Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 28 สิงหา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไฟเขียวโครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่ากระบวนการ EIA ไม่ถูกหลัก ด้านนักอนุรักษ์เผย EIA ไม่มีการรับฟังเสียงชาวบ้านในพื้นที่ ข้อกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม และผลกระทบข้ามพรมแดนถูกมองข้าม 

29 ส.ค. 64 สำนักข่าวชายขอบ รายงานเมื่อ 28 ส.ค. 64 ระบุว่า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีหนังสือชี้แจงถึงชาวบ้าน ภายหลังจากที่ชาวบ้านมีหนังสือแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล พร้อมทั้งขอให้มีการทบทวนรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ครอบคลุมในทุกมิติ และขอเอกสารรายงานการประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) โดยหนังสือลงวันที่ 17 ส.ค. 64 ซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า ตามหนังสืออ้างถึงส่งโดยเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม ลุ่มน้ำเงา ลุ่มน้ำเมย และแม่น้ำสาละวิน ที่ได้แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล พร้อมทั้งขอให้มีการทบทวนรายงาน EIA ให้ครอบคลุมทุกมิติ เนื่องด้วยมีข้อห่วงกังวล เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีการขุดเจาะอุโมงค์เพื่อส่งน้ำ ทำเขื่อนกั้นแม่น้ำ ซึ่งอาจจะส่งผลให้มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสังคมอย่างร้ายแรง และเป็นการใช้งบประมาณที่อาจไม่เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า ดังนั้น จึงขอให้มีการทบทวนรายงานฯ และขอให้มีการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อย่างรอบด้านครบทุกกลุ่ม พร้อมทั้งนำข้อกังวลหรือข้อคิดเห็นของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการโดยตรงเข้าประกอบการพิจารณารายงาน EIA และประกอบการตัดสินใจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

หนังสือระบุว่า สผ. พิจารณาข้อร้องเรียนดังนี้ 1. โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม ของกรมชลประทาน จัดทำรายงานโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นไปตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจัดทำ EIA ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 4 ม.ค. 2562 ซึ่งจะต้องเสนอรายละเอียดโครงการ ฯลฯ และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างครบถ้วนครอบคลุมทุกมิติ และ คชก. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำได้พิจารณารายงานดังกล่าวรวม 4 ครั้ง และเมื่อคราวประชุมครั้งที่ 4/2564 วันที่ 2 กรกฎาคม 2564 คชก. มีมติให้นำรายงาน EIA โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนฯ ของกรมชลประทาน ตั้งอยู่ที่ ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ต.สบเมย ต.แม่สวด ต.กองก๋อย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ต.นาเกียน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้ดำเนินการปรับแก้ไขรายละเอียดข้อมูลตามความเห็นของ คชก. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำแล้ว เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าว สผ. นำประเด็นข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับโครงการฯ ของท่านเพื่อประกอบการพิจารณาของ คชก. ด้วยแล้ว 

หนังสือชี้แจงดังกล่าวระบุว่า 2. ประเด็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อย่างรอบด้านครบทุกกลุ่ม กรมชลประทานได้ดำเนินกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นไปตามประกาศสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม เรื่องแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 8 มกราคม 2562 ครอบคลุมในทุกพื้นที่และองค์ประกอบของโครงการทุกแห่ง ได้แก่ พื้นที่หัวงานเขื่อน อ่างเก็บน้ำ สถานีสูบน้ำบ้านสบเงา อุโมงค์ส่งน้ำ อุโมงค์พักน้ำ อุโมงค์เข้าออก (ADIT) พื้นที่จัดเก็บวัสดุจากการขุดเจาะอุโมงค์ (DA) และถนนเข้าสู่พื้นที่ก่อสร้างโครงการโดยครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้ไร้สัญชาติ และกลุ่มประชาชนในพื้นที่ และได้รับการพิจารณาจาก คชก. ด้วยแล้ว

ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวได้มีเอกสารแนบเป็นรายงานการประชุม คชก. พิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ครั้งที่ 19/2564 วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 โดยรายงานการประชุมระบุว่า ผู้มาประชุม อาทิ นายสันติ บุญประคับ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน นายสุรพล ปัตตานี ผู้ทรงคุณวุฒิต้านวิศวกรรมแหล่งน้ำ นายอภิชาติ เดิมวิชธากร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิเวศวิทยาทางน้ำและการประมง นางประกายรัตน์ สุขุมากชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมและการมีส่วนร่วมของประชาชน และผู้มาชี้แจง ได้แก่ เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยนเรศวร และบริษัทปัญญาคอนซัลแตนท์ โดยมีทั้งผู้ที่มาประชุมด้วยตนเอง และร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์  

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) มีหนังสือชี้แจงถึงชาวบ้านหลังชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล

รายงานการประชุมระบุในประเด็นทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าว่า ให้เพิ่มเติมมาตรการกำหนดให้มีการปลูกป่าในลักษณะของการปลูกป่ารอบอ่าง และพิจารณากำหนดให้มีการปลูกแฝกเพื่อลดผลกระทบกันการซะล้างพังทลายของดินและการตกตะกอนในอ่างเก็บน้ำ รวมถึงเป็นการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ดังกล่าว เพื่อการใช้ประโยชนในกิจกรรมอื่นๆ ในอนาคต ขณะที่ผู้แทนกรมป่าไม้ ได้ชี้แจงและให้ความเห็นต่อรายงานฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 

1. ตามที่กรมชลประทานขอความอนุคราะห์ตรวจสอบขอบเขตพื้นที่ป่ากันออกจากพื้นที่ของรัฐที่อยู่ในเขตป่า แต่ราษฎรใช้ที่ดินทำกินได้ (ป่าโซน N) ของโครงการ จากการสอบถามข้อมูลจากสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ พบว่าขณะนี้อยู่ระหว่างประสานการตรวจสอบข้อมูลกับจังหวัดเซียงใหม่ และจะได้ทำหนังสือ แจ้งตอบกรมชลประทานต่อไป 

 2. การปลูกป่าทดแทนตามมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม แบ่งเป็น 2 กรณี คือ
การปลูกป่าทดแทนตามมติ ครม. 29 ม.ค. 56 และการดำเนินการปลูกฟื้นฟูในพื้นที่บริเวณของโครงการฯ 

กรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินการเพื่อปลูกฟื้นฟูในพื้นบริเวณพื้นที่เปิดโล่งที่เสี่ยงต่อการซะล้างกองเก็บวัสดุจากการชุดเจาะอุโมงค์ และพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และชั้น 2 ซึ่งถือเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร จึงควรเร่งดำเนินการพื้นฟูโดยเร็ว เพื่อให้เป็นไปมาตรการการใช้ที่ดินในเขตลุ่มน้ำโดยร่วมดำเนินการกับกรมป่าไม้ประชาชน อปท.ในพื้นที่ ทั้งนี้ ให้สอดคล้องตามแนวทางและข้อสังเกตที่ผู้ทรงคุณวุฒิด้านป่าไม้ได้ให้ความเห็นไว้ด้วย และหากภายหลังมีพื้นที่บริเวณใดที่หมดความจำป็นที่จะใช้พื้นที่ให้ดำเนินการแจ้งความประสงค์ เพื่อส่งมอบพื้นที่คืนกรมป่าไม้ต่อไป

ในเอกสารแนบได้ระบุว่า ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แจ้งที่ประชุมว่าไม่มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม ขอให้กรมชลประทานกำชับ กำกับดูแล ควบคุมให้ผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการปฏิบัติมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านการป้องกันการบุกรุกทำลายป่า และการลักลอบล่าสัตว์ป่า ส่วนในประเด็นด้านเศรษฐกิจและสังคม การประชาสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้ยืนยันและแสดงข้อมูลการมีส่วนร่วมของประชาชน stakeholders ทั้ง 7 กลุ่ม และให้อธิบายและชี้แจงประเด็นคัดค้าน ซึ่งระบุว่าการดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่โปร่งใสและไม่ครอบคลุมเพิ่มเติมให้ชัดเจน พร้อมให้ยืนยันว่าปัจจุบันยังมีหรือไม่มีการคัดค้านโครงการ หากมีให้อธิบายรายละเอียด 

นางสาวเพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ กล่าวว่า น่าผิดหวังมากที่ คชก. ให้ผ่าน EIA โดยที่ไม่ให้โอกาสชุมชนที่ได้รับผลกระทบมาให้ข้อมูลแก่ที่ประชุม ในขณะที่การประชุมดังกล่าวที่มีการพิจารณาโดยได้เชิญผู้เสนอโครงการเข้าร่วม รวมทั้งบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งสามารถใช้การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ชุมชนชาติพันธุ์ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 3 จังหวัด กลับไม่ได้รับโอกาสในการให้ข้อมูล แม้จะมีการส่งจดหมายมาคัดค้านแล้ว แต่ข้อกังวลกลับถูกปัดตกไปอย่างง่ายดาย อีกทั้งเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับป่าอนุรักษ์จำนวนมาก โดยเป็นป่าสงวนแห่งชาติ 5 แห่ง อุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง และอาจมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีก 1 แห่ง แต่หน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่ปกป้องผืนป่ากลับไม่มีข้อทักท้วงใดๆ ที่สะท้อนการหวงแหนผืนป่าและทรัพยากรธรรมชาติแหล่งนี้ ซึ่งเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก

นางสาวเพียรพร กล่าวว่า ที่สำคัญโครงการนี้เป็นการผันน้ำข้ามลุ่มจากลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งรองประธานคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ผู้ผลักดันโครงการได้ให้ข้อมูลผ่านสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่องว่า โครงการผันน้ำยวมเป็นเพียงเฟสแรกของโครงการใหญ่ที่อาจลงทุนโดยบริษัทจากจีน และเฟสต่อๆ ไปเกี่ยวเนื่องกับการผันน้ำจากแม่น้ำสาละวินโดยตรง และการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน บริเวณพรมแดนไทยพม่า ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ ต้องคำนึงถึงผลกระทบข้ามพรมแดน แต่ประเด็นเหล่านี้ไม่มีในวาระการพิจารณาแต่อย่างใด 

"การทำ EIA ครั้งนี้มีการชะลอมาหลายปีเพราะข้อมูลไม่ครบถ้วน แต่สุดท้ายหน่วยงานราชการก็ร่วมมือกันจนสำเร็จท่ามกลางคำถามมากมายของชาวบ้านและนักวิชาการ จริงๆ แล้ว EIA ฉบับนี้ควรมีการตรวจสอบให้ดี เพราะชาวบ้านต่างถูกนำชื่อและรูปภาพไปอ้าง ดังนั้น ความโปร่งใสจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ" นางสาวเพียรพร กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net