Skip to main content
sharethis

ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทยผู้ป่วยใหม่ 16,536 ราย ป่วยสะสม 1,174,091 ราย รักษาหาย 20,927 ราย หายสะสม 985,246 ราย เสียชีวิต 264 ราย เสียชีวิตสะสม 11,143 ราย - สธ.เผยอัตราครองเตียงป่วยโควิดสีเหลือง-เขียว ในกทม.-ปริมณฑล แนวโน้มลด - ตำรวจนายสิบจบใหม่จาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ เข้าฝึกที่ค่ายฤทธิฤาชัย ป่าละอู อ.หัวหิน 1 เดือน ตรวจพบติดเชื้อแล้ว 340 คน จากทั้งหมด 450 คน พบประวัติฉีดซิโนแวคแล้วคนละ 2 เข็ม

29 ส.ค. 2564 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 เปิดเผยยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 16,536 ราย โดยจำแนกเป็นติดเชื้อใหม่ 16,208 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ-ที่ต้องขัง 328 ราย มีผู้เสียชีวิตอีก 264 ราย กำลังรักษา 177,702 คน และหายป่วยเพิ่ม 20,927 ราย

ส่งผลให้มียอดผู้ป่วยสะสม 1,174,091 ราย รักษาหายสะสม 985,246 ราย เสียชีวิตสะสม 11,143 ราย

ขณะที่เว็บไซต์ worldometers.info รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วโลก เมื่อเวลาประมาณ 07.50 น. มีผู้ติดเชื้อรวม 216,709,866 คน เสียชีวิตสะสม 4,506,796 คน และหายป่วยแล้ว 193,635,064 คน

สำหรับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ สหรัฐอเมริกา 39,617,417 คน อินเดีย 32,694,188 คน และบราซิล 20,728,605 คน ส่วนประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมมากเป็นอันดับที่ 30 ของโลก

สธ.เผยอัตราครองเตียงป่วยโควิดสีเหลือง-เขียว ในกทม.-ปริมณฑล แนวโน้มลด

29 ส.ค.2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 ว่า สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้อัตราครองเตียงในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลเริ่มผ่อนคลาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองและเขียว โดยข้อมูลโรงพยาบาลบุษราคัม ล่าสุด ณ วันที่ 28 ส.ค.2564 มีผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษาทั้งสิ้น 1,905 คน ลดลงจากสัปดาห์ก่อนที่มีผู้ติดเชื้อ 3,526 คน ถึงร้อยละ 54

ส่วนศูนย์แรกรับและส่งต่อนิมิบุตร พบอัตราครองเตียงล่าสุด จำนวน 94 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยสีเขียว 54 คน สีเหลือง 34 คน และสีแดง 6 คน

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ในภูมิภาคยังคงพบการระบาดภายในชุมชน สถานประกอบการ ตลาด แคมป์คนงาน ได้กำชับให้ตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK และนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการแยกกักตัวที่บ้านและชุมชน เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น

อย่างไรก็ตามขณะนี้การติดเชื้อยังคงพบจากบุคคลใกล้ชิดในครอบครัว นำเชื้อแพร่สู่กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนจนทำให้มีการเสียชีวิต จึงได้เน้นย้ำให้เร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป, 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และโดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เนื่องจากมีรายงานพบการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และเสียชีวิตมากกว่าปกติ 2.5 เท่า และเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายพื้นที่สีแดงเข้มครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 70 ส่วนจังหวัดที่เหลือมากกว่าร้อยละ 50

สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ถึงวันที่ 28 ส.ค.2564 ฉีดวัคซีนสะสม 30,679,289 โดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 22,807,078 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 7,287,885 โดส เข็มที่ 3 จำนวน 584,326 โดส

ขณะที่วันนี้ที่ประชุม สธ.มีมติมอบให้กรมควบคุมโรคพิจารณาแผนการฉีดวัคซีนในกลุ่มบุคคลทั่วไปและการกระตุ้นเข็ม 3 ซึ่งกรมควบคุมโรคจะได้ประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอที่ประชุมในสัปดาห์หน้า และเตรียมกระจายวัคซีนซิโนแวค 1.5 ล้านโดสไปยังพื้นที่ภูมิภาค

บขส.กลับมาเดินรถ หลัง ศบค.คลายล็อก

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2564 นายสัญลักข์  ปัญวัฒนลิขิต  กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (2019) มีมติเห็นชอบมาตรการผ่อนคลายเพื่อป้องกันและควบคุมโควิด-19 ตามระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร โดยยังคงพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ไว้เช่นเดิม และให้คงมาตรการทางสังคม เช่น การห้ามออกนอกเคหะสถานในเวลา 21.00 -04.00 น. และในการเดินทางข้ามจังหวัดจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้ระบบขนส่งสาธารณะจำกัดจำนวนผู้โดยสาร ไม่เกิน 75% นั้นในส่วน บขส. ตนได้สั่งการไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้ง ฝ่ายธุรกิจเดินรถ และฝ่ายบริหารการเดินรถ เตรียมความพร้อมของรถโดยสาร พนักงาน และสถานีขนส่งฯ ให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้พร้อมเปิดให้บริการประชาชน ในวันที่ 1 ก.ย. 2564 ที่จะถึงนี้

สำหรับเส้นทางที่จะเปิดให้บริการ ประกอบด้วย เส้นทางภาคเหนือ จำนวน 8 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ – คลองลาน, กรุงเทพฯ – หล่มเก่า, กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ (ข), กรุงเทพฯ – ทุ่งช้าง, กรุงเทพฯ – อุตรดิตถ์, กรุงเทพฯ – แม่สอด , กรุงเทพฯ – แม่สาย และกรุงเทพฯ – ป่าแดด – เชียงของ

เส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก จำนวน 10 เส้นทาง ประกอบด้วย กรุงเทพฯ – หนองบัวลำภู, กรุงเทพฯ – นครพนม, กรุงเทพฯ – เลย – เชียงคาน, กรุงเทพฯ – สุรินทร์, กรุงเทพฯ – บุรีรัมย์, กรุงเทพฯ – อุบลราชธานี, กรุงเทพฯ – มุกดาหาร, กรุงเทพฯ – รัตนบุรี, กรุงเทพฯ – จันทบุรี – ตราด และกรุงเทพฯ – สระบุรี

AOT ยืนยันความพร้อมสนามบินในกำกับ หาก ศบค.คลายล็อกเดินทาง

28 ส.ค. 2564 นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ระบุว่า ในส่วนของบริษัทมีความพร้อม เมื่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.ชุดใหญ่ คลายล็อกให้มีการเดินทางข้ามจังหวัด โดยยืนยันว่า AOT มีความพร้อมในส่วนของบริการท่าอากาศยานในกำกับทั้ง 6 แห่ง คือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง หาดใหญ่ เชียงใหม่ แม่ฟ้าหลวงเชียงราย และภูเก็ต ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมด้านอุปกรณ์ สถานที่ และบุคลากร โดย AOT ยังรักษามาตรฐานการตรวจสอบ ภายใต้การกำกับของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) รวมทั้งการบริการของท่าอากาศยานทั้งหมด เคยมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 140 ล้านคน/ปี โดยระหว่างสถานการณ์โควิดกว่า 1 ปี AOT ไม่เคยปรับลดเกณฑ์มาตรฐานเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม AOT ยอมรับว่า มีความเป็นห่วงในส่วนของผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องในธุรกิจการบิน เช่น ผู้ประกอบการสายการบิน ซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลกระทบหนักจากช่วงสถานการณ์โควิด โดยหลายสายการบินมีการปรับตัว เช่น การปรับที่นั่งโดยสารบนเครื่อง เพื่อใช้เครื่องบินในส่วนของธุรกิจขนส่งสินค้า (คาร์โก้) หากมีการเปิดบิน 1 ก.ย. 2564 นี้ อาจต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมตัว ประเด็นเรื่องปัญหาสภาพคล่องของสายการบินที่เข้าแผนฟื้นฟู โดย AOT ได้เตรียมความพร้อมในส่วนของงานที่สามารถดำเนินการเข้าไปเสริมได้ เช่น งานบริการภาคพื้น ซึ่งได้เตรียมบริษัทลูกเข้าไปดำเนินการ หากการให้บริการของสายการบินมีปัญหาติดขัด

ทั้งนี้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT ยังคาดหวังว่า ผลกระทบที่มีต่อธุรกิจสายการบิน จากสถานการณ์โควิดในไทย จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบเสียหายใหญ่ หรือ Disrupt จนกระทบกับสิทธิการบินระหว่างประเทศในเส้นทางการบินที่แต่ละสายการบินมีอยู่

ตำรวจนายสิบจบใหม่จาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ เข้าฝึกที่ค่ายฤทธิฤาชัย ป่าละอู อ.หัวหิน 1 เดือน ตรวจพบติดเชื้อโควิดแล้ว 340 คน จากทั้งหมด 450 คน พบประวัติฉีดซิโนแวคแล้วคนละ 2 เข็ม

29 ส.ค. 2564 นพ.สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 วันนี้มีผู้ติดเชื้อสถิตินิวไฮ จำนวน 396 คน สูงสุดตั้งแต่การระบาดระลอกใหม่เมื่อเดือน เม.ย. 2564 มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต 3 คน ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 52 คน

สำหรับคลัสเตอร์ใหญ่เป็นตำรวจนายสิบจบใหม่เดินทางมาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 450 นาย เข้ามารับการฝึกพิเศษ 1 เดือน ภายในศูนย์ฝึกรบพิเศษค่ายฤทธิฤาชัย สังกัด บก.สอ.บช.ตชด.ค่ายนเรศวร ที่หมู่ 3 บ้านป่าละอู ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ห่างจากตัวเมืองหัวหินประมาณ 60 กิโลเมตร ล่าสุดพบตำรวจติดเชื้อสะสมแล้ว 340 นาย โดยตำรวจทุกนายที่มารับการฝึกพบว่ามีประวัติการฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้วคนละ 2 เข็ม และพักอยู่แต่ในค่ายตลอดระยะเวลาของการฝึก

"จากการประเมินตามหลักวิชาการด้านระบาดวิทยาเบื้องต้นคาดว่า เจ้าหน้าที่ทั้งหมดอาจจะติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์อินเดีย ซึ่งเดิมพบมีการระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้างในพื้นที่ อ.หัวหิน ขณะนี้ได้ส่งตัวอย่างเชื้อของนักเรียนนายสิบตำรวจไปตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.สมุทรสงคราม เพื่อให้ทราบผลที่ชัดเจน ขณะที่สายพันธุ์อัลฟา หรือสายพันธ์ุอังกฤษ จะมีการระบาดกระจายในพื้นที่ อ.ปราณบุรี อ.สามร้อยยอด และอำเภออื่น" นพ.สุริยะ กล่าว

ด้าน นพ.นิรันดร์ จันทร์ตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยายาลหัวหิน กล่าวว่า ขณะนี้ได้นำตำรวจที่ติดเชื้อทั้งหมดจากค่ายฤทธิฤาชัยเข้ารักษาตัวยังโรงพยาบาลหัวหิน โรงพยาบาลสนามโรงเรียนพณิชยการหัวหิน และที่โรงพยาบาลสนามสวนสนประดิพัทธ์ และคาดว่าจะมีตำรวจติดเชื้อเพิ่มอีก ทุกนายมีสภาพร่างกายแข็งแรงดี เนื่องจากยังหนุ่มและเพิ่งจบใหม่ เบื้องต้นได้ให้ยาฟ้าทะลายโจรช่วย ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ที่ทางสตช.ส่งมาให้เพื่อใช้ในรายที่ป่วยหนักเท่านั้น โดยสถานการณ์ไม่น่าเป็นห่วง

 

ที่มาเรียบเรียงจาก: Thai PBS [1] [2] | สำนักข่าวไทย [1] [2] | ไทยรัฐออนไลน์


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net