'วิโรจน์' กางสัญญา 'แอสตราเซเนกา' ไม่เซ็นเซอร์ พบไร้กำหนดส่ง-ยอดต่อเดือน ไม่จำกัดการส่งออก

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ 'ประยุทธ์-อนุทิน' ชี้รัฐโกหกประชาชนทั้งที่รู้พร้อมเปิดเผยสัญญาวัคซีนแอสตราเซเนกาของไทย พบไร้กำหนดส่ง-ยอดต่อเดือน ไม่จำกัดการส่งออก

1 ก.ย. 2564 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อภิปรายไม่ใจวางใจรัฐบาลกรณีสัญญาจัดซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา ซึ่งไม่ใช่ความล้มเหลวที่เกิดจากความไม่รู้หรือประมาทเลินเล่อ แต่เป็นความจงใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เล็งเห็นถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนทั้ง 67 ล้านคนได้ล่วงหน้า แต่ก็ยังดึงดันที่จะพาประชาชนทั้งประเทศไปเสี่ยงกับความตาย

วิโรจน์ ระบุว่าเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2564 ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา ตนได้เตือนทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และอนุทิน ถึงการกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน ในวันนั้น อนุทินได้ตอบชี้แจงว่าผู้ผลิตวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ ได้มาติดต่อกับรัฐบาลแล้ว และบอกว่าจะจัดส่งได้เร็วที่สุดในไตรมาส 3 ของปี 2564 อนุทิน ระบุว่าในเวลานั้นประเทศไทยจะมีวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตในประเทศไทยเต็มโรงพยาบาล เต็มแขนคนไทย จนไม่มีที่พอเก็บ แต่วันนี้ เรากลับมีแต่วัคซีนที่ไม่มีประสิทธิผลเพียงพอที่จะป้องกันเชื้อสายพันธุ์เดลต้าอย่างซิโนแวค

วิโรจน์ ระบุว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากสัญญาที่รัฐบาลไทยทำกับบริษัทแอสตราเซเนกา ซึ่งแบ่งเป็นสัญญาจัดซื้อ 26 ล้านโดส และสัญญาจัดซื้อ 35 ล้านโดส ที่ออกมาเป็นมติ ครม. ในวันที่ 5 ม.ค. 2564 ซึ่งควรต้องทำสัญญาจองซื้อเรียบร้อยแล้ว หรืออย่างน้อยก็ควรต้องมีการลงนามหนังสือใดๆ แต่ครม. กลับเพิ่งให้จองซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกาเพิ่มจากล็อตแรก 26 ล้านโดส เป็น 61 ล้านโดส เมื่อวันที่ 23 ก.พ. หลังจากที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ต่อมา สถาบันวัคซีนแห่งชาติส่งสัญญาจัดซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา 26 ล้านโดส ที่ลงนามเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2564 มาให้ตนเท่านั้น แต่ไม่ได้เปิดเผยสัญญาจัดซื้ออีก 35 ล้านโดส ซึ่งเอกสารดังกล่าวล้วนเต็มไปด้วยการถมดำข้อความเอาไว้ จนในที่สุด เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2564 หลังจากเริ่มต้นฉีดวัคซีนไปได้แค่ 6 วัน อธิบดีกรมควบคุมโรคได้ให้สัมภาษณ์ว่าตัวเลข 61 ล้านโดส เป็นเพียงศักยภาพในการฉีด ไม่ใช่จำนวนที่แอสตราเซเนกาต้องส่งมอบ

จนเดือน มิ.ย. รัฐบาลได้รับการส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกาเพียง 5.1 ล้านโดส ไม่ตรงตามแผนการส่งมอบเดือนแรก 6.3 ล้านโดส ทำให้มีประชาชนถูกเลื่อนการฉีดวัคซีนจนติดโควิด-19 จนเสียชีวิต และต่อมามีการเปิดเผยโดยผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ว่าแอสตราเซเนกาน่าจะส่งมอบวัคซีนให้รัฐบาลไทยได้เพียง 5-6 ล้านโดสเท่านั้น ไม่เป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีนที่ต้องได้รับเดือนละ 10 ล้านโดส และยังชี้แจงต่ออีกว่าในสัญญากับแอสตราเซเนกา ไม่ได้ระบุไว้ว่าต้องส่งมอบเดือนละเท่าไหร่

“เมื่อนำไปเทียบกับสัญญาวัคซีนแอสตราเซเนกาของสหภาพยุโรป เขาจะมีตารางที่ระบุประมาณการในการส่งมอบวัคซีนแต่ละเดือน ว่าจะมีการส่งมอบเท่าไรบ้าง ผมก็คาดหวังว่าสัญญาถมดำที่รัฐบาลไทยทำกับแอสตร้าเซเนก้า จะต้องมีตารางในลักษณะคล้ายๆ กันอยู่ในนั้นแน่ๆ แต่สุดท้ายเอกสารที่ผมได้รับมาอีกชุดหนึ่ง เมื่อเปิดออกมา กลับไม่พบตารางอะไรเลย ไม่เห็นยอดประมาณการในการส่งมอบอะไรเลย มาถึงจุดนี้ผมคิดว่าเราต้องยอมรับโดยดุษฎี ว่าสัญญาที่ พล.อ.ประยุทธ์ไปทำเอาไว้ ไม่ได้มีการระบุยอดประมาณการส่งมอบวัคซีนอะไรเอาไว้เลยจริงๆ จนต้องตั้งคำถามกับ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าไปทำสัญญาหละหลวมนี้ไว้ได้อย่างไร” วิโรจน์กล่าว

 

วิโรจน์อภิปรายต่อไปว่าต่อมารัฐบาลจำใจต้องยอมรับกับประชาชนว่าการส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส ได้ขยายกรอบเวลาในการส่งมอบไปที่ 1 พ.ค. 2565 โดยในสัญญาไม่ได้มีการระบุว่าต้องส่งมอบทั้ง 61 ล้านโดสภายในปี 2564 และไม่มั่นใจว่าจะสามารถบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีน ในการจำกัดการส่งออกได้หรือไม่

ด้านอธิบดีกรมควบคุมโรคให้สัมภาษณ์ว่าในสัญญาการส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกา ไม่ได้กำหนดว่าต้องส่งมอบเดือนละเท่าไหร่ แผนการจัดหาวัคซีน 61 ล้านโดสเป็นแผนที่รัฐบาลแจ้งแอสตราเซเนกาไป แต่แอสตราเซเนกาไม่ได้ตอบรับและไม่ได้ตอบปฏิเสธ จนเอกสารหลุดออกมาปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2564 ซึ่งเป็นหนังสือที่แอสตราเซเนกาทำถึงอนุทิน ลงวันที่ 25 มิ.ย. 2564 เพื่อแจ้งให้ทราบว่าแอสตราเซเนกาจะจัดสรรกำลังการผลิตหนึ่งในสามเพื่อส่งมอบวัคซีนให้กับรัฐบาลไทย ซึ่งก็คือประมาณเดือนละ 5-6 ล้านโดส และยอดวัคซีนที่แอสตราเซเนกาจะส่งมอบในตอนนี้ เป็นยอดเกือบสองเท่าจากที่รัฐบาลไทยเคยประเมินความต้องการให้กับแอสตราเซเนกา ที่ประเมินว่าไทยต้องการวัคซีนเดือนละ 3 ล้านโดสเท่านั้น

ส่วนเอกสารยังระบุว่าสัญญาที่สั่งซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส เพิ่งลงนามเมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมานี่เอง แล้วที่ผ่านมา รัฐบาลกล้าประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนทราบถึงแผนการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 61 ล้านโดสได้อย่างไร ทั้งที่ยังไม่ได้มีการลงนามจากคู่สัญญาเลย

รัฐบาลเป็นคนกำหนดในสัญญา ไร้เงื่อนไขจำกัดการส่งออก-เปิดฟรีสไตล์ส่งได้ถึงปีหน้า

วิโรจน์ยังอภิปรายต่อไป ว่าหากลองพิจารณาจากหนังสือการประชุม ศบค. วันที่ 24 ส.ค. 2563 เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาอุดหนุนเงินเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ มีเงื่อนไขในการอุดหนุนว่า “เพื่อให้ประเทศไทยได้รับสิทธิในการซื้อวัคซีนที่ผลิตโดยผู้ผลิตในไทยเป็นอันดับแรกตามจำนวนที่ต้องการ”

อย่างไรก็ตาม มติ ครม.ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2563 พล.อ.ประยุทธ์กลับไม่ได้ใช้เงินกู้ แต่ใช้อำนาจของตัวเองไปอนุมัติงบกลางในวงเงิน 600 ล้านบาท อุดหนุนให้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์แทน ก็เพราะใช้เงินกู้ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขการจำกัดการส่งออกวัคซีน จากนั้น ยังส่งไม้ต่อให้อนุทิน ไปลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงในการทำสัญญา (letter of intent) เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2563 ยอมรับข้อตกลงการส่งออกโดยปราศจากข้อจำกัดกับบริษัทแอสตราเซเนกาประเทศไทย

นี่คือเหตุผล ที่ พล.อ.ประยุทธ์และนายอนุทินมีความอ้ำอึ้ง ไม่กล้าบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีน ในการจำกัดการส่งออกวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตในประเทศไทย เพราะตัวเองไปตกลงกับเงื่อนไขที่ยอมให้แอสตราเซเนกาส่งออกวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยได้ โดยปราศจากข้อจำกัดไว้ตั้งแต่แรก

“วันนั้นนายอนุทินบอกว่า วัคซีนแอสตราเซเนกาจะไม่มีทางถูกตัดคิว ไม่มีทางที่จะมีใครมาแย่ง ไม่มีวันที่จะไม่มาถึงมือของคนไทย เพราะผลิตอยู่ในประเทศไทย จึงเป็นการจงใจหลอกลวงประชาชนอย่างชัดเจน เพราะนายอนุทินรู้อยู่แก่ใจว่า รัฐบาลไม่สามารถจำกัดการส่งออกวัคซีนได้เลย” วิโรจน์กล่าว

วิโรจน์ยังกล่าวต่อไปว่าเมื่อพิจารณาในสัญญาจองซื้อวัคซีน ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้ลงนามไว้กับแอสตราเซเนกาประเทศไทย ในส่วนของข้อเสนอโครงการที่อยู่ในภาคผนวก โดยในหัวข้อวัตถุประสงค์เฉพาะ (specific objectives) ได้ปรากฏชื่อของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ผูกพันเอาไว้ในสัญญาด้วย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเตรียมศักยภาพในการผลิตวัคซีนให้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์

หากรัฐบาลจะเติมเงื่อนไขจำกัดการส่งออกวัคซีนที่ส่งออกโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ในสัญญาก็ย่อมทำได้ แต่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ กลับตัดสินใจและจงใจที่จะไม่ใส่เงื่อนไขนี้ลงไปในสัญญาเอง และเท่ากับว่ารัฐบาลเอาเงินภาษีของประชาชน 600 ล้านบาทไปอุดหนุนบริษัทเอกชน เพื่อให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์มีศักยภาพในการผลิตวัคซีนส่งให้กับแอสตราเซเนกาเท่านั้น

 

 

“นี่คือข้อยืนยัน ว่าสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำ คือการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาสร้างความนิยมทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงชีวิตของพี่น้องประชาชนคนไทยเลย โชคดีที่คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้เตือนสติของ พล.อ.ประยุทธ์เอาไว้ ไม่เช่นนั้นแล้วถ้าปล่อยให้ พล.อ.ประยุทธ์พูดคำที่ไม่สมควรพูดซ้ำไปซ้ำมา แทนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะขอบคุณคุณธนาธร กลับนำมาตรา 112 มาใช้” วิโรจน์กล่าว

จงใจตัดขากีดกันไฟเซอร์ ชี้ไทม์ไลน์ติดต่อมานานแล้วแต่ไม่สั่ง ต้องรอคนตายขึ้น 3 พันถึงกลับไปง้อ

วิโรจน์อภิปรายต่อไป ว่าในกรณีของวัคซีนไฟเซอร์ ที่มีมติ ครม. ให้จัดซื้อเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2564 มีการเซ็นสัญญาเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2564 หรืออีกสามเดือนต่อมา โดยระบุว่าจะเริ่มมีการส่งมอบในปลายเดือน ก.ย. นั้น หากย้อนกลับไปในวันที่ 17 ก.พ. ที่นายอนุทินกล่าวเองว่าในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงวันที่ 8-12 ก.พ. มีผู้แทนจำหน่ายวัคซีน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะมีผู้แทนจากไฟเซอร์ด้วย เดินทางมาพบกับอนุทิน

ถ้าในวันนั้นหรือเดือนนั้น มีมติ ครม. จัดซื้อวัคซีนจากผู้แทนจำหน่ายที่มาพบกับอนุทิน ภายในเวลา 5 เดือน ซึ่งก็ตรงกับที่อนุทินระบุว่าผู้แทนจำหน่ายเหล่านั้นจะทำการส่งมอบวัคซีนให้ประเทศไทยได้ภายในไตรมาสสาม ณ เวลานี้เราก็จะได้ไฟเซอร์เข้ามาประเทศไทยตั้งแต่เดือน ก.ค. แล้ว

“และถ้ารัฐบาลไทย โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติที่ติดต่อกับไฟเซอร์มาตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563 ตัดสินใจสั่งซื้อไฟเซอร์ตั้งแต่เดือน ม.ค. ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีการตัดสินใจซื้อวัคซีนซิโนแวค 2 ล้านโดส ป่านนี้ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เราอาจจะมีวัคซีนไฟเซอร์มาถึงมือแล้วก็ได้” วิโรจน์กล่าว

มุ่งกีดกันวัคซีนทุกยี่ห้อ เพราะไม่ต้องการให้ใครมาก่อนแอสตราเซเนกา-สยามไบโอไซเอนซ์ เอาชีวิตประชาชนเดิมพันหาซีนให้ใคร

วิโรจน์ยังอภิปรายต่อไป ว่าบางคนอาจจะคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ และอนุทินอาจจะขาดสติปัญญา หรือเรียกสั้นๆ ว่า “โง่” หรือไม่ก็บริหารวัคซีนด้วยความประมาท รู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่สำหรับตนแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ และอนุทินไม่ได้โง่ แต่มีเจตนาที่จะเอาชีวิตของประชาชนทั้งประเทศไปเสี่ยงเดิมพันกับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เป็นที่ชัดเจน ว่า พล.อ.ประยุทธ์และนายอนุทิน ไม่ยอมซื้อวัคซีนไฟเซอร์มาสำรองเอาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ยอมให้วัคซีนยี่ห้อไหนมาก่อนวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ กลัวแย่งซีนวัคซีนที่ตัวเองเลือก จนการระบาดเกิดขึ้นรุนแรง ประชาชนล้มตายเป็นผักปลา ถึงยอมที่จะซื้อวัคซีนไฟเซอร์

แม้แต่โครงการโคแวกซ์ที่มีประเทศมากกว่า 180 ประเทศเข้าร่วม ประเทศไทยก็ไม่คิดจะเข้าร่วม อ้างเหตุผลว่าถ้าเข้าร่วมโคแวกซ์แล้ว ต้องซื้อวัคซีนในราคาที่แพง และอ้างว่าวัคซีนที่จะส่งมอบในโครงการโคแวกซ์ เป็นวัคซีนแอสตราเซเนกาส่วนใหญ่ การเข้าร่วมจะทำให้เราได้วัคซีนแอสตราเซเนกา ซึ่งซ้ำกับวัคซีนที่เราผลิตเองได้

ทั้งๆ ที่รู้ว่าแผนการจัดหาวัคซีนแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดสวันนั้นยังไม่มีการทำสัญญา ไม่มีการลงนามเลย สุดท้ายเมื่อส่งมอบไม่ได้ตามเป้า รัฐบาลต้องไปรับบริจาคแอสตราเซเนกาจากญี่ปุ่น 1 ล้านโดส รับบริจาคจากอังกฤษอีก 4.15 แสนโดส และยืมจากประเทศภูฏานมาอีก 1.5 แสนโดส ล่าสุดกำลังจะติดต่อประเทศในแถบยุโรปเพื่อขอซื้อต่อวัคซีนแอสตราเซเนกาและไฟเซอร์ให้ได้เดือนละ 2-3 ล้านโดส

วิโรจน์อภิปรายว่าทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นเพียงเพราะ พล.อ.ประยุทธ์และอนุทิน ไม่ต้องการให้มีวัคซีนยี่ห้อไหนหรือโครงการอะไรมาตัดหน้าการเข้ามาของแอสตราเซเนกาที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์โดยเด็ดขาด เพราะทั้งคู่หมายที่จะใช้วัคซีนที่ผลิตในประเทศ มาสร้างความนิยมทางการเมือง โดยมีฤกษ์งามยามดีฉีดให้ประชาชนในวันที่ 7 มิ.ย. 2564

“พล.อ.ประยุทธ์และนายอนุทินไม่ได้คำนึงถึงชีวิตของประชาชนเป็นที่ตั้ง ในใจคิดแต่จะเอาวัคซีนมาสร้างความนิยมทางการเมืองลูกเดียว เอาเงินภาษี 600 ล้านบาทไปอุดหนุนบริษัทเอกชน ก็เพียงเพื่อให้บริษัทเอกชนรายนั้นมีศักยภาพที่จะผลิตวัคซีนส่งให้กับแอสตราเซเนกาประเทศไทยได้เท่านั้น ประชาชนที่ล้มตายเป็นจำนวนมาก หลายรายไม่จำเป็นต้องตาย หลายรายไม่ได้ตายเพราะความรุนแรงของโรค แต่ตายเพราะการบริหารจัดการที่ล้มเหลวของ พล.อ.ประยุทธ์และนายอนุทิน ที่จงใจพาชีวิตของประชาชนไปเสี่ยง” วิโรจน์กล่าว

หวัง 'ประยุทธ์-อนุทิน' จบที่นรก แต่ก่อนหน้านั้นคือคุกตาราง

วิโรจน์อภิปรายทิ้งท้ายว่าท่ามกลางการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ล้มเหลว จนมีผู้เสียชีวิตได้จำนวนมาก รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ยังพยายามออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขฯ โดยอ้างว่าทำไปเพื่อปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง แต่ไส้ในกลับสอดแทรกการนิรโทษกรรมตัวเองและพวกที่อยู่ในฝ่ายนโยบายไปด้วย ซึ่งจะทำให้ครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตไปจากการบริหารสถานการณ์ที่ผิดพลาด ไม่สามารถฟ้องร้องเอาผิดฝ่ายนโยบายไม่ได้

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของนายอนุทิน ทุกๆ ชั่วโมงจะมีคนตาย 10 ศพ หรือวันละ 200 กว่าศพ

การแทงม้าตัวเดียว ไม่กระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน นำเอาเงินแผ่นดิน 600 ล้านบาทไปอุดหนุนบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ คิดแต่จะเอาวัคซีนยี่ห้อเดียวมาใช้สร้างความนิยมทางการเมือง กีดกันวัคซีนยี่ห้ออื่นมาโดยตลอด ที่ตัดสินใจซื้อภายหลังก็เพราะจวนตัวจนยื้อไม่ไหว ซ้ำร้ายยังบริหารระบบสาธารณสุขล้มเหลว ดำเนินการฉีดวัคซีนล่าช้า ปล่อยให้ประชาชนมีชีวิตอย่างหวาดหวั่น

“หัวเด็ดตีนขาดทั้งสองคนก็คงจะเลือกทิ้งความเป็นคน ไม่เลือกที่จะทิ้งตำแหน่งแน่ๆ ให้เขาลาออกจากความเป็นคนยังจะง่ายกว่า  นี่จึงเป็นหน้าที่ของผู้แทนราษฎรทุกคน ที่จะต้องช่วยกันกอบกู้ความหวังของประชาชนให้คืนกลับมา โดยการดึงเอาคนทั้งสองนี้คนจากตำแหน่ง ไม่ให้ก่อกรรมทำเข็ญกับประชาชนได้อีกต่อไป ปลายทางของคนทั้งสอง คงไม่พ้นนรกโลกันตร์ แต่ก่อนหน้านั้นคือคุกตาราง” วิโรจน์กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท