ย้อนรอยปฏิรูปศาสนาคริสต์-พุทธ สู่สังคมโลกวิสัย ทำอย่างไรให้รัฐไทยแยกจากศาสนาพุทธได้

ทำอย่างไรรัฐไทยจึงจะแยก ‘การเมือง’ และ ‘ศาสนา’ ออกจากกันได้ ร่วมหาคำตอบผ่านความเหมือนและต่างของการปฏิรูปศาสนาพุทธ-คริสต์ในอดีต ได้ในเสวนาหนังสือเรื่อง ‘เปรียบเทียบการปฏิรูปศาสนาคริสต์-พุทธ และสังคมโลกวิสัย’ โดยมีสุรพศ ทวีศักดิ์ ผู้เขียนหนังสือ วิจักขณ์ พานิช, กริช ภูญียามา และธีรภพ เต็งประวัติ ร่วมเสวนา

31 ส.ค. 2564 สำนักพิมพ์ Illuminations Editions จัดงานเสวนาหนังสือ ‘เปรียบเทียบการปฏิรูปศาสนาคริสต์-พุทธ และสังคมโลกวิสัย’ ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2564 โดยมีสุรพศ ทวีศักดิ์ ผู้เขียน ร่วมเสวนากับวิจักขณ์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวัชรสิทธา, กริช ภูญียามา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และธีรภพ เต็งประวัติ แอดมินเพจ Secularizer-พลเมืองโลกวิสัย ดำเนินรายการโดย พิพัฒน์ พสุธารชาติ

สุรพศ กล่าวถึงหนังสือ ‘เปรียบเทียบการปฏิรูปศาสนาคริสต์-พุทธ และสังคมโลกวิสัย’ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือน ก.ค. 2564 ที่ผ่านมาว่าเป็นงานเขียนที่ตั้งคำถามกับอุดมการณ์และโครงสร้างระหว่างพระพุทธศาสนากับรัฐ โดยศึกษาเชิงเปรียบเทียบระหว่างบริบทการปฏิรูปศาสนาพุทธในไทยและการปฏิรูปศาสนาคริสต์ในยุโรป โดยนำแนวคิดแบบเสรีนิยมและโลกวิสัย (Secular state) หรือรัฐฆราวาสมาเป็นหลักในการวิเคราะห์และวิพากษ์ สุรพศบอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นดั่งภาคแยกของหนังสืออีกเล่ม คือ ‘อำลาพุทธราชาชาตินิยม: วิพากษ์แนวคิดชาตินิยมแบบพุทธของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)’ พิมพ์เมื่อเดือน ส.ค. 2564 ซึ่งกล่าวถึงเฉพาะบริบทของรัฐกับศาสนาพุทธในไทย โดยใช้แนวคิดเดียวกันมาวิพากษ์ในบริบทที่เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น

สุรพศกล่าวว่าตนชอบงานเขียนของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่เขียนเปรียบเทียบด้านศาสนาระหว่างไทยและต่างประเทศ แต่งานของจิตรใช้เกณฑ์ของมาร์กซิสต์ในการตีความ ซึ่งงานของสุรพศนั้นแตกต่างออกไป เพราะเป็นงานเขียนที่ปรับมาจากการวิจัยที่ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเขาใช้การตีความตามหลักแนวคิดเสรีนิยมและโลกวิสัย ในหนังสือ เปรียบเทียบการปฏิรูปศาสนาคริสต์-พุทธ และสังคมโลกวิสัย แบ่งการปฏิรูปศาสนาออกเป็น 3 ช่วงหลักๆ คือ ยุคแรก ตั้งแต่ช่วงก่อกำเนิดศาสนาในยุคศาสดามาจนถึงยุคศาสนารุ่งเรืองในอาณาจักร (พุทธ: พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งราชวงศ์โมริยะในอินเดีย / คริสต์: จักรพรรดิคอนสแตนตินแห่งจักรวรรดิโรมัน) ซึ่งสุรพศตั้งข้อสังเกตว่าระยะเวลาระหว่างยุคก่อนกำเนิดจนถึงยุครุ่งเรืองยุคของทั้ง 2 ศาสนานั้นอยู่ที่ประมาณ 300 ปีเท่าๆ กันโดยเฉลี่ย กล่าวคือพระเจ้าอโศกมหาราชอุปถัมภ์ศาสนาพุทธในช่วงประมาณ พ.ศ. 270-300 ส่วนจักรพรรดิคอนสแตนตินก็ประกาศให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำจักรวรรดิโรมันใน ค.ศ.313

ต่อมาในยุคที่สอง สุรพศนับช่วงเวลาตั้งแต่ที่ผู้นำทั้ง 2 รับศาสนาเข้ามาในอาณาจักรไปจนถึงยุคการปฏิรูป โดยเน้นไปที่การปฏิรูปศาสนาคริสต์ในยุโรปซึ่งนำโดยมาร์ติน ลูเทอร์ (Martin Luther) ศาสนาจารย์และศาสตราจารย์ด้านเทววิทยาชาวเยอรมัน และการปฏิรูปศาสนาพุทธในไทยช่วงรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 สุรพศอธิบายว่าการปฏิรูปศาสนาทั้ง 2 กรณีมีความเหมือน คือ เกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งสิ้น ในกรณีของการปฏิรูปศาสนาพุทธในไทยนั้นชัดเจนว่ามาจากกษัตริย์ซึ่งเป็นสถาบันการเมืองและเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดโดยตรงในการปกครองในช่วงเวลานั้น ส่วนการปฏิรูปศาสนาคริสต์ในยุโรป แม้จะเริ่มจากลูเทอร์ซึ่งเป็นนักบวช แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์ยุโรปหลายองค์ที่ต้องการหลุดพ้นจากการครอบงำของศาสนาจักรโรมันคาทอลิกในกรุงโรม จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าอำนาจทางการเมืองมีส่วนอย่างมากในการปฏิรูปศาสนา

มาร์ติน ลูเทอร์ (Martin Luther) นักบวชชาวเยอรมันผู้นำการปฏิรูปศาสนาคริสต์ในยุโรป
จนนำมาสู่การแยกนิกายโปรแตสแตนต์ออกจากนิกายโรมันคาทอลิก (ภาพจากวิกิพีเดีย)
 

ด้านวิจักขณ์ให้ความเห็นว่าหลักคิดในการปฏิรูปศาสนาเกิดจากปรัชญาการมองโลกที่แตกต่างกันระหว่างโลกตะวันตกและปรัชญาพุทธศาสนา โดยปรัชญาตะวันเป็นปรัชญาเชิง Developmental ที่เน้นศึกษาอดีตจากสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาอนาคต แต่ปรัชญาพุทธศาสนาเป็นปรัชญาเชิง Influential ที่เน้นการอยู่กับปัจจุบันซึ่งเป็นผลมาจากอดีต ทำให้การมองโลกของทั้ง 2 ฝ่ายแตกต่างกัน ขณะที่ธีรภพกล่าวเสริมว่าอีกหนึ่งจุดที่มีความแตกต่างกัน คือ การปฏิรูปศาสนาคริสต์ไม่ได้เริ่มจากชนชั้นนำ จึงสร้างทำให้เกิดเสรีภาพทางมโนธรรมในการอ่านคัมภีร์ไบเบิล จนนำมาสู่เสรีภาพทางความคิดของผู้คน แต่การปฏิรูปศาสนาพุทธในไทยนั้นเกิดจากชนชั้นนำ ทำให้คนไม่สามารถตั้งคำถามต่อศาสนา ได้แต่ยอมรับและเชื่อไว้ก่อน นอกจากนี้ การปฏิรูปศาสนาของลูเทอร์ต้องการลดพิธีกรรมที่ไม่จำเป็น ขณะที่การปฏิรูปศาสนาของรัชกาลที่ 4 กลับเพิ่มพิธีกรรมหลายอย่างเข้ามาในพุทธศานาแทน

เส้นทางหลังปฏิรูปของศาสนาของพุทธ-คริสต์

สำหรับยุคสุดท้ายในหนังสือ เปรียบเทียบการปฏิรูปศาสนาคริสต์-พุทธ และสังคมโลกวิสัย นั้นกล่าวถึงทิศทางของทั้ง 2 ศาสนาหลังปฏิรูป และการเดินทางไปสู่รัฐฆราวาสในยุโรปและไทย กริชกล่าวว่าหลังการปฏิรูปศาสนาครั้งใหญ่ เส้นทางของศาสนาพุทธในไทยและศาสนาคริสต์ในยุโรปกลับเดินไปคนละทิศทาง โดยศาสนาคริสต์พัฒนาไปควบคู่กับแนวคิดโลกวิสัย มีการแบ่งออกเป็นนิกายย่อยหลายนิกาย และพัฒนามาสู่การแยกศาสนาออกจากรัฐในที่สุด แต่ศาสนาพุทธในไทยกลับเดินคนละทิศทาง โดยมีความแน่นแฟ้นกับรัฐมากขึ้น และกลายเป็นศาสนารวมศูนย์ที่ลดความหลากหลายเหลือเพียง 2 นิกายหลัก นั่นคือ ธรรมยุตินิกาย และมหานิกายเท่านั้น ด้านวิจักขณ์ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมในประเด็นเสรีภาพในการนับถือศาสนาของไทยว่าแม้รัฐธรรมนูญไทยจะระบุว่าให้เสรีภาพ และเปิดโอกาสให้ตั้งสำนักสงฆ์ใดๆ ได้อย่างเสรี แต่ถ้าเริ่มมีแนวคิดใดที่เริ่มกระทบต่อแนวคิดดั้งเดิมของศาสนาพุทธตามแบบแผนของราชสำนักแล้วก็จะมีหน่วยงาน เช่น สำนักพระพุทธศาสนาหรือมหาเถรสมาคมเข้าไปจัดการโดยทันที

กริชกล่าวว่าการจะผลักดันให้ศาสนาแยกออกจากการปกครองได้อย่างชัดเจนนั้นต้องอาศัยอำนาจที่เด็ดขาดทางกฎหมาย เช่น ในฝรั่งเศส หรือสหรัฐอเมริกาที่ขีดเส้นแบ่งชัดเจนระหว่างการเมืองกับศาสนา แต่รัฐธรรมนูญไทยนับย้อนไปตั้งแต่ฉบับ 2475 กลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ดังที่ปรากฎในบทบัญญัติเรื่องกษัตริย์ที่กำหนดให้กษัตริย์ต้องเป็นพุทธมามกะ การที่กษัตริย์นับถือศาสนาพุทธนั้นเป็นการให้สิทธิแก่กษัตริย์ในการกำหนดบทบาทความเป็นพุทธในไทยว่าต้องเป็นไปตามแบบแผนของ 2 นิกายข้างต้นเท่านั้น ซึ่งมีเรื่องของระบบอุปถัมภ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับสถาบันสงฆ์ที่สืบทอดมานานตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ศาสนาพุทธในไทยไม่อาจเดินไปตามแนวคิดแบบโลกวิสัยได้

กริชเสนอแนวทางที่สามารถทำให้ศาสนาพุทธในไทยเดินไปตามโลกวิสัยได้มีอยู่ 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรกต้องปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ซึ่งเขาระบุว่าแนวทางแบบ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ที่แบ่งอำนาจบัญชาการในทางสงฆ์ออกเป็น 3 ส่วน คือ สังฆสภา (นิติบัญญัติ) สังฆมนตรี (ปกครอง) และคณะวินัยกร (ตุลาการ) ทำให้ศาสนามีระยะห่างกับรัฐหรือสถาบันการเมืองมากกว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะกฎหมายในปัจจุบัน อำนาจคณะสงฆ์ไปรวมศูนย์อยู่ที่พระสังฆราช ซึ่งถ้ารัฐประสานกับพระสังฆราชได้ก็ถือว่าคุมคณะสงฆ์ทั้งหมดได้ แต่หากแก้กฎหมายให้เป็นไปในแนวทาง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 แล้วจะทำให้คณะสงฆ์สามารถตรวจสอบถ่วงดุลกันเองได้ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจในระบอบประชาธิปไตย และหากรัฐต้องการจะควบรวมอำนาจทางสงฆ์จะต้องประสานผ่าน 3 องค์กร ซึ่งตามหลักการแล้วถือว่าทำได้ยากกว่าการประสานผ่านบุคคลเดียว

ขั้นตอนที่สอง ต้องแปรรูปคณะสงฆ์จากองค์กรรัฐเป็นองค์กรเอกชน ซึ่งจำเป็นต้องยกเลิกกฎหมายคณะสงฆ์ ยกเลิกกฎหมายที่ทำให้คณะสงฆ์กลายเป็นข้าราชการฝ่ายบรรพชิต การทำให้คณะสงฆ์กลายเป็นเอกชนคือการทำให้คณะสงฆ์แต่ละคณะมีอิสระในการปกครองและดำเนินการกันเอง โดยแต่ละคณะสงฆ์ก็ต้องไปตกลงกับรัฐถึงแนวทางการปฏิบัติ ซึ่งรัฐมีหน้าที่คุ้มครองความเสมอภาคทางศาสนาเช่นเดียวกับการดูแลบริษัทเอกชน ทั้งยังต้องปฏิบัติกับองค์กรศาสนาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ศาสนาพุทธในแนวทางเดียวกันด้วย

ด้านสุรพศและธีรภพเห็นด้วยกับแนวทางที่กริชเสนอ แต่ทั้ง 2 คนให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่าหากสามารถปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หรือแก้ไขกฎหมายที่ระบุว่ากษัตริย์ต้องเป็นพุทธมามกะได้นั้นจะสามารถช่วยให้ข้อเสนอของกริชเป็นจริงได้ และนำไปสู่การแยกรัฐกับศาสนาตามแนวคิดโลกวิสัยได้ในที่สุด

หมายเหตุ: แก้ไขเนื้อหาในย่อหน้าที่ 3 จากคำว่า 'ความรู้สึก' เป็นคำว่า 'มาร์กซิสต์'

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท