Skip to main content
sharethis

วงเสวนา “เลิกระบอบประยุทธ์ ทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ชี้แก้ไขรัฐธรรมนูญปรับระบบเลือกตั้งใช้บัตร 2 ใบไม่พอ เสนอแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เร่งคณะรัฐมนตรีทำประชามติ เปิดทางเลือก ส.ส.ร. ห้ามเขียนนิรโทษกรรมตนเอง ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ ล้มการสืบทอดอำนาจ คสช.

27 ส.ค. 2564 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จัดงานเสวนาออนไลน์ “เลิกระบอบประยุทธ์ ทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย, โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย, วัฒนา เมืองสุข ประธานคณะกรรมการกฎหมายและการเมือง พรรคไทยสร้างไทย, พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ , ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล, พงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย, เมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป., กษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และที่ปรึกษา ครป., ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และที่ปรึกษา #ไทยไม่ทน

เลขาธิการ ครป. ชี้ รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเครื่องมือของระบอบประยุทธ์

เลขาธิการ ครป. รายงานว่า ในเวทีเสวนา เมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. กล่าวนำการอภิปรายว่า ปัญหาหลักของประเทศไทยคือระบอบประยุทธ์ ที่สร้างขึ้นจากการรัฐประหาร 2557 และปกครองด้วยคำสั่งหัวหน้ารัฐประหาร มาสู่การออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อสืบทอดอำนาจ แปรรูปจากการปกครองระบอบคณาธิปไตยมาเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ โดยใช้ ส.ว.แต่งตั้ง ค้ำบัลลังก์อำนาจหลังจากการเลือกตั้งทั่วไป

เมธากล่าวว่า ปัจจุบันความขัดแย้งระหว่างระบอบประยุทธ์กับประชาชนชัดเจนขึ้นมาก รัฐบาลไม่ใช่ตัวกลางแก้ปัญหาแต่เป็นคู่ความขัดแย้งของประชาชนเสียเอง ประกอบกับปัจจัยเร่งเร้าจากพิษโควิด เศรษฐกิจและการเมือง จะทำให้รัฐบาลไม่ได้รับการไว้วางใจ โดยเฉพาะการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มา 1 ปี 5 เดือน บ้านเมืองเสียหายร้ายแรงเกินยากบรรเทา และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะฟื้นตัว

เลขาธิการ ครป. ยังกล่าวต่อว่า ประเทศไทยยังเผชิญกับปัญหากับดักรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นเครื่องมือปกครองสูงสุดของระบอบประยุทธ์ จึงเลือกที่จะไล่โดยไม่เลิกรัฐธรรมนูญไม่ได้ จึงต้องเลือกที่จะเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสีย เพื่อที่จะไล่ระบอบประยุทธ์ออกไป เพื่อไม่ให้ ส.ว.นำระบอบประยุทธ์เข้ามาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใครก็ตามที่เป็นหัวโขนหรือตัวแทน ปัญหาในรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนไว้เพื่อรับใช้ระบอบประยุทธ์ ที่มี 3 นายพลเกษียณเป็นผู้นำ ครอบงำกองทัพ กำกับตำรวจ มีหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น

1. การสืบทอดอำนาจ โดยที่มาและอำนาจ ส.ว. ในการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจปฏิรูปประเทศ อำนาจในการร่วมพิจารณาร่างกฎหมายและอำนาจในการยับยั้ง

2. ปัญหาการนิรโทษกรรมตนเองของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องยกเลิกนิรโทษกรรม คสช. ยกเลิกบทบัญญัติที่ให้การรับรองประกาศ และคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. รวมถึงการกระทำที่เกี่ยวข้องให้ชอบด้วยกฎหมาย

3. แผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นเสมือนคณะโปลิตบูโรและรัฐบาลเงา เหนือรัฐบาลพลเรือน ยุทธศาสตร์ชาติทำให้รัฐบาลขาดอิสรภาพที่จะพัฒนาประเทศให้ทันสมัยตามบริบทการพัฒนาที่รุดหน้าไปตามเทคโนโลยี ในรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องเขียนหน้าที่และนโยบายรัฐทั้งหมด เพราะทำให้อุดมการณ์พรรคการเมืองและข้อเสนอทางนโยบายไร้ความหมาย อีกทั้งบริบทโลกและบริบทประเทศเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ รัฐบาล พล.อ.อาวุโสประยุทธ์ ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกหรอกครับ การกำหนดหน้าที่และนโยบายแบบแข็งตัวจึงะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

4. การปฎิรูปประเทศในหลายเรื่องนั้น บทบาท ส.ว. ร่วมพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศและอำนาจในการยับยั้งกม.ของสภาฯ ได้ นอกจากนั้นตามมาตรา 258-261 ที่อุตส่าห์ระบุไว้ ก็ไม่ได้ดำเนินการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ รวมถึงกฎหมายปฏิรูปตำรวจ ถ้าทำเสร็จสิ้นคงไม่มีปัญหากรณี ผกก.โจ้

5. ที่มาและอำนาจหน้าที่องค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ ที่ถูกระบอบประยุทธ์เลือกมา แม้กระทั่งองค์กร-คณะกรรมการฯ หลายหน่วยงานยังเป็นชุดเดิมที่ถูกแต่งตั้งตั้งแต่ คสช. บางส่วนถูกเลือกเข้ามาทำหน้าที่เดิมอีกครั้งตามกฎหมายใหม่ ควรมีการปฏิรูปยกเครื่องใหม่ทั้งหมด ทั้งคณะกรรมการสรรหา คุณสมบัติของผู้สมัคร และการให้ความเห็นชอบ ซึ่งทั้งหมดต้องยึดโยงกับประชาชนผ่านกลไกรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย

6. สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ขาดหายไป ทั้งสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม ไม่มีการป้องกันเศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาดและสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและรัฐสวัสดิการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น

7. การปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ ปัญหาการสร้างรัฐราชการรวมศูนย์

8. การทำให้กระบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญยากมาก ซึ่งจริงๆ แล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญใช้เพียงเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรก็พอ  เรื่องที่คงค้างไว้คือการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งจำนวน 200 คน โดยต้องมีการทำประชามติ ถามความต้องการของประชาชนในการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่

เร่ง ครม. ทำประชามติเปิดทางให้มี ส.ส.ร. เขียนรัฐธรรมนูญใหม่

เมธากล่าวว่า ตนอยากจะทบทวนกระบวนการที่ประชาชนและพรรคการเมืองผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับตัวปัญหานี้มาอย่างยาวนาน  ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563 รัฐสภาปัดตกไป 5 ฉบับ รับหลักการเพียง 2 ฉบับที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร. 200 คนมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่แล้วเดือน ก.พ. 2564 ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระที่ 2 ไปแล้ว แต่กลับมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ จนตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยรัฐสภามีอำนาจและหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องจัดทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งแรกให้ประชาชนลงมติว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญเก่าผ่านประชามติมาในสมัย คสช. และครั้งที่สองเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่จนถึงวันนี้รัฐบาลยังไม่ยอมประกาศให้มีการประชามติ

ย้ำแก้แค่ระบบเลือกตั้งไม่พอ

เลขาธิการ ครป. กล่าวต่อว่า ล่าสุดมีการเสนอแก้ไขไป 13 ฉบับ ที่ปัดตกไป 12 ฉบับเพื่อแก้ปัญหาระบอบประยุทธ์ไม่ผ่านสักฉบับรวมถึงฉบับของประชาชน ผ่านวาระ 1 รับหลักการเพียงฉบับเดียวของพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อแก้ไข มาตรา 83 เรื่องจำนวน ส.ส.แบ่งเขต และสัดส่วน และมาตรา 91 เรื่องการคํานวณหา ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อแต่เพียงเท่านั้น โดยละเลยการแก้ไขปัญหาหลัก เพียงเพื่อที่จะสถาปนาระบบพรรคการเมืองใหญ่ได้เปรียบในการเลือกตั้ง เพื่อทำลายพรรคเล็กที่เข้ามาชิงพื้นที่ทางการเมืองและเป็นปัญหาในการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ โดยหวังว่าจะเข้ามามีอำนาจอีกครั้งภายใต้การแก้ไขให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบและสัดส่วนจำนวน ส.ส.ทั้ง 2 ระบบเป็น 400/100 เหมือนที่ใช้ในรัฐธรรมนูญ 2540 แต่เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ไปติดมาตรา 93, 94 เรื่อง ส.ส.พึงมี ที่เกี่ยวข้องกันแต่รัฐสภาปัดตกไปแล้ว ในร่างของพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทย จึงไม่สามารถแก้ไขได้ ระบบสัดส่วนจำนวน ส.ส. เลยกลายเป็นแบบระบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMP) เหมือนเยอรมนีไปโดยปริยายและคล้ายกับรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่เพียงแต่เปลี่ยนเป็นบัตร 2 ใบ ซึ่งทำให้พรรคเล็กยังมีโอกาสอยู่ แต่ปัญหาหลักก็ยังคงอยู่

"พี่น้องครับ ความหวังของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน คือการสร้างกติกาที่มีความเป็นธรรม เป็นประชาธิปไตย เพื่อยุติระบอบประยุทธ์  ปัญหาหลักที่ต้องแก้ไขเฉพาะหน้า ไม่ใช่ระบบบัตรเลือกตั้งและสัดส่วน ส.ส. เท่านั้น แต่เป็นการยุติการสืบทอดอำนาจโดยให้ ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากประชาชนมาเลือกนายกรัฐมนตรี ยุติการผูกขาดรวมศูนย์อำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ และพวก ที่สร้างระบอบอำนาจนิยมขึ้นมาเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบและเผด็จการรัฐสภารูปแบบใหม่ ควบคุมองค์กรอิสระเบ็ดเสร็จ กำหนดยุทธ์ศาสตร์ชาติโดยมีรัฐราชการและทุนผูกขาดเป็นศูนย์กลาง และใช้อำนาจเบ็ดเสร็จมาจนถึงปัจจุบันจนบ้านเมืองเสียหายยับเยิน เสียเวลา เสียโอกาสใหญ่หลวงเพราะต้องมาติดหล่ม 3 ป. และติดกับดักรัฐธรรมนูญ

"เรียนไปถึงพลเมืองของประเทศนี้ทุกคนนะครับ ทางออกของชาติบ้านเมือง จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นมาใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย จึงจะไปรอด สร้างกติกาที่เป็นธรรม จัดวางความสัมพันธ์ทางอำนาจของชาติและประชาชนอย่างถูกต้องเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน มีการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่จังหวัด ไม่ให้ผู้ใดได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยไม่ยึดโยงกับอธิปไตยของประชาชนอีกต่อไป" เมธากล่าว

สุดารัตน์ชี้แก้รัฐธรรมนูญในสภาไม่ได้คำนึงถึงประชาชน

ด้านข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า สุดารัตน์ กล่าวว่า วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจหรือโควิด ความยากลำบากของประชาชนล้วนมาจากการเมืองที่ไม่ดี หรือสืบทอดอำนาจ แม้วันนี้เขาจะบอกว่าเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่ก็ต้องบอกว่าเป็นเพียงเสื้อคลุมประชาธิปไตยเท่านั้นเอง วันนี้การแก้รัฐธรรมนูญในรัฐสภาไม่ได้เป็นการแก้ที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน แต่เป็นการแก้เพื่ออำนาจของพรรคการเมืองเท่านั้นเอง คือการแก้แค่ระบบเลือกตั้ง แก้ปัญหาแค่พรรคการเมือง แต่ไม่ได้แก้ปัญหาให้กับประชาชน

ตนอยากใช้เวทีนี้ทวงสัญญาของทุกพรรคที่ได้ไปสัญญากับประชาชนเมื่อครั้งเลือกตั้งที่ทุกพรรคว่าจะเข้ามาแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นของประชาชน แต่ก็ต้องขอบคุณพลังประชาชนที่ช่วยทำให้มีการไขกุญแจดอกแรกให้แก้รัฐธรรมนูญได้ และมีการทำร่างฉบับประชาชน แต่ก็กลายเป็นปาหี่ เข้าสภาในวาระสองแล้วมีผู้ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พอมาลงมติวาระสามทำให้ร่างของประชาชนตกไปหมด วันนี้เราได้เห็นว่าการแก้ไขรับธรรมนูญในสภาเป็นเพื่อผลประโยชน์ของพรรคการเมืองเท่านั้นไม่มีประชาชนอยู่ในสมการนั้นเลย

ประธานพรรคไทยสร้างไทยกล่าวว่า เราต้องไปจี้รัฐบาลให้ทำประชามติเพื่อสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ระบอบประยุทธ์ยังอยู่ เลือกตั้งใหม่กฎเกณฑ์แบบนี้ยังอยู่ระบอบประยุทธ์ก็ยังสืบทอดอำนาจได้อยู่ ขึ้นอยู่ว่าเขาจะไปรวมกับพรรคการเมืองไหน ท้ายที่สุดก็ยังอยู่ในระบอบประยุทธ์ว่าเขาจะเลือกใครให้มาทำงานบริหารประเทศ ไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ไปอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ถ้าเราไม่แก้ที่รากเหง้าของปัญหาเราไม่มีทางแก้ปัญหาให้ประชาชนได้

โภคิณแนะห้ามคนฉีกรัฐธรรมนูญนิรโทษกรรมตนเองหยุดวงจรอุบาทว์

โภคิน กล่าวว่า คณะรัฐประหารทุกคณะยึดอำนาจเสร็จก็จะออกรัฐธรรมนูญชั่วคราว และสิ่งที่ทำกันเสมอคือ การนิรโทษกรรมตัวเอง ซึ่งเป็นจุดที่อันตรายที่สุดแล้วทำกันแบบที่ผู้คนไม่ได้มองกันให้ชัดเจนว่า นี่มันคือเป็นการต่อวงจรอุบาทว์ และมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 เขียนไว้

ทั้งนี้ วงจรอุบาทว์ที่มันมีมาถึงทุกวันนี้ และยังดำรงอยู่นั้น ตนเสียใจที่ว่าเคยมีผู้ไปฟ้องศาลยุติธรรม แต่ศาลบอกว่า ถ้ายึดอำนาจสำเร็จก็เป็นรัฏฐาธิปัตย์ แปลกว่าจบตามนั้น ซึ่งถ้าศาลไม่ได้วินิจฉัยแนวทางนั้นมาจนถึงทุกวันนี้ ถ้าคุณยึดอำนาจสำเร็จก็ว่ากันไปแต่ถ้าวันหนึ่งคุณไม่มีอำนาจแม้คุณเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องตัวคุณก็จะใช้ไม่ได้เพราะมันขัดต่อหลักนิติธรรม ดังนั้นถ้าเราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยากให้เขียนไว้เลยว่า ห้ามนิรโทษกรรมรัฐประหาร

แผนยุทธศาสตร์ชาติไม่ควรอยู่ในรัฐธรรมนูญ

ธีระชัย กล่าวว่า ในแผนยุทธศาสตร์ชาตินั้นจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ เข้าใจว่าแผนเหล่านี้จะนำมาเขียนในกฎหมายทำได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับกฎหมายรัฐธรรมนูญ แม้ในหลายๆประเทศจะมีแผนพัฒนาประเทศ 3,5 ปี แล้วประเทศที่นำแผนยุทธ์ศาสตร์ และอยู่ในระดับเป็นกฎหมายนั้นมีอยู่ไม่เกิน 10 ประเทศ และส่วนใหญ่ก็เป็นประเทศที่ด้อยพัฒนา ถ้าเราดูจะเห็นว่ายุทธศาสตร์ชาติที่เราควรจะมีรวมกันมันไม่คืบหน้า

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยกตัวอย่างเช่น ยุทธศาสตร์เพื่อสร้างการแข่งขันเกษตรมูลค่า แต่ไม่ยุติการนำเข้าสารพิษต่างๆ หรือแม้กระทั่งยุทธศาสตร์การสร้างความเสมอภาค การเก็บภาษีหรือการปล่อยให้มีการอุปโภคบริโภคที่อวดรวย นั้นไม่ใช่การยุทธศาสตร์ หลายเรื่องมีการเอื้อนายทุน ดังนั้นกระบวนการในการปฏิรูปที่จะทำให้เกิดประสิทธิผลในยุทธศาสตร์ชาติยอมรับว่ามันไม่เกิดขึ้น

ธีระชัยกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ทฤษฎีแจกกล้วย พอใช้ทฤษฎีนี้แล้วก็เลยต้องดูแลนายทุน ถ้าเป็นเช่นนี้มันก็จะใช้ระบอบอุปถัมภ์ตลอด ดังนั้นถ้าจะแก้เรื่องนี้คงต้องแก้ที่รากเหง้า ทำให้ทางการเมืองแต่ไม่ใส่ไปในกฎหมายนั่น คือให้พรรคการเมืองนำเอายุทธศาสตร์ชาตินี้มีเป็นจุดขายให้กับประชาชน

เช่นเดียวกับ พ.ต.อ.ทวี ที่เห็นว่า การบัญญัติให้มียุทธศาสตร์ชาติในรัฐธรรมนูญปี 2560 ทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนด้อยลง เพราะเมื่อหน่วยงานราชการต่างๆ จะมาของบประมาณก็จะระบุว่าขอโดยเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ถ้าพูดกันตามตรงคือแผนยุทธศาสตร์ชาตินี้ไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้นยุทธศาสตร์จึงสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนให้กับผู้ร่างแผนนี้เท่านั้น จึงเกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นในประเทศเรา

ซึ่งแผนดังกล่าวจะถูกกำหนดว่า ถ้าประชาชนจะให้รัฐดูแลคุณจะเป็นได้แค่คนที่ถูกสงเคราะห์ แล้วต้องเป็นคนยากไร้ ยากจน คนเปราะบาง ซึ่งลักษณะนี้มันไม่ใช่สิทธิเสมอกัน อีกทั้งถ้าจะพิสูจน์สิทธิดังกล่าวที่นั้นก็จะต้องทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตัวเองก่อน คือต้องมีพิสูจน์กับเจ้าหน้าที่รัฐที่คุมยุทธศาสตร์ วันนี้จุดเริ่มต้นของความไม่ยุติธรรมเริ่มมาจากกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ไม่ให้สิทธิเสรีภาพของประชาชน สิ่งที่ตามมาคือเกิดความเหลื่อมล้ำ

ทั้งนี้ เลขาธิการพรรคประชาชาติชี้ว่า รัฐธรรมนูญสะท้อนระบอบประยุทธ์ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ไว้ใจประชาชน ข้าราชการ ไม่เห็นคุณค่าการมีชีวิตของประชาชน ทุกอย่างจะเริ่มต้นด้วยการตั้งคณะกรรมการต่างๆ ดังนั้นจึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญและส่งคืนเจ้าของอำนาจอธิปไตยนั่นคือประชาชนเป็นผู้ร่างผ่าน ส.ส.ร.

รัฐธรรมนูญ 2560 เน้นสืบทอดอำนาจ ไม่เน้นปฏิรูป

กษิต กล่าวว่า การปฏิรูปประเทศในช่วง 7 ปีที่ผ่านมานั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จัดตั้งสภาปฏิรูปและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป แต่ผลลัพธ์คือไม่มีการปฏิรูปใดๆทั้งสิ้นในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา และตราบใดที่รัฐบาลยังเป็น พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ก็จะไม่มีการปฏิรูปใดๆ ที่จะได้ยกสถานะของประเทศให้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบแล้วก็มีขีดความสามารถแข่งขันกับระหว่างประเทศ ซึ่งการที่ไม่มีการปฏิรูปใดๆ ก็เป็นระบบราชการปกครองประเทศ และเป็นนโยบายเชิงทุจริตคอร์รัปชัน อย่างไรก็ตามจะให้มีการปฏิรูปประเทศทั้งหมดคงไม่ได้ เพราะตลอด 7 ปีที่ผ่านมาผู้นำรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้คิดที่จะปฏิรูปแต่คิดเพียงจะรักษาฐานอำนาจและใช้งบประมาณเพื่อขยายฐานอำนาจเท่านั้น

ด้านพงศ์เทพ กล่าวว่า ปัญหาของประเทศที่ยังคงอยู่นั้นมาจากระบอบประยุทธ์ และถ้าระบอบนี้ยังอยู่เชื่อว่าประเทศจะต่ำเตี้ยลงเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งที่ทำให้ระบอบประยุทธ์ยังคงอยู่ได้คือรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีการเขียนโดยมีชัย ฤชุพันธุ์ กับคณะ ในการสืบทอดอำนาจเขาได้วางโครงสร้างในการที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ สืบทอดอำนาจไว้ด้วยองค์กรต่างๆ องค์กรหนึ่งนั้นคือวุฒิสภา มี 250 คน ให้ความเห็นชอบเป็นตุลาการศาล องค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งองค์กรเหล่านี้สามารถที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ได้อย่างยาวนาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net