบอลยังไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้เต็มตัว เนื่องจากรายการแข่งขันต่างๆ ยังไม่มีการจัดระบบได้ดีเพียงพอ เงินเดือนนักฟุตบอลจึงไม่พอจะดำรงชีพได้ ต้องไปรับเงินเดือนจากองค์กร หรือเป็นเบี้ยเลี้ยงรายครั้ง โดยนักฟุตบอลในยุคนี้มีที่มาจากต่างจังหวัดมากขึ้น เกิดจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป การพัฒนาต่างจังหวัดในยุคสงครามเย็น กระแสการนิยมในกีฬาฟุตบอล การเกิดขึ้นของโรงเรียนกีฬาที่เป็นช่องทางสำคัญเพื่อฝึกฝนตัวเอง

 

ฟุตบอลกึ่งอาชีพและการเข้าสู่วงการฟุตบอลอาชีพของนักเตะต่างจังหวัด

เมื่อเอกชนเริ่มเข้ามามีบทบาทจัดการแข่งขัน ทำให้รายการการแข่งขันฟุตบอลให้กระจายตัวไปทั่วประเทศ จึงทำให้นักฟุตบอลจากต่างจังหวัดได้โชว์ศักยภาพของตนเองและอาจได้พัฒนาไปเล่นในระดับประเทศ อย่างไรก็ตาม ในด้านการแข่งขันในระดับสโมสร ยังคงกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นหลัก สโมสรจำนวนมากเป็นขององค์กร ธนาคาร และรัฐวิสาหกิจ อาทิ สโมสรกรุงไทย สโมสรการไฟฟ้า อีกทั้งคนต่างจังหวัดจะสนใจการแข่งระดับสโมสรน้อย เนื่องจากการแข่งขันส่วนใหญ่วนเวียนอยู่ในกรุงเทพฯ การเป็นฟุตบอลกึ่งอาชีพนั้นนำมาสู่การรอรัฐ และทุนอุปถัมภ์ เพื่อจัดการแข่งขัน 

พงศกร กล่าวต่อว่า ในปี พ.ศ. 2520 มีการจัดการแข่งขันชื่อว่า ไทยแลนด์คัพ ที่ร่วมกันจัดขึ้นโดยช่องเจ็ด และไทยรัฐ เป็นการให้แข่งขันกันในตัวจังหวัด และทีมที่ชนะจะพัฒนาไปสู่ระดับเขต และภูมิภาค ซึ่ง “รายการ ไทยแลนด์คัพ 2520 เป็นการฝังรากลึกกีฬาฟุตบอลไปสู่ต่างจังหวัด” ในงานศึกษาของ ภิญญพันธ์ พจนะลาวัลย์ มีการกล่าวถึงปรากฏการณ์ สนามแตก กล่าวคือ คนเข้าไปดูฟุตบอลจนล้นสนาม ซึ่งสามารถเรียกได้ว่าสังคมไทยเกิดสิ่งที่เรียกว่าป๊อปคัลเจอร์ แสดงให้เห็นว่าฟุตบอลไม่ใช่เพียงแค่กีฬาอีกต่อไป แต่กลายเป็นวัฒนธรรมด้วย

ตัวอย่างของนักฟุตบอลในยุคฟุตบอลกึ่งอาชีพ คือ โชคทวี พรมรัตน์ เกิดในปี พ.ศ. 2518 เติบโตมากับโรงเรียนที่เด่นด้านกีฬาอย่างกรุงเทพคริสเตียน ด้วยความโดดเด่นของโชคทวี จากการเล่นให้กับโรงเรียน มาสู่รายการอื่นๆ อาทิ ‘โค้กคัพ’ ซึ่งเป็นรายการที่เอกชนเป็นผู้จัดขึ้น จนนำมาสู่การเล่นให้สโมสรกสิกรไทย ซึ่งเป็นสโมสรอันดับต้นๆ ของประเทศในขณะนั้น แต่ด้วยความเป็นฟุตบอลกึ่งอาชีพของไทยในช่วงเวลานั้น ทำให้รายได้ไม่มากพอจะดำรงชีพ โชคทวีจึงหันไปเล่นให้กับสโมสรต่างประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย ฯลฯ ซึ่งจากข้อมูลพบว่ามีรายได้ถึงหลักแสนบาทต่อเดือน

ยุครั้วอะคาเดมี (พ.ศ.2552-ปัจจุบัน) 

พงศกร กล่าวว่า การปฏิวัติฟุตบอลไทยในปี 2552 นั้น ถ้าเปรียบในทางการเมืองเหมือนกับการปฏิวัติสยาม 2475 คือเป็นการปฏิวัติครั้งสำคัญ เป็นการเปลี่ยนจากระบบแบบรัฐและทุนอุปถัมภ์ในยุครั้วโรงเรียน-ฟุตบอลกึ่งอาชีพเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคเอกชนเต็มรูปแบบ ทั้งด้านจัดการ และการแข่งขัน ต้องเป็นเอกชนทั้งหมด โดยการปฏิวัติฟุตบอลดังกล่าวเริ่มมาจาก สมาพันธ์ฟุตบอลไทย(AFC) ออกระเบียบว่าด้วยการเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพอย่างสมบูรณ์ทำให้ไทยต้องมีบริษัท พรีเมียร์ลีก จำกัด มาจัดการแข่งขันตามมาตรฐาน AFC และสโมสรต้องเป็นการจัดตั้งในรูปแบบองค์กร (บริษัท) ความเปลี่ยนแปลงในวงการฟุตบอลนี้สอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปสู่ระบบเสรีนิยมใหม่ ซึ่งเน้นกระบวนการ ‘privatization’ และการแปรรูปกิจการของรัฐให้เป็นเอกชน ซึ่งกิจการฟุตบอลเป็นส่วนหนึ่งในนั้น จากที่ทีมฟุตบอลมีรัฐเป็นเจ้าของ หรือเอกชนร่วมลงทุน กลายเป็นเอกชนดูแลทั้งหมด ทำให้ฟุตบอลกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ส่วนต่างๆ เกี่ยวพันกับธุรกิจจำนวนมาก มีการเกิดขึ้นของอาชีพนักฟุตบอลเต็มตัว อาชีพโค้ช นักพากย์บอล การถ่ายทอดสด เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้คนมาบริโภค สร้างรายได้ให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จึงสำคัญในแง่ที่ว่าสามารถทำให้สามารถดำรงชีพตัวเองได้ด้วยการเป็นนักฟุตบอล ซึ่งส่งผลต่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับเส้นทางการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ โรงเรียนกีฬาเริ่มถูกลดบทบาทในการผลิตนักกีฬา พร้อมกับการเกิดขึ้นของอะคาเดมี่จากสโมสร

 

จากกีฬารอบรั้ววังสู่การฝังรากเป็น pop culture 

หลังการปฏิวัติฟุตบอลไทยในปี พ.ศ. 2552 ส่งผลให้ฟุตบอลได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างถล่มทลาย ข้อมูลในปี พ.ศ. 2557 พบว่าจำนวนคนเข้าดูฟุตบอลที่สนามในหนึ่งฤดูกาลมีมากถึง 2.69 ล้านคน และมียอดขายตั๋วสูงถึง 214 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมประชานิยมที่ผู้คนสนใจรวมถึงบริโภคเป็นจำนวนมาก กล่าวได้ว่าการปฏิวัติฟุตบอลดังกล่าว เปลี่ยนความหมายฟุตบอลจาก “กลไกของรัฐในการสร้างชาติ กลายมาเป็นธุรกิจกีฬาของมวลชน” หรือจากรั้ววังมาสู่ป๊อปคัลเจอร์อย่างเต็มรูปแบบ

ฟุตบอลอาชีพและปรากฏการณ์มุ่งสู่อะคาเดมีของเยาวชนต่างจังหวัด

ยุคนี้อาชีพนักฟุตบอลจึงเป็นอาชีพที่สามารถดำรงชีพได้เต็มตัว และมีลักษณะสำคัญซ่อนอยู่คือความเป็นเซเลบ เพราะกลุ่มคนบางกลุ่มมองว่า อาชีพนักฟุตบอลได้รับความนิยมในเชิงวัฒนธรรมด้วย จึงนำมาสู่การมีอะคาเดมี่ฟุตบอลสโมสร ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎข้อบังคับของ AFC คือ การที่จะมีสโมสรเข้าแข่งขันในระดับเอเชียได้ต้องมีสถานที่ฝึกของตัวเอง (อะคาเดมี) ในโครงสร้างพื้นฐานของสโมสร เมื่อสโมสรลงทุนสร้างอะคาเดมี ซึ่งมีลักษณะที่ผูกโยงกับโรงเรียน เพื่อให้เด็กที่ได้รับคัดเลือกเรียนฟรี โดยสโมสรจะเป็นรับผิดชอบค่าใช้จ่าย มีสวัสดิการ อีกทั้งหน้าที่ของสโมสรคือการพัฒนาให้เด็กเป็นนักฟุตบอลที่มีคุณภาพเพื่อส่งเข้าสโมสรตัวเอง หรือขายต่อให้สโมสรอื่น ดังนั้น จึงขึ้นมามีบทบาทแทนโรงเรียนกีฬาแบบเดิม เพราะโรงเรียนกีฬาเป็นการลงทุนที่อิงกับรัฐได้ จึงไม่สามารถลงทุนได้มากเท่าสโมสรที่เป็นของเอกชน อคาเดมีจึงเป็นช่องทางที่สำคัญในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ จากข้อมูลของสโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ด พบว่าจำนวนเยาวชนที่ไปคัดตัวเข้าอะคาเดมีของสโมสรมีมากถึง 10,000 คน ซึ่งอาจรับเข้าได้ไม่เกิน 200 คน โดยในจำนวนนี้มีกลุ่มใหม่โดยเฉพาะในต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ที่เข้าไปคัดเลือกตามสโมสร คนกลุ่มใหม่นี้ในงานศึกษาเรื่องทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย กล่าวว่าเป็นกลุ่มคนชนชั้นใหม่ หมายถึงผู้คนในต่างจังหวัดที่หลุดจากเศรษฐกิจเกษตรกรรมแบบเดิม ทำอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น บริโภคสินค้าที่มีความเป็นชนชั้นกลางมากขึ้น บางคนเรียกชนชั้นนี้ว่าเป็น ‘ชนชั้นใหม่’ หรือชนชั้นยอดหญ้า ซึ่งตรงข้ามกับคำว่ารากหญ้าในแบบเดิม โดยคนกลุ่มนี้เป็นคนที่ต้องการแสวงหาทางในการเติบโตเพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น เนื่องจากช่องทางการศึกษากระแสหลักแบบเดิมบางครั้งเป็นอุปสรรค ทำให้อาชีพนักฟุตบอลตอบโจทย์ในเรื่องช่องทาง คนกลุ่มนี้จึงเป็นลูกค้าหลัก และนิยมการส่งลูกหลายเข้าคัดเลือกในอะคาเดมี

ตัวอย่างของนักฟุตบอลในยุคนี้คือ อานนท์ อมรเลิศศักดิ์ เกิดใน พ.ศ. 2540 ซึ่งในช่วงการเติบโตตรงกับช่วงของการปฏิวัติฟุตบอลไทย รวมถึงพ่อเป็นโค้ชทีมฟุตบอล จึงฝึกซ้อมให้กับอานนท์ตั้งแต่ยังเด็ก และเมื่อเห็นช่องทางการก้าวสู่นักฟุตบอลอาชีพในอเคเดมี่จึงผลักดันอย่างเต็มที่ ส่งเข้าฝึกโครงการต่างๆ อาทิ โครงการ 'Center of excellence' ทำให้อะคาเดมีบุรีรัมย์ยูไนเต็ดเห็นถึงความโดดเด่น จึงชักชวนไปคัดเลือกเพื่อเข้าสู่อะคาเดมี จนเมื่อเข้ามาฝึกกับอะคาเดมี่ก็พัฒนาก้าวไปจนติดทีมตัวจริง และติดทีมชาติไทยในที่สุด

พงศกร กล่าวสรุปถึง 120 ปี ของวงการฟุตบอลไทยว่า ความเปลี่ยนแปลงในวงการฟุตบอลที่เกิดขึ้นสอดคล้องไปกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยมาโดยตลอด เพราะฟุตบอลเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม เป็นป๊อปคัลเจอร์แบบหนึ่ง ด้วยความเป็นวัฒนธรรมนี้เองจึงเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม และพลวัตรดังกล่าวทำให้ฟุตบอลในความเป็นวัฒนธรรมได้กระจายไปสู่วงกว้าง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net