Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อบ่ายวันที่ 27 สิงหาคม 2564 หลายสำนักข่าวรายงานว่า หนึ่งในกรรมการสิทธิมนุษยชนของสภาทนายความ ได้ไปยื่นหนังสือต่อนายสิระ เจนจาคะ ในฐานะประธานกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบ “ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” ที่รับว่าความคดีผู้ชุมนุมทางการเมือง โดยกล่าวหาว่าไม่แนะนำ สั่งสอน ตักเตือนลูกความของตัวเอง ไม่ให้กระทำการละเมิดสิทธิผู้อื่นและสถาบันหลักของชาติ และขอให้นายสิระ เรียกผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มาทำความเข้าใจให้คอยชี้แนะลูกความในความดูแล ไม่ให้ไปละเมิดผู้อื่น

ผู้เขียนในฐานะที่เป็นทนายความ เคยรับว่าความให้แก่ชาวบ้าน รวมทั้งคดีชุมนุมทางการเมืองด้วย ซึ่งในการเป็นทนายความ ผู้เขียนเคยมีลูกความที่เป็นทั้งคนที่รักทักษิณ คนเชียร์ประยุทธ์ หรือคนที่หันหลังให้การเมือง ทุกครั้งเมื่อลูกความพูดแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ผู้เขียนก็ได้แต่ฟังและพูดคุยกับเขาเท่าที่สามารถคุยแลกเปลี่ยนกันได้ แต่ยังทำหน้าที่ของทนายความต่อไป โดยไม่เคยเอาความคิดเห็นทางการเมืองไปตัดสินเขา เมื่อได้อ่านข่าวนี้โดยละเอียดแล้ว รู้สึกขำขื่นอย่างยิ่ง (หมายถึงขำขัน ในขณะเดียวกันก็ขมขื่นไปด้วย) ไม่รู้จะกล่าวประการใดกับผู้ยื่นหนังสือดังกล่าว ซึ่งมีสถานะเป็นทนายความเช่นเดียวกัน ผู้เขียนจึงขอแสดงความเห็นเพื่อสื่อสารสู่สาธารณะ ดังนี้

ประการแรก ทนายความมีอำนาจและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ทนายความมีหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำเกี่ยวกับคดีความให้แก่ลูกความ และกระทำการต่างๆ แทนลูกความเกี่ยวกับคดี ในการพิจารณาคดีตั้งแต่ชั้นสอบสวนและชั้นศาล เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของลูกความ นอกจากนี้ยังมีกรอบจรรยาบรรณในการทำงาน ตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมารยาททนายความ พ.ศ. 2529

อย่างไรก็ตาม ไม่มีกฎหมายใดๆ บัญญัติให้ทนายความมีหน้าที่ต้องสั่งสอนหรือสั่งห้ามลูกความไม่ให้ไปเคลื่อนไหวทางการเมือง แม้แต่ พ.ร.บ.สภาทนายความ พ.ศ. 2528 และข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมารยาททนายความ พ.ศ. 2529 ก็ไม่ได้บัญญัติไว้ ทั้งการชุมนุมเป็นสิทธิและเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย ในทางตรงกันข้ามตลอดเวลาที่ผ่านมา ก็ปรากฏว่ามีทนายความอาวุโสที่มีชื่อเสียง ต่างก็ว่าความให้นักเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยที่ไม่ปรากฏว่าทนายความอาวุโสเหล่านั้น ได้ว่ากล่าวตักเตือนไม่ให้ลูกความหยุดเคลื่อนไหวทางการเมืองแต่อย่างใด

ประการที่สอง การมีทนายความเข้าช่วยเหลือกระทำการแทนผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดอาญา เป็นสิทธิตามกฎหมายของผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งมีแนวคิดพื้นฐานมาจากหลัก Equal Arms หรือ อาวุธที่เท่าเทียม เนื่องจากในระบบกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาสมัยใหม่ รัฐจะเป็นผู้ดำเนินคดีแทนผู้เสียหายในคดีอาญา รัฐจะให้ผู้เชี่ยวชาญ คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานอัยการดำเนินคดีแทน เพื่อเอาผิดแก่ผู้ที่ถูกกล่าวหา ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาส่วนใหญ่มักเป็นเพียงประชาชนที่ไม่มีความรู้ทางเทคนิคด้านกฎหมาย และบางส่วนถูกคุมขังไว้ ไม่สามารถออกมาเสาะหาพยานหลักฐานและเตรียมการเพื่อต่อสู้คดีเองได้ จึงเป็นการต่อสู้ที่ฝ่ายรัฐได้เปรียบกว่ามาก ดังนั้น กฎหมายจึงกำหนดให้ฝ่ายผู้ที่ถูกกล่าวหา สามารถแต่งตั้งทนายความมาดำเนินการแทน เพื่อจะได้ต่อสู้คดีได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน

ดังนั้น สิทธิในการมีทนายความ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่มีความสำคัญมาก จึงถูกบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม โดยในชั้นพนักงานสอบสวน บัญญัติไว้ในมาตรา 134/1 สำหรับในชั้นศาลบัญญัติไว้ในมาตรา 173

นอกจากนี้สิทธิในการมีทนายความ ยังถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐจะต้องให้บริการประชาชน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสอง จึงบัญญัติว่า “ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้” โดยให้ศาลจ่ายค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งขึ้นมานั้น

ประการที่สาม คดีความต่างๆ ที่นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกจับกุมดำเนินคดี มีมูลเหตุมาจากการเคลื่อนไหวคัดค้านและเรียกร้องทางการเมืองต่อรัฐบาล เนื่องจากประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ ไม่สามารถทนกับพฤติกรรมของผู้มีอำนาจ และปัญหาการบริหารประเทศของผู้มีอำนาจในรัฐบาลต่อไปได้ จึงลุกขึ้นมาใช้สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย ชุมนุมประท้วงอย่างสันติวิธี แต่แทนที่รัฐบาลจะฟังเสียงของประชาชน กลับใช้กลไกกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์) เป็นเครื่องมือกดหัวประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว กล่าวหาว่ากระทำความผิดกฎหมาย หรือโดยการตีความกฎหมายแบบบิดเบือน หรือตีความขยายขอบเขตกว้างขวางเกินเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นๆ เพื่อมุ่งเอาผิดคนที่พวกเขาเห็นว่าเป็น “ฝ่ายตรงข้าม”

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผู้มีอำนาจในรัฐบาล ใช้กลไกกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นเครื่องมือปกป้องผลประโยชน์ทางการเมืองของตนและเครือข่ายเช่นนี้ จึงเป็นหน้าที่ของทนายความที่จะต้องให้บริการทางกฎหมายแก่ประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิทางการเมือง เพื่อถ่วงดุลไม่ให้ผู้มีอำนาจใช้อำนาจตามอำเภอใจ และตรวจสอบกลไกในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งเป็นสถาบันสำคัญของรัฐ เพื่อพยายามไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้มีอำนาจเพียงบางกลุ่ม ที่ผ่านมา ปรากฏว่า คดีที่นักกิจกรรมหรือนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ถูกศาลพิพากษายกฟ้องก็มีเป็นจำนวนมาก เพียงแต่ถูกทำให้ภาระทางคดี ต้องใช้ระยะเวลาต่อสู้ใน “กระบวนการยุติธรรม” หลายปี

อีกข้อกล่าวหาสำคัญของผู้มีอำนาจต่อประชาชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้อง คือ กระทำความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการตั้งข้อกล่าวหาที่เกินจริง เพียงเพื่อหวังผลทางการเมืองเท่านั้น ซึ่งอีกนัยยะหนึ่ง เป็นพฤติกรรมที่รัฐบาลดึงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์ มาเป็นเกราะกำบังปัญหาทางการเมืองที่ตนเองก่อขึ้น ซึ่งการทำหน้าที่ของทนายความ ที่ว่าความในคดีเหล่านี้ จะช่วยตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายรัฐบาล หากคดีไหนเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยไม่ถูกต้อง ก็จะต้องถูกยกเลิก เพิกถอน และเยียวยาความเสียหายโดยคำสั่งศาล

ประการที่สี่ ผู้เขียนเห็นว่าการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเชียร์รัฐบาล หรือไล่รัฐบาล ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถกระทำได้ ตราบใดที่เป็นการแสดงออกโดยสันติวิธี สำหรับผู้ที่เป็นทนายความ สิ่งที่จะต้องมีอยู่ในใจ คือการเคารพในสิทธิและเสรีภาพตามกฎหมายของบุคคลที่เป็นลูกความ ซึ่งสิ่งที่เขาใช้สิทธิกระทำลงไปนั้น ไม่ว่าผลจะเป็นเช่นใด เขาจะเป็นผู้รับผลของสิ่งนั้นเอง ยิ่งถ้าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่มีคำตอบแบบขาวหรือดำแล้ว ทนายความยิ่งต้องเคารพสิทธิของเขา

นี่ยังไม่นับว่าบรรดาผู้ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองนั้น ส่วนใหญ่เป็นคนมีความรู้ มีอุดมการณ์ และเป็นคนที่มีความหวังดีต่ออนาคตของประเทศชาติโดยรวม จึงออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง พวกเขาหลายคนมีความรู้และประสบการณ์มากกว่าทนายความ ในการออกมาต่อสู้เรียกร้องทางการเมือง พวกเขาย่อมเข้าใจสถานการณ์ รู้ว่ากำลังเสี่ยงกับอะไร พร้อมจะยอมรับและเผชิญหน้ากับผลที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ ใครถูกใครผิด เป็นเรื่องที่จะต้องไปพิสูจน์กันด้วยพยานหลักฐานในชั้นศาล ใครจะชอบหรือไม่ชอบก็ไม่อาจเอาความรู้สึกนึกคิดของตนเองไปตัดสินได้

ที่สำคัญคือ ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมารยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อ 18 กำหนดว่า ทนายความจะต้องไม่ประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือเป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนายความ ผู้เขียนคิดว่า ศีลธรรมอันดีในยุคสมัยใหม่ คือ สิทธิ เสรีภาพ และภราดรภาพ ส่วนศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนายความ คือ การทำงานอย่างเป็นมืออาชีพ เคารพในสิทธิและเสรีภาพของลูกความ ไม่เอาความรู้สึกนึกคิดของตนเองไปตัดสินความคิดเห็นทางการเมืองของคนอื่น ที่สำคัญ ทนายความเป็นผู้ที่รู้กฎหมาย และเป็นส่วนสำคัญในการปกป้องรักษาระบอบนิติรัฐนิติธรรม จึงต้องเป็นกลุ่มคนที่ยืนอยู่แถวหน้า ปฏิเสธอำนาจที่มาโดยวิธีการที่ไม่ถูกกฎหมาย และร่วมรักษาวัฒนธรรมในระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น การแนะนำ สั่งสอน ตักเตือน ลูกความของตัวเองไม่ให้ใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่ให้เขาได้กระทำในสิ่งที่สังคมเห็นว่าดีงาม ไม่ให้เขาต่อสู้คัดค้านผู้มีอำนาจที่กำลังจะทำลายอนาคตของพวกเขาและสังคม จึงเป็นสิ่งที่ทนายความไม่สมควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: เว็บไซต์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน tlhr2014.com/archives/34252

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net