นิธิ เอียวศรีวงศ์: ศิลปินแห่งรัฐราชการไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมไม่เคยใส่ใจเรื่องศิลปินแห่งชาติมาก่อน คิดถึงศิลปินแห่งชาติทีไร ก็คิดถึงพ่อเพลงแม่เพลงซึ่งแก่ตัวแล้ว ทำมาหาเลี้ยงตนเองไม่ไหว ได้ตำแหน่งพร้อมเงินเลี้ยงดูรายเดือนก็เห็นว่าดีแล้ว (แต่จะดีกว่าถ้าทำให้สวัสดิการนี้กลายเป็นบำนาญถ้วนหน้า เพราะยังมีคนแก่ที่ทำมาหาเลี้ยงตนเองไม่ไหวถูกทอดทิ้งอยู่เต็มบ้านเมืองอีกนับไม่ถ้วน ซึ่งควรได้รับการดูแลจากรัฐด้วย)

จนกระทั่งเมื่อได้ข่าวว่า คุณสุชาติ สวัสดิศรี ถูกขับให้พ้นจากตำแหน่งศิลปินแห่งชาติเพราะมีความประพฤติเสื่อมเสีย ผมจึงได้กลับไปลองศึกษาดูว่า ศิลปินแห่งชาตินี่มันอะไรกันวะ

เขาเป็นศิลปินอยู่แล้ว ชาติเพิ่งมายึดเขาไปเป็นของตน หรือเขาเป็นคนธรรมดา แล้วชาติมาตั้งให้เขาเป็นศิลปิน ไม่ว่าจะเป็นอย่างแรกหรืออย่างหลัง ชาติย่อมถอดถอนศิลปินแห่งชาติได้ ก็ตั้งมากับมือทั้งนั้น ทำไมจะถอดไม่ได้

แต่ชาติ โดยเฉพาะชาติ ซึ่งมีแต่รัฐไม่มีสังคมอย่างชาติไทยนั้น มีปัญญาตั้งให้ใครเป็นศิลปินได้หรือ?

ตำแหน่งศิลปินแห่งชาติของไทยให้ทั้งเกียรติยศและเงิน แต่ที่ควรสำนึกกันให้ชัดไว้ด้วยก็คือ ทั้งเงินและเกียรติยศต่างเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจ

หมายความว่าอำนาจใดๆ หรือในทางใดๆ ก็ตาม ดำรงอยู่ได้ ก็ต้องแจกจ่ายเงินและเกียรติยศไปยังกลุ่มคนที่ช่วยจรรโลงอำนาจนั้นเอาไว้ จะจรรโลงด้วยการอุ้มฆ่า, ยกมือในสภา, หรือแต่งกลอนสรรเสริญอำนาจตามวาระโอกาสต่างๆ, ฯลฯ ก็ตามที

ฟังดูเหมือนการ“จ้าง”ให้เชียร์ แต่ที่จริงแล้วมีมิติที่ลึกกว่านั้น

อำนาจทั้งหลายดำรงอยู่บน“ระเบียบ”อะไรสักอย่างหนึ่งเสมอ ระเบียบดังกล่าวอาจแสดงตนออกเป็นอุดมการณ์, โลกทรรศน์, สัจธรรม, มาตรฐานความจริงและความงาม, หรืออื่นๆ ก็ได้ การดำรงรักษา“ระเบียบ”ดังกล่าวจึงมีความสำคัญเสียยิ่งกว่าดำรงรักษารูปธรรมของอำนาจด้วยซ้ำ เอาคฝ.เที่ยวกระทืบคนกลางถนนท่ามกลางการสลายตัวของ“ระเบียบ”ดังกล่าว จึงไม่บังเกิดผลในระยะยาว รองเท้าบูทของคฝ.กระทืบให้ไส้ทะลักได้ แต่ความสงสัยและปฏิเสธระเบียบก็ยังคงอยู่ในหัวสมองของคนที่ถูกกระทืบ และพยานคนอื่นที่เห็นเหตุการณ์

ศิลปะเป็นอำนาจประเภท soft power หรืออำนาจอ่อนครับ แต่อำนาจแข็งทั้งหลายนั้นดำรงอยู่ได้ก็เพราะมีอำนาจอ่อนค้ำจุนไว้ให้ ด้วยเหตุดังนั้น ขึ้นชื่อว่าศิลปะแล้วย่อมเป็นการเมืองเสมอ เพราะศิลปะย่อมยืนยันหรือคัดค้าน“ระเบียบ”ที่รองรับอำนาจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่แน่นอนว่าศิลปินที่ช่วยยืนยันอำนาจย่อมได้ทั้งความปลอดภัยและผลตอบแทนมากเสมอ เพราะเป็นธรรมดาที่ทรัพยากรส่วนใหญ่ย่อมอยู่ในมือของอำนาจ

เพราะส่วนใหญ่ของงานที่ลอกเลียนรูปแบบศิลปะ (ผมหลีกเลี่ยงจะไม่เรียกว่างานศิลปะด้วยความตั้งใจครับ) ก็คือความพยายามเสนอความงามทางด้านทัศนศิลป์และ/หรืออทัศนศิลป์ของ“ระเบียบ”ดังกล่าว ภาพเขียนที่แสดงความสงบของวัดวาอาราม โคลงกลอนอาศิรวาทในโอกาสสำคัญ นิยายที่ตอกย้ำคุณค่าทางการเมืองและสังคมซึ่งเป็นคุณแก่อำนาจ ฯลฯ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้อยู่เสมอ

ความประพฤติที่เสื่อมเสียของคุณสุชาติ สวัสดิศรีคือทำตัวเป็นอริอย่างเปิดเผยกับ“ระเบียบ”ดังกล่าว ซ้ำยังกล่าวโจมตีเพื่อนศิลปินแห่งชาติที่รับใช้“ระเบียบ”นั้นอย่างไม่ละอายในที่สาธารณะอยู่เสมอเสียด้วย

ในยุโรปโบราณมีกวีที่ถือว่าได้รับมาลัยใบไม้สด (Poet Laureate) กับกวีเดินดินกินข้าวแกง ในเมืองไทยโบราณก็มีกวีราชสำนักและกวีชาวบ้าน ศิลปินแห่งชาติของไทยปัจจุบัน ได้รับพระราชทานมาลัยใบไม้สดคล้องคออยู่ทั้งนั้นไม่ใช่หรือ

ดังจะเห็นได้ว่า มีคุณสุชาติเพียงคนเดียวที่ประพฤติเสื่อมเสีย ท่ามกลางศิลปินแห่งชาติเป็นร้อย

ยิ่งไปกว่าศิลปะเป็นการเมือง เนื้อแท้ของศิลปะ แม้แต่งานศิลปะที่ยืนอยู่ฝ่าย“ระเบียบ” คือการกบฏ หรือพูดให้ชัดกว่านั้นคือฝ่าฝืนขนบ เพราะสิ่งที่เป็นศัตรูกับศิลปะที่สุดคืออะไรก็ตามที่ซ้ำๆ คาดเดาได้ “ลงตัว”เสียจนแทบไม่ต้องสร้างสรรค์อะไรเลย เช่นความเปรียบที่ใช้กันมาตั้งแต่พระเจ้าเหา ละครที่อาศัยท้องเรื่องอยู่ไม่กี่อย่างและคนดูเดาได้ตั้งแต่ฉากแรก ภาพจิตรกรรมที่ใช้เนื้อหา, เทคนีค, การจัดวาง, ฯลฯ ซ้ำกับภาพที่ประสบความสำเร็จเป็นที่เลื่องลือของตนเอง (คือหนีไม่พ้น“ขนบ”ของตนเอง)

AI กำลังจะทำงานศิลปะประเภทนี้ได้หมดแล้ว ด้วยคำสั่งง่ายๆ เพียงคำสั่งเดียว

อารมณ์สะเทือนใจเกิดจากสิ่งที่ยังไม่คุ้นเคย มีการประกอบสร้างใหม่ ความหมายใหม่ เงาของความหมายใหม่ สัญลักษณ์ใหม่ การแทนใหม่ ปัญหาใหม่ คำตอบใหม่ ฯลฯ ศิลปะไม่ต้องการอนุรักษ์อะไรทั้งนั้น อาจใช้ขนบเก่า รูปแบบเก่า ฯลฯ เหมือนเป็นไวยากรณ์ของภาษา แต่มุ่งจะสื่อสิ่งที่ไม่มีใครสื่อมาก่อน บันดาลให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ, ความคิด, ความสังสัยลังเล, ความเชื่อมั่น, อารมณ์, ความรู้สึก, ฯลฯ อย่างที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้หากไม่ได้เสพย์งานศิลปะชิ้นนั้น

(ศิลปินจึงไม่เพียงแต่กบฏคนเดียว แต่ทำให้ผู้เสพย์งานของตนร่วมกบฏไปด้วย)

ดังนั้น ชาติที่พร้อมจะมีศิลปินได้ จึงต้องเป็นชาติที่มีเสรีภาพ การฝ่าฝืนขนบและความศักดิ์สิทธิ์ทุกอย่างทำได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งในระบบการศึกษาทั้งในแบบและนอกแบบ ก็มุ่งส่งเสริมความคิดอิสระ ไม่มีทัณฑ์ทั้งทางกฎหมายหรือสังคมจะให้แก่ความแหวกแนว ไม่มีใครมีอำนาจหรืออิทธิฤทธิ์พอจะสร้าง“ความปรกติ”ที่ตายตัว ขยับเขยื้อนไม่ได้ ให้แก่คนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น“ความปรกติ”ทางการเมือง, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม, หรือสังคม

ชาติไทยไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ชาติไทยจะมี“ศิลปินแห่งชาติ” ไม่ว่าจะประกาศตั้ง ประกาศถอดกันมาสักกี่คนแล้วก็ตาม

ย้อนกลับไปดูที่มาของคนที่ได้รับประกาศให้เป็นศิลปินแห่งชาติ

จากกฎหมาย พ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ และกฎกระทรวงวัฒนธรรมแห่งชาติว่าด้วยเรื่องนี้ ปรากฏว่าอำนาจตัดสินเด็ดขาดอยู่กับคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยกรรมการที่มาจากภาครัฐ+ราชการ ๑๕ คน นอกจากมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานแล้ว ก็มีปลัดกระทรวงครบทุกกระทรวง นอกจากนี้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก ๙ คน แต่ทั้ง ๙ คนนี้ได้รับแต่งตั้งหรือถอดถอนจากนายกฯ จึงไม่ใช่บุคคลอิสระจากรัฐและราชการแต่อย่างใด

และคนเหล่านี้แหละครับ (ซึ่งผมไม่วิเคราะห์ต่อไปว่า นี่คือคนที่มีคุณสมบัติจะตัดสินงานศิลปะละหรือ) คือผู้ชี้ขาดว่าใครควรเป็นศิลปินแห่งชาติ และใครควรถูกถอดจากศิลปินแห่งชาติ ตำแหน่งศิลปินแห่งชาติจึงเป็นตำแหน่งราชการดีๆ นี่เอง และเหมือนตำแหน่งราชการทั้งหลาย ตั้งได้ย่อมถอดได้ แล้วแต่ความจำเป็นของรัฐและราชการ

ไม่เกี่ยวอะไรกับชาติ และแน่นอนไม่เกี่ยวอะไรกับศิลปะด้วย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท