Skip to main content
sharethis

แม่ของ 'พลทหารประจักษ์' ที่ถูกทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บรุนแรงในกองพันอากาศเมื่อปี 2560 ยื่นหนังสือถึงกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเพื่อขอรับค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญาและยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ลูกชาย หลังยื่นหนังสือถือดีเอสไอ ผ่านไป 5 เดือนเรื่องยังไม่คืบ

27 ก.ค. 2564 มูลนิธิผสานวัฒธรรม รายงานว่า ปพิชญา เอียดนุ่น มารดาของพลทหารประจักษ์ แก้วคงธรรม ได้ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในวันที่ 13 ส.ค. 2564 เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการละเมิดสิทธิมนุษยชน และยื่นหนังสืออีกฉบับถึงอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ในวันที่ 23 ส.ค. 2564 เพื่อขอรับค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา กรณีพลทหารประจักษ์ แก้วคงธรรม ถูกทําร้ายร่างกายในกองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน 56 เมื่อปี 2560 จนได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงและได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง ซึ่งส่งผลให้พลทหารประจักษ์ยังต้องเข้ารับการรักษาทั้งทางร่างกายและทางจิตเวชอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน รวมถึงมีอาการคุ้มคลั่ง ทำร้ายร่างกายมารดาและบุตรชายเป็นระยะ

สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อปี 2560 พลทหารประจักษ์ได้สมัครเข้าเป็นพลทหารประจำการ ประจำปี 2560 ผลัด 2 ภายหลังเข้ารับการฝึก 3 เดือน กองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน 56 จะให้พลทหารใหม่ทุกนายกลับบ้าน รอบแรกจำนวน 10 วัน เมื่อครบ 10 วัน พลทหารประจักษ์ไม่ได้กลับเข้ากองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน 56 ตามกำหนด จนกระทั่งเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2561 จึงกลับเข้าไปประจำการยังกองพันฯ อีกครั้ง ตลอดระยะเวลาเข้าประจำการร่างกายสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง

จนกระทั่งวันที่ 1 พ.ค. 2562 ทางกองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน 56 ได้แจ้งมายังครอบครัวแก้วคงธรรมให้ไปรับตัวพลทหารประจักษ์กลับบ้าน เมื่อมารดาของพลทหารประจักษ์เดินทางไปถึงกองพันฯ พบว่าบุตรชายถูกขังอยู่ภายในห้องขัง มีสภาพอิดโรย นอนจมกองปัสสาวะและอุจจาระ และไม่สามารถจำมารดาของตนได้ ตามร่างกายมีร่องรอยบาดแผล มีรอยฟกช้ำ มีบาดแผลที่ศีรษะ รวมทั้งศีรษะผิดรูปไปจากเดิม ไม่ได้สติ และไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลตรังตลอดมาจนถึงปัจจุบัน มีประวัติการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่สามารถไปรับจ้างหาเงินเลี้ยงชีพและครอบครัวได้ ทำให้ครอบครัวต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของพลทหารประจักษ์ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา และล่าสุด พลทหารประจักษ์มีอาการคุ้มคลั่ง ควบคุมตัวเองไม่ได้ มีการทำร้ายร่างกายมารดาและบุตรชายของตนเองเป็นระยะๆ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

โดยความช่วยเหลือในด้านกฎหมายของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มารดาและพลทหารประจักษ์จึงยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาเหตุที่เกิดขึ้นกับพลทหารประจักษ์ ให้มีการเรียกสอบปากคําบุคคลทั้งผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานทหาร นายทหาร พลทหาร หรือบุคคลอื่นใดที่เกี่ยวข้องหรือรับรู้ และรวบรวมพยานหลักฐานทั้งปวงเกี่ยวกับการรับ การฝึก การลงโทษและทําร้ายร่างกายพลทหารประจักษ์ ตลอดทั้งเรื่องการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลโดยละเอียด เพื่อให้หน่วยราชการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ความเป็นธรรม ดำเนินการเพื่อลงโทษทั้งทางวินัยและทางอาญา และแก้ไข ฟื้นฟูเยียวยาพลทหารประจักษ์และครอบครัวต่อไป

นอกจากนี้ยังได้ยื่นหนังสือเพื่อขอรับค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 อาทิ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย จิตใจ และค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ อันจะเป็นทางหนึ่งของการเยียวยาที่รัฐพึงกระทำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายที่พลทหารประจักษ์ต้องประสบมาอย่างทุกข์ทรมาน จากการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรี ที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ แม้ว่าจะไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตของพลทหารประจักษ์และครอบครัวได้ และเทียบไม่ได้กับที่สิ่งที่พลทหารประจักษ์และมารดาต้องประสบก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าดีกว่าที่จะไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาตามสิทธิอันพึงได้รับตามกฎหมายนี้เลย โดยก่อนหน้านี้ ในวันที่ 4 มี.ค. 2564 ได้มีการยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงในกรณีการทำร้ายร่างกายพลทหารประจักษ์ด้วย

อนึ่ง ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้รับเรื่องร้องเรียนเกียวกับการซ้อมทรมานที่ผู้บังคับบัญชาทหาร ผู้ฝึก หรือผู้คุมเรือนจำทหาร กระทำต่อทหาร โดยเฉพาะทหารเกณฑ์หลายกรณี ซึ่งตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง แม้นายทหารระดับสูงจะเคยออกมาประกาศต่อประชาชนหลายครั้งว่าจะไม่ให้เกิดกรณีเหล่านี้ขึ้นอีก แต่การซ้อมทรมานก็ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่า รัฐสภาควรเร่งพิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. ... ให้ตราออกเป็นกฎหมายโดยเร็ว เพื่อลดการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว

ปรีดา นาคผิว ทนายความของมูลนิธิผสานวัฒธรรมผู้ดูแลคดีของพลทหารประจักษ์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับผู้สื่อขาวประชาไทว่าการยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิทธิมนุษยชนนั้นมีจุดประสงค์เพื่อให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนดำเนินการสืบสวนตามขั้นตอนและออกข้อเสนอแนะหรือคำแนะนำให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป ในขณะที่การยื่นหนังสือถึงกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเพื่อขอรับค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญานั้นเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย โดยทนายความบอกว่ากระทรวงยุติธรรมมีหน่วยงานที่เรียกว่าสำนักงานกองทุนยุติธรรมอยู่แล้ว ซึ่งหน่วยงานนี้จะมอบเงินช่วยเหลือแก่ประชาชนในการดำเนินคดี เช่น ค่าจ้างทนายความ ค่าธรรมเนียมศาล และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมถึงเป็นนายประกันดำเนินการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย นอกจากนี้ หน่วยงานดังกล่าวยังช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนอีกด้วย

ทั้งนี้ ทนายความกล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าในการดำเนินการสืบสวนสอบสวนของดีเอสไอ ซึ่งมีการยื่นเรื่องไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา และผ่านมาได้ราว 5 เดือนแล้ว ทนายความแจ้งว่าขณะนี้ดีเอสไออยู่ในขั้นตอนรวมพยานหลักฐาน และยังไม่มีการเรียกมารดาหรือพลทหารประจักษ์เพื่อเข้าให้การแต่อย่างใด

ปพิชญา เอียดนุ่น มารดาของพลทหารประจักษ์ แก้วคงธรรม ยื่นหนังสือต่อดีเอสไอเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net