Skip to main content
sharethis

การควบคุมคณะสงฆ์ถูกดึงกลับสู่กษัตริย์ผ่านการแก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 โครงสร้างการปกครองสงฆ์ส่วนบนอยู่ในมือกษัตริย์โดยสมบูรณ์ ไม่แน่ว่าจะถือเป็นการย้อนคืนสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้หรือไม่ ที่แน่ใจได้คือมันสร้างความปั่นป่วนแก่คณะสงฆ์ สร้างความเงียบที่กึกก้อง และในอนาคตพุทธแบบเป็นทางการอาจถูกปฏิเสธจากคนรุ่นใหม่

  • การแก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 2 ครั้งหลังเปลี่ยนรัชสมัยเป็นการขยายพระราชอำนาจของกษัตริย์เข้าควบคุมโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ อาจกล่าวได้ประมาณหนึ่งว่าการปกครองสงฆ์ย้อนกลับสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
  • มีแนวโน้มที่จะสร้างพุทธแบบทางการขึ้น คือพุทธที่บริสุทธิ์ ปราศจากความเชื่องมงาย และไม่ข้องเกี่ยวกับการเมืองที่มีลักษณะท้าทายระบบระเบียนความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเก่าของชนชั้นนำ
  • เดิมทีคณะสงฆ์มีจิตสำนึกอิสระระดับหนึ่งผ่านการแต่งตั้งสมณศักดิ์ทำให้มีอำนาจและทรัพยากรในการต่อรองรัฐได้ แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน จิตสำนึกอิสระดังกล่าวลดต่ำลงมากและกดดันให้คณะสงฆ์ต้องมองสถาบันกษัตริย์มากกว่าตนเอง
  • แม้คณะสงฆ์จะตกอยู่ภายใต้ความเงียบจากกรอบเกณฑ์ที่ออกโดยมหาเถรสมาคม แต่ก็มีการแข็งขืนและส่งเสียงจากพระเณรจำนวนหนึ่งผ่านการเรียกร้องประชาธิปไตย ยิ่งเงียบ เสียงเพียงเบาๆ ก็ยิ่งดัง
  • ความพยายามสร้างพุทธแบบเป็นทางการที่ตัดขาดพระและวัดออกจากชาวบ้าน ผลระยะยาวจะทำให้พุทธแบบเป็นทางการถูกปฏิเสธและเกิดการตีความที่หลากหลายกว่าเดิม แต่ไม่ใช่ในแบบที่คณะสงฆ์ส่วนกลางต้องการ

หลังเปลี่ยนรัชสมัย เราได้เห็นปรากฏการณ์หลายอย่างที่เรียกได้ว่าเป็นการขยายพระราชอำนาจออกไปในปริมณฑลต่างๆ ที่ชัดเจนที่สุดอย่างหนึ่งคือการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ถึง 2 ครั้ง เพื่อดึงอำนาจการปกครองสงฆ์กลับสู่มือกษัตริย์ การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช การแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคม และสมณศักดิ์ให้แก่พระรูปใด ล้วนเป็นพระราชวินิจฉัยของกษัตริย์

มันปั่นป่วนโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ การเมือง และจิตสำนึกอิสระในแวดวงสงฆ์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน หรือนี่คือรูปรอยการสานต่อการปฏิรูปพุทธศาสนานับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 การย้อนกลับการปกครองสงฆ์สู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การควบคุมคณะสงฆ์อย่างหนักมือเพื่อมิให้เกิดการท้าทายระเบียบความสัมพันธ์ทางอำนาจเก่าของชนชั้นนำ

ประกีรติ สัตสุต จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ภาพจาก เว็บ socanth.tu.ac.th)

‘ประชาไท’ สนทนากับ ประกีรติ สัตสุต จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการที่มีความสนใจพุทธศาสนาเถรวาทในไทยต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะภายใต้ความเงียบงันของคณะสงฆ์ยังมีเสียงกึกก้องแข็งขืนดำรงอยู่

รวบอำนาจสู่มือกษัตริย์ คุมโครงสร้างการปกครองสงฆ์ส่วนบน

ก่อนปี 2559 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มีการปรับแก้มาแล้ว 2 ครั้ง แต่การเปลี่ยนแปลงในปี 2559 และ 2561 ภายหลังการเปลี่ยนรัชสมัยถือว่ามีนัยสำคัญในแง่การขยายพระราชอำนาจของกษัตริย์เข้าแผ่คลุมคณะสงฆ์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง

ประกีรติ กล่าวว่า การแก้มาตรา 7 ในปี 2559 คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ถ่ายโอนอำนาจการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชกลับไปที่กษัตริย์ โดยก่อนหน้านั้นตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลงและไม่มีการตั้งสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์หรือสมเด็จช่วงซึ่งมีพรรษาสูงสุดขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่หลังการแก้กฎหมายก็มีการแต่งตั้งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สายธรรมยุติกนิกายจากวัดราชบพิตรขึ้นแทน

ส่วนการแก้กฎหมายครั้งที่ 2 ในช่วงปี 2561 ซึ่งส่งผลต่อโครงสร้างอำนาจภายในคณะสงฆ์และความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์กับรัฐบาลและสถาบันกษัตริย์ โดยในมาตรา 10 กรณีที่สมเด็จพระสังฆราชไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ การจะแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนจะต้องได้รับความยินยอมจากกษัตริย์ตามที่ระบุว่า

‘ความในมาตรานี้ไม่กระทบกระเทือนพระราชอำนาจที่จะทรงพระกรุณาโปรด หรือมีพระราชวินิจฉัยให้ปฏิบัติเป็นประการอื่น’

มาตรา 12 ให้อำนาจกษัตริย์สามารถแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคมได้ตามพระราชอัธยาศัย โดยจะปรึกษาสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่ก็ได้ ในส่วนมาตรา 14 ยังกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมไว้ 2 ปีและสามารถดำรงตำแหน่งต่อได้ก็ต่อเมื่อได้รับการเห็นชอบจากกษัตริย์

นอกจากนี้ ยังมีการปรับแก้กฎมหาเถรสมาคมโดยให้การแต่งตั้งหรือถอดถอนพระสังฆาธิการตั้งแต่เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด จนถึงเจ้าอาวาสพระอารามหลวง เป็นพระราชอำนาจของกษัตริย์

“พูดง่ายๆ ก็คือโครงสร้างส่วนบนของคณะสงฆ์ส่วนกลางถูกควบคุมอยู่ภายใต้พระราชอำนาจหมด ลงมาถึงการปกครองส่วนภูมิภาคด้วย ที่ยังพอเหลือให้คณะสงฆ์มีอำนาจในการตัดสินใจก็คือเจ้าคณะแขวง เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล หรือเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ทั่วๆ ไป แต่การที่สามารถควบคุมเจ้าคณะจังหวัดได้การแต่งตั้งตำแหน่งการปกครองที่ต่ำกว่าลงมาในท้องถิ่นก็เป็นเรื่องที่ควบคุมได้โดยง่ายเช่นกัน” ประกีรติ กล่าว

ประกีรติยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าการแต่งตั้งสมณศักดิ์ก็มีการเปลี่ยนแปลงไป เริ่มพบว่ามีการแต่งตั้งสมณศักดิ์ให้กับพระที่อยู่ชายขอบของคณะสงฆ์ส่วนกลาง

“แม้จะมีพระหลายรูปที่เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม แต่ก็ไม่ได้มีความสามารถที่จะเข้าไปอยู่ในแกนกลางอำนาจของกลุ่มอำนาจเก่าของคณะสงฆ์ส่วนกลางได้ ตัวอย่างคือสมเด็จพระมหาธีราจารย์ซึ่งเคยเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดยานนาวาและเป็นพระพี่เลี้ยงของรัชกาลที่ 10 ซึ่งก็มีอิทธิพลและบารมีสูงมากเพราะเป็นที่รักใคร่และมีผลงานเยอะ แต่ท่านจ่อจะเป็นสมเด็จมันหลายปีแล้วก็ไม่ได้สักทีและในวงการสงฆ์ด้วยกันมองว่าท่านไม่ใช่คนในของขั้วอำนาจที่กุมอำนาจอยู่ แต่หลังจากที่มีการเปลี่ยนรัชสมัยก็ได้เลื่อนยศเป็นสมเด็จและเปลี่ยนมาคุมวัดโพธิ์แทน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากเพราะโดยจารีตประเพณีไม่ได้ข้ามวัดกันอย่างนี้

“ขณะเดียวกันพระที่อยู่ชายขอบของคณะสงฆ์ส่วนกลาง เช่นพระฝรั่งที่เป็นสายวัดหนองป่าพงหรือวัดป่าต่างๆ ซึ่งชนชั้นกลางในเมืองและชนชั้นสูงชอบไป โดยปกติพระเหล่านี้ไม่อยู่ในเกณฑ์การได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เพราะไม่ได้สร้างผลงานหรือวิ่งเต้นอะไร กลับได้รับพระราชทานสมณศักดิ์หลายรูป รูปหนึ่งที่ได้รับเลื่อนหลายครั้งคือพระชยสาโร”

แม้ในรัชกาลก่อนจะมีการแต่งตั้งสมณศักดิ์ในลักษณะดังกล่าว แต่ก็ไม่มีมากเท่าเวลานี้ กล่าวคือคณะสงฆ์ยังมีอำนาจในการควบคุมรายชื่อสมณศักดิ์มากกว่า เมื่อรูปแบบความสัมพันธ์เปลี่ยนแปลงไปทำให้เห็นอิทธิพลของสถาบันกษัตริย์ปรากฏมากขึ้นเรื่อยๆ

สร้างพุทธแบบทางการ

ไม่ใช่เพียงการเข้าไปควบคุมโครงสร้างการปกครองสงฆ์เท่านั้น ประกีรติยังเห็นแนวโน้มที่จะนิยามความเป็นพุทธที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นมรดกปฏิรูปศาสนาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ที่ต้องการทำให้ศาสนาพุทธสอดคล้องกับทัศนะทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ความเชื่องมงาย อยู่กับโลกสมัยใหม่ได้

“อันนี้เป็นพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่สำคัญมากในการก่อร่างสร้างตัวของพุทธสมัยใหม่หรือพุทธแบบรัฐสมัยใหม่ ซึ่งในช่วงหลายสิบปีให้หลังความคิดอย่างนี้ยังไม่ปรากฏตัวเด่นชัด แต่เริ่มมาปรากฏให้เห็นมากขึ้นในช่วงหลัง ผ่านการสนับสนุนส่งเสริมพระที่ชนชั้นกลางเมืองมองว่าเป็นพระสายปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ความพยายามที่จะออกคำสั่งต่างๆ ของมหาเถรสมาคมที่ไม่ให้ประกอบกิจกรรมพุทธพาณิชย์ ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง มันเป็นสิ่งที่ค่อนข้างล้อไปกับกระแสการปฏิรูปศาสนาที่เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4

“มันเป็นการสร้างขั้วตรงข้ามระหว่างพุทธของรัฐหรือพุทธที่เป็นทางการกับสิ่งที่เรียกว่าพุทธประชานิยม (Popular Buddhism) ซึ่งเป็นพุทธที่รวมรูปแบบ ความเชื่อ พิธีกรรมที่ชาวบ้านมีประสบการณ์ร่วมกับวัด คือวัดเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนไม่ใช่แค่เรื่องศาสนา แต่ในกรณีของพุทธที่เป็นทางการจะปฏิเสธเรื่องพวกนี้ค่อนข้างเยอะ มองว่าพุทธพาณิชย์เป็นสิ่งแปลกปลอม

“เราพบว่ามีความพยายามที่จะเสนอวิสัยทัศน์นี้ขึ้นมาผ่านประกาศของเจ้าคณะแขวงที่ห้ามพุทธพาณิชย์ ห้ามแสดงออกทางการเมือง พระจะต้องอยู่แต่ในวัดคอยสอนธรรมะคน แต่อย่าไปมีส่วนร่วมกับคนอื่นไม่ใช่สิ่งที่พระสมควรทำ ไม่ใช่กิจของสงฆ์ ทำตามนโยบายที่รัฐสั่งมาได้ เช่น การทำบทสวดถวายพระพร จัดงานตามวันสำคัญทั้งทางศาสนาหรือวันพระราชสมภพ นี่เป็นสิ่งที่ผมรู้สึก มันถูกดึงกลับมาซึ่งเป็นลักษณะที่ใกล้เคียงกับในช่วงที่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังทำงานอยู่อย่างเข้มข้น

ย้อนกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์?

ถามว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ย้อนกลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือไม่

“ผมไม่ทราบว่าเราจะเรียกอย่างนั้นได้” ประกีรติตอบ “เพราะหลายๆ อย่างตอนนี้ก็ไม่เหมือนตอนนั้น แต่ถามว่ามันมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันในรูปแบบไหม มันมี และถามว่ามีความพยายามที่จะสร้างอิทธิพลในการกำหนดทิศทางการดำเนินกิจกรรมของคณะสงฆ์หรือเปล่า มีแน่นอน และมีการใช้เทคนิครายละเอียดบางอย่างที่คิดว่าอาจจะแรงกว่าช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วย”

ประกีรติยกตัวอย่างการแจ้งความดำเนินคดีพระเถระกรณีเงินทอนวัดที่มีการคุมขังโดยไมมีกระบวนการตรวจสอบที่เป็นธรรมหรือกรณีการล้อมวัดพระธรรมกาย

“อันนี้เราพูดถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่รู้ว่ามันเชื่อมโยงได้ถึงบุคคลไหนหรือสถาบันไหน อย่างไร แต่เราเห็นว่าตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนผ่านรัชสมัยมันมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นหรือแม้กระทั่งการจับสึกพระเณรโดยที่ไม่มีการตรวจสอบให้ดีและเป็นการริเริ่มโดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ”

ปรากฏการณ์ดังกล่าวดูจะให้ภาพที่รุนแรงกว่าในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประกีรติยกตัวอย่างครูบาศรีวิชัยที่ต้องอธิกรณ์และถูกกักตัวที่วัดเบญจมบพิตร ในเวลานั้นคณะสงฆ์ดูแลกันเอง ไม่ได้ให้ตำรวจมาดึงจีวรออกเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งเขาเห็นว่าในอดีตถือว่าศิวิไลซ์กว่าปัจจุบันมาก

ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างธรรมยุติกนิกายกับมหานิกายก็มีความตึงเครียดมากขึ้นจากกรณีที่สมเด็จช่วงซึ่งเป็นสายมหานิกายไม่ได้ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช

“จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับพระเณรผมคงบอกได้ว่ามีความรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม แต่ทำอะไรไม่ได้ โดยเฉพาะมหานิกายเขารู้สึกว่าเขากำลังไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐเยอะ เพราะสายธรรมยุติตอนนี้ถือว่ามีอำนาจหรือมีสถานะสูงกว่า แต่ฝ่ายธรรมยุตเองก็ใช่ว่าจะเป็นเนื้อเดียวกันเพราะก็มีการเปลี่ยนขั้วอำนาจจากวัดบวรฯ ไปสู่วัดราชบพิธอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะโดยปกติวัดบวรฯ เป็นวัดที่กุมอำนาจมาโดยตลอด”

คณะสงฆ์ต้องหันมามองสถาบันกษัตริย์มากขึ้น

“ปัจจุบันกฎหมายบ้านเมืองที่ออกมาควบคุมคณะสงฆ์มีเยอะมาก พระขยับตัวไม่ได้เลย พูดไม่ได้เลย เรียกได้ว่าถูกจี้ประชิดอยู่ทุกขณะอันนี้ปฏิเสธไม่ได้ บางทีแค่ไปเยี่ยมเพื่อนที่ประท้วงหน้าศาลก็โดนตรวจสอบ โดนจะจับสึกด้วย พูดได้ว่าฝ่ายบ้านเมืองเอากฎหมายมาเป็นตัวนำในการควบคุมคณะสงฆ์ ส่วนหนึ่งก็เกี่ยวกับคุณค่าพระดีต้องเป็นอย่างไรในพุทธแบบทางการ”

การดึงอำนาจแต่งตั้งกันเองซึ่งถือเป็นเอกสิทธิ์ของคณะสงฆ์มานานออกไป กระทบต่อจิตสำนึกอิสระของคณะสงฆ์อย่างมาก อาจมองว่าคณะสงฆ์เป็นข้าราชการรูปแบบหนึ่งของรัฐ แต่เดิมทีคณะสงฆ์ก็ก่อรูปจิตสำนึกอิสระจากอำนาจในการสถาปนาแต่งตั้ง ทำให้เกิดเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ลำดับขั้นของอำนาจ และผลประโยชน์ร่วมกันจนสามารถจนสามารถระดมสรรพกำลังเพื่อเรียกร้องต่อรองทรัพยากรจากรัฐได้แม้จะไม่สำเร็จก็ตาม เช่น การเรียกร้องกระทรวงพุทธศาสนาหรือการบัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

“พอคุณทำลายทำลายความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบเก่าลงไป มันจะมีกลุ่มคนใหม่ๆ เข้ามาเกาะกุมแทน ทำหน้าที่สถาปนาตัวเองในฐานะตัวกลางระหว่างทรัพยากรที่มาจากการอุปถัมภ์ของรัฐ ระหว่างสถาบัน ซึ่งคนกลุ่มใหม่ก็จะมีวิธีในการทำและมีพื้นที่ที่จะหาทางให้วาระของเขาเป็นจริงได้

“กฎระเบียบของพื้นที่การเล่นมันเปลี่ยนไปแล้ว คือมันต้องแอบอิงอยู่กับสถาบันเป็นหลัก ขณะที่สมัยก่อนคณะสงฆ์มองที่ตัวเองส่วนหนึ่งด้วยและมองที่สถาบันด้วย แต่ตอนนี้ต้องมองที่สถาบันเยอะกว่าเดิมมาก เพราะฉะนั้นเวลาพูดเรื่องจิตสำนึกอิสระ มันไม่อิสระหมด มันมีเพดาน แต่เพดานนี้มันต่ำลงมาก”

ทำไมต้องรวบอำนาจ?

คงไม่มีใครตอบแบบฟันธงได้ว่า เหตุใดจึงต้องรวบอำนาจของคณะสงฆ์กลับไปอยู่ที่สถาบันกษัตริย์ ประกีรติทดลองหาคำอธิบายนี้ 2 ประการ ประการแรกคือคติธรรมราชาในโลกเถรวาทของวัฒนธรรมภาคพื้นทวีปของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านรัชสมัยมักจะมีประเพณีที่พุทธกษัตริย์ต้องมีภาระหน้าที่ในการชำระศาสนาให้บริสุทธิ์

ประการต่อมา การดำเนินการต่างๆ ตั้งแต่เปลี่ยนรัชสมัยคล้ายคลึงกับสมัยรัชกาลที่ 5 สร้างรัฐราชการสมัยใหม่ คือมีความพยายามที่จะควบรวมอำนาจทั้งมิติด้านการเมืองและมิติด้านศาสนา เพราะการสร้างรัฐต้องมีความสามารถในการรวมคนจำนวนมากเข้ามาและทำให้คนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ดังนั้น จึงต้องสร้างจุดร่วมทางวัฒนธรรมซึ่งก็คือพุทธศาสนา แต่ไม่ใช่พุทธศาสนาแบบไหนก็ได้ ต้องเป็นพุทธศาสนาที่เป็นส่วนกลางสร้างขึ้น

“ในกรณีของรัชสมัยนี้ เราก็พบว่ามีความพยายามที่จะควบรวมอำนาจการเมืองเข้ามาเพื่ออาจจะให้มีความสามารถในการควบคุมเรื่องบางเรื่องได้ดีขึ้น ในทางศาสนาก็เห็นแบบเดียวกันถ้าเรามองว่าคณะสงฆ์เป็นระบบราชการซึ่งถูกรวมศูนย์เข้ามาเหมือนกัน

“ผมไม่ทราบว่าทำไปเพื่ออะไร แต่ผมมีความคิดว่าตั้งแต่โบราณนานมาคณะสงฆ์เป็นพื้นที่สำคัญพื้นที่หนึ่ง คือพระใกล้ชิดกับคนและมีสถานะพิเศษทางวัฒนธรรมที่คนให้การยอมรับนับถือ หลายครั้งคนลุกฮือหรือแข็งขืนโดยมีพระเป็นผู้นำ สิ่งที่สำคัญคือพระลงถนนด้วยในยุคใหม่ ตอนที่ไปเรียกร้องกระทรวงพุทธศาสนาหรือศาสนาแห่งชาติระดมไปได้หลายพันรูปอยู่ที่หน้ารัฐสภาเป็นเดือนและมีการสนับสนุนเยอะมาก ถ้าเราต้องการความสงบเรียบร้อยตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่ต้องแก้ไข ถ้าทางฝ่ายบ้านเมืองควบคุมคณะสงฆ์ไม่ได้มันก็เป็นปัญหาที่เขาต้องคิด”

ความเงียบที่กึกก้อง

คณะสงฆ์ถูกควบคุมมากขึ้นไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองผ่านมหาเถรสมาคม ซึ่งได้กลายเป็นผู้กระทำแทนรัฐเพื่อรักษาโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเดิมของชนชั้นนำไว้ ดังนั้น สิ่งใดก็ตามที่จะมาท้าทายระบบระเบียบทางอำนาจ สิ่งเหล่านั้นต้องโดนจัดการ

นี่ไม่ได้หมายความว่าคณะสงฆ์จะเงียบงันโดยสมบูรณ์ ประกีรติกล่าวว่าพระเณรเงียบกว่าเดิมเพราะเกรงว่าการออกมาส่งเสียงจะมีผลกระทบตามมา ทั้งที่ความจริงแล้วมีพระเณรจำนวนมากทั้งในฝั่งธรรมยุติและมหานิกายเห็นด้วยกับการเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ยังมีพระเณรจำนวนน้อยที่ออกมาส่งเสียงจนถูกฝ่ายบ้านเมืองจับตาหมายหัว ซึ่งยิ่งทำให้ตัวตนของพระเณรกลุ่มนี้เด่นชัดขึ้นมาในสายตาสาธารณะและรับรู้ว่ามีปัญหาดำรงอยู่ในคณะสงฆ์

คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกับศาสนาน้อยลงก็จริง แต่เมื่อพระเณรจำนวนหนึ่งออกมาร่วมต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ความเงียบก็ดังขึ้น

“คนที่อยู่ในกระแสของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อบทบาทของพระว่ากิจของสงฆ์เป็นอย่างไร ทำให้หลายๆ คนเริ่มหันมามองปัญหาที่อยู่ในคณะสงฆ์ด้วยว่าคณะสงฆ์ที่อยู่ภายใต้การปกครองแบบนี้เป็นอุปสรรคหรือเป็นสิ่งที่ช่วยกระบวนการประชาธิปไตย ยิ่งเงียบ พอมีคนเสียงดังออกมาหน่อย มันยิ่งดัง”

ในกรอบกรงอันหนาแน่นของพุทธแบบทางการ

“ผลที่เห็นชัดๆ ในระยะสั้นคือเราจะคาดหวังให้พระเณรออกมาแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งในเชิงสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยคงจะลำบาก เราต้องเข้าใจความเงียบที่เกิดขึ้น พระจำนวนมากอยากออก เราเห็นความอัดอั้นมีเยอะ อย่างในกรณีเจ้าอาวาสวัดมณฑป ในระยะสั้นอีกเช่นกันคณะสงฆ์จะทำงานตอบสนองสถาบันกษัตริย์กับทางรัฐบาลมากขึ้นกว่าเดิมมากในด้านพิธีกรรม การประชาสัมพันธ์ หรือสดุดียอเกียรติ

“ในระยะยาวเราจะพบความจริงข้อหนึ่งคือคณะสงฆ์ที่ถูกบีบบังคับให้ต้องยิ่งติดกับรัฐมากเกินไป คนรุ่นใหม่ที่ออกมาที่มองเรื่องพวกนี้เขาก็จะปฏิเสธคณะสงฆ์แบบนี้เพราะรู้สึกว่าไม่ได้สนองความต้องการของเขา พอคุณทำให้คณะสงฆ์สนับสนุนรัฐเพียงอย่างเดียว พุทธก็จะกลายเป็นเปลือกของสิ่งที่เคยเป็นมาก่อนและมีผลระยะยาวต่อศรัทธาของมวลชน ศรัทธาของมวลชนไม่ได้หาย แต่จะหายกับพุทธแบบทางการ ศรัทธาจะย้ายที่ จะเปลี่ยนรูปแบบและพุทธที่เป็นทางการก็จะกลวงมาก จะเหลือแต่เปลือกจริงๆ แล้วท่านก็จะมาบ่นว่าพุทธศาสนาเสื่อมโดยเอาตัวเองเป็นตัวแทนของศาสนา เพราะท่านไม่ได้ตอบสนองต่อความจำเป็นและความต้องการของมวลชน

“พระไม่ต้องออกไปเรียกร้องว่าต้องการประชาธิปไตย แต่ถ้าท่านยึดหลักว่าประชาชนเดือดร้อนท่านเป็นกระบอกเสียง มันก็จะดีกว่า แต่ในเมื่อท่านถูกจำกัดให้อยู่ในกรอบแบบนี้มันก็ลำบาก ซึ่งผมก็เห็นใจว่าพระสงฆ์ตกอยู่ในที่นั่งลำบากมาก พูดก็พูดไม่ได้

“ขณะเดียวกันบางทีอาจจะนำไปสู่การตีความทางศาสนาที่หลากหลายกว่าเดิม แต่จะเป็นการตีความบนพื้นฐานของความเป็นคนสมัยใหม่ที่หลากหลายมากขึ้น แต่มันจะไม่ใช่แบบที่รัฐต้องการ ไม่ใช่แบบที่คณะสงฆ์ส่วนกลางต้องการ”

และนี่คือบทสรุปที่น่าจะเป็นในอนาคตของคณะสงฆ์และพุทธแบบไทยๆ ที่ไม่สามารถมีอิสรภาพได้จริงตามคำสอนที่ป่าวประกาศ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net