Skip to main content
sharethis

มติสภา แก้รัฐธรรมนูญ ผ่านวาระ 2 'ชวน' แจ้ง ต้องรอ 15 วัน ผ่านวาระ 3 ‘พิธา’ ยัน พร้อมสู้ทุกกติกาเลือกตั้ง ด้าน 2 ส.ส.เขต ‘ก้าวไกล’ ชี้ควรพัฒนาเป็นระบบ ‘บัตรสองใบ’ ที่สะท้อนเสียงของประชาชนถูกตามสัดส่วนจริง

 

25 ส.ค.2564 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 20.10 น. ที่รัฐสภาบรรยากาศ การอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา สลับทำหน้าที่ประธานการประชุม เข้าสู่การพิจารณามาตรา 4/1 ที่คณะกรรมาธิการเพิ่มขึ้นใหม่ ระบุว่า ในวาระเริ่มแรก มิให้นำบทบัญญัติ มาตรา 83 มาตรา 86 และมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ มาบังคับใช้จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปครั้งแรกภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ โดยมาตรานี้ไม่มีผู้อภิปราย ที่ประชุมจึงลงมติเห็นด้วยตามที่ กมธ. เสนอด้วยคะแนน 440 เสียง ไม่เห็นด้วย 5 เสียง งดออกเสียง 132 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง ถือว่าพิจารณาเรียงลำดับตามมาตราเสร็จสิ้นแล้ว ถือเป็นการพิจารณาเสร็จสิ้นในวาระ 2

ชวน แจ้งว่า ต้องทิ้งระยะเวลาก่อนลงมติในวาระ 3 เป็นเวลา 15 วัน จากนั้น ชวน จึงสั่งปิดการประชุมในเวลา 20.23 น.

‘พิธา’ ยันพร้อมสู้ทุกกติกาเลือกตั้ง

ทีมสื่อ พรรคก้าวไกล รายงานว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ร่วมอภิปรายญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 แก้ไขมาตรา 83 กล่าวว่า น่าเสียดายที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่สามารถเปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร. มาทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้ เพราะการมี สสร. จะเป็นการเปิดพื้นที่ ที่สังคมไทยจะสามารถมาร่วมกันหาฉันทามติใหม่ มาหาทางออกร่วมกันจากประชาชนทุกกลุ่ม ทุกความฝัน เพื่อมาสะสาง หาทางออกจากปัญหาที่ต้นตอได้อย่างแท้จริง

“เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ประชาชนเรียกร้อง ได้ถูกลดทอนลงเหลือแค่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะเรื่องระบบเลือกตั้ง อย่างน้อยที่สุดพวกเราก็ต้องเสนอทางออกที่ดีที่สุดให้สังคมในเรื่องนี้ด้วย ทั้งนี้ บัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ เป็นสิ่งที่พวกเราต้องการตั้งแต่แรก หากจะแก้ไขระบบเลือกตั้งใหม่ให้เป็นแบบบัตร 2 ใบ ก็จำเป็นต้องสรุปบทเรียนจากปัญหาระบบเลือกตั้งที่เคยใช้มาแล้วในอดีต ที่มีข้อบกพร่องด้วย แล้วพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิมโดยใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเมื่อปี 2540 เป็นรากฐาน” พิธา กล่าว

พิธา กล่าวต่อไปว่า รัฐธรรมนูญปี 40 ได้นำระบบบัตรเลือกตั้งสองใบมาใช้ โดยการมี ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อนั้น ได้กระตุ้นให้พรรคการเมืองแข่งขันกันในเชิงนโยบายที่ตอบสนองประชาชนทั้งประเทศมากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนความเป็นสถาบันทางการเมืองให้แก่พรรคการเมืองด้วย ด้วยเหตุนี้จึงเห็นด้วยหากจะแก้ไขให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ ประชาชนสามารถเลือกคนที่ใช่ และเลือกพรรคที่ชอบ  และสนับสนุนให้คงสัดส่วนจำนวน ส.ส. แบบเขตกับแบบบัญชีรายชื่อเป็น 350 ต่อ 150 เพื่อส่งเสริมให้การทำงานของผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งได้สัดส่วนเหมาะสมกับการทำงานของผู้แทนราษฎรในเชิงนโยบาย นอกจากนี้เรายังสามารถที่จะปรับปรุงระบบเลือกตั้งแบบบัตรสองใบในอดีตให้ดีขึ้นได้อีก ด้วยการออกแบบวิธีการคำนวณ ส.ส. ของแต่ละพรรคการเมืองในสภาอย่างเป็นธรรม ให้สะท้อนเสียงทุกเสียงของประชาชนได้มากขึ้น

“ตลอดเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยผ่านการรัฐประหารมาแล้ว 2 ครั้ง ผ่านวิกฤตการเมืองอีกหลายครั้ง ประเทศของเราเผชิญกับโจทย์ใหญ่ที่สำคัญและยังหาทางออกไม่ได้ คือเรายังไม่สามารถหาข้อยุติว่าระบบการเมืองแบบไหนที่ทุกฝ่ายยินยอมพร้อมใจที่จะอยู่ร่วมกันได้ และระบบเลือกตั้งก็เป็นส่วนหนึ่งของระบอบการเมืองด้วย” พิธา ระบุ

หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังระบุด้วยว่า เรื่องนี้ต้องมองให้ยาว ซึ่งการออกแบบระบบเลือกตั้ง จำเป็นต้องตอบโจทย์ปัญหาการเมืองที่ประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ และต้องเป็นระบบที่ออกแบบสำหรับระยะยาว ไม่ใช่มองแค่ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น

พิธา กล่าวว่า เราควรออกแบบระบบการเมือง รวมถึงระบบการเลือกตั้ง ให้สนับสนุนประสิทธิภาพของระบบรัฐสภา สร้างความเข็มแข็งของสถาบันพรรคการเมือง พร้อมๆ กับสามารถโอบรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความฝัน ของคนในชาติได้ด้วย ทำให้รัฐสภาเป็นพื้นที่ปลอดภัย แปรเปลี่ยนทำให้ทุกคะแนนเสียงจากทุกความฝัน ทุกพื้นที่ มีความหมาย ถูกคิดคะแนนอย่างเป็นธรรม ให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้เสียที ตรงกันข้าม เราไม่ควรออกแบบระบบที่ผลักให้ประชาชนรู้สึกว่า ระบบรัฐสภาไม่ใช่พื้นที่ของพวกเขา ไม่ใช่พื้นที่ที่เสียงของพวกเขาจะมีความหมาย แม้ว่าจะเป็นเสียงที่ขัดหูขวางตาของชนชั้นนำผู้มีอำนาจ

“ในท้ายที่สุดผมเชื่อว่าหากระบบเลือกตั้งสามารถสะท้อนเสียงของประชาชนได้อย่างแท้จริง อำนาจของประชาชนที่เป็นอำนาจสูงสุดของประเทศนี้ จะสามารถปรากฎกายขึ้นในรัฐสภาแห่งนี้ สามารถเข้าไปใช้อำนาจนิติบัญญัติ สามารถเข้าไปใช้อำนาจบริหารจัดตั้งรัฐบาล และเมื่อนั้นเสียงของประชาชนจะไม่มีวันอนุญาตให้ระบอบที่กดหัวประชาชนดำรงอยู่ได้อีกต่อไป”

“พวกผม พรรคก้าวไกลทุกคน ทุกจังหวัด ทุกเขตเลือกตั้ง พร้อมที่จะต่อสู้ผ่านสนามการเลือกตั้ง ไม่ว่าผู้มีอำนาจจะพยายามออกแบบระบบการเลือกตั้งให้ตนเองได้เปรียบอย่างไร เพราะพวกผมมั่นใจว่า เสียงของประชาชนส่วนใหญ่จะมีความหมายมากที่สุด มีพลังมากที่สุด และมีความชอบธรรมมากที่สุด พวกผมจะนำเสียงของผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศนี้ มาปรากฏในสภาผู้แทนราษฎรให้ได้อย่างแท้จริง” พิธา กล่าวทิ้งท้าย

‘ปดิพัทธ์’ ย้ำ ระบบเลือกตั้งต้องออกแบบอย่างประณีต

ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.เขต 1 จังหวัดพิษณุโลก พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เรื่องระบบเลือกตั้งในรายละเอียดเป็นเรื่องเทคนิคและเป็นผลประโยชน์พรรคการเมือง ดังนั้น แต่ละประเทศที่จะออกแบบระบบการเลือกตั้งจะต้องมาจากบริบททางสังคมว่า อยากจะออกแบบระบบรัฐสภาอย่างไร ออกแบบสัดส่วน ส.ส.แบบไหน จะแก้ปัญหาของกลุ่มประชากรต่างๆอย่างไร จึงไม่ใช่การมาคุยกันเรื่องตัวเลข ซึ่งไม่แก้ปัญหาว่าจะมีระบบเลือกตั้งที่ดีได้อย่างไร

“เราจึงไม่เสนอเรื่องนี้ในชั้นกรรมาธิการ เพราะการออกแบบระบบเลือกตั้งจำเป็นต้องถกเถียงในชั้น สสร. จำเป็นต้องมีนักวิชาการมาร่วม หรือแม้แต่ควรมีการทดลองใช้ เช่น ในการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือการเลือกตั้งบางอย่างมาก่อน เพื่อออกแบบระบบอย่างประณีต เพราะเรื่องนี้จะมีผลต่อพรรคการเมืองและคุณภาพของสังคมไทยโดยรวม”

ปดิพัทธ์ กล่าวต่อไปว่า แต่เมื่อทุกคนรับรู้กันดีว่า รัฐธรรมนูญ 60 มีปัญหาและอาจมีการเลือกตั้งเร็วๆนี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องยอมรับความจริงและต้องพูดคุยกันเรื่องระบบเลือกตั้ง แต่สิ่งที่พรรคก้าวไกลพยามยามผลักดัน แม้จะมีข้อจำกัดคือ การออกแบบระบบเลือกตั้งควรต้องคิดไปข้างหน้าไม่ใช่มีปัญหาแล้วจะกลับไปใช้ระบบเมื่อ 24 ปีก่อน อย่าลืมว่า 2 ปีที่แล้วคนไทยยังไม่รู้จักโควิด 10 ปีที่แล้วยังไม่มีสมาร์ทโฟน ดังนั้น ระบบเลือกตั้งเมื่อ 24 ปีที่แล้วจึงไม่มีทางที่จะตอบโจทย์ทางการเมืองในปี 64 ได้

“หลักการที่สภารับมาได้กำหนดตัวเลขสัดส่วน ส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์ไว้ แต่หากคิดแค่เรื่องการคำนวณตัวเลขก็คงเถียงกันไม่จบ เพราะบางประเทศไม่มี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เลยก็มี แต่นั่นเพราะ ส.ส.เขตทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติได้อย่างดี ไม่ต้องไปดูแลเรื่องถนนหนทาง ไฟส่องสว่าง น้ำประปา เพราะตรงนั้นคือหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนราชการ เพราะฉะนั้นจะมี ส.ส.เขต ทั้งหมดก็ได้ หากทำหน้านิติบัญญัติได้โดยถ้าไม่หลงทางเรื่องการทำหน้าที่ของ ส.ส.ว่าคืออะไร”

ปดิพัทธ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนสาเหตุที่ต้องมี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์นั้น หากจำได้คือ ก่อนปี 40 เอาเฉพาะในจังพิษณุโลกที่ตนเกิดมา นักการเมืองมีแค่ 3 แบบ  คือ เจ้าพ่อ มาเฟีย และนายทุนเกษตร คนธรรมดาที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปในระบบการเมืองไม่ได้ การชนะการเลือกตั้งได้ต้องเป็นนายทุนเกษตรที่ผูกขาดเศรษฐกิจได้หรือเป็นผู้มีอิทธิพลที่มีลูกน้องมากมาย จึงมีการคิดเรื่องระบบปาร์ตี้ลิสต์และสามารถทำให้พรรคการเมืองหาเสียงด้วยนโยบายได้ เป็นมรดกอันดีของรัฐธรรมนูญ 40 แต่มรดกอันดีนี้ได้พิสูจน์ผ่านการเลือกตั้งมมาแล้ว 2 ครั้งคือ ปี 44 และ 48 ทำให้พบว่า สัดส่วนการคิดคำรนวนคะแนนแบบนี้ยังมีข้อผิดพลาดคือ จำนวนเก้าอี้ ส.ส.ที่เกินความเป็นจริงจากคะแนนนิยมของพรรคการเมืองนั้นๆที่ประชาชนเลือกมา เพราะคำนวณจากคะแนนเสียงแบบคู่ขนานที่คิดแยกกัน ถ้าถอยกลับไปก็เหมือนเราไม่เรียนรู้ข้อผิดพลาดอะไรเลย

“ทำไมจึงไม่คิดหาวิธีการคำนวณคะแนนที่ถูกต้องเป็นธรรม ทำไมเราจึงไม่คิดหาวิธีถ่วงดุลตรวจสอบในสภาให้ได้ดีขึ้น แต่การยืนยันเพื่อความถูกต้องนี้กลับถูกนำไปบิดเบือนว่า พรรคก้าวไกลกลัวการเลือกตั้งแบบ MMM หรือแบบคู่ขนาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่จริง พรรคก้าวไกลพร้อมเข้าสู่ระบบการเลือกตั้งทุกรูปแบบแต่ไม่สบายใจเลยที่จะเดินกลับไปสู่ระบบที่มีข้อผิดพลาดแบบนี้โดยการเห็นชอบของสภา สิ่งที่ผมพยายามผลักดันบรรยากาศทางการเมืองพิษณุโลกให้มีเปลี่ยนแปลงคือบทบาทหน้าที่ของ ส.ส. จนตอนนี้เวลาไปลงพื้นที่ เช่นจะไปแก้ปัญหาน้ำประปาสีแดง ประชาชนเริ่มไล่ให้ไปทำหน้าที่ในสภาโดยบอกว่านี่คือหน้าที่ของ อปท. หลายครั้งที่ไปพบประชาชน เขาจะถามว่ากฎหมายที่สัญญาไว้ตอนเลือกตั้งผลักดันถึงไหนแล้ว รัฐสวัสดิการผลักดันหรือยัง กฎหมายความเท่าเทียมทางเพศผลักดันหรือยัง เขาไม่ได้บอกให้ไปดูหลังคาเสียหายอีกแล้ว นี่คือสิ่งที่เราพยายามพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้หน้าที่ ส.ส.เป็น ส.ส.จริงๆ แต่กลับไปแบบเดิมและบอกว่า ควรมี ส.ส.เขต เพิ่มขึ้นจาก 350 เป็น 400 เพื่อจะได้ไปดูแลประชาชนได้ทั่วถึงนั้น ต้องขอโทษที่ต้องบอกว่า หากคิดคำนวนแล้วเท่ากับ ส.ส.ที่เพิ่มขึ้นลดจำนวนการดูแลประชาชนลงไปได้แค่ 20,000 คนเท่านั้น เหตุผลนี้จึงไม่หนักแน่นพอในการยืนยันให้ผ่านสัดส่วนแบบนี้” ปดิพัทธ์ ระบุ

ดูแลพื้นที่คืองานท้องถิ่น ‘จิรัฏฐ์’ เทียบ ส.ส.เพิ่มอีกแค่ 50 จะดูแลใกล้ชิดกว่าบุคลากร 3,000,000 ได้อย่างไร

จิรัฏฐ์  ทองสุวรรณ์ ส.ส.เขต 4 จังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขอแปรญัตติในมาตรา 83 เพื่อขอให้คงจำนวน ส.ส. เขต 350 ต่อจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 150 คน เอาไว้ ด้วยเหตุผลประการแรกคือ มิติด้านการเแข่งขันของพรรคการเมือง เพราะการแก้ไขให้เพิ่ม ส.ส.เขต เป็น 400 คน และปาร์ตี้ลิสต์เหลือ 100 คน หมายความว่าต้องขีดเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ซึ่งผู้เป็นคนขีดเส้นจะได้เปรียบและยืนยันว่าการขีดเส้นมีผลต่อการเลือกตั้งมาก ไปดูเขตตนก็ได้เพราะหากดูจากแผนที่เทียบกับจำนวนประชากรจะรู้ทันทีว่าการขีดเส้นแบ่งเขตจะต้องไม่มีขีดอย่างที่เป็นตอนนี้แน่นอน

“ประการต่อมา คือเอาหลักการมาจากอะไรไปบอกว่า ส.ส. 400 เหมาะกว่า 350 และอ้างว่าจะดูแลแลประชาชนได้ใกล้ชิดมากขึ้น ใกล้แค่ไหนคือดี ถ้าใช้หลักการนี้ไม่คงต้องมีปาร์ตี้ลิสต์เพราะไม่ใกล้ชิดประชาชนเลย แต่เจตนาของการแบ่งเขตเลือกตั้งคือ การกระจายตัวแทนของประชาชนให้มาจากทุกเขตพื้นที่ แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้แทนราษฎรมีหน้าที่ดูแลสารทุกข์สุกดิบหรือดูแลเฉพาะเขตของตัวเอง เมื่อเป็นผู้แทนราษฎร หมายถึงการเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ และหน้าที่ของผู้แทนก็คือ การใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนประชาชน ส.ส. ไม่ได้มีหน้าที่ในการใช้อำนาจบารมีเพื่อทำให้เขตตัวเองดีขึ้นโดยดึงงบประมาณไปลงเขตเลือกตั้งของตัวเอง ไม่มีหน้าที่ใช้อำนาจบารมีไปดึงเอาหน่วยราชการไปช่วยในเขตพื้นที่ตัวเอง ถนนพัง น้ำไม่ไหล ไฟดับ ก็ไม่ใช่งานหลักของผู้แทนราษฎร เพราะเรามี อปท.อยู่แล้วถึง 7,850 แห่งทั่วประเทศ การไปแทรกแซงงานของ อปท.ต่างหากที่จะทำให้การแก้ปัญหาพื้นที่ยากขึ้นเพราะต้องใช้อำนาจบารมีที่ให้คุณให้โทษเขาได้ ตามหลักก็คือการลุแก่อำนาจ ซึ่ง อปท.ก็เลือกตั้งมา การทำแบบนั้นจึงดูเหมือนใหญ่กว่าประชาชนเกินไป ไม่เบื่อหรือที่การเมืองจะมีแต่บ้านใหญ่เข้าไปได้เท่านั้น ถ้าใช้วิธีแบบนี้คนคนธรรมดาไม่มีโอกาสเข้ามา อาชีพนี้จะจำกัดไว้แค่คนหน้าเดิม

"ที่จะเพิ่มเป็น 400 คน บอกว่าเพราะดูแลไม่ทั่วถึง หมายความ อปท. 7,850 แห่ง ที่มีบุคลากรกว่า 3,000,000 กว่าคนดูแลไม่ทั่วถึงหรือ ต้องตอบตรงนี้ก่อน ถ้าแบบนี้ยังไม่ทั่วถึง การเพิ่มผู้แทนอีก 50 คนจะทั่วถึงได้อย่างไรถ้าเทียบกับสามล้านคน แต่ถ้าห่วง กลัวไม่มีคนดูแลสารทุกข์สุกดิบประชาชนก็มีวิธีอื่นอีกมากที่ทำได้โดยไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญมาตรานี้และทำได้ทันที เช่น ใช้หน้าที่ กมธ.ไปตรวจสอบการใช้งบประมาณให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน วันนี้ทำได้เลย ไม่ควรเอาเวลาของสภาไปทำอะไรที่ไม่เป็นประโยชน์เพียงแค่เพื่อแสวงหาความได้เปรียบทางการเมืองเท่านั้น สำหรับจำนวนปาร์ตี้ลิสต์เวลานี้ เรื่องดีที่เกิดขึ้นก็มีมากมายในสภาแห่งนี้ วันนี้ เรามีผู้แทนที่มาจากกลุ่มแรงงานที่พูดเรื่องแรงงานโดยเฉพาะ ยังมีเรื่องคนพิการ ชาติพันธุ์ LGBT ที่มีตัวแทนของเขาในสภามาผลักดันเรื่องความเท่าเทียมโดยเฉพาะ เมื่อก่อนเราไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้ และเราทิ้งไม่ได้ ต้องคิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง การเลือกตั้งผลต้องมาจากการตัดสินใจของประชาชนเป็นสำคัญ ตัวแปรต้องไม่ใช่กติกา ถ้าอยากชนะการเลือกตั้งก็ไปทำงาน ถ้าไม่ยอมทำงานที่ตัวเองควรจะทำแต่ไปแก้กติกามันไม่ถูกต้อง และถ้าอยากแก้ปัญหาประเทศนี้จริง ควรไปตั้ง สสร. ให้ได้ นั่นต่างหากคืการแก้ปัญหาจริงๆ และจะได้แก้ระบบการเลือกตั้งที่ท่านต้องการด้วย"

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานด้วยว่า วิรัตน์ วรศสิริน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย อภิปรายว่าการแก้ไขเรื่องระบบเลือกตั้งของกมธ.ฯ​อาจเป็นการปลุกผี ที่หลายคนเคยกลัวขึ้นมา และอาจทำให้สภาฯ กลายเป็นสภาฯที่มีเสียงข้างมากเผด็จการ

นอกจากนี้ วันชัย สอนศิริ ส.ว.กล่าวว่า ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะทำให้พรรคใหญ่กินรวบ ได้คะแนนสุดโต่ง มีคะแนนส.ส.พึงมีเกินจริง พรรคใหญ่ๆไม่กี่พรรคจะมีเสียงมากในสภาแบบก้าวกระโดด การแก้ครั้งนี้เป็นการแก้เพื่ออำนาจทางการเมืองจริงๆ ควรเอาข้อดีรัฐธรรมนูญปี40และรัฐธรรมนูญ ปี60มาผสมกัน สะท้อนความต้องการประชาชนอย่างแท้จริง เลือกคนที่รักและพรรคที่ชอบได้โดยเสรี มีความเป็นธรรมกับทุกพรรค เลิกระบบมัดมือชก พรรคใหญ่กินรวบ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net