Skip to main content
sharethis

Nitihub พร้อมด้วย 88 นักกฎหมาย และประชาชนทั่วไป ออกแถลงการณ์ของสื่อและและองค์กรเกี่ยวข้องจับตาคดี #ผู้กํากับโจ้ อย่างใกล้ชิด หวังดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยสุจริต โปร่งใส จี้รัฐสภาดำเนินการให้ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทรมาน การกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยเจ้าหน้าที่รัฐ มีผลบังคับใช้จริงในทางปฏิบัติโดยเร็วที่สุด รวมทั้งปฏิรูปตำรวจอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม โดยเร็วที่สุด เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

1 ก.ย.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ 'Nitihub' เผยแพร่แถลงการณ์ Nitihub, นักกฎหมาย และประชาชนทั่วไป รวม 88 รายชื่อ เรื่อง กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจทรมานผู้ต้องหาในคดียาเสพติดจนกระทั่งเสียชีวิต เรียกร้อง 3 ข้อ โดย 1. สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งสื่อมวลชนผ่านการดำเนินงานโดยอิสระ จะต้องจับตาดูและแถลงต่อสาธารณชนต่อขั้นตอนการดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยสุจริต โปร่งใส และตรวจสอบได้ ปราศจากการช่วยเหลือผู้กระทำความผิดที่มิใช่ตามปกติวิสัยในฐานะสิทธิตามกฎหมาย ทั้งนี้หากมีกระบวนการใดที่ไม่ถูกต้อง ไม่สุจริต ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ หรือมีการช่วยเหลือผู้กระทำความผิด จะต้องมีการแก้ไข พิจารณาดำเนินการใหม่ให้ถูกต้อง พร้อมทั้งดำเนินคดีผู้ที่ช่วยเหลือผู้กระทำความผิดทุกคนตามกฎหมาย

2. รัฐสภาดำเนินการให้ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทรมาน การกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยเจ้าหน้าที่รัฐ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ….. เข้าสู่กระบวนการพิจารณาเพื่อให้มีผลบังคับใช้จริงในทางปฏิบัติโดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะได้มีกฎหมายเข้ามาคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนให้ปราศจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเป็นการที่ประเทศไทยจะได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานและวิธีปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ที่ประเทศไทยได้เป็นภาคี และตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ โดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced disappearance : CED) ที่ประเทศไทยได้ลงนาม เพื่อให้กระบวนการคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพของปัจเจกชนเป็นไปตามมาตรฐานสากล

และ 3. นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รัฐสภา และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการปฏิรูปองค์กรตำรวจอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรม โดยเร็วที่สุด เพื่อให้สอดคล้องกับที่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และเพื่อให้องค์กรตำรวจ มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะในขั้นตอนของการสืบสวนสอบสวนผู้ต้องหาโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นควรมีการพิจารณาบังคับในการติดกล้อง และบันทึกภาพวิดีโอในทุกกระบวนการและทุกสถานที่สืบสวนสอบสวนผู้ต้องหา รวมทั้งจะต้องมีการสร้างความรู้ ความเข้าใจต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าการกระทำการทรมานผู้ต้องหานั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายกล่าวคือผู้ที่กระทำความผิดจะต้องรับโทษ อันจะนำมาซึ่งความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการสืบสวนสอบสวนโดยตำรวจ และกระบวนการยุติธรรม

โดยมีรายละเอียดดังนี้ : 

แถลงการณ์ Nitihub, นักกฎหมาย และประชาชนทั่วไป (พร้อมรายชื่อผู้ลงนาม) เรื่อง กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจทรมานผู้ต้องหาในคดียาเสพติดจนกระทั่งเสียชีวิต

ณ วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ตามที่ได้มีปรากฏภาพการทรมานผู้ต้องหาในคดียาเสพติดจนกระทั่งเสียชีวิต โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ จังหวัดนครสวรรค์เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย โดยการนำถุงพลาสติกมาครอบศีรษะผู้ต้องหาจนกระทั่งเสียชีวิตนั้น คดีดังกล่าวถือได้ว่าเป็นกรณีที่น่าสลดใจ รวมทั้งถือได้ว่าเป็นคดีที่มีการจับตาดูจากประชาชนผ่านทางสื่อต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และเป็นคดีที่มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของตำรวจ และความเชื่อมั่นของประชาชนในประเทศไทย ต่อกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมไทยในสายตาของนานาชาติ

นอกจากนี้คดีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า “การทรมาน” ไม่ใช่เรื่องใหม่ รวมทั้งเป็นสิ่งที่ไม่เคยหายไปจากสังคมไทย ทั้งที่การทรมาน การกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมทั้งการฆาตกรรมเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ โดยเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นพึงต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดถือกฎหมายเป็นความถูกต้องตามหลักนิติรัฐ อย่างไรก็ดีเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐเลือกที่จะกระทำการทรมานต่อผู้ต้องหาโดยไม่แยแสต่อกฎหมาย จึงเห็นได้ว่าการกระทำดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง และเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งกฎหมายภายใน อาทิ กฎหมายรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่สอดคล้องกับหลักอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment : CAT) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม

ฉะนั้นแล้วการดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมไปอย่างปกติ ยุติธรรม และโปร่งใส เป็นสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง การดำเนินคดีจะต้องปราศจากการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้กระทำความผิด หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในการกระทำผิดในวิดีโอดังกล่าวให้รอดพ้นต่อการถูกดำเนินคดี หรือมีการดำเนินคดีอย่างไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรม นอกเหนือไปจากสิทธิตามกฎหมายที่ผู้ต้องหาพึงได้รับ

กระบวนยุติธรรมในคดีดังกล่าว จะต้องไม่นำมาซึ่งการเคลือบแคลงสงสัยต่อสังคม ถึงความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพในการดำเนินคดี ทั้งยังต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างการที่ผู้ต้องหาเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่อกรณีความผิดในกระบวนการยุติธรรมอื่น ๆ

ฉะนั้นแล้ว Nitihub, นักกฎหมาย และประชาชนทั่วไป รวม 88 คน ดังรายนามที่ได้แนบท้ายมานี้ ขอเรียกร้องดังจะกล่าวต่อไปนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยเฉพาะจากเจ้าหน้าที่รัฐขึ้นอีก รวมทั้งเพื่อไม่ให้ผู้ที่กระทำความผิดโดยการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายต้องลอยนวลพ้นผิด

1. สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งสื่อมวลชนผ่านการดำเนินงานโดยอิสระ จะต้องจับตาดูและแถลงต่อสาธารณชนต่อขั้นตอนการดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยสุจริต โปร่งใส และตรวจสอบได้ ปราศจากการช่วยเหลือผู้กระทำความผิดที่มิใช่ตามปกติวิสัยในฐานะสิทธิตามกฎหมาย ทั้งนี้หากมีกระบวนการใดที่ไม่ถูกต้อง ไม่สุจริต ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ หรือมีการช่วยเหลือผู้กระทำความผิด จะต้องมีการแก้ไข พิจารณาดำเนินการใหม่ให้ถูกต้อง พร้อมทั้งดำเนินคดีผู้ที่ช่วยเหลือผู้กระทำความผิดทุกคนตามกฎหมาย

2. รัฐสภาดำเนินการให้ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทรมาน การกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยเจ้าหน้าที่รัฐ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ….. เข้าสู่กระบวนการพิจารณาเพื่อให้มีผลบังคับใช้จริงในทางปฏิบัติโดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะได้มีกฎหมายเข้ามาคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนให้ปราศจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเป็นการที่ประเทศไทยจะได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานและวิธีปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ที่ประเทศไทยได้เป็นภาคี และตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ โดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced disappearance : CED) ที่ประเทศไทยได้ลงนาม เพื่อให้กระบวนการคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพของปัจเจกชนเป็นไปตามมาตรฐานสากล

3. นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รัฐสภา และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการปฏิรูปองค์กรตำรวจอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรม โดยเร็วที่สุด เพื่อให้สอดคล้องกับที่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และเพื่อให้องค์กรตำรวจ มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะในขั้นตอนของการสืบสวนสอบสวนผู้ต้องหาโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นควรมีการพิจารณาบังคับในการติดกล้อง และบันทึกภาพวิดีโอในทุกกระบวนการและทุกสถานที่สืบสวนสอบสวนผู้ต้องหา รวมทั้งจะต้องมีการสร้างความรู้ ความเข้าใจต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าการกระทำการทรมานผู้ต้องหานั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายกล่าวคือผู้ที่กระทำความผิดจะต้องรับโทษ อันจะนำมาซึ่งความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการสืบสวนสอบสวนโดยตำรวจ และกระบวนการยุติธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net