Skip to main content
sharethis

เลขาฯ เพื่อไทยชี้แจงข้อมูลการจัดซื้อวัคซีน "ซิโนแวค-แอสตราฯ" ของไทยว่าเข้าข่ายมีการทุจริต ซื้อแพงกว่าราคาตลาดและมีส่วนต่างราคาที่ ครม.อนุมัติกับราคาที่บริษัทตั้งขายร่วมเป็นเงินกว่า 2 พันล้านบาท อีกทั้งยังเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนผูกขาดทั้งที่วัคซีนไม่มีประสิทธิภาพป้องกันไวรัสกลายพันธุ์

31 ส.ค.2564 ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่รัฐสภา ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทยอภิปรายไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีและอนุทิน ชาญวีระกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขด้วยเรื่องการทุจริตวัคซีนและการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 โดยขาดความรู้ความสามารถ

ประเสริฐ เริ่มจากการชี้ให้เห้นถึงตัวเลขผู้ป่วยสะสมที่สูงถึงหนึ่งล้านสองแสนคนและมีผู้เสียชีวิตสะสม 11,589 คน ซึ่งยังเป็นจำนวนที่ยังคงน่าเป็นห่วงแม้ว่ายอดผู้ติดเชื้อรายวันจะลดลงและเขาสังเกตว่าเมื่อใกล้อภิปรายไม่ไว้วางใจมักจะลดลงอย่างมีนัยยะ แต่เขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบว่ามีการปรับตัวเลขในช่วงที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่

การบริหารงานและนโยบายการสื่อสารของนายกฯ อย่างการตั้งสายด่วนขึ้นมาก็ล้มเหลว ทั้งที่ประชาชนพยายามหาช่องทางในการหาโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาก็หาไม่ได้และต้องสียชีวิตอยู่ที่บ้าน และยังรวมไปถึงการจองวัคซีนผ่านแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” แต่เมื่อถึงวันนัดก็ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ประเสริฐกล่าวว่าจากการแสดงทัศนะของอนุทินทั้งการมองว่าโควิด-19 ไม่ต่างจากไข้หวัดธรรมดา การโทษเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ติดเชื้อโควิด-19 ว่าทำงานอย่างไม่ระวังเอง หรือการจัดซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกาที่จะมีทุกโรงพยาบาลในไตรมาสที่สามของปีนี้ แสดงถึงการขาดความรู้ในการบริหารงาน

นอกจากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ในฐานะที่เป็นนายกฯ ประธาน ศบค. ประธาน สปส. อนุทินในฐานะที่เป็น รมต.สาธารณสุข และเป็นกรรมการ ศบค. มีความเกี่ยวพันกันในอำนาจหน้าที่ร่วมกันจัดซื้อวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพและราคาแพงมาเพื่อหาผลประโยชน์ปิดกั้นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเนื่องจากไม่สามารถทุจริตและหาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องได้ การบริหารที่ผิดพลาดทำให้มีคนเสียชีวิตร่วมวันละ 300 คน ประเสริฐระบุว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการ “ค้าความตาย”

อีกทั้งมาตรการควบคุมโรคก็ไม่มีทิศทางไม่มีแผนงานทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกระทบธุรกิจจากมาตรการล็อกดาวน์ปิดกิจการต่างๆ ไม่มีการพิจารณาข้อดีข้อเสียของมาตรการที่ใช้ และไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบกับธรุกิจรายย่อย ประชาชนตกงานไม่มีรายได้จุนเจือครอบครัว อีกทั้งมาตรการที่ใช้ก็ไม่สามารถหยุดการระบาดของโรคได้ การตั้งเป้าที่จะมีวัคซีนถึง 23 ล้านโดสจนถึงวันนี้ก็ยังมีแค่ 13 ล้านโดส และจากมติ ครม.เรื่องการจัดหาวัคซีนให้เป็นไปตามเป้าหมายและการจัดหาจะต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ประชาชนจะต้องได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพสูงสุด ปัจจุบันประชาชนก็ยังคงไม่ได้วัคซีนทุกคนและวัคซีนที่ได้ก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ประเสริฐอธิบายถึงความล้มเหลวในการบริหารประเทศของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ไว้ 4 ประเด็น

ประเด็นแรก การควบคุมการระบาดของโรค ที่พล.อ.ประยุทธ์ทำไปโดยประมาทไม่มีการประเมินผลติดตามข้อสั่งการของตัวเองและอนุทินบริหารโดยไม่มีความระมัดระวังในการควบคุมโรคจนทำให้ระบบสาธารณสุขล้มเหลวแล้วยังโยนความผิดให้กับประชาชนว่าไม่ป้องกันตัวเอง ไม่มีความรับผิดชอบ แต่ข้อเท็จจริงกลับเป็นว่าการระบาดของโรคเกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายความมั่นคงและอื่นๆ ทั้งคลัสเตอร์สนามมวยลุมพินีที่จัดขึ้นเพื่อให้เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนนายร้อยเข้าร่วม คลัสเตอร์บ่อน คลัสเตอร์สมุทรสาครที่เจ้าหน้าที่ปล่อยให้มีการขนคนต่างชาติเข้าประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตและเมื่อเกิดการระบาดในคลัสเตอร์สมุทรสาคร นายกรัฐมนตรีก็ไมได้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง และคลัสเตอร์ทองหล่อที่เมื่อเกิดขึ้นก็ไม่มีการตรวจสอบสถานบันเทิงทำเพียงแค่สั่งย้ายผู้กำกับสน.ทองหล่อที่เป็นหลานชายของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณเท่านั้น ซึ่งคลัสเตอร์ทั้งหมดนี้เกิดจากการไม่กวดขันและไม่กำชับหน่วยงานของรัฐที่เป็นต้นตอการระบาดของโรค

ประเด็นที่สอง ความผิดพลาดในการจัดหาวัคซีน พล.อ.ประยุทธ์และอนุทินได้คาดการสถานการณ์ระบาดของโรคผิดพลาดคิดว่าจะควบคุมได้แล้วไม่กระตือรือร้นในการจัดหาวัคซีน จัดหามาน้อยเกินไปที่เป็นเพียงแค่ 50% ของประชากร ทั้งที่งานวิจัยทั่วโรคระบุว่าการจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จะต้องฉีดวัคซีนให้ประชากรอย่างน้อย 70% แล้วก็คอยแต่วัคซีนหลักอย่างแอสตราเซเนกา และการจัดหาวัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนเสริมโดยไม่หาวัคซีนทางเลือกอื่นตั้งแต่ต้นทั้งที่วัคซีนซิโนแวคไม่มีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่กลายพันธุ์มาเป็นพันธุ์เดลต้าแล้ว

ประเสริฐกล่าวว่ารัฐบาลมีการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 10.9 ล้านโดสทั้งที่มีหน่วยงานไม่น้อยกว่า 7 หน่วยงานคัดค้านให้ซื้อวัคซีนอื่นประกอบด้วยแต่นายกรัฐมนตรีก็ไม่ฟังคำคัดค้าน ทำให้มีข้อสงสัยว่าการจัดซื้อวัคซีนมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ และคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ก็เคยตั้งข้อสังเกตเรื่องการจัดหาวัคซีนมาแล้วเช่นกัน

ประเสริญกล่าวถึงปัญหาที่รัฐบาลไทยไม่ยอมเข้าโครงการ COVAX ทั้งที่ สธ. มีความจำนงจะเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ 9 ก.ค.2563 มีหนังสือสั่งการชัดเจนไปถึงเลขาฯ ครม. การเข้าร่วมโครงการจะทำให้ไทยมีความมั่นคงด้านวัคซีน อีกทั้งประเทศในตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าร่วมก็ได้วัคซีนไปหมดแล้วมีแต่ไทยที่ไม่ได้เข้าร่วม แล้วก็ยังชะลอการเข้าร่วมโดยอ้างเหตุผลเช่นบอกว่าประเทศไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลาง การเข้าโครงการจะทำให้ต้องซื้อวัคซีนในราคาที่สูงขึ้นซึ่งเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นและการเข้า COVAX ก็จะไม่มีเงินทอน ซึ่งทำให้ประเทศเสียหาย ซึ่งเป็นการรู้เห็นกันทั้งนายกฯ และอนุทิน และนายกฯยังมีเจตนาชัดเจนที่จะไม่เข้าร่วม COVAX โดยเห็นได้จากข้อสั่งการของนายกฯ ต่อ สธ. และกระทรวงการต่างประเทศที่ให้วัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะและจะให้ไทยเป็นฐานการผลิตส่งออกไปทั่วโลกแทนที่จะให้ประชาชนในประเทศก่อน เมื่อเอกชนจะนำเข้าเองก็อ้างเรื่องติดเงื่อนไขต่างๆ ด้วยทำให้ประเทศไทยขาดแคลนวัคซีน และยังมีปัญหาการกระจายวัคซีนไม่เป็นระบบจนทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้ ในขณะคนบางกลุ่มได้วัคซีนถึงเข็มที่สามแล้ว

เลขาฯ พรรคเพื่อไทยกล่าวถึงมาตรการล็อคดาวน์และการแก้ไขสถานการณ์การระบาดของรัฐบาลว่าส่งผลให้กิจการร้านค้าต่างๆ ต้องปิดตัวลงคนตกงาน อีกทั้งก็ยังคุมการระบาดของโลกไมได้จนทำให้ไทยถูกประเทศอื่นๆ ประกาศเตือนการเดินทางมาประเทศไทยกับประชาชนของตัวเอง อีกทั้งการประชาชนไทยก็ยังต้องเจอกับสภาพที่ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจรักษาโควิด-19 ได้อย่างทั่วถึงต้องรอเตียงได้รับการรักษาไม่ทันจนต้องเสียชีวิต แพทย์ก็ต้องเลือกว่าจะปล่อยคนไข้คนไหนเสียชีวิตแล้วจะเลือกว่าทำการรักษาคนไหนต่อไป

ประเสริฐกลับมากล่าวถึงการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลต่อว่าเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน เลือกที่จะซื้อวัคซีนซิโนแวคมาเจ้าเดียวทั้งที่มีให้เลือกหลายยี่ห้อเป็นการกระทำในลักษณะผูกขาดตัดตอน ไม่ซื่อสัตย์กับประชาชน การทำสัญญาระหว่างรัฐกับบริษัทำจำหน่ายวัคซีนเป็นสัญญาเสียเปรียบอย่างสิ้นเชิง ราคาแพง หลีกเลี่ยงการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง โดยการใช้คำสั่งของพล.อ.ประยุทธ์ที่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาบังหน้า และจากเดิมที่มีเป้าหมายที่จะใช้ซิโนแวคเพียง 10% ของประชากร แต่วันนี้เข้ามาในไทยมากถึง 19.5 ล้านโดส โดยมี 1 ล้านโดสที่รัฐบาลจีนบริจาคมาให้ ซึ่งมากกว่าวัคซีนแอสตราเซเนกาที่เป็นวัคซีนหลัก

นอกจากนั้นยังหลอกหลวงประชาชนให้เข้าใจผิดว่าการจัดซื้อซิโนแวคเป็นแบบระหว่างรัฐต่อรัฐ ซึ่งการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐจะต้องได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีศุลกากร แต่ความเป็นจริงคือการซื้อซิโนแวคเข้ามาเป็นการนำเข้ามาเชิงพานิชย์มีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 6,896,029 บาทสำหรับล็อตแรก 2 ล้านโดสนอกจากนั้นยังมีการส่งมาจริงเพียง 1.9 ล้านโดส นอกจากนั้นอุปทูตจีนยังกล่าวอีกว่าไทยเป็นประเทศแรกที่มีการนำเข้าในเชิงพานิชย์ ซึ่งเป็นการจัดซื้อโดยรัฐบาลไทยกับทางบริษัทซิโนฟาร์มาซูติคอลซึ่งเป็นบริษัทเอกชนในจีน นอกจากนั้นบริษัทนี้ยังสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับนักธุรกิจใหญ่ในไทยซึ่งเป็นกลุ่มทุนที่มีความผูกผันอย่างยิ่งกับรัฐบาล แม้ไม่มีตัวแทนจำหน่ายในเมืองไทยแต่การค้าแบบนี้มีนายหน้าและหมายถึงว่าจะมีค่าส่วนต่าง นอกจากวัคซีนซิโนแวคจะมีคุณภาพต่ำแล้วยังมีราคาแพงอีกด้วย

ประเสริฐเปรียบเทียบราคาที่ไทยซื้อซิโนแวคจำนวน 12 ล้านโดส ในราคาซื้อซิโนแวค 17 เหรียญ/โดสหรือประมาณ 556.24 บาท แพงกว่าอินโดนีเซียที่มีราคา 460 บาท/โดสและแพงกว่าบราซิลที่มีราคา 337.02 บาท/โดส ทำให้ไทยซื้อแพงกว่าอินโดนีเซียรวมเป็นเงิน 192,480,000 บาท และแพงกว่าบราซิลรวมเป็นเงิน438,448,000 บาท แล้วรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ก็จัดซื้อวัคซีนซิโนแวคทั้งที่ไม่เคยมีรายงานทดสอบผลแต่อย่างใด จากรายงานการประชุม ศบค.และ ครม.ก็ไม่มีการะบุถึงหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคแต่อย่างใด

ประเสริฐกล่าวถึงอีกข้อสังเกตว่า พล.อ.ประยุทธ์ และอนุทินให้จัดซื้อซิโนแวคตั้งแต่องค์การอาหารและยาของไทยยังไม่ได้รับรองการขึ้นทะเบียนวัคซีนเลย และองค์การอนามัยโลกก็ยังไม่รับรองให้ขึ้นทะเบียน นอกจากนั้นการจัดซื้อวัคซีนยังเป็นไปด้วยความเร่งรีบมีการร่างสัญญาเสร็จภายใน 27 วัน แต่กับวัคซีนของบริษัทอื่นกลับเป็นไปอย่างล่าช้า

ประเสิรฐกล่าวอีกว่า การจัดซื้อซิโนแวคยังเป็นการจัดซื้อมาอย่างเกินความเป็นจริง เขาอธิบายประเด็นนี้ว่าเมื่อวันที่ 6 ก.ค.มีการจัดซื้อมา 10.9 ล้านโดสวงเงิน 6,064 ล้านบาท มีถึง 6หน่วยงานทักท้วงถึง 7ครั้งไม่ว่าจะเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง กลุ่มหมอไม่ทัน และ TDRI ให้ซื้อวัคซีนอื่นที่มีประสิทธิผลสูงกว่าและการซื้อซิโนแวคก็เป็นวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ แต่แม้จะมีหน่วยงานทักท้วงมาพล.อ.ประยุทธ์และอนุทินก็ไม่ใส่ใจคำทักท้วงเดินหน้าซื้อวัคซีนซิโนแวคต่อเนื่องอย่างผิดสังเกตทำให้เชื่อได้ว่าการจัดซื้อครั้งนี้ไม่ชอบมาพากลมีผลประโยชน์แอบแฝงเอื้อประโยชน์ต่อนายทุน เอาประโยชน์ส่วนตัวเป้นที่ตั้งไม่คำนึงถึงชีวิตของประชาชน

นอกจากนั้นประเสริฐได้เปิดภาพความสัมพันธ์กันระหว่างผู้บริหารของบริษัทซิโนไบโอเทคกับธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี ซึ่งเป็นมีความสัมพันธ์แบบเครือญาติกัน แต่ประเด็นนี้ชวน หลีกภัยในฐานะประธานสภาขอให้ประเสริฐไม่นำมาอภิปรายเนื่องจากเป็นการพาดพิงบุคคลภายนอก แม้ว่าทางเลขาฯพรรคเพื่อไทยจะชี้แจงว่าเป็นข้อมูลที่มีการเผยแพร่อยู่ในสื่อมวลชนอยู่แล้วก็ตาม

ทั้งนี้ประเสริฐยังคงกล่าวถึงกรณีที่บริษัทซีพีออกแถลงการณ์ชี้แจงว่าการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคเป็นการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ ไม่เกี่ยวข้องกับซีพีทั้งทางตรงและทางอ้อมซึ่งทางการไทยซื้อกับบริษัทซิโนแวคโดยตรง แต่เขาชี้ว่าการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคของรัฐบาลไทยนั้นไม่ได้เป็นการจัดซื้อแลลรัฐต่อรัฐ แต่เป็นการซื้อตามปกติโดยองค์การเภสัชกรรมติดต่อซึ่งไม่ใช่การซื้อแบบรัฐต่อรัฐตามที่ซีพีมีแถลงการณ์ออกมา

ประเสริฐเปิดจำนวนวัคซีนของแต่ละชนิดที่รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะจัดหามาให้ได้กับจำนวนที่หามาได้จริงที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

เลขาฯ พรรคเพื่อไทยชี้ให้เห็นว่ามีหลักฐานที่จะทำให้เห็นพล.อ.ประยุทธ์และอนุทินมีการทุจริตในการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค โดยหลักฐานชิ้นแรกมาจากข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขเป็นข้อมูลแผนการนำเข้าวัคซีนซิโนแวค และแผนการนำส่งจริง ราคาที่ ครม.อนุมัติให้ซื้อที่ 17 ดอลลาร์/โดส ซึ่งสูงกว่าราคาที่ซื้อจริงต่อโดสตั้งแต่ครั้งที่สองเป็นต้นมาจนถึงครั้งที่ห้า ซึ่งปรากฏว่ามีเงินส่วนต่างรวมอยู่ 2,098,529,920 บาท

เอกสารชุดที่สองจากบันทึกประชุมของคณะอนุกรรมาธิการเพื่อการแก้ไขปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2564 เป็นตารางการจัดซื้อวัคซีนเช่นเดียวกันซึ่งข้อมูลตรงกับเอกสารที่ประเสริฐได้มาจากข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขที่ชี้ให้เห็นส่วนต่างราคาวัคซีนที่ตรงกันและในเอกสารการประชุมดังกล่าวยังระบุว่าประเทศไทยจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคแล้ว 18.5 ล้านโดสแต่ได้มาทั้งหมด 19.5 ล้านโดสเนื่องจากมีการบริจาคมาแล้ว 1 ล้านโดส การซื้อขายที่เกิดขึ้นเป็นแบบครั้งต่อครั้งเมื่อผลิดวัคซีนได้แล้วก็จะมีการแจ้งมาที่องค์การเภสัชกรรมทราบแล้วซื้อเป็นครั้งคราวโดยไม่มีลงนามในสัญญาจ้าง ทั้งนี้บริษัทซิโนแวคได้ลดราคาลงมาอย่างต่อเนื่องทุกครั้งที่มีการซื้อตามข้อมูลในตารางดังกล่าว ซึ่งครั้งล่าสุดคือ 9 ดอลลาร์

ประเสริฐกล่าวว่าให้เห็นว่าแม้ในการซื้อครั้งแรกอาจจะด้วยเหตุเร่งด่วนแต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการกลายพันธุ์ของเชื้อแล้วและวัคซีนซิโนแวคไม่สามารถป้องกันได้ แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ยังอนุมัติให้ซื้อวัคซีนซิโนแวคเป็นวง 6,064 ล้านบาททั้งที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ทักท้วงให้ซื้อวัคซีนอื่นเพิ่มด้วยแล้วก็ตาม ทำให้เห็นว่าการซื้อวัคซีนซิโนแวค ตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค.ถึง 31 ส.ค. 2564 มีการซื้อสามครั้ง บริษัทคิดราคามาครั้งที่ 1 14 ดอลลาร์ ครั้งที่สอง 9.5 ดอลลาร์ ครั้งที่สาม 9 ดอลลาร์ ส่วนต่างที่ ครม. อนุมัติกับราคาที่องค์การเภสัชกรรมซื้อมาจริงจากบริษัทมีผลต่างราคาอยู่ที่ 1,603,280,000 บาท เขาตั้งคำถามว่าเงินส่วนต่างนี้อยู่กับใครแล้วทำไม ครม.ไม่อนุมัติเงินลดลงไปตามที่บริษัทตั้งราคาขายถูกลง แล้วการซื้อครั้งล่าสุด 12 ล้านโดส ครม.ก็ยังคงอนุมัติที่ 17 ดอลลาร์/โดส ซึ่งทางบริษัทก็ตั้งราคามาที่ 9 ดอลลาร์/โดส ซึ่งมีส่วนต่างอยู่ที่ 8 ดอลลาร์/โดส รวมเป็นเงิน 96 ล้านดอลลาร์คิดเป็นเงินไทย 3,133 ล้านบาท

“นี่คือการหากินบนความตายของพี่น้องประชาชน ถ้าเป็นเรื่องจริงผมก็ถือว่าเป็นการโกงอย่างไร้ยางอาย ปิดข้อมูลไม่เปิดเผยให้กับพี่น้องประชาชน” เลขาฯ พรรคเพื่อไทยกล่าว

ประเสริฐกล่าวต่อไปว่า ในรายงานของกรรมาธิการระบุถึงคำให้การของผู้แทนของกรมควบคุมโรคว่าได้ซื้อวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว 18 ล้านโดส ในราคา 17 ดอลลาร์ต่อโดสโดยจัดซื้อผ่านองค์การเภสัชฯ และกำลังจะซื้อเพิ่มอีก 12 ล้านโดสเพื่อใช้ในการฉีดไขว้ระหว่างวัคซีนซิโนแวคกับแอสตราเซเนกาเนื่องจากกรมควบคุมโรคได้ข้อมูลมาว่าถ้าฉีดไขว้จะให้ภูมิคุ้มกันสามเท่าใน 3 สัปดาห์ แต่รายงานของกรรมธิการก็แสดงความกังวลไว้ในรายงานฉบับนี้ว่าการฉีดไขว้ตามที่กรมควบคุมโรคดำเนินการอาจเกิดอันตรายต่อประชาชนหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีการใช้วิธีนี้ในต่างประเทศและไม่มีงานวิจัยรับรองที่ชัดเจน

ประเสริฐกล่าวว่าตนจึงไม่แปลกใจที่พล.อ.ประยุทธ์และอนุทินจะออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมและหลายครั้งที่ผ่านมาเมื่อพล.อ.ประยุทธ์กระทำความผิดก็ออกระเบียบมางดเว้นความผิดของตัวเองโดยเขายกข้อมูลการออกกฎหมายมายกเว้นความผิดตัวเองตั้งแต่ คสช.ยึดอำนาจเข้ามาเมื่อปี 2557

นอกจากประเด็นเรื่องวัคซีนซิโนแวคแล้ว ประเสริฐยังกล่าวถึงการจัดซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกาของรัฐบาลด้วยว่ามีการผูกขาดตัดตอน มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และไม่ระวังในการจัดซื้อ การทำสัญญาทำให้รัฐเสียเปรียบเมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนอีกหลายชนิด มีการหลีกเลี่ยงกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งวัคซีนแอสตราเซเนกาในไทยเริ่มจากการร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยออกฟอร์ดและบริษัท SCG ที่จะทำให้ไทยมีศักยภาพในการผลิตวัคซีน

ทั้งนี้ประเสริฐตั้งข้อสังเกตว่าภาครัฐเองมีโรงงานผลิตวัคซีนที่มีชื่อว่า GPOMBP ที่เป็นโรงงานผลิตวัคซีนที่ทันสมัย และองค์การเภัสชกรรมร่วมผลิตวัคซีนมาตั้งแต่ 2545 แต่ทำไมไม่ให้โรงงานที่รัฐเป็นเจ้าของได้มีส่วนในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

เลขาฯ พรรคเพื่อไทยระบุว่ากรณีนี้มีหลักฐานว่ามีการกระทำที่มิบังควรต่อสถาบันกษัตริย์ โดยพล.อ.ประยุทธ์พาดพิงถึงสถาบันเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนแอสตราเซเนกา ซึ่งเขาเปิดคลิปที่พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงที่ให้บริษัทสยามไบโอไซเอนส์ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธยในการผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกา ซึ่งเขาชี้ว่าการบริหารจัดการวัคซีนแอสตราเซเนกานี้ไม่ได้มีการจัดการบริหารความเสี่ยงเอาไว้โดยกำหนดให้เป็นวัคซีนหลัก โดยที่ก็มีคนออกมาแสดงความเห็นเช่นการให้สัมภาษณ์ของ นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของสยามไบโอไซเอนซ์ที่แสดงความเห็นว่ารัฐบาลไทยควรหาวัคซีนไว้หลายทางเลือกให้กับประชาชนซึ่งเป็นการแทงม้าตัวเดียวของรัฐบาลมาที่บริษัทเองและควรมองว่าเป็นเพียงบริษัทเอกชนที่สามารถรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาผลิตได้เท่านั้น

นอกจากการบริหารความเสี่ยงแล้วก็ยังปัญหาในการทำสัญญากับบริษัทแอสตราเซเนกา ยูเคอีก คือเป็นการจัดซื้อบ่วงหน้าต้องจ่ายเงินล่วงหน้าร้อยละ 60 ของมูลค่าวัคซีนทั้งหมด ส่วนการทำสัญญาคือกรมควบคุมโรคภายใต้เงื่อนไขว่าโอกาสที่จะได้หรือไม่ได้รับวัคซีนดังกล่าวขึ้นอยู่กับผลของการวิจัยและพัฒนาหรือเหตุอื่นๆ ข้อตกลงเช่นนี้เป็นการเสียเปรียบอย่างยิ่งถ้าเกิดแอสตราเซเนกาพัฒนาวัคซีนไม่ได้ประเทศไทยต้องเสียเงินจองร้อยละ 60 ของมูลค่าวัคซีนไปประมาณ 2 พันล้านบาท และไม่มีข้อบังคับว่าบริษัทจะต้องส่งวัคซีนตามกำหนด ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์และอนุทินไม่สามารถดำเนินการตามมติ ครม.ได้ เมื่อเกิดความล่าช้าก็ไม่สามารถเอาผิดกับบริษัทผู้ผลิตได้ ในสัญญาไม่ระบุจำนวนวัคซีนและเวลาในการผลิตวัคซีนที่แน่นอนที่จะส่งมอบวัคซีนเนื่องจากเป็นการจองล่วงหน้าและยังอยู่ระหว่างวิจัยซึ่งอาจไม่เป็นไปตามแผนด้วย

ประเสริฐยังตั้งคำถามถึงการทำสัญญาที่ระบุถึงจำนวนวัคซีนที่ผลิตได้ทุก 3 ล้านโดสจะมอบให้กับไทยมีเพียง 1 ล้านโดสและอีก 2 ล้านโดสส่งออกต่างประเทศว่าทำไปได้อย่างไร ทำไมจึงไม่มีการนำมาฉีดให้ประชาชนไทยก่อนทั้งที่ประเทศไทยก็ขาดแคลน

เลขาฯ พรรคเพื่อไทยระบุว่า การทำสัญญานี้ก็เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ซึ่งเข้าใจได้ว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทน ผู้ซื้อมีหน้าที่ชำระราคาสินค้าผู้ขายส่งมอบสินค้า หากนายกฯ และ รมต.สาธารณสุขทำตามรัฐธรรมนูญที่มาตรา 164 มีความซื่อสัตย์สุจริต รอบคอบในการทำสัญญา การจองวัคซีนแอสตราเซเนกาจำนวน 61 ล้านโดสโดยมีเงื่อนไขข้างต้นทำให้ประเทศไทยไม่สามารถบริหารวัคซีนได้เลย วันเวลาในการฉีดวัคซีนก็ไม่มีความแน่นอน การทำสัญญาที่เสียเปรียบเช่นนี้ทำได้อย่างไร ประชาชนไทยยังคงไม่ได้ฉีดวัคซีนทั้งที่มีโรงงานผลิตในประเทศ

นอกจากนั้นยังมีประเด็นเรื่องความสับสนในการทำสัญญาระหว่างบริษัทกับทางการไทย ที่ทางบริษัทมีเอกสารถึงที่กล่าวถึงอนุทินที่เป็น รมต.สาธารณสุขว่าการผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกาในไทยจะทำให้กระทรวงสาธารณสุขไทยได้รับวัคซีน 5-6 ล้านโดสต่อเดือนขึ้นกับผลผลิตของสารที่นำมาใช้ในการผลิตวัคซีน ซึ่งท้ายจดหมายระบุว่ากระทรวงสาธารณสุขบอกว่าต้องการเพียง 3 ล้านโดสเท่านั้น แต่ต่อมาอนุทินมีจดหมายตอบกลับถึงแอสตราเซเนกาว่าหวังว่าจะได้วัคซีนมากกว่า 1ใน 3 ของการจัดส่งของแอสตราเซเนกา หรืออย่างน้อยคือ 10 ล้านโดสต่อเดือน สำหรับใช้ในการผลิต ซึ่งประเสริฐเห็นว่าประเด็นนี้สร้างความสับสนว่าเป็นความผิดพลาดของกระทรวงหรือบริษัทกันแน่ที่ทำให้เกิดการขาดแคลนวัคซีน

ประเสริฐชี้ว่าความผิดพลาดเหล่านี้ทำให้ประชาชนไม่เชื่อใจรัฐบาลที่มีการบริหารผิดพลาดอย่างมาก และเขาขอกล่าวหาว่าพล.อ.ประยุทธ์และอนุทินจงใจงดเว้นการปฏิบัติผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ไม่สามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ขาดความรอบคอบและขาดความระมัดระวัง ที่มีการประกาศว่าประชาชนไทยจได้วัคซ๊นทุกคนและไม่เป็นไปตามมติ ครม.ที่ให้ประชาชนไทยจะต้องเข้าถึงวัคซีนทุกคน

นอกจากนั้นพล.อ.ประยุทธ์และอนุทินยังร่วมกันจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคส่อไปในทางทุจริตไม่เปิดเผยโปร่งใสเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง แสวงหาประโยชน์จากชีวิตของประชาชน และยังกีดกันวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า มีการผูกขาดเอื้อประโยช์ต่อเอกชนรายเดียวคือแอสตราเซเนกา ไม่ระวังในการทำสัญญาเสียเปรียบ จากเหตุเหล่านี้ทำให้ประชาชนเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งและนำมาสู่การอภิปรายในครั้งนี้ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์และอนุทิน ควรลาออกเพื่อเป็นการรับผิดชอบจากความผิดพลาดทั้งหมดนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net