‘ประชานิยม’ คืออะไร? พร้อมหาคำตอบอนาคตคนไทยกับนโยบายประชานิยมจากอดีตสู่ปัจจุบัน

สรุปการบรรยายพิเศษเรื่อง “อนาคตคนไทยกับนโยบายประชานิยม” จัดโดยภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของประชานิยมในไทยและพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก ไปจนถึงความหมายที่แท้จริงของคำว่า ‘ประชานิยม’ ตลอดจนทำนายทิศทางอนาคตของประชานิยมในสังคมไทย

31 ส.ค. 2564 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับแผนงานคนไทย 4.0 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการบรรยายพิเศษ ผ่านระบบ  Zoom Cloud meeting และ Facebook Live ในหัวข้อ “อนาคตคนไทยกับนโยบายประชานิยม” เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยมี ผศ.ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ วิทยาลัยการจัดการและพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามเป็นวิทยากร

ธัญณ์ณภัทร์ อธิบายว่าแท้จริงแล้ว นิยามของคำว่า ‘ประชานิยม’ คือการกระทำหรือความต้องการของประชาชนตามวิถีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เป็นแนวคิดที่ชูเจตจำนงของประชาชนทั่วไปเป็นหลัก ก่อตัวขึ้นจากการที่ชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครอง ซึ่งรวมถึงพรรคการเมืองและสถาบันการเมืองไม่รับฟังหรือเพิกเฉยต่อเสียงของประชาชน หรือกลุ่มคนชายขอบที่เข้าไม่ถึงนโยบายหรือผลประโยชน์ในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งยังเป็นพลังเชิงบวกที่ใช้ขับเคลื่อนสังคมไปสู่การพัฒนา ความยุติธรรม และความเท่าเทียม ซึ่งการกระทำเหล่านี้ถือเป็นการท้าทายอำนาจของชนชั้นนำ แต่ในขณะเดียวกัน ‘ประชานิยม’ อาจหมายถึงยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่ผู้นำทางการเมืองพยายามใช้อำนาจที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก เพื่อพยายามรวมศูนย์อำนาจ หรือช่วงชิงความนิยมทางการเมือง นำสู่การยอมรับ สร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเอง โดยใช้เสียงส่วนใหญ่เป็นแรงสนับสนุน

คำนิยาม 2 รูปแบบนี้ทำให้ธัญณ์ณภัทร์มองว่ามีความจำเป็นต้องแบ่งประชานิยมออกเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ ประชานิยมแบบต่อต้านอำนาจชนชั้นนำ (Populism in opposition) ซึ่งมักจะช่วยฟื้นฟูประชาธิปไตย เพราะเป็นการต่อสู้เพื่อคืนอำนาจการปกครองให้ประชาชนซึ่งเกิดจากการตื่นรู้ของประชาชน และนำไปสู่การแสดงออกถึง ‘ความเป็นประชาชน’ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นประชานิชมแบบเสรี เช่น การต่อสู้ของขบวนการนารอดนิก (Narodichestvo) ในรัสเซียช่วง ค.ศ.1860-1890 หรือการเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกรในสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ.1850-1890 และบทบาทของนักการเมืองในลาตินอเมริกาช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่ให้ความสำคัญกับคนรากหญ้าและชนชั้นแรงงาน

ส่วนประชานิยมอีกแนวทางหนึ่ง คือ ประชานิยมในทางอำนาจ (Populism in power) ซึ่งอาจลดทอนความเป็นสังคมพหุนิยมที่ยอมรับความหลากหลายและเป็นพื้นฐานของประบอบประชาธิปไตย เพราะการถือเจตจำนงของคนส่วนใหญ่ตามนิยามของคำว่าประชานิยม อาจเป็นการปกป้องเสียงข้างมากแบบสุดโต่ง โดยไม่รับฟังเสียงส่วนน้อย และกระทบต่อสถาบันอิสระที่มีหน้าที่ในการปกป้องสิทธิพื้นฐานของประชาชนทุกคน และนำไปสู่การปกครองแบบอำนาจนิยม เพราะมีการยึดติดในตัวผู้นำมากจนเกินไป เช่น กรณีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ อดีตผู้นำเยอรมนี หรืออัลเบร์โต ฟูจิโมริ อดีตประธานาธิบดีเปรู เป็นต้น

อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของประชานิยมในประเทศไทย

ธัญณ์ณภัทร์ กล่าวว่า ขบวนการประชานิยมในไทยเริ่มชัดเจนในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่มีชาวนา นักศึกษา รวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมและความเป็นธรรมให้แก่คนในสังคม แต่ที่เด่นชัดสุดคงเป็นในสมัยของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย นำโดยทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หรือวิกฤติต้มยำกุ้ง

ธัญณ์ณภัทร์ กล่าวว่า ในช่วงนั้น คนไทยรู้เบื่อหน่ายกับอำนาจทางการเมืองเดิมที่มีอยู่ จึงต้องการแสวงหาแนวทางใหม่ ซึ่งพรรคไทยรักไทยมาพร้อมกับการชูสโลแกน ‘คิดใหม่ ทำใหม่’ และนโยบายต่างๆ ของพรรคส่วนหนึ่งก็เกิดการจากพูดคุยกับภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ และนักกิจกรรม ทำให้นโยบายส่วนหนึ่งตอบสนองต่อเสียงของคนรากหญ้า คนที่ด้อยโอกาสในสังคม ไปจนถึงกลุ่มคนชนชั้นกลางใหม่ ซึ่งสัมพันธ์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในชนบทที่เป็นทุนนิยมมากขึ้น อีกทั้งการที่นโยบายต่างๆ ของพรรคไทยรักไทยประสบความสำเร็จ เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน โครงการบ้านเอื้ออาทร สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น สามารถตอบสนองความต้องการของเชิงทุนนิยมของประชาชนในชนบทที่มีวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปตามการพัฒนา และมีความต้องการรวมถึงวิถีการบริโภคที่ไม่แตกต่างจากชนชั้นกลางในเมือง

นโยบายประชานิยมที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนเหล่านี้ทำให้ความนิยมในตัวทักษิณเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และเป็นการสร้างการเมืองรูปแบบใหม่ที่สร้างความสัมพันธ์ระบอบอุปถัมภ์โดยตรงระหว่างผู้นำและประชาชน ซึ่งเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของประบอบอุมถัมภ์ดั้งเดิมของการเมืองไทย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทักษิณถูกวิพากวิจารณ์จากนักวิชาการบางกลุ่มรวมถึงกลุ่มอำนาจเดิมที่เสียประโยชน์ และมองว่านโยบายประชานิยมเหล่านี้เป็นการทุจริตเชิงนโยบาย รวมทั้งเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง

ส่วนนโยบายประชานิยมในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนั้น ธัญณ์ณภัทร์มองว่าเป็นการสานต่อแนวนโยบายของพรรคไทยรักไทยเดิม โดยมีนโยบายเด่นๆ ที่เน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ เบี้ยยังชีพ รถยนต์คันแรก การปรับปรุงระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ให้ความเป็นเอกภาพ รวมถึงโครงการจำนำข้าวที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เป็นต้น

ต่อมา ในยุคปัจจุบันที่พรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาล มีการตั้งคำถามมากมายถึงนโยบายต่างๆ ของพรรคว่าเป็นประชานิยมหรือไม่ ธัญณ์ณภัทร์กล่าวว่าต้องย้อนกลับไปดูนิยามของคำว่า ‘ประชานิยม’ อีกครั้งว่าหมายถึงอะไร ซึ่งตามที่ธัญณ์ณภัทร์ ให้คำนิยามไปนั้นหมายถึงความต้องการที่ขับเคลื่อนจากประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่การคิดนโยบายแบบ ‘ลด แลก แจก แถม’ ซึ่งธัญณ์ณภัทร์มองว่าหากดูจากการดำเนินนโยบายส่วนใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐจะเห็นได้ว่าบางนโยบายอาจไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง แต่เป็นการให้แบบสงเคราะห์

ประชานิยมไทยในอนาคต

ธัญณ์ณภัทร์กล่าวว่าประชานิยมจะอยู่ได้หากระบบการเมืองเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ดังนั้นต้องดูว่าในอนาคตต้องดูว่าประเทศไทยสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้หรือไม่ ธัญณ์ณภัทร์ไม่ได้มอง ‘ประชานิยม’ ในมุมของนโยบายพรรคการเมือง แต่มองในมุมขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ขั้น ได้แก่ 1.การเปิดเสรีทางความคิดและขายสิทธิบางประการให้กว้างออกไป 2.การเปลี่ยนผ่านไปเป็นประชาธิปไตย และ 3. การหยั่งประชาธิปไตยลึกลงไป โดยสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีเงื่อนไขสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง เช่น รัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการเป็นประชาธิปไตย และการเกิดขึ้นของผู้นำที่มีการแข่งขันกันตามระบอบประชาธิปไตย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท