Skip to main content
sharethis

สภาเสียงข้างมาก 374 ต่อ 193 ไม่เห็นด้วยญัตติด่วน 'ก้าวไกล' ตีความร่างแก้ไข รธน.ฉบับ กมธ. เกินหลักการหรือไม่ ขณะที่ ‘โรม’ ย้ำ ไม่เห็นดีเห็นงามกับ รธน.60 แน่ เพราะเคยติดคุกจากการไม่รับร่างมาแล้ว แต่ไม่เชื่อ ‘ไม่เลือกวิธีการ’ จะเป็นประตูสู่ทางออกจากวิกฤตได้ ด้าน กมธ. ยอมหั่น 4 มาตราร้อน พร้อมเปิดเทียบ รธน.60 กับ ร่าง รธน. ฉบับ กมธ. 

24 ส.ค.2564 วันนี้ที่รัฐสภามีการประชุมในวาระสำคัญคือการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ม.83 และ ม.91 เรื่องระบบเลือกตั้ง ในวาระที่ 2 ภายหลังจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาแล้วเสร็จ โดยที่ได้มีการลงคะแนน ญัตติด่วนเสนอโดย ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถึงเรื่องการตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 114 วรรคสอง และข้อที่ 124 เพื่อให้เกิดแนวทางที่ชัดเจนในการใช้ข้อบังคับต่อไป โดยระบุว่า กมธ. เสียงข้างมากปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา

ทั้งนี้ ที่ประชุม ได้ลงมติเห็นด้วย 60 เสียง ไม่เห็นด้วย 374 เสียง งดออกเสียง 193 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 4

‘โรม’ ย้ำ ไม่เห็นดีเห็นงามกับ รธน.60 แน่ เพราะเคยติดคุกจากการไม่รับร่างมาแล้ว แต่ไม่เชื่อ ‘ไม่เลือกวิธีการ’ จะเป็นประตูสู่ทางออกจากวิกฤตได้

รายละเอียดเพิ่มเติมก่อนลงมตินั้น ธีรัจชัย เสนอญัตติด่วนกล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่ผ่านวาระที่ 1 รับหลักการ ได้ระบุหลักการการแก้ไขไว้เพียงมาตรา 83 และ 91 แต่ในการพิจารณาในคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้มีการอ้างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อที่ 124 วรรค 3 ความว่า การแปรญัตติเพิ่มเติมมาตราขึ้นใหม่ หรือตัดทอน หรือแก้ไขมาตราเดิม ต้องไม่ขัดหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เว้นเเต่การแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการนั้น เพื่อใช้ในการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติมาตราอื่นของรัฐธรรมนูญตามที่ปรากฏไว้ในหลักการ จึงปรากฏว่า คณะกรรมาธิการได้มีมติแก้ไขมาตรา 85,86,92,93,94 และ 105 วรรคท้าย รวมถึงได้มีมติเพิ่มบัญญัติใหม่ อย่างไรก็ตาม ใน กมธ.ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันว่า ข้อบังคับดังกล่าวมีขอบเขตเพียงใด จะใช้ดังกรณีที่กล่าวมาได้หรือไม่ ซึ่ง กมธ.บางท่านได้ยกข้อบังคับที่ 124 วรรค 2 ความว่า หลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้กำหนดโดยชัดแจ้งเพื่อแย้งว่า การแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านวาระที่ 1 ให้แก้ไขเพิ่มเติมเพียง 2 มาตรา เท่านั้น นี่คือความชัดแจ้งจึงไม่อาจแก้ไขบทบัญญัติมาตราอื่นที่เกินเลยไปกว่านั้นได้

“นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 3 ระบุไว้ว่า รัฐสภาจะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม ซึ่งมีหลักหนึ่งที่สำคัญคือ หลักความมั่นคงทางกฎหมาย หมายถึง การตีความให้ความมั่นคงแน่นอนทางกฎหมายจะไม่สามารถตีความตามเสียงข้างมาก หรือตามผู้มีอำนาจขณะนั้นได้ ถ้าหลักการที่ผ่านมี 2 มาตรา ก็แก้เพียง 2 มาตรา จะไปตีความหมายเกี่ยวเนื่องเป็นอย่างอื่นไม่ได้ จึงเป็นเหตุผลที่ต้องยื่นนำเสนอญัตติด่วนนี้เพื่อให้รัฐสภาตีความให้ชัดแจ้งก่อน เพราะอาจเกิดผลกระทบภายหลังได้”

ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายสนับสนุนญัตติ โดยระบุว่า จุดยืนของพรรคก้าวไกลไม่เคยปฏิเสธกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สนับสนุนการเลือกตั้งที่ใช้บัตรสองใบ และกระบวนการคิดคำนวณตามสัดส่วนที่ควรเป็น ไม่มีคะแนนตกน้ำ การแก้ไขจึงจำเป็นต้องอุดรอยรั่วทั้งของรัฐธรรมนูญ 60 ที่พรรคของตนสมัยอนาคตใหม่มีคะแนนตกน้ำถึง 500,000 เสียง และต้องอุดรอยรั่วของ รัฐธรรมนูญ 40 ที่ตนก็เป็นหนึ่งในคนที่ถือธงเขียวสนับสนุน เพราะเราไม่ต้องการให้เกิดแนวโน้มที่นำไปสู่เผด็จการรัฐสภาขึ้นอีก รัฐสภาจึงจำเป็นต้องรักษาความชอบธรรมของกฎหมาย การวางหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การดำเนินการของ กมธ.ในการแก้รัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยข้อบังคับ 124 หากย้อนความไปเมื่อครั้งมีการยื่นเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการเสนอเข้ามาทั้งสิ้น 13 ญัตติ แต่ที่ผ่านวาระแรกเข้ามามีเพียงร่างเดียวที่เสนอมาโดยพรรคประชาธิปัตย์ ร่างนั้นมีหลักการสั้นกระชับ เข้าใจง่าย คือ แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 สาระสำคัญว่าด้วยจำนวนและประเภทของ ส.ส. และมาตรา 91 เป็นเรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่บางท่านตีความไปถึงจะเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง หรือจะต้องมีระบบเลือกตั้งแบบคู่ขนาน แต่ถ้าจะให้ตีความไปอย่างนั้น ทำไมพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่เขียนหลักการที่กว้างขวางกว่านี้

“การรับหลักการในวาระที่หนึ่งที่ให้แก้ไขเพียง 2 มาตรา ปัญหาที่เกิดทันทีคือ ร่าง กมธ.กลับมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญถึง 9 มาตรา หลายประเด็นยังขัดหลักการอย่างชัดเจน เช่น การตัดข้อความให้ใช้วิธีออกเสียงโดยตรงในมาตรา 85 แล้วไปเขียนใหม่ในมาตรา 83 หรือการเปลี่ยนวันที่คณะกรรมการเลือกตั้งตรวจสอบให้เร็วจาก 60 วันเป็น 30 วัน หรือแก้รัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็ให้ไปใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งเหล่านี้ไม่ใช่การแก้ไขที่สอดคล้องข้อบังคับ 124 ที่ต้องทำอย่างเท่าที่จำเป็น การแก้ถึง 9 มาตราไม่ใช่เท่าที่จำเป็นเกี่ยวข้อง ถ้าหลักการที่ผ่านวาระที่หนึ่งมาแล้ว แต่จะมาแก้ไขใน กมธ. อย่างไรได้ ก็ไม่จำเป็นต้องให้การแก้รัฐธรรมนูญมี 3 วาระ แต่จะแก้อย่างไรก็เชิญเลย ที่ต้องพูดเพราะอยากให้ผู้เกี่ยวข้องซึ่งหลายคนเป็น ส.ส.มาหลายสมัยรู้จักละอายเสียบ้าง ว่าการทำเช่นนี้ไม่ต่างกับการสอดไส้ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหากับประเทศไทยต่อไปในอนาคต

“ประการต่อมา จุดบกพร่องในร่างนี้ หากอ่านให้ดีคือกำหนดให้มี ส.ส.ในสภาเพียง 400 คน เท่านั้น โดยไม่ระบุว่าเป็น ส.ส.เขต แต่ถ้าเปิดหน้าถัดไปจะปรากฏต้นร่างแนบที่เขียนให้ ส.ส.มี 500 คน สะท้อนความเร่งรีบที่ความพยายามเสนอร่างรัฐธรรมนูญนี้โดยไม่พิจารณาให้รอบคอบและอาจเกิดปัญหาภายหลังได้ หากจะปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องเจตนารมณ์ของผู้ร่าง จะให้ถือเจตนารมณ์ส่วนไหน ส่วนเหตุผลหรือต้นร่างที่แนบมา ดังนั้น จึงควรถอนแล้วนำไปแก้ใหม่ให้สมบูรณ์ หากดึงดันฝืนต่อไปจะเป็นการทำลายระบบสภาในที่สุด เพราะไม่มีกฎเกณฑ์อะไรอีกต่อไปแล้ว ทราบว่าท่านต้องการจะแก้ระบบเลือกตั้งเพราะเชื่อว่าจะกลับมาได้อย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง แต่ก็ช่วยเขินอายกันบ้างได้ไหม ไม่ใช่จะแก้แบบไม่มีหลักเกณฑ์ ที่พูดไม่ใช่เห็นดีงามกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะผมเคยติดคุกมาแล้วกับการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตอนประชามติ แต่ไม่เชื่อเด็ดขาดว่าการใช้ทุกวิถีทางไม่ว่าจะถูกต้องหรือไม่ จะเป็นประตูพาสังคมไทยออกจากวิฤตได้ อยากให้เรียนรู้จากบทเรียนในอดีตเสียบ้าง” รังสิมันต์ ระบุ

หลังมติเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับญัตติที่ธีรัจชัยเสนอแล้ว ต่อมาเวลา 18.15 น. เข้าสู่วาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ม.83 และ ม.91 โดย ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกมธ. กล่าวชี้แจงหลักการและเหตุผลของการเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่กมธ.ได้ปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาใหม่ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 24 ส.ค. และขอให้นำข้อ บังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 37 มาบังคับใช้โดยอนุโลม กับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่กมธ.ได้เสนอไว้ ซึ่ง ยชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือว่า มีใครยังติดใจประเด็นใดหรือไม่ แต่ไม่มีใครติดใจ ชวนจึงสั่งเลื่อนการประชุมเป็นวันที่ 25 ส.ค.และปิดประชุมเวลา 18.25 น.

(ที่มา มติชนออนไลน์ไทยรัฐออนไลน์ และทีมสื่อพรรคก้าวไกล)

บีบีซีไทย เทียบ รธน. 2560 vs ร่าง รธน. ฉบับ กมธ.

ทั้งนี้ บีบีซีไทย รายงานด้วยว่า ในระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภาวันนี้ (24 ส.ค.) ไพบูลย์ นิติตะวัน ได้เรียกประชุม กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ อย่างเร่งด่วนในช่วงสาย เพื่อขอมติให้ปรับปรุงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอต่อรัฐสภาใหม่ โดยมีเนื้อหาเหลือเพียง 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 83, มาตรา 86 มาตรา 91 พร้อมตัดเนื้อหาอีก 4 มาตราออกทั้งหมด ได้แก่ มาตรา 85, มาตรา 92, มาตรา 93 และมาตรา 94

นอกจากนี้ บีบีซีไทยสรุปความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ กมธ. ชุดไพบูลย์ที่ปรากฏในรายงานที่เสนอต่อรัฐสภา ก่อนที่ กมธ. จะยอมตัดเนื้อหาบางส่วนออกไป ดังนี้

มาตรา

รธน. 2560

ร่าง รธน. ฉบับ กมธ.

มาตรา 83

ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน และให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ

 

ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

 

มาตรา 85 (กมธ. เพิ่งมีมติตัดออก)

ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

ให้ กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

มาตรา 86

กำหนดให้ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มี 350 คน

กำหนดให้ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มี 400 คน

มาตรา 90

กำหนดให้พรรคการเมืองจัดทำบัญชีผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไม่เกิน 150 คน

กำหนดให้พรรคการเมืองจัดทำบัญชีผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไม่เกิน 100 คน

มาตรา 91

การคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค 1) ให้นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่ทุกพรรคได้จากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต หาร 500 2) นำผลลัพธ์ที่ไดไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของแค้ละพรรค ได้จำนวน ส.ส. พึงมีได้ของพรรคนั้น ๆ 3) นำจำนวน ส.ส. พึงมีได้ ลบ จำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต ได้ยอด ส.ส.บัญชีรายชื่อ 4) หากพรรคใดได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตเกินจำนวน ส.ส. พึงมีได้ ก็ให้ได้ไปเท่านั้น และไม่มีสิทธิมี ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก และให้นำจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้พรรคที่มีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตต่ำกว่ายอด ส.ส. พึงมีได้

การคำนวณสัดส่วนผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรค

มาตรา 92 (กมธ. เพิ่งมีมติตัดออก)

เขตเลือกตั้งที่คะแนนผู้สมัครรับเลือกตั้งน้อยกว่าคะแนนไม่เลือกผู้ใด (โหวตโน) ให้จัดการเลือกตั้งใหม่ และไม่ให้นำคะแนนเสียงที่ผู้สมัครแต่ละคนได้ไปคำนวณหายอด ส.ส.พึงมี โดยผู้เดิมทุกรายไม่มีสิทธิสมัครอีกครั้ง

เขตเลือกตั้งที่คะแนนผู้สมัครรับเลือกตั้งน้อยกว่าคะแนนโหวตโน ให้จัดการเลือกตั้งใหม่ โดยผู้เดิมทุกรายไม่มีสิทธิสมัครอีกครั้ง (ตัดข้อความเรื่อง ไม่นำคะแนนเสียงที่ผู้สมัครแต่ละคนได้ไปคำนวณหายอด ส.ส.พึงมี เพราะปรับระบบเลือกตั้งใหม่)

มาตรา 94 (กมธ. เพิ่งมีมติตัดออก)

ภายใน 1 ปี หากมีการเลือกตั้งซ่อมเพราะเหตุที่การเลือกตั้งในเขตนั้นไม่สุจริตเที่ยงธรรม ให้คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่

การเลือกตั้งซ่อมเพราะเหตุที่การเลือกตั้งในเขตนั้นไม่สุจริตเที่ยงธรรม ไม่ให้มีผลกระทบต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

บทเฉพาะกาล (กมธ. เพิ่งมีมติตัดออก)

การเสนอร่าง พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญ ให้รัฐสภาพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 180 วัน

ในวาระเริ่มแรก ให้รัฐสภาพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้แล้วเสร็จใน 120 วัน หากไม่สามารถทำให้เสร็จได้ทันการเลือกตั้งทั่วไป ให้ กกต. ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง ส.ส. ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไขไปพลางก่อน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net