ภาคประชาชนเชียงใหม่-เชียงรายค้านโครงการผันยวมสู่เขื่อนภูมิพล แถลงจวก EIA ไร้ความโปร่งใส 

27 ส.ค. 64 เครือข่ายภาคประชาสังคมใน จ.เชียงใหม่ และเชียงราย พร้อมใจค้านโครงการผันน้ำยวมเติมเขื่อนภูมิพล มูลค่า 7 หมื่นล้าน พร้อมแถลงจวกภาครัฐ ทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ปลอมและไร้ความโปร่งใส ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

โครงการผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล

28 ส.ค. 64 สำนักข่าวชายขอบ รายงานเมื่อ 27 ส.ค. 64 เครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย ร่วมกันแสดงออกโดยการยกป้ายเพื่อคัดค้านโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โครงการสร้างเขื่อนและผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล” มูลค่า 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งดำเนินการโดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ ข้อความบนป้ายระบุข้อความต่างๆ ที่คัดค้านโครงการ อาทิ “ยกเลิก EIA ร้านลาบ หยุดผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล”, “หยุด EIA เท็จ”

นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต และสมาชิกเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ กล่าวว่าหากมีการเดินหน้าโครงการผันน้ำยวมในครั้งนี้จริง ถือว่าเป็นการทำลายระบบนิเวศครั้งใหญ่ในภาคเหนือ เนื่องจากผืนป่าในเขตรอยต่อ 3 จังหวัดคือเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอนและตาก มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก แต่รัฐบาลกลับมีการสร้างอุโมงค์ขนาดใหญ่ยาวกว่า 60 กิโลเมตร เจาะทะลุผืนป่ารอยต่อนี้ แม้อ้างว่าใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ไม่ส่งผลกระทบกับป่าที่อยู่ด้านบน แต่ในความเป็นจริงแล้วการระเบิดและขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดินขนาดใหญ่นี้ย่อมส่งผลกระทบต่อผืนป่าและพื้นที่ต้นน้ำลำธารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะกระทบและปิดกั้นเส้นทางไหลของน้ำใต้ดิน ที่สำคัญในรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ก็บอกไว้ไม่ชัดว่าจะทำอย่างไรกับปริมาณดินจำนวนมหาศาลที่นำออกจากอุโมงค์ ซึ่งกำหนดไว้อย่างน้อย 6 จุดในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด

นายสมเกียรติ กล่าวว่า จากรายงานอีไอเอครั้งนี้พบว่าไม่ได้คำนึงถึงมิติเรื่องวิถีวัฒนธรรมของชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่อยู่ในพื้นที่กันมาหลายชั่วอายุคน โดยชาวบ้านได้ทำไร่หมุนเวียนและช่วยกันรักษาป่าไว้จนถึงปัจจุบัน แต่กลับจะมีการนำพื้นที่ของชาวบ้านไปเป็นพื้นที่กองดินที่ขุดเจาะ ซึ่งเรื่องนี้ชาวบ้านต่างออกมาคัดค้านโครงการ แต่ในรายงานอีไอเอกลับไม่ให้น้ำหนักเหมือนที่ชาวบ้านคัดค้าน ที่สำคัญคือการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำนั้นเป็นข้อห้ามทางความเชื่อของชาวกะเหรี่ยง

"อีไอเอฉบับนี้ไม่มีความโปร่งใสเท่าที่ควร เพราะขาดการมีส่วนร่วมที่แท้จริงจากชาวบ้าน ในวันเปิดเวทีรับฟังก็ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความเห็นต่างๆ ได้พูด กลับเอาบุคคลภายนอกพื้นที่เข้ามาร่วมประชุม ซึ่งเป็นเทคนิควิธีการเดิมๆ ที่หน่วยงานราชการบางแห่งนิยมนำมาใช้เพียงเพื่อต้องการให้อีไอเอผ่าน ตอบสนองความต้องการของคนว่าจ้าง แถมยังลักไก่เอารูปและชื่อหลายคนที่ไปใส่ไว้ในรายงาน บางคนนัดเพื่อนไปกินอาหารที่ร้านลาบก็ถูกนำไปแอบอ้างว่าไว้ในอีไอเอ ว่าทีมนักวิชาทำอีไอเอได้หารือกับคนกลุ่มนี้แล้ว ทำให้อีไอเอฉบับนี้ไม่น่าเชื่อเลย" นายสมเกียรติ กล่าว

แบบรายงานประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จัดทำโดย ม.นเรศวร
 

นายสมเกียรติ กล่าวว่า มีคำถามที่อยากถามกรมชลประทานและรัฐบาลถึงเรื่องการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ไม่รู้จบ เหตุอันใด 60 ปี  ที่ผ่านมากมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ไปแล้วมากกว่า 30 เขื่อน ก็ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์เรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง โดยโครงการผันน้ำยวม ข้ามลุ่มน้ำจากลุ่มสาละวิน มายังลุ่มน้ำปิง-เจ้าพระยา สะท้อนให้เห็นถึงความผิดผลาดจากการสร้างเขื่อนภูมิพลใช่หรือไม่ เพราะไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ตามเป้าหมาย และใครต้องรับผิดชอบ

ขณะเดียวกัน ภาคประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ ออกแถลงการณ์ขอให้ยกเลิกอีไอเอ ร้านลาบ โดยระบุว่า การผลักดันโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล ด้วยโครงการผันน้ำยวม มูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท ได้ดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ไปแล้วนั้น และอยู่ในระหว่างการเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณา ในรายงานฉบับดังกล่าวในตอนท้ายได้ปรากฎการ แอบอ้าง ชื่อและรูปภาพของชาวบ้านในร้านลาบแห่งหนึ่ง ใน อ.แม่สะเรียง ไปประกอบอยู่ในรายงาน ซึ่งชาวบ้านในภาพยืนยันว่าไม่ใช่การประชุมและปรึกษาหารือเรื่องโครงการผันน้ำแต่อย่างใด การกระทำดังกล่าวของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนเรศวรที่รับทำรายงานอีไอเอ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีเจตนานำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จในรายงานผลกระทบอีไอเอฉบับดังกล่าว และผิดหลักจรรยาบรรณทางวิชาการขั้นร้ายแรง

"โครงการผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการลงทุนกว่า 7 หมื่นล้านบาท จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านตามแนวท่ออุโมงค์ และป่ารอยต่อจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดแม่ฮ่องสอนอย่างมหาศาล การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมต้องครอบคลุมรอบด้าน น่าเชื่อถือและมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับดังกล่าวนี้มีการใช้ข้อมูลอันไม่เป็นความจริง ข้อมูลอันเป็นเท็จ และมีการแอบอ้าง ไม่โปร่งใส ไร้ซึ่งกระบวนการการมีส่วนร่วมจากผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ จึงถือว่ารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับนี้เป็นเท็จ ไม่มีความน่าเชื่อถือ ไม่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง คชก. ผ่านความเห็นชอบต่อรายงานฉบับดังกล่าว เป็นการรับรองเอกสารรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีเนื้อหาอันเป็นเท็จ รายงานนี้จึงใช้ไม่ได้ และต้องยกเลิกทั้งฉบับ ขอประณามการกระทำของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะผู้จัดทำรายงานอีไอเอ ที่ขาดหลักจรรยาบรรณทางวิชาการขั้นร้ายแรง จัดทำรายงานอันเป็นเท็จ แอบอ้างและใช้ข้อมูลของผู้อื่น ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รับจ้างทำงานอย่างขาดสติไม่เป็นกลาง ไม่นำเสนอความจริงอย่างเที่ยงตรง และไม่น่าเชื่อถือ และขอประณามการเร่งรัดและขาดความรอบครอบของ คชก. ที่ไม่คำนึงต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากกระบวนการการพิจารณาเอกสารที่มีข้อมูลอันเป็นเท็จ ให้ผ่านการพิจารณาอย่างไม่ใส่ใจ และขาดหลักสำคัญยิ่งของผู้ชำนาญการที่ควรจะมีและดำรงไว้ซึ่งความรอบครอบตรวจสอบรายงานอย่างมีจรรยาบรรณ" แถลงการณ์ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท