Skip to main content
sharethis

พบคนทำงานอุตสาหกรรมกล้วยหอมในกัวเตมาลาที่มีสหภาพแรงงาน มีรายได้มากกว่า ชั่วโมงการทำงานน้อยกว่า เผชิญกับการล่วงละเมิดทางเพศน้อยกว่า และมีสถานที่ทำงานที่ปลอดภัยมากขึ้นซึ่งแตกต่างกับคนทำงานในพื้นที่ไม่มีสหภาพแรงงานอย่างชัดเจน ตามรายงานการศึกษาของ Solidarity Center


มีรายงานการศึกษาเปรียบเทียบคนทำงานอุตสาหกรรมกล้วยหอมในกัวเตมาลา ระหว่างพื้นที่ที่มีสหภาพแรงงานกับพื้นที่ที่ไม่มี พบว่าคนทำงานที่มีสหภาพแรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า | ที่มาภาพ: Solidarity Center

กัวเตมาลาถือเป็นประเทศผู้ส่งออกกล้วยหอมที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกรองจาก เอกวาดอร์, ฟิลิปปินส์, คอสตาริกา และโคลัมเบีย นอกจากนี้ยังเป็นผู้ส่งออกกล้วยหอมรายใหญ่ที่สุดไปยังภูมิภาคอเมริกาเหนือ ในปี 2563 กัวเตมาลามีมูลค่าส่งออกทั้งหมดหมด 955.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 31,324 ล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.3 ของมูลค่ารวมการส่งออกกล้วยหอมทั้งหมดในตลาดโลก

จากรายงานการศึกษาเรื่อง What Difference Does a Union Make?: Banana Plantations in the North and South of Guatemala โดย Solidarity Center ที่เผยแพร่เมื่อต้นปี 2564 ระบุว่ากัวเตมาลามีพื้นที่เพาะปลูกกล้วยหอมเพื่อการส่งออกที่สำคัญ 2 แหล่ง โดยแหล่งหนึ่งอยู่บนชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 85 ในพื้นที่นี้คนทำงานไม่มีสหภาพแรงงาน และอีกพื้นที่หนึ่งในตอนเหนือของประเทศ คนทำงานเกือบทั้งหมดที่ทำงานในสวนกล้วยหอมและโรงงานบรรจุหีบห่อล้วนแล้วแต่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานทั้งสิ้น โดยพื้นที่ทางตอนเหนือของกัวเตมาลายังเป็นที่ตั้งของสหภาพแรงงานที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศด้วยเช่นกัน

รายงานของ Solidarity Center ได้ทำการสำรวจคนทำงาน 210 คน (เป็นผู้หญิงร้อยละ 34) ในสวนกล้วยหอมและโรงงานบรรจุหีบห่อ เมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2562 - มี.ค. 2563 ด้วยการสัมภาษณ์อย่างละเอียด รวมถึงการตรวจสอบข้อมูลการค้า และการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องก่อนหน้านี้ พบว่าคนทำงานในพื้นที่ที่ไม่สหภาพแรงงานได้รับค่าจ้างรายชั่วโมงน้อยกว่าคนทำงานที่มีสหภาพแรงงานมากกว่าครึ่งหนึ่ง โดยคนทำงานที่มีสหภาพแรงงานได้รับค่าจ้าง 2.52 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง (ประมาณ 83 บาท) ส่วนคนทำงานในพื้นที่ที่ไม่สหภาพแรงงานได้รับเพียง 1.05 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง (ประมาณ 34 บาท) และคนทำงานในพื้นที่ที่ไม่สหภาพแรงงานยังทำงานมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อีกด้วย

คนทำงานในพื้นที่ที่ไม่สหภาพแรงงานมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับการละเมิดทางวาจามากกว่าในพื้นที่ที่มีสหภาพแรงงานถึงร้อยละ 81 และผู้หญิงร้อยละ 58 ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานต้องเผชิญกับการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน เมื่อเทียบกับร้อยละ 8 ของผู้หญิงที่ทำงานในโรงงานที่มีสหภาพแรงงาน

"ถ้าผู้หญิงร้องเรียนคนที่ล่วงละเมิดเธอ ผู้หญิงคนนั้นอาจถูกไล่ออก เพราะเขาเป็นเจ้านายและเราเป็นเพียงแค่คนงาน" ไอริส มันกูยา ผู้ประสานงานของสหภาพแรงงานเกษตรกรรมละตินอเมริกา (COLSIBA) กล่าว 

ความแตกต่างเหล่านี้ยังสะท้อนให้เห็นในข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำงานช่วง COVID-19 โดยในพื้นที่เพาะปลูกกล้วยหอมที่มีสหภาพแรงงาน จะมีข้อกำหนดการเว้นระยะห่างทางสังคมในขณะทำงาน รวมทั้งมีการฝึกอบรมด้านสุขอนามัยให้แก่คนทำงาน ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกกล้วยหอมที่ไม่มีสหภาพแรงงานนั้นพบว่ามีการให้ความคุ้มครองคนทำงานค่อนข้างน้อยในช่วง COVID-19

ชอว์นา เบเดอร์-บลัวร์ กรรมการบริหาร Solidarity Center กล่าวว่า "คนทำงานที่ไม่มีสหภาพแรงงานทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกัวเตมาลา ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า ทำงานเสี่ยงอันตรายกว่า มีการล่วงละเมิด และมีสิทธิต่าง ๆ น้อยกว่า ... แล้วสหภาพแรงงานสร้างความแตกต่างได้อย่างไร? มันสร้างความแตกต่างให้กับคนทำงานในกัวเตมาลา"

บทบาทของยักษ์ใหญ่ค้าปลีกในต่างแดน


ส่วนแบ่งรายได้จากกล้วยหอมที่จำหน่ายสู่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ นั้น คิดเป็นสัดส่วนค่าแรงของคนเก็บกล้วยหอมและคนบรรจุหีบห่อในกัวเตมาลาเพียงร้อยละ 5.5 เท่านั้น

ในรายงานยังระบุถึงบทบาทของธุรกิจค้าปลีกในต่างแดน โดยเฉพาะเชนห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ที่สามารถกำหนดราคากล้วยหอมในกัวเตมาลาได้ หากเมื่อใดที่ธุรกิจค้าปลีกต้องการทำการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขายก็จะทำการลดราคากล้วยหอมหน้าร้าน ซึ่งมักจะมีการบีบบังคับให้ธุรกิจที่จัดหากล้วยหอมให้ในกัวเตมาลาลดต้นทุนโดยเฉพาะค่าแรง 

ทั้งนี้โครงสร้างส่วนแบ่งรายได้จากกล้วยหอมที่จำหน่ายสู่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ นั้น คิดเป็นสัดส่วนค่าแรงของคนเก็บกล้วยหอมและคนบรรจุหีบห่อในกัวเตมาลาเพียงร้อยละ 5.5 เท่านั้น แต่ร้านค้าปลีกในสหรัฐฯ กลับได้ส่วนแบ่งนี้ไปถึงร้อยละ 42.5 เลยทีเดียว

ความรุนแรงต่อสหภาพแรงงาน


ตั้งแต่ปี 2547-2561 นักสหภาพแรงงานถูกสังหารถึง 101 คน ส่วนใหญ่แล้ว 81 ราย อยู่ในพื้นที่ปลูกกล้วยหอมในตอนใต้ของประเทศ

ในอีกด้านหนึ่ง กัวเตมาลามีประวัติการกระทำรุนแรงต่อสหภาพแรงงานมาอย่างยาวนาน กัวเตมาลาถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่อันตรายที่สุดในโลกสำหรับนักสหภาพแรงงาน รายงานระบุว่าตั้งแต่ปี 2547-2561 นักสหภาพแรงงานถูกลอบสังหารไปถึง 101 ราย ส่วนใหญ่ 81 ราย อยู่ในพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมในปัจจุบันทางตอนใต้ของกัวเตมาลาจึงมีสหภาพแรงงานน้อยกว่าทางตอนเหนือเป็นอย่างมาก

คนทำงานจัดตั้งสหภาพแรงงานทางตอนใต้ไม่ได้เพราะ "มีความกลัวและตื่นตระหนกต่อการจัดตั้งสหภาพแรงงาน" ตามข้อมูลของซีซาร์ อัมแบโต เกเอร์รา โลเปซ เลขาธิการของสหภาพแรงงานกล้วยหอมแห่งอิซาบาล (SITRABI)

เขายกตัวอย่างเมื่อคนทำงานทางตอนใต้ของประเทศพยายามจัดตั้งสหภาพแรงงานครั้งล่าสุดเมื่อปี 2550 ผู้นำสหภาพแรงงานคนหนึ่งถูกลอบสังหาร และลูกสาวของประธานสหภาพแรงงานอีกแห่งหนึ่งถูกข่มขืน ในขณะที่นักสหภาพแรงงานคนอื่น ๆ ถูกข่มขู่ "ผลของความกลัวยังคงชัดเจนมากสำหรับคนงาน" เขากล่าว

เกเอร์รายังระบุว่าเนื่องจากไม่มีสหภาพแรงงานไว้คอยปกป้องสิทธิให้แก่คนทำงาน สวนกล้วยและโรงงานบรรจุหีบห่อทางตอนใต้ของประเทศจึงไม่ค่อยปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานที่มีจำกัดชั่วโมงการทำงานไม่ให้ยาวนานเกินไป การควบคุมค่าจ้างไม่ให้ต่ำเกินไป หรือการรับประกันความปลอดภัยในการทำงาน ส่วนใหญ่แล้วในทางตอนใต้คนทำงานต้องทำงานถึง 12 ชั่วโมงต่อวัน ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์

ในรายงานยังระบุว่าธุรกิจกล้วยหอมเริ่มมุ่งไปทางตอนใต้มากขึ้น เพื่อแสวงหาคนทำงานที่มีค่าจ้างต่ำที่สุด ตามรายงานระบุไว้อย่างชัดเจนว่าห้างค้าปลีกรายใหญ่ในสหรัฐฯ ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมกล้วยหอม ได้บีบให้ผู้จัดหากล้วยในกัวเตมาลาหากล้วยหอมราคาถูกที่สุดให้แก่พวกเขา  

"Wal-Mart ต้องการราคาที่ต่ำมาก ซึ่งบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ได้บีบให้โรงงานบรรจุหีบห่อในตอนเหนือของประเทศหันไปจ้างเหมาช่วงสวนกล้วยทางตอนใต้อีกทอด" มาร์ค แอนเนอร์ ผู้อำนวยการ Center for Global Workers’ Rights และเป็นศาสตราจารย์ด้านแรงงานศึกษาที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเขียนรายงานฉบับนี้กล่าว "และนั่นหมายถึงการหาพื้นที่เพาะปลูกในเขตปลอดสหภาพแรงงานที่ค่าจ้างต่ำอย่างไร้ความปราณี"

รายงานยังพบว่าโรงงานทั้งหมดที่ละเมิดสิทธิแรงงานนั้นกลับได้รับการรับรองจากผู้ตรวจสอบภายนอก เพราะว่าฝ่ายบริหารของโรงงานได้บังคับคนทำงานไว้ล่วงหน้าก่อนแล้วว่าพวกเขาต้องพูดอะไรแก่ผู้ตรวจสอบภายนอกบ้าง 


ที่มาเรียบเรียงจาก
What Difference Does a Union Make?: Banana Plantations in the North and South of Guatemala (Center for Global Workers Rights, January 2021)
THE UNION DIFFERENCE IN GUATEMALA BANANA PLANTATIONS (Solidarity Center, 28 January 2021)
Trade unions make a big difference for Guatemalan banana workers (BananaLink, 28 January 2021)  
Bananas Exports by Country (worldstopexports.com, เข้าถึงข้อมูล 26 August 2021)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net