นักวิจัย MIT ประเมินสหรัฐฯ ล้มเหลวในอัฟกานิสถานเพราะเน้นระบบอำนาจจากบนลงล่าง

ชวนอ่านบทวิเคราะห์จากศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จาก MIT ที่มองว่าปฏิบัติการสร้างชาติอัฟกานิสถานแบบเน้นอำนาจจาก 'บนลงล่าง' ไม่ว่าอย่างไรก็ล้มเหลว แม้ว่าสหรัฐฯ น่าจะทำได้ดีกว่านี้ในการจัดการเรื่องการถอนทัพออกจากอัฟกานิสถาน แต่โศกนาฏกรรมที่กำลังเกิดขึ้นในอัฟกานิสถานตอนนี้เป็นผลมาจากความล้มเหลวของปฏิบัติการตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

27 ส.ค. 2564 แดรอน อาเซโมกลู นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ที่เคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับชาติและเศรษฐกิจ วิเคราะห์เหตุผลว่าทำไมสหรัฐฯ ถึงล้มเหลวหลังจากที่บุกอัฟกานิสถานและพยายามช่วยสร้างชาติให้อัฟกานิสถานหลุดพ้นจากประเทศที่ตกต่ำเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

อาเซโมกลูตั้งข้อสังเกตจากคำกล่าวของนายพลสแตนลีย์ แมคคริสตัล ที่ระบุถึงการเพิ่มทัพสหรัฐฯ ในปี 2551 ว่า "รัฐบาลอัฟกานิสถานมีการควบคุมพื้นที่เขตแดนของตัวเองเพียงพอต่อการสนับสนุนเสถียรภาพในภูมิภาคและป้องกับการก่อการร้ายข้ามชาติ" แต่เมื่อพิจารณาเรื่องที่รัฐบาลอเมริกันลงทุนลงแรงไปถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสูญเสียชีวิตของทหารไปมากกว่า 100,000 ราย ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ผลลัพธ์ดังกล่าวนั้นยังชวนให้นึกถึงความพ่ายแพ้อย่างน่าอับอายในสงครามเวียดนาม ก็ชวนให้วิเคราะห์ว่ามีอะไรที่ผิดพลาดไป

อาเซโมกลูมองว่าสหรัฐฯ ทำพลาดในแทบทุกเรื่อง แต่ไม่ใช่ในแบบที่คนส่วนใหญ่คิด ถึงแม้ว่าจะมีส่วนจริงอยู่บ้างที่การวางแผนที่ไม่ดีและการขาดการข่าวที่แม่นยำจะมีส่วนในการทำให้เกิดหายนะนี้ แต่ปัญหาจริงๆ คือ มุมมองเรื่องการสร้างชาติในแบบของสหรัฐฯ ที่มองว่าการจะสร้างประเทศที่มีเสถียรภาพมีขื่อมีแปจะต้องเริมจากการก่อตั้งสถาบันรัฐที่เข้มแข็งซึ่งเรื่องนี้เคยได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากและมาจากทฤษฎีที่ตอนนี้ใช้การไม่ได้อีกแล้ว

กองทัพสหรัฐฯ วางกรอบปัญหาของอัฟกานิสถานเมื่อ 20 ปีที่แล้วไว้ว่าเป็นปัญหาเชิงการวางแผนควบคุมระบบ มองว่าเป็นเพราะอัฟกานิสถานขาดสถาบันรัฐ ขาดกองทัพที่ใช้การได้ ขาดศาล และข้าราชการอำมาตย์ที่มีความรู้ พวกเขาจึงเน้นทุ่มทรัพยากรและส่งผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติลงไปไม่ว่าคนในท้องถิ่นจะต้องการหรือไม่ก็ตามและเนื่องจากปฏิบัติการเหล่านี้ต้องการเสถียรภาพในระดับหนึ่งทำให้พวกเขาส่งตัวกองกำลังต่างชาติเข้าไปด้วย ซึ่งหลักๆ แล้วเป็นกองกำลังนาโต้แต่ก็มีกองกำลังรับจ้างจากเอกชนด้วยเช่นกัน

การจัดการเช่นนี้เป็นวิธีการสร้างชาติแบบ 'บนลงล่าง' ที่มีกระบวนการแบบ 'เน้นรัฐมาก่อน' ผู้กำหนดนโยบายก็ดำเนินการตามแบบแผนดั้งเดิมทางรัฐศาสตร์ที่ทึกทักเอาว่าถ้าหากมีการใช้กำลังทหารอย่างเหลือล้นครอบงำพื้นที่หนึ่งและยับยั้งแหล่งอำนาจอื่นๆ แล้วก็จะสามารถกำหนดอะไรตามอำเภอใจได้ แต่ในพื้นที่ส่วนใหญ่แล้ว ทฤษฎีนี้จริงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้นในกรณีที่ผลออกมาดี ในกรณีแง่ร้ายที่ผลออกมาตรงกันข้ามทฤษฎีนี้ก็ถือว่าผิดโดยสิ้นเชิงเช่นที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน

อาเซโมกลูมองว่าถึงแม้อัฟกานิสถานจะต้องการรัฐที่ใช้การได้ก็จริง แต่การทึกทักเอาว่าต้องมาจากการใช้อำนาจจากกองกำลังต่างชาตินั้นเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว อาเซโมกลูบอกว่าไม่มีเหตุผลที่จะใช้วิธีการนี้ในสังคมที่มีจุดตั้งต้นมาจากเรื่องประเพณีและค่านิยมในท้องถิ่นที่แตกต่างกัน และสถาบันรัฐไม่มีอยู่หรือบกพร่องมานาน

อาเซโมกลูระบุว่าการที่รัฐส่วนใหญ่จะสร้างชาติให้ประสบความสำเร็จได้ ไม่ได้มาจากการใช้กำลัง แต่มาจากการประนีประนอมและความร่วมมือ นั่นหมายความว่ารัฐจะต้องไม่ใช้อำนาจในแบบที่ขัดกับความต้องการของสังคม แต่สถาบันรัฐควรจะสร้างความชอบธรรมโดยการได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนมากพอสมควร

อาเซโมกลูบอกว่าเขาไม่ได้หมายความว่าสหรัฐฯ ควรจะทำงานร่วมกับตาลีบัน แต่เขามองว่าสหรัฐฯ ควรจะทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับกลุ่มในท้องถิ่นต่างๆ มากกว่าจะทุ่มทรัพยากรไปกับรัฐบาลที่คอร์รัปชันและไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างรัฐบาลหลังยุคตาลีบันของฮามิด การ์ไซ แม้กระทั่งประธานาธิบดีคนล่าสุดก่อนหน้าที่จะถูกตาลีบันโค่นล้มอย่าง อัชราฟ กานี ก็เคยร่วมเขียนหนังสือเอาไว้ในปี 2552 ว่าวิธีการแบบของสหรัฐฯ กระตุ้นให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันและทำให้ล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร แต่พอกานีได้เป็นประธานาธิบดีเขาก็เดินรอยตามทางเดิมที่เขาเคยวิจารณ์ไว้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของมุมมองจากคนในอัฟกานิสถานที่มองว่าการดำรงอยู่ของกองทัพสหรัฐฯ และของชาติอื่นๆ ทำให้สังคมของพวกเขาอ่อนแอลง ไม่ใช่การเจรจาต่อรองในแบบที่พวกเขาต้องการ

เมื่อการพยายามใช้อำนาจแบบบนลงล่างโดยไม่สนใจความประสงค์ของสังคมจนเกิดความล้มเหลวขึ้นมา สิ่งที่เป็นไปได้อย่างหนึ่งคือการที่ผู้คนจะอพยพย้ายถิ่นกันเป็นหมู่ หรือในบางกรณีก็มีการอยู่ร่วมกับอำนาจนั้นแบบไม่ให้ความร่วมมือ เช่น กรณีชาวคาตาลันในสเปน หรือชาวสก็อตแลนด์ในสหราชอาณาจักร แต่สำหรับกรณีแบบอัฟกานิสถานแล้ว เป็นกรณีประเทศที่มีการติดอาวุธและมีเรื่องการใช้กำลังบาดหมางกันมาเป็นเวลานาน รวมถึงสงครามกลางเมืองที่เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมเช่นนี้ ผลลัพธ์ที่ตามมาคือการใช้กำลังรุนแรง

"บางที สิ่งต่างๆ อาจจะส่งผลต่างจากนี้ถ้าหากหน่วยงานข่าวกรองข้ามชาติของปากีสถานไม่สนับสนุนตาลีบันในตอนที่พวกนั้นกำลังพ่ายแพ้ทางการทหาร ถ้าหาก NATO ไม่ใช้การโจมตีด้วยโดรน (อากาศยานไร้คนขับ) จนทำให้ประชาชนชาวอัฟกานิสถานรู้สึกแปลกแยกจากพวกเขามากขึ้นไปอีก และถ้าหากกลุ่มชนชั้นนำอัฟกันที่ได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐฯ ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชันอย่างมโหฬาร แต่ก็ดูเหมือนว่าปัจจัยเหล่านี้ต่างก็เป็นตัวทำลายยุทธวิธีแบบรัฐมาก่อนของสหรัฐฯ ทั้งนั้น" อาเซโมกลูระบุในบทความ

นอกจากนี้ ดูเหมือนว่าสหรัฐฯ จะไม่ได้เรียนรู้จากอดีตในเรื่องนี้ จากการที่เอกสารของเมลิสซา เดลล์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยฮาวาร์ และปาโบล เครูบิน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการเมืองและเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ซึ่งระบุถึงเรื่องการใช้อำนาจจากบนลงล่างในปฏิบัติการสมัยสงครามเวียดนาม แน่นอนว่าปฏิบัติการนี้ส่งผลเลวร้ายต่อสหรัฐฯ การทิ้งระเบิดเพื่อยับยั้งเวียดกงกลับยิ่งทำให้มีการสนับสนุนการติดอาวุธต่อต้านอเมริกันเพิ่มมากขึ้น

อีกกรณีหนึ่ง คือ บทเรียนจากอิรักในบทความวิจัยในวารสารวิชาการของมหาวิทยาลัยชิคาโกเมื่อ พ.ศ.2554 ที่ชื่อว่า Can Hearts and Minds Be Bought? The Economics of Counterinsurgency in Iraq เขียนโดยอีไล เบอร์แมน ผู้อำนวยการวิจัยเพื่อการศึกษาความมั่นคงระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก, จาคอบ ชาพิโร ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และโจเซฟ เฟลเตอร์ อดีตรองผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมฝ่ายกิจการเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บทความวิจัยดังกล่าวระบุว่ากระแสการสนับสนุนที่มีต่อสหรัฐฯ จะดีกว่ามากถ้าหากสหรัฐฯ ใช้วิธีการชนะใจผู้คนด้วยการเรียกเสียงสนับสนุนจากกลุ่มในท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ชื่อว่า Trust in State and Nonstate Actors: Evidence from Dispute Resolution in Pakistan ซึ่งอาเซโมกลูเคยศึกษาร่วมกันกับนักวิจัยคนอื่นๆ และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการของมหาวิทยาลัยชิคาโกเมื่อ ส.ค. 2564 ที่ระบุไว้เช่นกันว่า ในชนบทของปากีสถานผู้คนจะหันไปหากลุ่มที่ไม่ใช่องค์กรรัฐเมื่อพวกเขาคิดว่าสถาบันรัฐไร้ประสิทธิภาพและแปลกแยกจากพวกเขา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท