Skip to main content
sharethis

โรงงานพานาโซนิคสุวินทวงศ์ ย้ายฐานผลิต ปิดกิจการ

เพจเฟซบุ๊ก สมุทรปราการ ได้โพสต์ภาพพนักงานของโรงงานพานาโซนิค ที่ทำงานเป็นวันสุดท้าย ก่อนโรงงานจะปิดตัวลงแล้วย้ายฐานการผลิต โดยได้มีการถ่ายภาพหมู่ร่วมกันบริเวณด้านหน้าโรงงานเป็นครั้งสุดท้าย รวมทั้งรูปกลุ่มพนักงานหันหลังโชว์ให้เห็นลายเซ็นบนเสื้อยูนิฟอร์มของบริษัทที่สวมใส่

โดยเฟซบุ๊ก สมุทรปราการ ได้ระบุข้อความว่า ย้ายฐานการผลิต ปิดกิจการอีกแล้ว 1 พนักงานทั้งหมดถูกเลิกจ้าง หลังจากเปิดมานับสิบๆปี ขอให้ทุกคนโชคดี พานาโซนิคสุวินทวงศ์

สำหรับโรงงาน พานาโซนิคสุวินทวงศ์ ตั้งอยู่ที่ ถ.สุวินทวงศ์ ต.คลองอุดมชลจร อ.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา เป็นบริษัทที่การผลิตเกี่ยวกับตู้แช่ และได้เปิดกิจการนานมากกว่าสิบปีแล้ว

ที่มา: Springnews, 2/9/2564

คุมเข้มแรงงานกลับ กทม. ศบค.สั่งจับตา สกัด COVID-19 กลับมาระบาดซ้ำ

1 ก.ย. 2564 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันมีวัคซีนเข้ามาในประเทศไทย 40 ล้านโดส ฉีดไปแล้ว 32 ล้านโดส อีก 8 ล้านโดสยังอยู่ในระบบ หรือฉีดแล้วแต่ยังไม่มีการลงข้อมูล จึงขอให้หน่วยฉีดเร่งลงข้อมูลการฉีด อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้เสียชีวิตวันนี้ในกลุ่มผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมีจำนวนมาก ทำให้ขณะนี้เรากำลังพิจารณาเพิ่มกลุ่มคนอายุ 50 ปี ให้ได้รับวัคซีนโดยด่วนด้วย

การเปิดกิจการ/กิจกรรม ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ จะทำให้พี่น้องแรงงานกลับเข้ามากทม. และปริมณฑล ขอให้ทุกจังหวัดมีการติดตาม คัดกรองพี่น้องประชาชนกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด รวมถึงจะพยายามระดมฉีดวัคซีนให้แก่คนงานที่อยู่ในแคมป์คนงานต่างๆ และมีการตรวจหาเชื้อ ทั้งนี้ ส่วนของการฉีดวัควีนให้กับกลุ่มผู้ประกันตน มาตรา 33 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน – 30 สิงหาคม ในพื้นที่กทม. และ 10 จังหวัด มีผู้ได้รับวัคซีนแล้วทั้งสิ้น 1.8 ล้านคน โดยเป็นส่วนที่ฉีดให้กบแรงงานในแคมป์คนงาน พื้นที่ กทม. จำนวน 50,026 คน จะเห็นได้ชัดว่าน่าจะมีคนงานที่เพิ่งกลับจากต่างจังหวัดและไม่ได้ฉีดวัคซีนอีก ซึ่งกทม. รายงานว่า จะมีสำนักโยธาธิการ ร่วมกับกระทรวงแรงงาน เป็นเจ้าภาพในการทำการสำรวจเรื่องดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคลัสเตอร์แรงงานขึ้นอีก รวมทั้งกรณีความเสี่ยงสถานีขนส่งทั้งทางบก น้ำ อากาศ ตอนนี้เริ่มเปิดให้บริการเกือบปกติ ขอให้ทุกภาคส่วน ทุกพื้นที่จังหวัดเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงเหล่านี้

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ในที่ประชุม ศปก.ศบค. ได้หารือกันว่า แม้ตัวเลขจะลดลง แต่ยังขอให้ตรึงกำลังระบบบริการสาธารณสุข เนื่องจากมีหลายจังหวัดปิดโรงพยาบาลสนามเพื่อจะคืนพื้นที่ จึงขอให้มีโครงสร้างรองรับไว้หากตัวเลขกลับมาสูงขึ้นอีก

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 1/9/2564

ส.อ.ท.แนะรัฐปรับ Factory Sandbox ป้องคลัสเตอร์ภาคผลิตรับออเดอร์ส่งออกพุ่ง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คำสั่งซื้อ (ออเดอร์) จากต่างประเทศยังคงมีมาต่อเนื่องหลังจากเศรษฐกิจต่างประเทศเริ่มฟื้นตัวโดยเฉพาะจากคู่ค้าหลักทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมถึงจีนเพื่อป้องกันการผลิตไม่ให้สะดุดในการขับเคลื่อนการส่งออกที่เหลือของไทยในช่วงท้ายปีนี้ ภาครัฐควรปรับโครงการนำร่องการป้องกันและการควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox) ที่ยังไม่ตอบโจทย์การป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยแท้จริง เนื่องจากมุ่งเป้าไปยังกลุ่มผู้ผลิตเพื่อส่งออกขนาดใหญ่ (แรงงาน 500 คนขึ้นไป) 4 ประเภท ได้แก่ 1. ยานยนต์ 2. ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 3. อาหาร และ 4. อุปกรณ์การแพทย์ซึ่งจำเป็นต้องมองให้ครบกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ หรือคลัสเตอร์

“ตัวอย่างยานยนต์ จะเห็นว่าต้องหยุดผลิตเพราะการติดโควิคของแรงงานในบริษัทชิ้นส่วนรถยนต์ ดังนั้น Factory Sandbox ระยะแรกที่เน้น 4 อุตฯ หลัก และ 4 จังหวัดนำร่อง คือ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และชลบุรี ต้องปรับมาตรการให้ครบทั้งคลัสเตอร์เพราะการผลิตต้องอาศัยชิ้นส่วน การขนส่ง เป็นองค์ประกอบ โดยต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ครบ 100% และหากเป็นไปได้ก็ควรจะขยายมาตรการนี้ไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ ให้มากขึ้น เพราะการผลิตเพื่อส่งออกมีหลายอย่าง และมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจซึ่งต้องเร่งปกป้อง เพราะส่งออกเป็นเพียงกลไกเดียวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้” นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ล้วนดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) อยู่แล้ว และพบว่ามีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นมากจากการทำสถานแยกกักตัว (FAI) โดยเฉพาะค่าชุดตรวจ ATK (Antigen Test Kit) จึงเห็นว่ารัฐควรจะแบ่งเบาภาระส่วนนี้โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) โดยการแจกให้ฟรี หรือการจัดหาเพิ่มเติมในราคาที่ต่ำเช่นที่องค์การเภสัชกรรมประมูลได้ในราคา 70 บาทต่อชุด โดยหาให้เพิ่มขึ้น หากไม่สามารถแจกฟรีก็ให้คิดราคาเพียง 50% ส่วน 50% รัฐสนับสนุนจนกว่ารัฐจะสามารถฉีดวัคซีนได้เป็นจำนวนมากเพียงพอในการป้องกันดูแล

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาคการผลิตกำลังประสบภาวะการขาดแคลนแรงงานประมาณ 4 แสนคน โดยเฉพาะใน 4 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทอรนิกส์ เครื่องมือแพทย์โดยเฉพาะถุงมือยาง ที่ต้องการแรงงานเข้มข้น จึงเห็นว่ารัฐควรเจรจานำเข้าแรงงานจากเพื่อนบ้านเข้ามาโดยมีเงื่อนไขให้รับรองการฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็มจากนั้นเข้ามาอยู่ในศูนย์พักและคัดกรองแรงงานหรือ Labor Workforce Sandbox ที่จัดไว้รองรับบริเวณชายแดนเพื่อกักตัวก่อน แล้วโรงงานใดต้องการให้ติดต่อมาแล้วนำรถมารับแล้วเข้าสู่โรงงานทันที วิธีนี้จะป้องกันการแพร่ระบาดและป้องกันการลักลอบนำเข้าแรงงานเถื่อน กรณีที่หากแรงงานต่างด้าวยังไม่ฉีดวัคซีน เอกชนบางส่วนก็พร้อมที่จะจัดหาวัคซีนทางเลือกให้ด้วย ซึ่งขณะนี้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ตอบรับแนวคิดดังกล่าวแล้ว

สำหรับการปรับมาตรการล็อกดาวน์ ล่าสุดนายเกรียงไกรกล่าวว่า เห็นด้วย แต่แนวทางปฏิบัติควรจะต้องดำเนินการได้จริงเช่นกัน โดยเฉพาะการกำหนดให้พนักงานร้านอาหารต้องฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็ม ซึ่งต้องเข้าใจว่าส่วนหนึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีน ดังนั้นแนวทางปฏิบัติต้องกำหนดให้ชัดเจน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 1/9/2564

กสร.ย้ำกิจการคลายล็อกดาวน์ 1 ก.ย. นายจ้างต้องเรียก พนง.เข้าทำงาน เตือนลูกจ้างระวังขาดงานเกิน 3 วัน

31 ส.ค. 2564 นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่าภายหลังจากที่คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เห็นชอบมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป มีผลให้สถานประกอบกิจการตามข้อกำหนดดังกล่าวสามารถเปิดและดำเนินกิจการได้ เช่น กิจการร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม เป็นต้น ซึ่งนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดูแลสิทธิประโยชน์ของนายจ้างและลูกจ้างสำหรับกิจการที่ทางราชการผ่อนคลายให้ดำเนินกิจการได้ โดยให้นายจ้างเรียกลูกจ้างมาทำงานตามปกติ หากนายจ้างไม่เรียกให้ลูกจ้างมาทำงาน นายจ้างยังมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้ อาจถือเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างโดยปริยาย ซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง

สำหรับลูกจ้างมีหน้าที่ต้องไปทำงานตามที่นายจ้างเรียก หากลูกจ้างไม่ไปทำงานโดยไม่ได้ลางาน หรือหยุดงานโดยนายจ้างไม่อนุญาตหรือให้ความยินยอม อาจเป็นการขาดงาน ลูกจ้างอาจถูกลงโทษทางวินัยจากนายจ้างได้ และหากลูกจ้างขาดงาน 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควร อาจถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชย

อธิบดี กสร. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าขอให้นายจ้างดำเนินกิจการตามมาตรการและเงื่อนไขที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้กำหนดไว้ เพื่อเป็นการป้องกัน และยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และเป็นการสร้างความมั่นใจแก่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานรวมถึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้รับบริการหรือผู้บริโภคด้วย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 31/8/2564

โพล ส.อ.ท.หนุนคลายล็อกบางธุรกิจแก่ผู้รับวัคซีนครบโดสสร้างสมดุลศก.-สธ.-อุตฯ

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ในเดือน ส.ค.64 ภายใต้หัวข้อ "Lockdown อย่างไร เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และสาธารณสุข" พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ 78.1% มองว่า มาตรการล็อกดาวน์ที่ภาครัฐดำเนินการอยู่ในปัจจุบันนั้น สามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ในขอบเขตที่จำกัด มีเพียง 6.5% ที่มองว่า ควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อถามถึงสาเหตุที่ส่งผลทำให้มาตรการ Lockdown ไม่สามารถควบคุมอัตราการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ส่วนใหญ่ 72.6% ตอบว่า เป็นเพราะขาดความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น กรณีการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย รองลงมา ตอบว่า ความไม่ชัดเจนในแนวปฏิบัติที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่, ขาดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และขาดมาตรการสนับสนุนสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนอยู่กับบ้าน

สำหรับแนวทางที่จะช่วยทำให้การ Lockdown เกิดความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และสาธารณสุขนั้น ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่ 73.6% เห็นว่าควรมีการผ่อนปรนให้ผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม สามารถเข้าใช้บริการร้านอาหารและกิจการบางประเภทได้ ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการติดตามประวัติการเดินทาง ควบคุมผู้มีความเสี่ยง และระบบรับรองผู้ได้รับวัคซีน 2 เข็ม (Certificate of Entry) รวมทั้งมีการตรวจและติดตามเชิงรุกเพื่อคัดแยกตัวผู้ป่วย

สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ Lockdown ควรได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างไร ส่วนใหญ่ตอบว่า ต้องการพักชำระหนี้และหยุดคิดดอกเบี้ย สำหรับกิจการที่ถูกสั่งปิดฯ เป็นระยะเวลา 6 เดือน รองลงมา คือ การชดเชยค่าจ้างขั้นต่ำตามจำนวนแรงงานให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อรักษาการจ้างงาน

ส่วนการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ควรเริ่มดำเนินการเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดอยู่ในระดับใดนั้น ส่วนใหญ่ตอบว่า ยอดผู้ติดเชื้อควรจะต่ำกว่า 10,000 คนต่อวัน รองลงมา คือ ยอดผู้ติดเชื้อ ต่ำกว่า 20,000 คนต่อวัน

ทั้งนี้ เห็นว่ากลุ่มธุรกิจที่รัฐ ควรผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ อันดับแรก คือ ร้านอาหาร รองลงมา คือ ห้างสรรพสินค้า, ร้านค้า, การท่องเที่ยวภายในจังหวัด, การก่อสร้าง, ธุรกิจการบิน, การกีฬา และสันทนาการบางประเภท

สำหรับการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในภาคอุตสาหกรรม รัฐบาลควรสนับสนุนงบประมาณในเรื่องใดบ้างนั้น อันดับแรก ต้องการให้รัฐเร่งใช้งบประมาณในการจัดหาและสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจโควิด-19 Antigen test kit ให้แก่โรงงาน เพื่อสุ่มตรวจหาผู้ติดเชื้อตามมาตรการ Bubble and Seal ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในภาคอุตสาหกรรม รองลงมา คือ การจัดให้มี Mobile Units ฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ณ สถานประกอบการ

อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าว มาจากความคิดเห็นของผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 201 คน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 75 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด

ที่มา: RYT9, 31/8/2564

กระทรวงแรงงานส่งแรงงานไทยเดินทางทำงานภาคเกษตรรัฐอิสราเอลปีนี้ รวมแล้วเกือบ 6 พันคน

30 ส.ค. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานมีกำหนดส่งแรงงานไทย จำนวน 197 คน เดินทางไปทำงานในภาคเกษตรภายใต้โครงการ “ความร่วมมือไทย - อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers :TIC) ณ สนามบินสุวรรณภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โดยปีงบประมาณนี้มีการจัดส่งไปแล้วจำนวน 5,582 คน ไม่นับรวมที่เดินทางวันนี้อีก 197 คน รวมทั้งสิ้น 5,779 คน ซึ่งปีนี้กระทรวงแรงงานจัดส่งได้มากกว่าโควตาเดิมที่กำหนดให้จัดส่งปีละ 5,000 คน ทั้งนี้นายจ้างอิสราเอลยังมีความต้องการจ้างแรงงานไทยเข้าไปทำงานเพิ่มอีก 1,000 คน

“นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และรองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการส่งเสริมแรงงานไทยให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศ เพราะสามารถนำรายได้และประสบการณ์กลับมาพัฒนาประเทศ เป็นฮีโร่ในวิกฤติการแพร่ระบาดโรคโควิด ซึ่งท่านได้กำชับกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของแรงงานไทยเป็นอันดับแรก มิให้จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดการสู้รบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ในวันนี้มีแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานภาคเกษตรในรัฐอิสราเอล จำนวน 197 คน โดยแรงงานเหล่านี้จะเดินทางด้วยเที่ยวบินของสายการบิน El Al Israel Airlines เที่ยวบินที่ LY 088 ออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทยเวลา 19.05 น. และมีกำหนดถึงปลายทางกรุงเทลอาวีฟ เวลา 02.10 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยจะต้องเข้ารับการกักกันเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ เมื่อครบกำหนดแรงงานจะต้องตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกครั้ง โดยฝ่ายอิสราเอลจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดส่งแรงงานจากสถานกักกันให้กับนายจ้าง และจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ตามมาตรการรัฐอิสราเอลด้วย

สำหรับโครงการ “ความร่วมมือไทย – อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน” (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers : TIC) มีระยะเวลาการจ้างงานครั้งแรก 2 ปีและสามารถทำงานได้ไม่เกิน 5 ปี 3 เดือน ขึ้นอยู่กับการต่ออายุใบอนุญาตการจ้างแรงงานต่างชาติของนายจ้างและวีซ่าการทำงานตามกฎหมายรัฐอิสราเอล โดยแรงงานไทยจะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำก่อนหักภาษีเดือนละ 5,300 เชคเกลอิสราเอล หรือประมาณ 54,590 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น)

ทั้งนี้ ผู้สนใจไปทำงานต่างประเทศสามารถติดตามข่าวสารการประกาศรับสมัครได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 30/8/2564

นิคมฯ บางปูน้ำเริ่มลด แต่ยังท่วมราว 1 เมตร พนง.เผยโรงงานไม่ได้ให้หยุด ขอช่วยสำรวจความเสียหาย

จากกรณีหลังฝนตกหนักตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ 28 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา ทำให้ภายใน นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ กลายสภาพเป็นทะเล โดยมีน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ทำให้รถเล็กไม่สามารถผ่านเข้าออกได้ และมีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ถูกน้ำท่วมจมน้ำเสียหายเป็นจำนวนมากนั้น

ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าวันที่ 30 ส.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่าถนนสายหลักของนิคมรถเล็กสามารถผ่านไปมาได้แล้ว เนื่องจากระดับน้ำเริ่มลดปริมาณลงเป็นจำนวนมาก มีเพียงบางช่วงเท่านั้นที่มีน้ำท่วมขังสูง ส่วนเขตอุตสาหกรรมส่งออกที่เมื่อวานนี้มีน้ำท่วมสูงกว่า 1.20 เมตรนั้น ช่วงเช้านี้ระดับน้ำเริ่มลดลงเล็กน้อย เหลือประมาณ 1 เมตร รถยนต์ที่จมน้ำเริ่มโผล่พ้นน้ำให้เห็นร่องรอยของความเสียหาย

ส่วนด้านการอำนวยความสะดวกให้กับพนักงานโรงงานที่เดินทางเข้ามาทำงานนั้น ตั้งแต่เช้ามืดที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ทหารจัดรถขนาดใหญ่มาคอยดูแลรับ-ส่งพนักงานตามโรงงานต่าง ๆ ตลอดทั้งวัน

ทั้งนี้ จากการสอบถามพนักงานโรงงานที่เดินทางมาทำงานในวันนี้ ส่วนใหญ่บอกว่าทางโรงงานไม่ได้ประกาศหยุดงาน เนื่องจากเห็นว่าปริมาณเริ่มลดลงแล้ว และให้พนักงานแต่ละแผนกเข้ามาช่วยสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุน้ำท่วมที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้สถานการณ์ต่างๆ เริ่มดีขึ้น คาดว่าถ้าไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มอีก ทางนิคมอุตสาหกรรมบางปูน่าจะบริหารจัดการน้ำที่ท่วมขังให้เข้าสู่สภาวะปกติได้ภายในวันที่ 31 ส.ค. 2564

ที่มา: มติชนออนไลน์, 30/8/2564

เด็กเสิร์ฟ พนักงานขาย ร้านนวด ตัดผม เสริมสวย นัดตรวจโควิดฟรี ระหว่างวันที่ 31ส.ค.-3 ก.ย. 2564

30 ส.ค. 2564 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เปิดเมือง หาทางออก เราจะรอดไปด้วยกัน 31 ส.ค-3 ก.ย.2564 สปสช., คณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล, ธพส. และมูลนิธิหลักประกันสุขภาพไทย ขอเชิญ

ผู้ประกอบวิชาชีพในภาคบริการ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มร้านอาหาร พนักงานเสิรฟ์ พนักงานขาย ร้านนวด ร้านตัดผม/เสริมสวย และประชาชนกลุ่มเสี่ยงทุกท่าน ทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติ ตรวจคัดกรองโควิด-19 ฟรี ! ด้วยชุดตรวจ ATK รู้ผลใน 30 นาที พร้อมรับใบรับรองการตรวจ เพื่อเตรียมพร้อมกลับเข้าสู่การทำงาน เปิดเมืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง

หากผลเป็นบวก กลุ่มไม่มีอาการจับคู่กับคลินิกดูแลที่บ้าน (Home Isolation) กลุ่มมีอาการมีรถไปส่งเข้า Hospitel ทันที พร้อมรับยาฟาวิพิราเวียร์

หมายเหตุ

1.เตรียมสำเนาบัตรประชาชน (คนไทย) หรือสำเนาพาสปอร์ต (แรงงานข้ามชาติ) 2 ใบ ไปด้วย ในกรณีระบบออนไลน์มีปัญหา

2.ใบรับรองผลการตรวจสามารถแจ้งให้ทราบผ่านทางสมาร์ทโฟนในวันนั้นได้เลย หรือรอใบรับรองผลการตรวจจากหน้างาน หรือดาวน์โหลดจากระบบออนไลน์ 31 ส.ค.-3 ก.ย.นี้ ณ อาคารจอดรถชั้น 4 อาคาร B ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. รับวันละ 1,500 ราย นัดหมายได้ที่ https://forms.gle/8M7w23qHMu1xEkXX8

ที่มา: แนวหน้า, 30/8/2564

น้ำท่วมสมุทรปราการ เร่งช่วยเหลือพนักงานติดในนิคมฯ บางปู

29 ส.ค. 2564 ตั้งแต่เวลา 02.00 น. ฝนได้กระหน่ำตกลงมาอย่างหนักและต่อเนื่องทำให้บนถนนหลายสายและหมู่บ้านมีปริมาณน้ำท่วมขังสูงโดยเฉพาะถนนสุขวิท ถนนศรีนครินทร์ ถนนพุทธรักษา รวมทั้งถนนเทพารักษ์ นอกจากนี้ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู ทั้งด้านนอกและเขตส่งออก ซึ่งมีปริมาณน้ำท่วมสูงประมาณ 1 เมตร รถยนต์และรถจักรยานยนต์จำนวนมากถูกน้ำท่วมเกือบมิดคัน ทำให้พนักงานที่ทำงานอยู่ภายในบริษัทไม่สามารถออกจากโรงงานได้ เนื่องจากมีปริมาณน้ำท่วมสูงและรถถูกน้ำท่วมต้องใช้เรือพาย

ขณะที่หมู่บ้านพฤกษา 15 ซึ่งตั้งอยู่ถนนตำหรุ-คลองเก่า ซึ่งเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่มีบ้านเรือนประชาชนอยู่กว่า 3 พันหลังคาเรือน มีปริมาณน้ำท่วมสูงกว่า 80 เซนติเมตร เต็มพื้นที่และปริมาณน้ำได้ไหลทะลักเข้าไปในบ้านเรือนประชาชนที่บริเวณชั้นล่าง ทำให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย ชาวบ้านต่างพากันเอากระสอบทรายมากั้นที่หน้าบ้านและขับรถหนีน้ำหลายคันจนน้ำทะลักเข้ารถ ขณะที่กรรมการหมู่บ้านเร่งเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงที่นั่งแช่อยู่ในน้ำนานกว่า 3 ชั่วโมงออกมาอยู่ในที่ปลอดภัย

ขณะที่ นายปภินวิช ละอองแก้ว หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันและปฏิบัติการ ลงพื้นที่ออกสำรวจน้ำท่วมขังในพื้นที่ นิคมอุตสาหกรรมบางปู โดยเฉพาะในเขตส่งออกพบว่ามีปริมาณน้ำท่วมขังสูงกว่า 1 เมตร เนื่องจากฝนตกหนักตลอดทั้งคืนประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูง พร้อมประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 1 ขอรถบรรทุกขนาดใหญ่มาทำการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยออกจากที่เกิดเหตุ โดยมีจิตอาสาพระราชทานกว่า 20 นายเข้าร่วมให้การช่วยเหลือ ขณะเดี่ยวกันทางด้านสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางปู ได้เร่งทำการสูบน้ำออกจากพื้นที่

นายปภินวิช ละอองแก้ว ได้กล่าวว่า ขณะนี้เราได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอันดับแรกเลยคือท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่ ที่เกี่ยวข้องและมูลนิธิต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้กำลังทยอยนำรถสูงมาทำการเคลื่อนย้ายพนักงานออกจากโรงงานออกไปยังพื้นที่ ที่ปลอดภัย และได้ประสานขอรถช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 1 ปทุมธานี เข้ามาให้การช่วยเหลืออีกจำนวน 2 คัน และในขณะเดียวกันเราได้ประสานการไฟฟ้าเพื่อมาทำการตัดวงจรไฟฟ้าที่อาจจะกระทบกับคนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง และผู้ที่เดินทางเข้าออกอาจจะถูกกระแสไฟฟ้าดูดได้ ซึ่งขณะนี้เราได้ทยอยพนักงานที่ติดค้างอยู่ในโรงงานต่าง ๆ โดยเฉพาะในเขตส่งออกที่มีประมาณน้ำท่วมขังสูง ซึ่งในขณะเดียวกันภายในโรงงานหรือบริษัทต่างที่ถูกน้ำทะลักเข้าไปท่วมขังก็คาดว่าน่าจะมีสินค้าได้รับความเสียหายจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายพื้นที่ได้รับจากจากปริมาณน้ำฝนที่ท่วมขังทั้งในเขต อำเภอบางพลี บริเวณริมชายคลองติดกับบ่อขยะ มีน้ำท่วมเข้าบ้านเรือนประชาชน ซึ่งเป็นบ้านชั้นเดียวไม่สามารถพักอาศัยได้ และบ้านริมคลองอีกหลายหลังคาเรือน รวมทั้งบ้านเรือนประชาชนได้รับความเดือดร้อนในหลายพื้นที่ได้ ทั้งอำเภอบางพลี อำเภอบางบ่อ และอำเภอบางเสาธง ซึ่งทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรปราการได้ประสาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เร่งให้ความช่วยเหลือโดยเร่งด่วน

ที่มา: Sanook, 29/8/2564

ให้ปลัดอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าศูนย์คุมโควิดสถานประกอบการ-โรงงาน

28 ส.ค. 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 14/2564 เรื่อง การจัดโครงสร้างของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 สั่ง ณ วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2564 โดยมีเนื้อหาระบุว่า

ตามที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2564 และได้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปต่อเนื่องเป็นลำดับ โดยมีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 5/2563 เรื่อง การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 39/2563 เรื่อง การจัดโครงสร้างของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2563 และคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 13/2564 เรื่อง การจัดโครงสร้างของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2564 นั้น

เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน และการดำเนินการตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประกอบกับข้อ 4 (3) ของคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 5/2563 เรื่อง การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

1. ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็น (9) ของข้อ 1 ของคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 6/2563 เรื่อง การจัดโครงสร้างศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ลงวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 39/2563 เรื่อง การจัดโครงสร้างของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2563

“(9) ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการและโรงงานอุตสาหกรรม มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าศูนย์”

2. ให้หัวหน้าศูนย์และผู้ปฏิบัติงานในศูนย์ปฏิบัติการด้านการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการและโรงงานอุตสาหกรรม เป็นผู้ปฏิบัติงานในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 28/8/2564

แรงงานไทยได้โควตาเพิ่ม ทำงานในอิสราเอล

Facebook “ไทยคู่ฟ้า” ลงข้อความ กระทรวงแรงงาน ระบุว่า ประเทศไทยได้โควตาส่งแรงงานไปทำงานที่อิสราเอล ปีละ 5,000 คน ตามความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน โดยแรงงานไทยจะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำก่อนหักภาษี เดือนละประมาณ 54,590 บาท แบ่งงานออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ภาคเกษตรกรรม บริการร้านอาหาร ภัตตาคาร ดูแลคนชรา, คนพิการ และภาคก่อสร้าง ปัจจุบันมีแรงงานไทยในอิสราเอล 25,000 คน โดยปีนี้ ส่งไปแล้วกว่า 5,500 คน และยังมีความต้องการจ้างเพิ่มจากโควตาอีก 1,000 คน สอบถามได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

ที่มา: news.ch7.com, 28/8/2564

กสร. ร่วม ILO แก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติหญิง ถูกละเมิดและคุกคาม

27 ส.ค. 2564 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยรายละเอียดความร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ (International Labour Organization: ILO) ในการมุ่งเสริมสร้างศักยภาพพนักงานตรวจแรงงาน ให้มีความรู้ ความสามารถ พร้อมรับมือกับอาชญากรรมในรูปแบบใหม่ พุ่งเป้าแก้ไขปัญหาแรงงานหญิงข้ามชาติ แรงงานทำงานที่บ้าน และแรงงานบังคับ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวในฐานะโฆษ กสร. และประธานเปิดการอบรมพนักงานตรวจแรงงาน ที่จัดโดย ILO ร่วมกับ กสร. เพื่อให้ความสำคัญแก่แรงงานข้ามชาติหญิง ลูกจ้างทำงานบ้าน แรงงานบังคับ และลดความรุนแรงและการคุกคาม โดยกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติ ซึ่งต้องยอมรับว่าแรงงานข้ามชาติมีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนาประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากแรงงานในประเทศมีจำนวนไม่เพียงพอ จึงมีความต้องการแรงงานข้ามชาติมากขึ้น

“ขณะที่ระบบการนำเข้าแรงงานข้ามชาติไม่สามารถตอบสนองผู้ประกอบการได้ทันท่วงที ก่อให้เกิดปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานข้ามชาติ การค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกัน เพราะคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแสวงหาประโยชน์ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติหญิง ถือเป็นกลุ่มเปราะบางซึ่งเสี่ยงต่อการถูกละเมิด ถูกกระทำรุนแรง ถูกคุกคาม และเลือกปฏิบัติในการทำงาน”

กระทรวงแรงงาน ภายใต้การนำของนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงมีเป้าหมายในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดไปจากประเทศไทย ได้มอบหมายให้ กสร. ทำหน้าที่ในการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติอย่างเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อปกป้องคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรม

“เราจึงพัฒนาศักยภาพพนักงานตรวจแรงงานในฐานะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยการเพิ่มความรู้ ความสามารถ ให้มีความพร้อมรับมือกับอาชญากรรมในรูปแบบใหม่ อาทิ ปัญหาการปฏิบัติต่อแรงงานหญิงข้ามชาติ การค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น”

นางโสภากล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดอบรมในครั้งนี้ กสร.ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งหมด 5 รุ่น รุ่นละ 50 คน รวมจำนวน 250 คน โดยมุ่งหวังพัฒนากระบวนการทำงานของพนักงานตรวจแรงงาน เพื่อขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ในทุกมิติ และส่งผลให้แรงงานข้ามชาติได้รับการคุ้มครองจากความรุนแรง การคุกคาม มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 27/8/2564

ก.แรงงาน มอบถุงยังชีพผู้ขับขี่ จยย.รับจ้าง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบถุงยังชีพด้วยรักและห่วงใยจากใจกระทรวงแรงงาน จำนวน 1,200 ชุด และไข่ไก่ จำนวน 15,000 ฟอง ผ่านนายเฉลิม ช่างทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย และคณะ พร้อมนำสมาชิกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างฯ จำนวน 1,200 คน มารับถุงยังชีพ เพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่ประสบความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 มี นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูง เข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ด้วย

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใย ประชาชนที่ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากโควิด-19 จึงมอบหมายให้ตนนำถุงยังชีพ,ชุดไข่ไก่ ซึ่งเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค ข้าวสารอาหารแห้งปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่กระทรวงแรงงานได้รับบริจาคจากภาคเอกชน ส่งต่อให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างนำไปช่วยเหลือครอบครัวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและแบ่งเบาค่าใช้จ่ายด้านอาหาร

ด้านนายเฉลิม ช่างทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างฯ แสดงความขอบคุณรัฐบาล ทั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา,พล.อ.ประวิตร และรัฐมนตรีสุชาติ พร้อมทั้งให้กำลังใจในการสู้ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ พร้อมขอขอบ คุณที่เห็นความสำคัญคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างได้สมัครมาตรา 40 และได้รับเงินเยียวยาคนละ 5,000 บาท รวมทั้งยังมอบถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนครอบครัวผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 27/8/2564

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net