เสวนาออนไลน์ชี้อัยการควรลงไปทำสำนวนร่วมกับตำรวจคดีผู้กำกับโจ้

เสวนาออนไลน์ผ่าคดีผู้กำกับโจ้…กับอนาคตปฏิรูปตำรวจไทย 'วิชา มหาคุณ' ชี้อัยการควรลงไปทำสำนวนร่วมกับตำรวจด้วย เพื่อให้กระบวนการสอบสวนเป็นไปอย่างชอบธรรม ด้านเลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ไม่ไว้ใจตำรวจทำคดี แนะอัยการ-ดีเอสไอ ร่วมสอบ

เสวนาออนไลน์ชี้อัยการควรลงไปทำสำนวนร่วมกับตำรวจคดีผู้กำกับโจ้

29 ส.ค. 2564 ในการเสวนาออนไลน์ ของสถาบันปฏิรูปประเทศไทยวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมมหาวิทยาลัยรังสิต คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เรื่อง “ผ่าคดีผู้กำกับโจ้…กับอนาคตปฏิรูปตำรวจไทย”

ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต มองกระบวนการยุติธรรมในไทยว่า คสช. และรัฐบาลไทย อยู่ในระบบการปกครองมากกว่า 7 ปี แต่ยังไม่มีผลการปฏิรูปองค์กรใดที่ชัดเจน โดยเฉพาะตำรวจ ขณะนี้เพิ่งทำไปได้เพียง 13 มาตราเศษ จากทั้งหมดถึง 170 มาตรา แม้ผ่านมาแล้ว 2 ปี สาเหตุจากตำรวจไม่อยากสูญเสียอำนาจ ซึ่งเป็นอำนาจที่ยิ่งใหญ่มากโดยเฉพาะอำนาจการสอบสวน การปฏิรูปตำรวจยังไม่สามารถทำได้ นับประสาอะไรจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

ขณะที่มาเกิดเหตุ อดีต ผกก.โจ้ ตามข้อกฎหมาย การทำเช่นนี้วิเคราะห์ด้วยตัวบทกฎหมาย คือย่อมเล็งเห็นผลถึงเหตุว่าจะก่อให้เกิดการตายได้ จึงขอเตือนว่าการค้นหาความจริงในการสอบสวน ที่ตำรวจใช้อยู่เสมอว่าเป็นการตั้งรูปคดีนั้นจะตั้งให้แข็งหรืออ่อนก็ได้ เช่น คดีบอส มีการตั้งรูปคดีให้ดาบวิเชียรมีความผิดอยู่ด้วย เพื่อให้จำเลยได้แก้ต่างได้ ดังนั้นคดีอดีต ผกก.โจ้ เกิดจากการใช้อำนาจทั้งการจับกุมและสอบสวน เพราะอยู่ในมือของอดีต ผกก.โจ้ ทั้งสิ้น เหมือนจารีตนครบาลในสมัยโบราณตอกเล็บบีบขมับ เพื่อให้ผู้ต้องหาสารภาพหรือยอมบอกความลับ ล้วนเป็นการใช้อำนาจโดยปราศจากการตรวจสอบ ซึ่งตนเห็นว่าล้มเหลว เพราะตำรวจทำเองกินเอง ชงเอง ทำให้ผู้ต้องหาไม่มีโอกาสได้รับรู้เรื่องราวอะไรเลยว่ามีโทษกับเขาอย่างไร แม้ผลการชันสูตรการตายจะยังไม่ละเอียดก็ย่อมต้องผลออกมาว่าตายขณะอยู่ในมือเจ้าหน้าที่

ศาสตราจารย์พิเศษวิชา เห็นว่าแม้ยังปฏิรูปตำรวจไม่ได้ แต่ก็ขอให้มีระบบธรรมาภิบาลที่สามารถตรวจสอบ เห็นความไม่ชอบมาพากลต่างๆได้ เช่น กรณีโจ้ เงินเดือนไม่มาก แต่ทำไมมีเงินหลายร้อยล้าน ซึ่งเป็นสิ่งผิดปกติ ปล่อยให้เติบโตแบบฟาสแทร็ค ทั้งที่ความรู้ความสามารถมีเพียงหาผลประโยชน์ จากกรรมวิธีศุลกากร หาเงินจากประมูลรถ แต่ขอให้ประชาชนอย่าท้อใจ แม้ในการปฏิรูปกฎหมายตำรวจจะยังไม่เกิดขึ้น แต่ตำรวจน้ำดียังมีอยู่ เราต้องช่วยกันเปลี่ยน โดยวัฒนธรรมองค์กรที่เลวร้ายที่สุดของตำรวจ คือ วัฒนธรรมที่ใช้อำนาจโดยปราศจากเหตุผล ต้องเปลี่ยนแปลงถึงรากเหง้า เริ่มจากการสร้างคน เปลี่ยนมายด์เซ็ต จากอำนาจเป็นใช้หลักเหตุผล หลักจริยธรรมคุณธรรม เปลี่ยนรูปแบบองค์กร แยกอำนาจการสอบสวน ต้องทำพร้อมกัน

ขอย้ำว่าการสอบสวนต้องเป็นอิสระไม่ขึ้นกับสายงานบังคับบัญชา แม้มีข้อโต้แย้งในส่วนนี้ว่าจะทำให้สูญเสียกำลังพลไป แต่ตนมองว่าต้องแยกส่วนงานป้องกันปราบปรามตำรวจก็ทำไป เช่น งานจราจรก็ต้องให้อำนาจผู้ใช้อำนาจในทางเมือง เช่น กทม. ส่วนป่าไม้ก็ให้ป่าไม้ รถไฟก็ให้รถไฟ ไม่ใช่ตำรวจทำเองหมด รวมไปถึงงาน ตม. ซึ่งเป็นอำนาจที่ไม่ควรอยู่กับตำรวจอยู่แล้ว ควรเป็นหน่วยพิเศษที่มีความรู้และไม่ใช่เป็นตำรวจ

สายงานตำรวจคุณเป็นสายงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมโดยตรง ส่วนสายงานสอบสวนต้องเป็นสายงานวิชาชีพที่ต้องทำงานร่วมกับอัยการและศาล เพื่อให้กระบวนการสอบสวนเป็นไปอย่างชอบธรรม ตนยังมองว่ากระบวนการสอบสวนต้องเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย การตั้งรูปคดีเพื่อไม่ให้เกิดความเป็นธรรมแต่ต้นนั้นไม่ควรทำ ควรมีอัยการมาร่วมด้วย ยกตัวอย่างคดีค้ามนุษย์ในภาคใต้ที่สัมฤทธิ์ผล เพราะมีอัยการเข้ามาร่วมด้วย ตนเห็นว่าควรให้ออกพระราชกำหนดเป็นกฎหมายพิเศษ เร่งด่วนฉุกเฉิน ไม่อาจรอได้ เนื่องจากมีเหตุอันจำเป็น เพราะเกิดคดีบอส หรือโจ้ขึ้นมา ทำให้ความไม่เชื่อมั่น ไม่เชื่อถือศรัทธาในประชาชน เกิดกับตำรวจทันที และยังส่งผลให้ทั่วโลกไม่เชื่อมั่นในไทย เชื่อมโยงเศรษฐกิจไม่เดินหน้าด้วย

เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ไม่ไว้ใจตำรวจทำคดี แนะอัยการ-ดีเอสไอ ร่วมสอบ

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม  กล่าวตอนหนึ่งว่า คดี พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ โจ้ อดีตผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ ผู้ต้องหาคดีฆ่าทรมานดคี ควรให้อัยการสูงสุด สั่งการให้อัยการพื้นที่ ดำเนินการสอบสวนร่วมด้วย เพราะขณะนี้พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการเอง ทั้งนี้ตนไม่มั่นใจต่อกระบวนการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะพ.ต.อ.ธิติสรรค์ คือ หัวหน้าพนักงานสอบสวน คดีในพื้นที่ ไม่ทราบว่า นับจากวันเกิดเหตุมีการสั่งลบพยานหลักฐานใดหรือไม่ และล่าสุดที่มีข่าวว่ บันทึกประจำวันถูกลบ ดังนั้นอาจมีการสร้างพยานหลักฐานเท็จได้ ดังนั้นเพื่อให้กระบวนการสอบสวนทำให้มีความมั่นใจ อัยการ หรือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมการสอบสวน 

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า การปฏิรูปตำรวจ เชื่อว่าจะเป็นไปได้เมื่อบ้านเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ทั้งนี้ตนเข้าใจว่างานปฏิรูปตำรวจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คือการตกกระไดพลอยโจน และไม่มีความเข้าใจ แม้จะออกคำสั่งต่างๆ แต่คือ การถอยหลังลงคลองโดยไม่รู้ตัว เพราะถูกหลอกให้ลงนามในคำสั่ง อีกทั้งไม่มีความเข้าใจงานตำรวจที่ดีพอ ทั้งนี้ปัญหาของตำรวจไม่ใช่เงินเดือน หรือ ยานพาหนะ หรือ อุปกรณ์ 
       
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่กมธ.รัฐสภา พิจารณาว่า ไม่สามารถปฏิรปตำรวจได้ เพราะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขจากฉบับที่ยกร่างโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ กรรมการกฤษฎีกา และคงเนื้อหาเพียง 10 -20 % เท่านั้่น ทั้งนี้ตนมองว่า เนื้อหาที่ไม่สามารถยอมได้ คือ องค์ประกอบของ ก.ตร. ที่ถูกปรับแก้ไขให้ มีสัดส่วนของตำรวจร่วมเป็นกว่า 10 คนจากกรรมการทั้งหมด 18 คน ซึ่งต่างจากร่างของพ.ร.บ.ฉบับของนายมีชัย ที่ให้มี ตำรวจเพียง 2 คน นอกนั้นคือบุคคลภายนอก

 

ที่มาเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย | กรุงเทพธุรกิจ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท