Skip to main content
sharethis

เบเฮชตา อาร์กานด์ นักข่าวหญิงรุ่นใหม่ของอัฟกานิสถานจำต้องหนีออกจากประเทศหลังจากสัมภาษณ์ทั้ง มาลาลา ยูซาฟไซ ผู้รอดชีวิตจากการโจมตีของตาลีบันและตัวแทนระดับสูงของตาลีบัน เธอเป็นหนึ่งในผู้สื่อข่าวหลายคนที่ต้องเดินทางออกจากประเทศเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยในสถานการณ์ที่ตาลีบันคุกคามสื่อ

เบเฮชตา อาร์กานด์(ซ้าย) และ Mawlawi Abdulhaq Hemad(ขวา) ตัวแทนฝ่ายตาลีบัน จากวิดีโอสัมภาษณ์ของ TOLO News

31 ส.ค. 2564 ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เบเฮชตา อาร์กานด์ ได้สร้างประวัติศาสตร์ไว้ในอัฟกานิสถาน เธอเป็นผู้ประกาศข่าวจากช่องข่าว TOLO ในอัฟกานิสถานที่ได้ทำการสัมภาษณ์ตัวแทนระดับสูงของตาลีบันออกอากาศ และการสัมภาษณ์นี้ก็ก็กลายเป็นพาดหัวข่าวแพร่กระจายไปทั่วโลก

ในอีกสองวันถัดจากนั้นอาร์กานด์ได้สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งด้วยการสัมภาษณ์ มาลาลา ยูซาฟไซ นักกิจกรรมที่รอดชีวิตจากการพยายามลอบสังหารของกลุ่มตาลีบัน ซึ่งช่อง TOLO ระบุว่านับเป็นครั้งแรกที่ยูซาฟไซได้ให้สัมภาษณ์ต่อช่องโทรทัศน์อัฟกัน

ถึงแม้อาร์กานต์จะกลายเป็นนักข่าวที่ล้ำหน้านำเสนอในสิ่งที่สื่ออัฟกันอื่นๆ ไม่เคยนำเสนอ แต่เธอกลับต้องหยุดยั้งงานของตัวเองไว้และตัดสินใจหนีออกจากอัฟกานิสถาน โดยบอกว่าเป็นเพราะเธอเผชิญกับความเสี่ยงอันตรายแบบที่นักข่าวและประชาชนทั่วไปในอัฟกานิสถานต้องเผชิญ

อาร์กานต์กล่าวว่า "ฉันหนีออกจากประเทศด้วยเหตุผลเช่นเดียวกับประชาชนหลายล้านคนในอัฟกานิสถาน คือฉันกลัวพวกตาลีบัน"

ซาอัด โมห์เซนี เจ้าของสื่อ TOLO กล่าวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับอาร์กานต์สะท้อนสถานการณ์ในอัฟกานิสถานที่มีนักข่าวซึ่งเป็นที่รู้จักพากันหนีออกจากประเทศ โดยที่สื่อของพวกเขาเองก็กำลังดิ้นรนอย่างมากในการเฟ้นหานักข่าวใหม่มาแทนที่นักข่าวเหล่านี้ ขณะเดียวกันก็เผชิญกับความท้าทายในการช่วยเหลือนักข่าวที่อยากหนีออกจากประเทศ

อาร์กานด์ซึ่งตอนนี้อายุ 24 ปีเล่าให้สื่อซีเอ็นเอ็นฟังว่า เธอตัดสินใจอยากเป็นนักข่าวมาตั้งแต่ตอนที่เธอเรียนอยู่ในชั้นเรียนเทียบเท่า ม.3 เธอได้ออกไปอ่านข่าวหน้าชั้นทำให้เธอรู้สึกว่า "เหมือนเราได้เป็นผู้ประกาศข่าวในทีวีเลย" จากนั้นเธอได้ศึกษาต่อสาขาวารสารศาสตร์ในมหาวิทยาลัยคาบูลเป็นเวลา 4 ปี หลังจากนั้นก็ได้ทำงานกับสำนักข่าวหลายแห่งและสถานีวิทยุหลายสถานีในช่วงเวลาสั้นๆ จากนั้นจึงเข้าทำงานในสื่อ TOLO ในฐานะผู้ประกาศข่าวและพิธิกรในช่วงต้นปี 2564 นี้ อาร์กานด์บอกว่าเธอทำงานได้แค่ 1 เดือน กับอีก 20 วัน กลุ่มตาลีบันก็โผล่มา

โมห์เซนีบอกว่าการที่อาร์กานต์สัมภาษณ์ตัวแทนตาลีบันออกอากาศเมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมานั้น "นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ตัวแทนตาลีบันได้ปรากฏตัวในสตูดิโอโทรทัศน์นั่งอยู่ตรงข้ามกับผู้ประกาศข่าวผู้หญิง" ซึ่งกลุ่มตาลีบันพยายามนำเสนอภาพลักษณ์ของตัวเองให้ดูเป็นพวกสายกลางต่อสายตาชาวโลก

อาร์กานด์กล่าวว่าการสัมภาษณ์ตาลีบันเป็นเรื่องยาก แต่เธอก็ "ทำเพื่อผู้หญิงชาวอัฟกัน"

"ฉันบอกตัวเองว่า 'ต้องมีใครสักคนหนึ่งในหมู่พวกเราที่เริ่ม ... ถ้าเรายังคงอยู่ในบ้านของเราหรือไม่ได้ไปในที่ทำงานของพวกเรา พวกนั้น(ตาลีบัน)ก็จะอ้างว่าผู้หญิงไม่อยากทำงาน' แต่ฉันบอกกับตัวเองว่า 'เริ่มทำงานเถอะ' ...แล้วฉันก็บอกกับพวกตาลีบันเลยว่า พวกเราต้องการสิทธิของพวกเรา พวกเราต้องการทำงาน พวกเราต้องการและควรจะได้อยู่ในสังคม นี่คือสิทธิของพวกเรา"

ซีเอ็นเอ็นระบุว่าในช่วงนี้กลุ่มตาลีบันทำการข่มขู่คุกคามสื่อมากขึ้นเรื่อยๆ 2 วันให้หลังจากที่อาร์กานด์สัมภาษณ์ยูซาฟไซ เธอก็ขอให้นักกิจกรรมช่วยเหลือจนกระทั่งได้ขึ้นเครื่องบินอพยพคนของกองทัพอากาศกาตาร์พร้อมกับสมาชิกครอบครัวของเธอหลายคนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

อาร์กานด์บอกว่าเธอหวังว่าจะกลับมาที่อัฟกานิสถานถ้าหากพวกตาลีบันทำตามที่พวกเขาสัญญาเอาไว้จริง และสถานการณ์ในประเทศดีขึ้น ทำให้เธอรู้สึกว่าจะไม่มีอะไรเป็นภัยคุกคามเธอ เธอก็พร้อมจะกลับประเทศและทำงานให้กับประเทศและทำงานรับใช้ประชาชนของประเทศเธอเอง

 

เรียบเรียงจาก

Female journalist flees Afghanistan following groundbreaking TV interview with Taliban spokesman, CNN, 30-08-2021

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net