Skip to main content
sharethis

เจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าแปรพักตร์ในรัฐกะเรนนี ร่วมมือกับกลุ่มต้านกองทัพ ล้มระบอบเผด็จการ ด้านเกาหลีใต้ออกแถลงการณ์เรียกร้องทหารพม่าฟื้นคืนประชาธิปไตย-รัฐบาลเงา NUG เปิดตัวโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับชาวพม่า

ตำรวจพม่าในรัฐกะเรนนีเข้าร่วมการประท้วงอารยขัดขืน (CDM) เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 64 (ที่มา Khit Thit Media)

30 ส.ค. 64 สำนักข่าว อิระวดี รายงานเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 64 ระบุว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มตำรวจแปรพักตร์ในรัฐกะเรนนี รวมตัวกันโดยใช้ชื่อว่า "ตำรวจรัฐกะเรนนี" หรือ Karenni State Police - KSP โดยจะทำงานภายใต้การนำของสภาที่ปรึกษารัฐกะเรนนี หรือ Karenni State Consultative Council - KSCC ซึ่งเป็นกลุ่มคณะบริหารเงาในรัฐกะเรนนี ตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารงานในรัฐกะเรนนีด้วยตัวเอง โดยไม่หวังพึ่งกองทัพพม่า 

สมาชิกกลุ่ม KSP ประกอบด้วยตำรวจทั้งสิ้นราว 320 นาย ผู้ซึ่งแปรพักตร์จากกองทัพพม่า ซึ่งตอนนี้กำลังบริหารประเทศ และคุมกระทรวงมหาดไทนับตั้งแต่ทำรัฐประหารยึดอำนาจมาจากรัฐบาลพลเรือน ตำรวจส่วนใหญ่มาจากรัฐกะเรนนี และอำเภอแป่โข่ง ทางตอนใต้ของรัฐฉาน ขณะที่มีตำรวจบางส่วนจากภาคกลางของพม่า ซึ่งลี้ภัยอยู่ในรัฐกะเรนนี ก็มาเข้าร่วมกับ KSP ด้วย นอกจากนี้ ตำรวจยศสูงสุดที่มาเข้าร่วมกัยกลุ่มคือยศพันตำรวจเอก

ทั้งนี้ หน่วยงานของตำรวจพม่าที่ขึ้นตรงกับรัฐบาล จะใช้ชื่อว่า "กองกำลังตำรวจของประชาชน" หรือ People’s Police Force ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2507 เป็นหน่วยงานอิสระปฏิบัติงานภายใต้กระทรวงมหาดไทย ก่อนที่ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2538 จะมีการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ และถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพพม่า หรือทัตมาดอ อย่างไม่เป็นทางการ    

เนเยซิน เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของกลุ่มตำรวจ KSP กล่าวถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของ KSP ว่า "เราจะทำทุกอย่างเท่าที่สามารถจะทำได้ในช่วงระหว่างการปฏิวัติ เราจะให้ความช่วยเหลือด้านความปลอดภัย เวลาที่ฝั่งเราสามารถยึดกุมพื้นที่ได้ เราจะตระเตรียมความช่วยเหลือแก่ผู้พลัดถิ่นภายใน และดำเนินตามหลักสิทธิมนุษยชน เมื่อสามารถจับกุมนักโทษสงครามได้ สุดท้าย เราจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อรับใช้ประชาชนชาวกะเรนนี"

ขณะที่ KSCC ถูกก่อตั้งเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา หรือหนึ่งเดือนหลังรัฐประหาร โดยสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร และตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ กลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ และกลุ่มภาคประชาสังคม รวมถึงพรรคการเมืองที่มีอายุยืนนานอย่าง พรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเรนนี (KNPP) ก็อยู่ในสภา KSCC อีกด้วย 

สภาตั้งใจทำหน้าที่เสมือนคณะบริหารเงาขนานไปกับการปกครองจากส่วนกลางของกองทัพพม่า โดยจะคุมกลไกปกครอง นิติบัญญัติ และการยุติธรรมในรัฐกะเรนนีทั้งหมด ทั้งนี้ KSCC กำลังเจรจากับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG เพื่อร่วมมือกันต่อสู้กับกองทัพพม่า

KSCC ประกาศว่า กลุ่มตำรวจ ‘KSP’ จะทำหน้าที่เป็นองค์กรบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ภายใต้สภา KSCC เพื่อให้ความปลอดภัยและปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนใน 7 อำเภอทั่วรัฐกะเรนนี และอำเภอแป่โข่งในรัฐฉานตอนใต้ ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวกะเรนนี 

"เราจะไม่สามารถรับใช้ประชาชนได้อย่างเต็มที่ เนื่องด้วยตอนนี้เรายังอยู่ในระหว่างการปฏิวัติ แต่เราจะตระเตรียมการเสริมสร้างทักษะและการเรียนการสอนให้กับประชาชนทั้งในเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน และการปกครองระบอบสหพันธรัฐประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม เราตั้งเป้าที่จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะองค์กรบังคับใช้กฎหมายตามปกติในอนาคต" เนเยซิน กล่าว 

อย่างไรก็ตาม เนเยซิน ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงสร้างและรายละเอียดหน้าที่ความรับผิดชอบของ KSP อ้างว่าติดข้อกังวลด้านความมั่นคง 
 
ขณะที่ KSP จะไม่เข้าร่วมการต่อสู้โดยใช้อาวุธสงความต่อเผด็จการทหาร แต่จะทำงานร่วมกับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ รวมถึงกองกำลังความมั่นคงสัญชาติกะเรนนี (KNDF) และกลุ่มกองกำลังพลเรือน อื่นๆ ในรัฐกะเรนนี 

"เขาจะมุ่งทำงานเฉพาะในส่วนการบรรเทาสาธารณะ และช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นภายในเป็นหลัก และเขาจะทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายของกลุ่มกะเรนนีในชุมชนต่างๆ ตำรวจจะไม่เข้ารบในแนวหน้าการปะทะ นั่นเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของกองกำลัง KNDF" โฆษก KNDF กล่าว 

เช่นเดียวกับการให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัย KSP จะรับผิดชอบเวลาที่กองกำลัง KNDF จับกุมทหารพม่าได้ ซึ่งนักโทษเหล่านี้จะได้รับการปฏิบัติตามหลักกฎหมายสากล นอกจากนี้ KSP จะมีหน้าที่เผยแพร่ความรู้หลักการของประชาธิปไตยตามแบบสหพันธรัฐตามที่สาธารณะอีกด้วย 

เกาหลีใต้ย้ำจุดยืน กองทัพพม่าต้องคืนประชาธิปไตย พร้อมหนุน NUG

รัฐบาลเกาหลีใต้ ระบุว่า พร้อมหนุนการฟื้นคืนประชาธิปไตยในพม่าอย่างต่อเนื่องผ่านความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับนานาชาติ และจะมีการเข้าหารัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG ซึ่งเป็นรัฐบาลคู่ขนานที่ต่อต้านกองทัพพม่า

ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มุน แจ-อิน เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2019 ขณะจับมือกับ อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ก่อนการเจรจาผู้นำสูงสุดของทั้งสองประเทศ ณ ทำเนียบประธานาธิบดีพม่า กรุงเนปิดอ ประเทศเมียนมา (ที่มา ทวิตเตอร์ The Office of President)

สำนักข่าว อิระวดี รายงานเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 64 ระบุว่า ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ชี้แจงกรณีที่มีประชาชนจำนวน 268,428 คนร่วมลงนามในคำร้องต่อรัฐบาลเกาหลีใต้ให้มีการแสดงออกอย่างเป็นทางการว่าจะสนับสนุนรัฐบาล NUG และต่อต้านทหารพม่า

ตั้งแต่ทหารพม่ายึดอำนาจบริหารประเทศจากรัฐบาลระบอบประชาธิปไตยเมื่อ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า และเรียกร้องให้กองทัพคืนประชาธิปไตยให้กับชาวพม่า

ภายใต้การบริหารของรัฐบาลนำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี เกาหลีใต้ถูกจัดให้เป็นประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดอันดับ 6 ของพม่าในปี พ.ศ. 2563  

ในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 64 รัฐบาลแดนโสม ระบุว่า โซลกำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับนานาชาติเพื่อฟื้นคืนประชาธิปไตย สันติสุข และความมั่นคงในพม่า และจะมีการติดต่อเจรจากับผู้นำของรัฐบาล NUG อย่างต่อเนื่อง

'รัฐบาล (เกาหลีใต้) จะให้การสนับสนุน มุ่งไปข้างหน้า เพื่อให้สถานการณ์ในพม่าคลี่คลายไปในแนวทางที่ประชาชนพม่าปรารถนา' แถลงการณ์ระบุ 

นอกจากนี้ ถ้อยคำในแถลงการณ์ระบุด้วยว่า เกาหลีใต้สนับสนุนความหวังของนักกิจกรรมชาวเมียนมาเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และเน้นย้ำข้อเรียกร้องให้กองทัพพม่าต้องยุติความรุนแรงต่อพลเรือน และปล่อยนักโทษการเมืองโดยทันที รวมถึง อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ 

รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่าระบุว่า นับตั้งแต่กองทัพทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. มีประชาชนเสียชีวิตจากการกดปราบของกองทัพพม่าทั้งสิ้น 1,029 คน มีประชาชนถูกจับกุมทั้งสิ้น 7,627 คน และยังอยู่ในเรือนจำ 6,005 คน 

รัฐบาล NUG เปิดตัวแผนโครงการวัคซีนโควิด-19

สำนักข่าว 'อิระวดี' รายงานเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 64 ระบุว่า รัฐบาล NUG กำลังวางแผนเปิดตัวโครงการวัคซีนโควิด-19 สำหรับประชาชนพม่า หลังได้รับบริจาควัคซีนจากโครงการ COVAX ขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN จำนวน 6 ล้านโดส หวังช่วยบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกสามในพม่า และยับยั้งการแพร่ระบาดขั้นรุนแรงของไวรัสที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

มานวินข่ายตาน นายกรัฐมนตรี แห่งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ภาพเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2564

นายแพทย์ ซอเหว่โซ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) แห่งรัฐบาล NUG กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อต้นสัปดาห์ว่า รัฐบาลคู่ขนานวางแผนขอรับวัคซีนโควิด-19 จากอินเดีย ไทย และจีน ด้วยความช่วยเหลือของคณะกรรมการสาธารณสุขชาติพันธุ์ ซึ่งดำเนินงานอยู่ในเขตแดนของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ (EAO’s) 

นพ. ซอเหว่โซ กล่าวต่อว่า รัฐบาล NUG กำลังขอความช่วยเหลือจากบุคคลที่สาม อย่างองค์การสหประชาชาติ เพื่อการแจกจ่าย และฉีดวัคซีนให้ประชาชนครั้งแรก 

รมว.สธ. กล่าวด้วยว่า ชาวเมียนมาจะได้รับวัคซีนมากกว่า 6 ล้านโดส เป็นวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 4 ล้านโดส และซิโนแวคอีก 2.2 ล้านโดส จากโครงการเพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ระดับโลก หรือ COVAX ซึ่งสนับสนุนโดย UN 

"วัคซีน (โควิด-19) ถูกบริจาคโดยหลากหลายประเทศ และเรากำลังวางแผนว่าจะเริ่มการฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุดเมื่อวัคซีนมาถึง  

"ประชากรเมียนมาอย่างต่ำราว 40-50 เปอร์เซ็นต์ จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีน เพื่อหลีกเลี่ยงการระบาดโควิด-19 ระลอก 4" นพ. ซอเหว่โซ กล่าว

ขณะนี้ประเทศเมียนมากำลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 ระลอกสามอยู่ รายงานจากกระทรวงสาธารณสุขและกีฬา แห่งรัฐบาลเมียนมา ระบุว่า เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา มีประชาชนเสียชีวิตด้วยไวรัสโควิด-19 ทั้งสิ้น 6,000 คน ส่งผลให้เมื่อ ก.ค. มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในพม่าเมื่อ มี.ค. 2563 ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตสะสมระหว่างวันที่ 1-26 ส.ค. 2564 มีจำนวนมากถึง 5,516 ราย แต่อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจะสูงกว่านี้ เนื่องจากตัวเลขจากบันทึกของรัฐบาลไม่ได้นับรวมผู้เสียชีวิตที่บ้าน

จำนวนผู้เสียชีวิต และไม่สามารถรับมือวิกฤตโรคระบาด ส่งผลให้กองทัพพม่าช่วงที่ผ่านมาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากรัฐบาล NUG ทั้งประชาชนในประเทศและต่างประเทศ สำหรับการบริหารที่ผิดพลาดและขาดการประเมินสถานการณ์เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาด

โครงการจัดหาและแพร่กระจายวัคซีนโควิด-19 ของพม่ามีการริเริ่มขึ้นในสมัยของรัฐบาล NLD ไม่กี่วันก่อนมีการรัฐประหาร หลังจากนั้นทหารพม่าก็เข้ามากุมบังเหียนบริหารประเทศต่อ และทำให้โครงการดังกล่าวต้องหยุดชะงักลง นอกจากนี้ มีรายงานด้วยว่า มีการเจรจาตกลงกันว่าพม่าจะได้รับบริจาควัคซีนโควิด-19 จำนวนราว 27 ล้านโดสภายใต้โครงการ COVAX แต่การบริจาคก็ถูกระงับลงชั่วคราวหลังทหารพม่ายึดอำนาจ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าวัคซีน 6 ล้านโดสนั้น เป็นส่วนหนึ่งของวัคซีนโควิด-19 จำนวน 27 ล้านโดสที่ COVAX สัญญาว่าจะให้รัฐบาลพม่าตั้งแต่ทีแรกหรือไม่

ขณะนี้เผด็จการทหารพม่าให้คำมั่นว่าจะฉีดวัคซีนให้ประชาชนครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ จำนวน 54 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ และเมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขและกีฬา ระบุว่า ทหารพม่ามีการแจกจ่ายวัคซีนจำนวน 6.3 ล้านโดส ให้ประชาชนจำนวนมากกว่า 4.3 ล้านคนแล้ว โดยขณะนี้มีประชาชนพม่าได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว จำนวนกว่า 1.8 ล้านคน และประชาชนได้รับวัคซีนเข็มแรก มากกว่า 2.7 ล้านคน 

อย่างไรก็ตาม แผนของ NUG ในการฉีดวัคซีนให้ประชาชนนั้นอาจต้องเผชิญความยากลำบากในความเป็นจริง โดยเฉพาะการกระจายวัคซีนในเขตเมือง ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของกองทัพพม่า และข้อเท็จจริงที่ว่า การดำเนินงานของรัฐบาล NUG ช่วงที่ผ่านมานั้น เน้นการสร้างความร่วมมือกับองค์กรสาธารณสุขชาติพันธุ์ (EHO’s) ซึ่งปฏิบัติงานสาธารณสุขในเขตชายแดนเป็นหลัก 

ดังนั้น โครงการของ NUG ครั้งนี้น่าจะสัมฤทธิ์ผลในเขตที่ประชาชนชาติพันธุ์อาศัยอยู่ หรือในเขตชายแดนเท่านั้น ขณะที่ในเขตเมืองหลวงอาจจะยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลกองทัพพม่ายังคงปราบปรามประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลเงาด้วยความรุนแรงอยู่ ซึ่งก่อนหน้านี้ กองทัพพม่าก็แปะป้ายรัฐบาล NUG ว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้าย

พะโดมานมาน ประธานคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ตั้งร่วมกันระหว่าง NUG และองค์กรสาธารณสุขชาติพันธุ์ กล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือจากบุคคลที่สามอย่างองค์การสหประชาชาติ เป็นหนึ่งในความพยายามและการบรรลุผลในการเปิดตัวโครงการวัคซีน

อย่างไรก็ตาม มานมานยอมรับว่า ความปลอดภัยของแพทย์ที่ทำการฉีดวัคซีน และประชาชนที่ได้รับวัคซีนยังเป็นหนึ่งในข้อท้าทายที่สุดในห้วงเวลานี้

"เราต้องหาทางที่จะรับประกันความปลอดภัยของพวกเขาให้ได้" มานมาน กล่าว 

นพ. ซอเหว่โซ รมว.สธ. รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์ และแพทย์ที่เข้าร่วมอารยขัดขืน หรือ CDM เคยวางแผนว่าจะเริ่มโครงการฉีดวัคซีนให้ประชาชนตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ก.พ. และพวกเขามีการร่างแผนจะทำการฉีดวัคซีนในพื้นที่ห่างไกลอย่างในรัฐฉิน และรัฐกะเหรี่ยงอีกด้วย  

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา เผด็จการทหารพม่าก็ออกมาเคลื่อนไหว โดยระบุว่า กองทัพจะฉีดวัคซีนให้กับสมาชิกกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ “ตามคำร้องขอของ EHO’s” เช่นเดียวกับประชาชนที่อยู่ค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน (IDP) ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าที่กองทัพพม่าทำแบบนี้เพราะตั้งใจตอบโต้แผนการฉีดวัคซีนของ NUG

เผด็จการทหารพม่า ระบุด้วยว่า ได้รับรายชื่อประชาชนมากกว่า 150,000 คน ซึ่งมีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป ที่อาศัยในพื้นที่เขตกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ในกะฉิ่น และกะเรนนีแล้ว  

อย่างไรก็ตาม กลุ่มติดอาวุธอย่างกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) กองทัพปลดปล่อยกะฉิ่น (KIA) และกองทัพรัฐฉานเหนือ (Shan State Army-North – SSA-N) และพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (Shan State Progressive Party - SSPP) มีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่แล้วตั้งแต่เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดยได้รับวัคซีนและความช่วยเหลือจากประเทศจีน 

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Myanmar’s Shadow Government Plans COVID-19 Vaccine Rollout

Seoul Calls for Return to Democracy in Myanmar, Backs Shadow Govt

Striking Cops Form Shadow Police Force to Oppose Myanmar Junta

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net