Skip to main content
sharethis

ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทยผู้ป่วยใหม่ 17,984 ราย ป่วยสะสม 1,157,555 ราย รักษาหาย 20,535 ราย หายสะสม 964,319 ราย เสียชีวิต 292 ราย เสียชีวิตสะสม 10,879 ราย ยอดผู้รับวัคซีน (ถึง 27 ส.ค. 2564) สะสมทั้งหมด 30,420,507 โดส - กทม.เตรียมจัดทำแผนตรวจ ATK ตลาดขนาดใหญ่ 29 แห่ง

COVID-19: 28 ส.ค. 64 ไทยติดเชื้อเพิ่ม 17,984 ราย เสียชีวิต 292 ราย

28 ส.ค. 2564 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 เผยยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่ม 17,984 คน เป็นการติดเชื้อใหม่ 17,660 คน ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 324 คน ป่วยสะสม 1,157,555 ราย รักษาหาย 20,535 ราย หายสะสม 964,319 ราย เสียชีวิต 292 ราย เสียชีวิตสะสม 10,879 ราย ยอดผู้รับวัคซีน (ถึง 27 ส.ค. 2564) สะสมทั้งหมด 30,420,507 โดส

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข เชิญชวนหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ลดป่วยรุนแรง ลดเสียชีวิต ย้ำสถานพยาบาลปฏิบัติตามแนวปฏิบัติในการดูแลรักษาหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด 19 ทุกราย หากพบการปฏิเสธแจ้งสายด่วนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 1462

ทั้งนี้ ได้กำหนดแนวปฏิบัติให้สถานพยาบาลทำคลอดและรักษาหญิงมีครรภ์ที่ติดเชื้อ COVID-19 ทุกราย และใช้ยาเรมเดซิเวียร์ในการรักษา ซึ่งได้สั่งซื้อเพิ่มและกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศแล้ว

ส่วนสถานประกอบการ/โรงงาน ได้มีการออกแนวทางป้องกันควบคุมโรค เช่น มาตรการ Bubble and seal การฉีดวัคซีนให้พนักงาน การตรวจคัดกรอง และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบริหารจัดการและให้การดูแลช่วยเหลือ พร้อมเสนอให้หญิงตั้งครรภ์ทำงานที่บ้าน (Work From Home) เพื่อลดการรับเชื้อ

กทม.เตรียมจัดทำแผนตรวจ ATK ตลาดขนาดใหญ่ 29 แห่ง

เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2564 นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมแนวทางมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ในสถานประกอบการตลาด (ค้าส่งขนาดใหญ่) โดยมีผู้ประกอบการเจ้าของตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ จำนวน 29 แห่ง และสำนักงานพื้นที่ซึ่งมีตลาดขนาดใหญ่ตั้งอยู่ จำนวน 11 เขต ร่วมประชุมทางไกลผ่านโปรแกรม Zoom meeting

ในที่ประชุมกองสุขาภิบาลอาหาร สำนักอนามัย ได้รายงานผลการสำรวจข้อมูลสถานประกอบการตลาดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ คือ มีแผงค้ามากกว่า 500 แผง มีจำนวน 12 แห่ง และมีตลาดที่มีพื้นที่ติดกันหลาย ๆ ตลาด รวมกันเป็นตลาดขนาดใหญ่ จำนวน 17 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ 11 สำนักงานเขต รวมผู้ค้าและแรงงานแผงค้าจำนวนทั้งสิ้น 18,963 คน

จัดแผนเฝ้าระวัง-ป้องกันเชิงรุกโควิดในตลาด

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้กำหนดแผนการเฝ้าระวังเชิงรุกและแผนเผชิญเหตุโรคโควิด-19 ในตลาด โดยหากพบผู้ติดเชื้อ 1 คน จะสั่งปิดเฉพาะแผงค้านั้น 14 วัน และค้นหาผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม หากพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 2 คน จะสั่งปิดแผงค้านั้น 14 วัน และให้ดำเนินการตรวจเชิงรุกผู้ค้าในตลาดทั้งหมด หากพบผู้ติดเชื้อมากกว่าร้อยละ 10 จะสั่งปิดตลาด 14 วัน พร้อมดำเนินการสำรวจชุมชนที่พักรอบตลาด จัดทำมาตรการกักตัว Community Quarantine/Isolation และพิจารณาให้วัคซีนแก่ค้าและชุมชนโดยรอบ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากเจ้าของตลาด ผู้ประกอบ และผู้ค้าเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาตรการควบคุมโรคเฉพาะสถานที่สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งรวมถึงมาตรการสำหรับตลาด (ค้าส่ง ขนาดใหญ่) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรการที่มีอยู่แล้ว แบ่งออกเป็น 3 มาตรการ คือ มาตรการด้านการป้องกันคน กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ค้า ลูกจ้าง แรงงานที่เดินทางเข้าออก และอาจรวมถึงผู้ที่อยู่อาศัยโดยรอบและผู้ซื้อที่เข้าใช้บริการ ให้ปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด กรุงเทพมหานครขอความร่วมมือผู้ประกอบการ เจ้าของตลาดให้ความร่วมมือในการดำเนินมาตรการดังกล่าวพร้อมจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง

ตรวจ ATK ทุกสัปดาห์

ในส่วนของมาตรการเสริมคือการดำเนินการคัดกรองด้วยชุด Antigen Test Kit (ATK) ในกลุ่มผู้ค้า แรงงานทุกคน ทุกสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งกรุงเทพมหานครได้รับการสนับสนุนชุดตรวจจากกระทรวงสาธารณสุขส่วนหนึ่ งและจะจัดหาเพิ่มเติมเพื่อให้ครบถ้วนตามจำนวนกลุ่มเป้าหมายและระยะเวลาในการดำเนินการ สำหรับระยะเวลาการดำเนินการกรุงเทพมหานครจะแจ้งให้แก่ผู้ประกอบการ เจ้าของตลาดได้ทราบต่อไป

สำหรับมาตรการด้านการป้องกันสถานที่ (ตลาด) ให้ประเมินตามแนวทาง TSC+ และ BKK Food Safety App และดำเนินการปรับปรุงให้เรียบร้อย รวมทั้งให้กำหนดจัดจุดเข้า-ออกทางเดียว หรือให้น้อยลง พร้อมคัดกรองผู้เข้าพื้นที่อย่างเข้มงวดโดยจัดคนควบคุมกำกับให้ปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A จัดระบบสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม อาทิ จัดให้มีการเว้นระยะห่าง มีการระบายอากาศที่ดี และทำความสะอาดฆ่าเชื้อในพื้นผิวสัมผัสบ่อยๆ จัดระบบเพื่อลดกิจกรรมสัมผัสใกล้ชิด อาทิ การจัดให้มีระบบ drop in/drop out ห้ามรวมกลุ่มพูดคุย การจัดให้มีพื้นที่รับประทานอาหารสำหรับผู้ค้า รวมทั้งจัดให้มีการใช้จ่ายเงินแบบ Digital เพื่อลดการสัมผัสระหว่างบุคคล

รวบรวมบัญชีแผงค้า-แรงงาน

มาตรการจัดการระบบเฝ้าระวังควบคุมโรค โดยสุ่มเฝ้าระวังเชิงรุกตามลักษณะของตลาดทั้งการตรวจคนและสิ่งแวดล้อม จัดทำแผนเผชิญเหตุพร้อมกำหนดผู้รับผิดชอบและซ้อมแผน โดยให้คำนึงถึงสถานการณ์การระบาด ลักษณะของตลาดและบริบทของผู้คนในและรอบตลาด การจัดเตรียมสถานที่แยกกัก/กักกัน เพื่อรองรับในกรณีพบผู้ติดเชื้อ และการประยุกต์การควบคุมกลุ่มและการเดินทางไปกลับของคนในตลาด ในลักษณะ Bubble group and seal route โดยที่ประชุมได้ขอให้เจ้าของตลาดรวบรวมข้อมูลพื้นฐานของตลาด เช่น บัญชีแผงค้า ทะเบียนผู้ค้า และแรงงานทั้งชาวไทยและแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งสำรวจที่พักอาศัย เส้นทางการเดินของผู้ค้าและแรงงาน และข้อมูลการรับวัคซีนเพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการจัดทำแผนเผชิญเหตุต่อไป

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ในกรุงเทพมหานคร ยังคงมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ประกอบกับข้อมูลการสอบสวนโรคของกระทรวงสาธารณสุขและสำนักอนามัยพบว่า มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนโดยเฉพาะในสถานที่ที่ประชาชนหนาแน่น เช่น ตลาด ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ดำเนินการควบคุมการระบาดมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังพบการระบาดในกลุ่มตลาดอีกครั้ง ซึ่งการหยุดทำการค้าจะมีผลกระทบทั้งต่อผู้ค้าและประชาชนผู้บริโภค กรุงเทพมหานครจึงขอความร่วมมือเจ้าของตลาดขนาดใหญ่ทุกแห่งปฏิบัติตามมาตรการที่ทางภาครัฐกำหนดอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง เพื่อควบคุมและลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ และชะลอหรือหยุดการแพร่ระบาดในตลาดให้ได้มากที่สุด

แนะผู้ป่วยมะเร็งเร่งฉีดวัคซีนโควิดทันทีที่มีโอกาส เพื่อลดความรุนแรงและเสียชีวิต หากติดเชื้อโควิด

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2564 นายแพทย์โสฬส อนุชปรีดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ให้ข้อมูลถึงแนวทางการให้วัคซีนโควิดในผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งเป็น 1 ใน 7 โรคเรื้อรัง ที่ต้องเร่งฉีดวัคซีนอย่างเร่งด่วน เนื่องจากตามธรรมชาติเมื่อเกิดโรคมะเร็ง ในร่างกายจะมีเซลล์มะเร็งที่ควบคุมไม่ได้ และการให้ยาระหว่างการรักษามักทำให้ภูมิต้านทานในร่างกายต่ำลงเรื่อยๆ การต่อสู้กับการติดเชื้อโควิดจึงลดลงไปด้วย และเมื่อติดเชื้อแล้วจะเกิดภาวะแทรกซ้อน และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แนะผู้ป่วยมะเร็ง หากมีโอกาสให้รีบมารับการฉีดวัคซีนโควิดโดยเร็ว เพื่อยับยั้งการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

ทั้งนี้ ผู้ป่วยมะเร็งสามารถฉีดวัคซีนที่มีในประเทศได้ทุกขนิด ทั้งเชื้อตาย ไวรัลแวกเตอร์ และ m-RNA หรือแม้แต่วัคซีนไขว้ชนิดก็ฉีดได้ ยกเว้นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นแบบแบ่งตัว หรือ live attenuated vaccine ที่ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง และประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนโควิดชนิดนี้

 

ที่มาเรียบเรียงจาก: Thai PBS [1] [2] | สำนักข่าวไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net