Skip to main content
sharethis

มณฑลเหอหนานในตอนกลางของประเทศจีน กลายเป็นภูมิภาคที่สำคัญสำหรับการเคลื่อนไหวและการประท้วงของแรงงาน พบช่วงเดือน ก.ค. 2563- ส.ค. 2564 มีการประท้วงบ่อยครั้งที่สุด โดยเฉพาะคนทำงานก่อสร้างและคนทำงานภาคขนส่ง


แฟ้มภาพ China Labour Bulletin

3 ก.ย. 2564 ช่วงปลายเดือน ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา China Labour Bulletin (CLB) สื่อที่ติดตามประเด็นแรงงานในประเทศจีน ได้เปิดเผยสถิติจาก China Labour Bulletin's Strike Map พบว่าช่วงเดือน ก.ค. 2563- ส.ค. 2564 มีการหยุดงานประท้วงในจีน 1,082 ครั้ง ในจำนวนนี้เกิดในมณฑลเหอหนาน 120 ครั้ง (ร้อยละ 11) รองลงมาคือมณฑลกวางตุ้ง 95 (ร้อยละ 8.6)

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา มณฑลกวางตุ้งถือว่าเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและมีการประท้วงของคนงานมากที่สุดในจีน อย่างไรก็ตามเมื่อมีการย้ายฐานการผลิตออกไป มีการกระจายความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น การประท้วงของคนทำงานก็กระจายไปทั่วประเทศด้วยเช่นกัน


ที่มา: China Labour Bulletin

ทุกวันนี้ มณฑลเสฉวนและมณฑลส่านซี ก็มีสัดส่วนการประท้วงของคนทำงานเพิ่มขึ้นสูงด้วยเช่นกัน แต่ก็ไม่สามารถแซงมณฑลเหอหนานไปได้ ปัจจัยส่วนหนึ่งสามารถอธิบายได้ว่าเหอหนานนั้นมีประชากรสูงสุดเป็นอันดับ 3 ในประเทศจีนรองจากกวางตุ้งและซานตง 

นอกจากนี้มณฑลเหอหนานมี 'ประชากรที่ไม่ได้อาศัยเป็นการถาวร' (floating population) สูงมาก โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานย้ายถิ่นมาจากเขตชนบท จากการสำรวจสำมะโนประชากรล่าสุด เหอหนานมีประชากรที่ไม่ได้อาศัยเป็นการถาวร 21.2 ล้านคน ในปี 2563 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 164 จากปี 2553 ส่วนใหญ่ประมาณ 19.9 ล้านคน เป็นแรงงานย้ายถิ่นจากเขตชนบทที่มาหางานทำในเขตเมือง


ที่มา: China Labour Bulletin

ทั้งนี้แรงงานย้ายถิ่นจากเขตชนบทมักจะทำงานในประเภทที่ได้รับค่าจ้างต่ำ เสี่ยงอันตราย และล่อแหลมต่อการถูกเอาเปรียบ เช่นในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ภาคบริการ และภาคการขนส่ง จากข้อมูลการประท้วงของแรงงานในเหอหนานตั้งแต่เดือน ก.ค. 2563 พบว่ากว่าร้อยละ 50 เป็นการประท้วงของคนทำงานในภาคการก่อสร้าง, ร้อยละ 35 อยู่ในภาคการขนส่ง และร้อยละ 7.5 เป็นการประท้วงของคนทำงานในภาคบริการ 

มณฑลเหอหนานมีสัดส่วนการประท้วงของคนทำงานก่อสร้างที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเล็กน้อย (ร้อยละ 45.4) ซึ่งบ่งชี้ว่ามีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ที่อยู่อาศัย และอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์จำนวนมากกระจายอยู่ทั่วมณฑล และโครงการก่อสร้างเหล่านี้มักจะอยู่ในเมืองเล็ก ๆ ที่ไม่ค่อยมีความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน

จากทั้งหมด 60 กรณีที่บันทึกไว้ใน Strike Map ช่วงเดือน ก.ค. 2563- ส.ค. 2564 คนงานก่อสร้างในเหอหนานประท้วงผู้รับเหมาไม่จ่ายค่าแรง ซึ่งส่วนใหญ่รัฐบาลท้องถิ่นไม่สามารถแก้ไขข้อพิพาทด้านแรงงานเหล่านี้ได้ เนื่องจากการจ้างงานแบบเหมาช่วงเป็นทอด ๆ ที่ซับซ้อนในอุตสาหกรรมก่อสร้างจีน

การประท้วงของคนทำงานภาคขนส่งในเหอหนาน ส่วนใหญ่เป็นการประท้วงโดยคนขับแท็กซี่ที่ประท้วงการเก็บค่าเช่าที่แพงเกินไปจากบริษัทรถแท็กซี่ ส่วนพนักงานส่งของก็มักจะประท้วงกรณีที่บริษัทขนส่งค้างค่าจ้าง หรือการที่บริษัทเปลี่ยนแปลงค่าตอบแทนตามอำเภอใจโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากคนทำงาน

ส่วนในภาคบริการ มีการประท้วงโดยพนักงานโรงแรม พนักงานร้านค้าปลีก พนักงานสุขาภิบาล และพนักงานในองค์กรสื่อ นอกจากนี้ยังพบครูหลายคนที่ถูกเลิกจ้างหรือโรงเรียนค้างจ่ายค่าจ้าง ก็มักจะใช้สื่อสังคมออนไลน์แจ้งความทุกข์ยากของพวกเขาต่อสาธารณะ


ที่มาเรียบเรียงจาก
Henan overtakes Guangdong in number of worker protests (China Labour Bulletin, 24 August 2021)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net