Skip to main content
sharethis

จากกรณีที่กลุ่มไอซิส-เค ก่อเหตุวางระเบิดและยิงโจมตีผู้คนที่รวมตัวกันอยู่หน้าสนามบินกรุงคาบูลเมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 100 ราย และในจำนวนนั้นมีอย่างน้อย 13 ราย ที่เป็นทหารสหรัฐฯ นักวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้มาเป็นเวลาหลายปีจะมาให้คำตอบว่ากลุ่มไอซิส-เค คือใครมาจากไหนต้องการอะไร และเป็นภัยอย่างไรบ้างต่อเสถียรภาพของอัฟกานิสถาน


ที่มาภาพ: Asia Times

อมีรา จาดูน ผู้เชี่ยวชาญประเด็นผู้ก่อการร้ายจากจากวิทยาลัยทหารสหรัฐฯ เวสต์พอยต์กับ แอนดรูว ไมนส์ นักวิจัยโครงการศึกษากลุ่มหัวรุนแรงของมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน เป็นผู้ที่คอยติดตามสอดส่องศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มไอซิส-เค มาเป็นเวลาหลายปี ซึ่งเมื่อไม่นานนี้เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่อ้างตัวว่าเป็นผู้ก่อเหตุวางระเบิดและยิงโจมตีใกล้สนามบินกรุงคาบูลจนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 100 รายเป็นทหารสหรัฐฯ อย่างน้อย 13 ราย

กลุ่มไอซิส-เค นี้มีชื่อมาจาก อิสลามมิกสเตทแห่งคอราซาน เป็นกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้ายไอซิสที่ปฏิบัติการในอัฟกานิสถานและได้รับการยอมรับจากกลุ่มไอซิสหลักที่อยู่ในพื้นที่อิรักและซีเรีย ไอซิส-เคก่อเหตุครั้งล่าสุดนี้ในเวลาเพียงไม่กี่วันหลังจากที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวเตือนว่ามีกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับพวกไอซิสที่ปฏิบัติการอยู่ในอัฟกานิสถานวางเป้าหมายเป็นสนามบินเพื่อโจมตีทั้งกลุ่มกองกำลังสหรัฐฯ กับประเทศพันธมิตรรวมถึงพลเรือนผู้บริสุทธิ์

ไอซิส-เต ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่เดือน ม.ค. 2558 ภายในระยะเวลาไม่นานพวกเขาสามารถกุมอำนาจเหนือพื้นที่อาณาเขตชนบทเอาไว้ได้หลายเขตในทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของอัฟกานิสถาน และก่อเหตุรุนแรงในหลายพื้นที่ของอัฟกานิสถานและปากีสถาน โดยภายในช่วง 3 ปีแรกกลุ่มไอซิส-เคได้โจมตีทั้งกลุ่มชนกลุ่มน้อย พื้นที่สาธารณะ องค์กรสถาบันต่างๆ และเป้าหมายรัฐบาลในเมืองใหญ่ๆ ทั่วอัฟกานิสถานและปากีสถาน

เมื่อถึงปี 2561 ไอซิส-เค ก็ถูกจัดให้กลายเป็นหนึ่งในองค์กรก่อการร้ายที่อันตรายที่สุด 4 อันดับแรกของโลก จากการจัดอันดับในดัชนีการก่อการร้านโลกของสถาบันเพื่อเศรษฐกิจและสันติภาพ

แต่ในเวลาต่อมาก็มีเหตุให้เชื่อว่ากลุ่มไอซิส-เคพ่ายแพ้แล้ว หลังจากที่พวกเขาสูญเสียพื้นที่อาณาเขตสำคัญ สูญเสียทั้งในระดับผู้นำและสูญเสียกองกำลังชั้นผู้น้อย จากการที่สหรัฐฯ กับรัฐบาลอัฟกานิสถานร่วมมือกันต่อสู้กับไอซิส-เค จนกระทั่งทำให้นักรบไอซิส-เค มากกว่า 1,400 รายและครอบครัวยอมแพ้มอบตัวกับรัฐบาลอัฟกานิสถานในช่วงปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2563 ทำให้บางกลุ่มประกาศว่ากลุ่มไอซิส-เค พ่ายแพ้แล้ว

กลุ่มไอซิส-เค มีพื้นเพมาจากอดีตสมาชิกของกลุ่มตอลีบันปากีสถาน กลุ่มตอลีบันอัฟกัน และกลุ่มไอซิสในอุซเบกิสถาน พอกลุ่มนี้คำรงอยู่มาเรื่อยๆ ก็เริ่มกวาดต้อนเอากลุ่มติดอาวุธกลุ่มอื่นมาเป็นกองกำลังของตนเอง สิ่งที่เป็นจุดแข็งของไอซิส-เคคือการที่พวกเขามีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับพื้นที่ท้องถิ่นที่มีกลุ่มติดอาวุธและผู้บัญชาการของกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ดำรงอยู่จนสามารถนำมาใช้คัดง้างต่อรองได้

ไอซิส-เค เริ่มต้นยึดกุมอำนาจช่วงแรกๆ ที่เขตๆ หนึ่งทางตอนใต้ของจังหวัดนานการ์ฮาร์ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนตะวันออกเฉียงเหนือของอัฟกานิสถานที่ติดกับปากีสถานและเคยเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มอัลกอดิดะฮ์ในโทราโบรามาก่อน ไอซิส-เค อาศัยจุดยุทธศาสตร์นี้ในการระดมเสบียงและเกณฑ์กลุ่มชนเผ่าในปากีสถานมาเป็นพวกรวมถึงเอาคนที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกลุ่มท้องถิ่นอื่นๆ เข้ามาร่วมมือปฏิบัติการกับพวกเขา

มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือระบุว่ากลุ่มไอซิส-เคได้รับเงิน คำแนะนำ และการฝึกซ้อมรบจากไอซิสกลุ่มหลักที่อยู่ในอิรักและซีเรีย ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญบางคนประเมินว่าเงินทั้งหมดที่ไอซิส-เคได้รับนี้รวมแล้วเกินกว่า 100 ล้านดอลลาร์

ยุทธศาสตร์หลักๆ ของไอซิส-เค คือการก่อตั้งสถานที่ลำเลียงพลของกลุ่มไอซิสในการขยายรัฐที่พวกเขาอ้างว่าเป็น "รัฐอิสลาม" ในพื้นที่เอเชียกลางและเอเชียใต้ พวกเขาหวังว่าจะทำให้ตัวเองกลายเป็นกลุ่มก่อสงครามศักดิ์สิทธิ์ชั้นนำในภูมิภาคโดยยึดเอามรดกของกลุ่มติดอาวุธแนวสงครามศักดิสิทธิ์ก่อนหน้านี้ เรื่องนี้มีหลักฐานมาจากการส่งข้อความสื่อสารกันของกลุ่ม ที่มีการพยายามเอาใจทั้งกับกลุ่มนักรบสงครามศักดิสิทธิ์ที่ผ่านศึกมาก่อนและกลุ่มคนรุ่นเยาว์ในพื้นที่ตัวเมือง

กลุ่มไอซิส-เค จึงมีลักษณะเหมือนกลุ่มไอซิสหลักตรงที่พวกเขามีคนที่มีความเชี่ยวชาญและมีกลุ่มอื่นๆ เป็นพันธมิตรร่วมปฏิบัติการเพื่อก่อเหตุโจมตีสร้างความเสียหายหนัก มีการโจมตีชนกลุ่มน้อยในอัฟกานิสถานอย่างชาวฮาซาราและชาวซิกข์ รวมถึงโจมตีนักข่าว, คนทำงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม, ฝ่ายความมั่นคง และโครงสร้างพื้นฐานจองรัฐบาล

เป้าหมายของไอซิส-เค คือการสร้างความโกลาหลและความไม่แน่นอนเพื่อที่จะทำให้นักรบกลุ่มอื่นๆ ผิดหวังและหันมาร่วมกับกลุ่มพวกเขา รวมถึงทำให้เกิดความกังขาต่อความสามารถของรัฐบาลในการสร้างความปลอดภัยต่อประชาชน

แล้วไอซิส-เคนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มตอลีบันที่เพิ่งจะยึดอำนาจอัฟกานิสถานหรือไม่อย่างไร ในแง่นี้กลุ่มไอซิส-เคมองว่ากลุ่มต่อลีบันในอัฟกานิสถานนั้นเป็นคู่แข่งในเชิงยุทธศาสตร์ พวกเขามองาวาตอลีบันอัฟกานิสถานเป็น "พวกชาตินิยมสกปรก" ที่ต้องการแต่จัดตั้งรัฐบาลภายใต้พรมแดนของอัฟกานิสถานเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดกับเป้าหมายของไอซิสคือการตั้งรัฐอิสลามที่แพร่กระจายในระดับโลก

ฝ่ายไอซิส-เคเองก็พยายามเกณฑ์สมาชิกกลุ่มตอลีบันมาเป็นพวกอยู่ในขณะเดียวกับที่ตั้งเป้าโจมตีฐานที่มั่นต่างๆ ของตอลีบันในประเทศ พวกเขาประสบความสำเร็จพอสมควรในการสู้รบกับตอลีบัน แต่ฝ่ายตอลีบันก็สามารถกำจัดเสี้ยนหนามจากไอซิส-เคได้โดยการโจมตีฐานที่มั่นและบุุคคลสำคัญของไอซิส-เค ปฏิบัติการจากฝ่ายตอลีบันมักจะตามมาหลังจากที่สหรัฐฯ และรัฐบาลอัฟกานิสถานมีปฏิบัติการโจมตีต่อต้านไอซิส-เค ซึ่งก่อให้เกดการสูญเสียกำลังพลและกลุ่มผู้นำไอซิส-เค

ในแง่ที่ว่ากลุ่มไอซิส-เคเป็นภัยต่อประชาคมโลกหรือไม่นั้น ปัจจุบันไอซิส-เคเป็นกลุ่มที่อ่อนแรงลงพอสมควรทำให้เป้าหมายของพวกเขาในตอนนี้คือการเสริมกำลังของตัวเองและส่งสัญญาณให้เห็นถึงการทัดทานของพวกเขาผ่านการโจมตีที่จะเป็นข่าวใหญ่ ทำให้พวกเขามั่นใจว่าจะไม่กลายเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ส่งผลอะไรใดๆ ต่อภาคพื้นอัฟกานิสถานและปากีสถาน

มีการประเมินว่าไอซิส-เคต้องการจะโจมตีสหรัฐฯ และพันธมิตรของสหรัฐฯ ในพื้นที่อื่นนอกเหนือจากอัฟกานิสถานและปากีสถาน แต่ฝ่ายข่าวกรองและนักวิเคราะห์ด้านการทหารของสหรัฐฯ ก็ยังคงถกเถียงกันว่ากลุ่มนี้มีความต้องการจะโจมตีชาติตะวันตกโดยตรงมากน้อยแค่ไหน

แต่ในอัฟกานิสถานนั้นไอซิส-เคถือว่าเป็นภัยอย่างมากเมื่อเทียบกับในระดับโลก จากการที่กลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้โจมตีทั้งชนกลุ่มน้อยอัฟกันและโจมตีหน่วยงานพลเรือน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนานาชาติ โจมตีกลุ่มที่พยายามถอนทำลายทุ่นระเบิด และแม้กระทั่งมีความพยายามจะลอบสังหารผู้แทนระดับสูงของสหรัฐฯ ในกรุงคาบูลเมื่อเดือน ม.ค. 2564

นักวิจัยระบุว่ายังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าการที่สหรัฐฯ ถอนทัพจากอัฟกานิสถานนั้นเป็นประโยชน์ต่อไอซิส-เคหรือไม่ แต่การโจมตีสนามบินคาบูลที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่ากลุ่มๆ นี้ยังคงอันตรายอยู่ ในระยะสั้นๆ ไอซิส-เค อาจจะพยายามสร้างความโกลาหลและความหวาดวิตกต่อไป พยายามสกัดกั้นกระบวนการถอนทัพและพยายามทำให้เห็นว่าตอลีบันขาดความสามารถในการให้ความมั่นคงกับประชาชนได้

ถ้าหากว่าไอซิส-เคสามารถกลับมายึดกุมพื้นที่อาณาเขตได้ในระดับหนึ่งในระยะยาวและถ้าพวกเขาสามารถเกณฑ์คนมาเป็นนักรบเพิ่มได้ก็มีความเป็นไปได้ที่กลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้จะกลับมาเป็นภัยทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และอาจจะในระดับโลก


เรียบเรียงจาก
What Afghanistan’s ISIS-K terrorists really want, Asia Times, 28-08-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net