Skip to main content
sharethis

รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้จงใจใช้อำนาจรัฐมนตรีในการเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง ในคดีพิพาทดาวเทียมไทยคม

3 ก.ย.2564 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ว่าจงใจใช้อำนาจรัฐมนตรีในการเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง ในคดีพิพาทดาวเทียมไทยคม

ย้อนทำความเข้าใจข้อพิพาทที่เกิดจากสัมปทาน

คดีพิพาททั้ง 3 คดีระหว่างกระทรวงดิจิทัลฯ และบริษัทอินทัช โฮลดิ้งส์ในปัจจุบัน เกิดมาจากสิ่งที่เกิดมาจากสัญญาสัมปทานที่เดิมเป็นข้อตกลงระหว่างกระทวงคมนาคมและบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เนื่องจากช่วงปี 2533 รัฐบาลไทยมีโครงการจะยิงดาวเทียมสื่อสารของไทยขึ้นสู่วงโคจร เพื่อจะได้ไม่ต้องเช่าดาวเทียมของต่างชาติ และแม้จะเกิดการรัฐประหารขึ้น กระทรวงคมนาคมของรัฐบาลคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ยังเดินหน้าโครงการต่อ

ผู้ได้สัมปทานคือ บริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ซึ่งมี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นประธานกรรมการบริหารในขณะนั้น ก่อนที่จะขายหุ้นทั้งหมดไปในปี 2549 โดยรสช.ลงนามสัมปทานกับบริษัทไว้เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2534

ใจความสำคัญของสัมปทานคือ บริษัทจะเป็นผู้ยิงดาวเทียมขึ้นไปบนตำแหน่งวงโคจรเหนือพื้นโลก บริหารจัดการและให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมเพื่อการสื่อสารภายในประเทศ และมีสิทธิเก็บค่าใช้ช่องสัญญาณจากผู้ที่มาขอใช้ โดยมีระยะเวลาทั้งสิ้น 30 ปี ซึ่งสัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดลงภายในวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่จะถึงนี้ และจะได้รับสิทธิ์ขาดในการดำเนินกิจการแต่เพียงผู้เดียว ไร้คู่แข่งในช่วง 8 ปีแรก ส่งผลให้บริษัทฯ กลายเป็นบริษัทเดียวที่ผูกขาดดำเนินกิจการดาวเทียมมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ เงื่อนไขของสัมปทานระบุว่า บริษัทมีหน้าที่ดูแลรักษาให้ดาวเทียมหรือเปลี่ยนดาวเทียมทดแทนดาวเทียมที่ชำรุดไปตลอดระยะเวลาสัมปทาน แต่ดาวเทียมทุกดวงที่สร้างขึ้นตามสัญญานี้จะตกเป็นของกระทรวงคมนาคม และเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง บริษัทต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดคืนให้กระทรวงทันที และดาวเทียมยังจะต้องอยู่ในสภาพใช้งานได้อยู่บนวงโคจร

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันที่สัญญาสัมปทานกำลังจะสิ้นสุด บริษัทอินทัช โฮลดิ้งส์กำลังมีข้อพิพาทกับกระทรวงฯ 3 คดี ได้แก่ คดี 97/2560 อินทัชฟ้องรัฐบาลเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 อ้างว่าดาวเทียมทั้ง 2 ดวง ไม่เป็นดาวเทียมภายใต้สัญญาสัมปทาน เพราะสัญญาระบุว่าบริษัทจะยิงดาวเทียมเพียง 4 ดวง ดาวเทียม 2 ดวงนี้จึงไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงฯ ส่วนคดี A27/2020 และคดี 93/2563 เป็นกรณีที่รัฐบาลและบริษัทอินทัชฟ้องกันและกัน เรื่องการชดใช้ค่าเสียหายดาวเทียมไทยคม 5

สัมปทานนี้ทำให้เกิดผลประโยชน์ก้อนใหญ่ที่หลายฝ่ายจ้องเข้ามาตักตวง 2 ก้อน ได้แก่

1. ผลประโยชน์จากดาวเทียมที่ตกเป็นคดีข้อพิพาทระหว่างกระทรวงดิจิทัลฯ กับไทยคม ตามสัญญาสัมปทานปี 2534

2. ผลประโยชน์จากดาวเทียมดวงอื่นๆ ที่อยู่ในสัญญาสัมปทานนี้ ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 10 กันยายน 2564

‘ชัยวุฒิ’ วางยา ตั้งอนุญาโตตุลาการที่ไม่มีคุณสมบัติ

โดยปกติแล้ว เมื่อมีคดีพิพาท รัฐมักติดต่อไปยังอัยการสูงสุดให้จัดหาพนักงานอัยการมารับตำแหน่งอนุญาโตตุลาการ เมื่อจัดหาแล้วจะเสนอชื่อให้กับทางกระทรวงฯ แล้วกระทรวงฯ ต้องนำไปแจ้งกับคู่ความอีกฝ่ายในเวทีพิจารณาคดีต่อไป ซึ่งก่อนหน้าที่ชัยวุฒิจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีก็ไม่ได้มีอะไรปรากฏว่ามีการเอื้อประโยชน์หรือล้มคดี แต่ภายในเวลาเพียง 6 เดือนที่ชัยวุฒิเข้ามาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ มีความพยายามเปลี่ยนอนุญาโตตุลาการถึง 3 ครั้ง จนน่าสงสัย

วันที่ 11 มิถุนายน 2564 หรือเพียง 3 เดือนหลังจากที่ชัยวุฒิเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี กระทรวงดิจิทัลฯ ส่งหนังสือไปถึงสำนักงานอัยการสูงสุดให้เปลี่ยนตัวอนุญาโตตุลาการให้เป็นอนุญาโตตุลาการคนเดียวทั้งหมด 3 คดี เพราะทั้ง 3 คดีมีแนวทางเดียวกัน อีกทั้งยังกล่าวหาว่าสุรางค์ นาสมใจ อนุญาโตตุลาการคดี A27/2020 อยู่แต่เดิม ถูกคู่ความคัดค้านเพราะมีผลประโยชน์ขัดกันและขาดความเป็นกลาง

ภายในวันเดียวกัน มีหนังสือด่วนที่สุดจากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการอนุญาโตตุลาการแจ้งแต่งตั้งวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เป็นอนุญาโตตุลาการในทั้ง 3 คดี โดยใน 2 คดีแรกให้แทนคนที่เป็นอยู่เดิม ถือเป็นการลงนามคัดเลือกตัวเอง เสนอให้กับกระทรวงดิจิทัล แล้วกระทรวงดิจิทัลรับรู้

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการระบุว่า อนุญาโตตุลาการจะพ้นจากตำแหน่งได้จาก 3 กรณีคือ 

1. เสียชีวิต  2. ขอถอนตัว หรือ 3. ถูกคัดค้านจากคู่ความอีกฝ่ายถึงความเป็นกลางและเป็นอิสระ แล้วถูกวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง 

หมายความว่าการคัดค้านอนุญาโตตุลาการคนใดคนหนึ่งจะทำได้โดยคู่ความฝ่ายอื่นเท่านั้น ฝ่ายที่ตั้งหรือร่วมตั้งอนุญาโตตุลาการคนนั้นขึ้นมาจะคัดค้านอนุญาโตตุลาการของตัวเองไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การที่อัยการสูงสุดมาเป็นอนุญาโตตุลาการเอง กระทรวงดิจิทัลฯ เองก็รู้อยู่แล้วว่า แต่งตั้งคนที่ขัดกับหลักความเป็นกลางและเป็นอิสระของอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากอัยการสูงสุด มีหน้าที่แต่งตั้งทีมสู้คดี เนื่องจากเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน หรือมีทุนทรัพย์ตั้งแต่ 1 พันล้านบาทขึ้นไป

ปรักปรำอนุญาโตตุการ โดยชี้แจงข้อเท็จจริงไม่ได้

เมื่อกระทรวงดิจิทัลฯ พยายามกำจัดอนุญาโตตุลาการคนเดิมออก และกล่าวหาว่าไม่มีความเป็นกลาง สุรางค์จึงส่งหนังสือด่วนที่สุดให้กระทรวงดิจิทัลฯ ชี้แจงข้อเท็จจริงหรือหลักฐานกลับมาภายใน 15 วัน พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมา ฝ่ายไทยคมเคยคัดค้านการตั้งอนุญาโตตุลาการคนอื่นมาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ไม่เคยคัดค้านเธอเลย ทำให้ต่อมากระทรวงดิจิทัลฯ กลับลำ ทำหนังสือด่วนที่สุดกลับไปขอโทษสุรางค์ และแต่งตั้งเธอกลับมาเป็นอนุญาโตตุลาการในคดีนั้นเช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม สุรางค์ทำหนังสือขึ้นอีกฉบับระบุว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ไม่ยอมชี้แจงเรื่องที่สุรางค์ถูกกล่าวหา ถือเป็นการปฏิบัติราชการโดยไม่ยึดมั่นอยู่บนความสัตย์จริง อีกทั้งยังระบุว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ละเมิดหลักความเป็นอิสระและเป็นการของอนุญาโตตุลาการ

นอกจากนี้ สุรางค์ยังระบุว่า ข้ออ้างของชัยวุฒิที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าเปลี่ยนอนุญาโตตุลาการให้ทั้ง 3 คดีเป็นคนเดียวกัน เพราะทั้ง 3 คดีมีแนวทางเดียวกัน นั้นฟังไม่ขึ้น เพราะแม้สัญญาสัมปทานจะเป็นสัญญาเดียวกัน แต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เรื่องหนึ่งเป็นการดำเนินคดีว่าดาวเทียม 7 และ 8 อยู่ในสัญญาสัมปทานหรือไม่ ส่วนอีกเรื่องเป็นการดำเนินคดีว่า ต้องยิงดาวเทียมใหม่ทดแทนไทยคม 5 หรือไม่

สุรางค์ได้ทิ้งท้ายหนังสือว่า อีก 2 คดีมีการดำเนินการไม่เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติราชการปกติ อาจก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นและเสื่อมศรัทธาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงสาธารณชน ตนจึงไม่ขอเข้าไปข้องแวะด้วย

เปลี่ยนอนุญาโตตุลาการกี่ครั้ง ยังวนอยู่ที่เดิม

รังสิมันต์กล่าวว่า ข่าวคราวที่ผ่านมาของวงศ์สกุล อัยการสูงสุดนั้นก็น่าสนใจไม่น้อย เช่น การไม่สั่งฟ้องคดีทายาทเศรษฐีหมื่นล้านขับรถชนคนตาย ไม่สั่งฟ้องคดีค้ามนุษย์อาบอบนวด ไม่สั่งฟ้องคดีฟอกเงินซื้อขายที่ดิน

นอกจากนี้ วงศ์สกุลยังเคยเรียนหลักสูตรหาเครือข่ายเส้นสาย อย่างหลักสูตรนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย หรือ นธป. ของศาลรัฐธรรมนูญ รุ่นที่ 6 ปี 2561 ร่วมรุ่นกับ ‘นายแย้ม’ ซึ่ง ปัจจุบันเข้าถือหุ้นจำนวนมากในบริษัทไทยคมฯ

รังสิมันต์ตั้งคำถามว่า “เรื่องราวเหล่านี้ชวนให้สงสัยว่าที่กระทรวงดิจิทัลฯ ภายใต้คุณชัยวุฒิได้เลือกคุณวงศ์สกุลมาเป็นอนุญาโตตุลาการนั้น มันช่วยสร้างความเชื่อมั่นอะไรให้กับสังคม? หรือว่าจริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นไปเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับใครบางคนกันแน่? อย่าลืมนะครับว่าการตั้งอนุญาโตตุลาการเป็นคนเดียวกันในทุกคดีนั้น ถ้าบุคคลนั้นถูกครอบงำหรือมีวาระแอบแฝงแล้ว นี่คือการสร้างความย่อยยับให้กับทุกคดีพร้อมๆกัน คุณชัยวุฒิและกระทรวงฯ ดิจิทัล ได้เล็งเห็นเรื่องนี้หรือไม่?”

อย่างไรก็ตาม ต่อมาไม่ถึง 1 เดือน วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 วงศ์สกุลขอถอนตัวออกจากทั้ง 3 คดี โดยตั้งธีระวัฒน์ พุฒิบูรณวัฒน์ ที่เคยเป็นอนุญาโตตุลาการคดี 97/2560 มาก่อน ซึ่งตอนนั้นขอถอนตัวไปก่อนจะเปลี่ยนเป็นวงศ์สกุล แต่ที่น่าสังเกตคือ

ธีระวัฒน์เองยังมีตำแหน่งเป็นเลขานุการของอัยการสูงสุดเอง แต่กระทรวงดิจิทัลฯ ไม่เห็นด้วยและขอให้หาคนอื่นมาแทน

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 อัยการสูงสุดได้แต่งตั้งพฤฒิพร เนติโพธิ์ อดีตอธิบดีอัยการ สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงฯ ของทั้ง 2 คดีที่เหลือ โดยที่กระทรวงดิจิทัลฯ รับทราบและนำเข้าเวทีพิจารณาคดีเป็นที่เรียบร้อย

อีกเช่นเคย พฤฒิพรไปเรียนหลักสูตร นธป. รุ่น 7 ปี 2562 อยู่ร่วมรุ่นกับประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการบริษัทไทยคมฯ และพรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์ ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่ปัจจุบันเข้าถือหุ้นจำนวนมากในไทยคมฯ ที่เป็นลูกหม้อที่ทำงานในบริษัทนั้นมาตั้งแต่ปี 2538

หลังฝ่ายไทยคมฯ ยื่นฟ้องคดี ดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 อัยการสูงสุดได้ตั้งคณะทำงานดำเนินคดีขึ้นมา โดยหนึ่งในนั้นคือพฤฒิพร เนติโพธิ์ ซึ่งเป็นคณะทำงานทีมต่อสู้คดีให้กับฝ่ายกระทรวงที่ถูกฝ่ายไทยคมฯ ฟ้องมา ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ ก็รับรู้ เพราะเจ้าหน้าที่จากกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานที่มีคุณพฤฒิพรรวมอยู่ด้วยเช่นกัน

รังสิมันต์อธิบายต่อว่า พฤฒิพรที่เคยเป็นหนึ่งในคณะทำงานสู้คดีดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ให้กับฝ่ายกระทรวงดิจิทัลฯ ที่ย่อมรู้จุดแข็งจุดอ่อนของข้อมูลและสำนวนคดี ไม่ต่างอะไรกับการเอาอดีตทนายความที่เคยถูกจ้างให้ทำคดีมาเป็นผู้พิพากษาในคดีเดียวกัน ย่อมเป็นที่กังขาถึงความเป็นกลาง ถึงความเป็นอิสระ ถึงประโยชน์ทับซ้อนได้

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ค.4/2557 ก็เคยวางหลักไว้ว่า หากมีข้อเท็จจริงว่าพนักงานอัยการเคยได้รับมอบอำนาจให้ว่าต่างแก้ต่างทางคดีแล้ว ก็ย่อมมีเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางและความเป็นอิสระได้

ดังนั้น ทั้งเรื่องสายสัมพันธ์ที่น่ากังขาและโดยตำแหน่งแล้ว ต่อให้สุดท้ายผลการพิจารณาออกมาชี้ขาดว่าฝ่ายกระทรวงฯ เป็นผู้ชนะ ก็จะถูกฝ่ายไทยคมฯ เอาไปเป็นเหตุขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้ โดยอ้างว่ากระทรวงฯ ตั้งคนที่ตัวเองรู้ดีว่าเป็นคณะทำงานสู้คดี มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับตน ให้มาเป็นอนุญาโตตุลาการ แสดงถึงเจตนาอันไม่สุจริต

การที่กระทรวงดิจิทัลฯ ทราบดีว่าคุณพฤฒิพรเป็นคณะทำงาน และรู้ดีว่าอาจถูกไทยคมเอามาถอนคำชี้ขาดถ้าผลคดีไม่เป็นคุณกับไทยคมฯ แต่ก็ยังจะตั้งมา จะทำให้คดีนี้ ฝ่ายกระทรวงฯ ไม่มีทางชนะได้เลย ซึ่งจะทำให้รัฐเสียโอกาสจากทั้ง 2 คดี มูลค่าเกือบ 18,000 ล้านบาท

เลี่ยง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ เอื้อสัมปทานให้ไทยคม

รังสิมันต์อภิปรายต่อว่า หลังจากรัฐประหาร คสช.ตั้งคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 เพื่อบริหารจัดการดาวเทียมเมื่อสิ้นสุดสัมปทานในเดือนกันยายน 2564 แต่ไม่สามารถทำตามแนวทางของ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ หรือที่เรียกกันว่า PPP (Public Private Partnership) ได้เพราะไม่สามารถทำได้ก่อนสัญญาสิ้นสุด กระทรวงดิจิทัลฯ จึงเสนอแนะว่าควรมอบหมายให้บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเป็นผู้บริหารจัดการแทน

ปัจจุบัน CAT ได้ควบรวมกิจการกับ TOT ตั้งเป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลฯ หรือก็คือกำกับโดยชัยวุฒิ

วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ก็มีการลงนามสัญญาระหว่างกระทรวงดิจิทัลฯ กับ NT ว่า กระทรวงฯ มอบสิทธิในการบริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานปี 2534 ให้กับ NT โดยชัยวุฒิในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นผู้ลงนามสัญญาด้วยตัวเอง

ต่อมา ไทยคมฯ เจรจากับ NT เพื่อขอเป็นผู้บริหารจัดการดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 ต่อไปหลังสิ้นสุดสัญญา และ NT ก็มีแนวโน้มจะรับข้อเสนอของไทยคม ทั้งที่ NT เคยบอกว่ามีศักยภาพจะดำเนินการเอง แต่เรื่องนี้กลับวกมาที่ไทยคมอีกครั้ง

ความตกลงเกิดขึ้น 2 ชุดด้วยกัน ชุดแรกคือ NT จะจ้างไทยคมฯ ให้เป็นผู้บริหารจัดการดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 ต่อไป ประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี และในความตกลงชุดที่ 2 NT กลับตกลงให้บริษัทลูกของไทยคมฯ ชื่อว่าทีซีบรอดคาสติ้งฯ เข้ามาซื้อความจุในช่องสัญญาณจากดาวเทียมทั้ง 2 ดวงนี้ไปให้บริการลูกค้าเอง ในสัดส่วนถึง 80% ของความจุทั้งหมด ในราคาปีละประมาณ 283 ล้านบาท

รังสิมันต์กล่าวว่า นี่คือ “อัฐยายซื้อขนมยาย”  เพราะสุดท้ายเครือไทยคมฯ จ่ายให้ NT แค่ 83 ล้านบาทเท่านั้น จากการใช้งานดาวเทียมของรัฐถึง 2 ดวง นี่คือการหลีกเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หาวิธีการที่ไม่ต้องดำเนินธุรกิจด้วยตนเอง ใช้วิธีการหักค่าหัวคิวอย่างที่รัฐวิสาหกิจไทยทำมาตลอด

รังสิมันต์กล่าวว่า “นี่ไม่ต่างอะไรกับสัมปทานจำแลง แทบไม่ต่างจากเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมาที่มีแค่ไทยคมฯ ที่ผูกขาดธุรกิจดาวเทียมไว้และจะยังคงผูกขาดต่อไป ทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 60 กำหนดให้รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม การจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน แต่การที่คุณชัยวุฒิแอบเอาผลประโยชน์ของประเทศไปประเคนให้เอกชนที่ระบุตัวเฉพาะเจาะจงแบบนี้ ทำให้รัฐวิสาหกิจที่ควรได้เป็นผู้เล่นรายใหม่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ ไม่มีโอกาสได้เข้าถึงตลาดด้วยตัวเอง”

หากเทียบในปี 2563 ที่ยังไม่สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน รัฐยังได้รายได้จากดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 ถึง 559 ล้านบาท แต่ดีลใหม่จะ เหลือปีละ 80 ล้านบาทเท่านั้น และยังไม่นับว่าต้องหักค่าใช้จ่ายต่างๆ และแบ่งรายได้กันระหว่างกระทรวงฯ และ NT

ชัยวุฒิ เอาผลประโยชน์ของประเทศ มาตอบแทนบุญคุณ ‘กัลฟ์’

รังสิมันต์ตั้งคำถามว่า ชัยวุฒิใช้ตำแหน่งรัฐมนตรีมาเอื้อประโยชน์บริษัทบริษัท กัลฟ์ เอนเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือไม่ เพราะชัยวุฒิเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการในช่วงตนต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง

ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กัลฟ์ ทยอยเข้าซื้อหุ้นในบริษัทอินทัชฯ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 41.13% ในบริษัทไทยคมฯ ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2563 จนกระทั่งวันที่ 18 เมษายน 2564 หลังชัยวุฒิเข้ามาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ แล้ว คณะกรรมการของบริษัทนี้ก็มีมติอนุมัติให้สามารถลงทุนในหุ้นสามัญของอินทัชฯ ได้ทั้งหมด หรือก็คือต่อจากนี้สามารถซื้อหุ้นได้สูงสุดถึงไม่เกิน 81.07%

ต่อมา 27 กรกฎาคม หลังจากที่กระทรวงดิจิทัลฯ จัดวางคุณพฤฒิพรเป็นอนุญาโตตุลาการเรียบร้อยแล้ว และก่อนที่กระทรวงฯ จะเซ็นมอบให้ NT ดูแลดาวเทียมหลังสัมปทานเพียง 3 วัน บริษัทนี้ก็เข้าซื้อหุ้นอินทัชฯ เพิ่มจนแซงหน้า SINGTEL จากสิงคโปร์ ที่เคยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดมาก่อนหน้านี้ และเมื่อถึง 5 สิงหาคม บริษัทนี้ก็ถือหุ้นในอินทัชฯ เป็นสัดส่วนสูงถึง 42.25% กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในผู้ถือหุ้นใหญ่ของไทยคมฯ อีกทีหนึ่งเป็นที่เรียบร้อย

ชัยวุฒิเข้าไปทำงานกับกัลฟ์ โดยการชักชวนจากธนญ ตันติสุนทร เพื่อนร่วมรุ่นวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และน้องชายของนลินี รัตนาวะดี ภรรยาของสารัชถ์ รัตนาวะดี ซีอีโอของกัลฟ์ และรุ่นพี่จากคณะเดียวกันด้วย

นอกจากนี้ ช่วงเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในการลงพื้นที่แจกข้าวกล่องของกานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ จากพรรคพลังประชารัฐ ภรรยาของชัยวุฒิ ก็ยังเป็นข้าวกล่องที่ได้รับอภินันทนาการจากบริษัทกัลฟ์ด้วย

บริษัท กัลฟ์เคยบริจาคเงินให้กับมูลนิธิป่ารอยต่อฯ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณในปี 59 เป็นเงิน 5,000,000 บาท ที่ถูกใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากมาย โดยรังสิมันต์กล่าวว่า “ตอนที่นั่งเก้าอี้ประธานมูลนิธิป่ารอยต่อฯ พล.อ.ประวิตรก็พยายามเข้าไปกอบโกยและเอื้อผลประโยชน์ในกิจการพลังงานของประเทศ ที่มีบริษัทกัลฟ์ฯ เป็นผู้เล่นในนั้นด้วย พอมานั่งเก้าอี้ประธาน ก.ตร. ก็ปล่อยปละละเลยให้มีการออกตั๋วช้างแอบอ้างไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และพอมานั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการอวกาศฯ ก็มีมติร่วมกันกับคุณชัยวุฒิ ยกดาวเทียมหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานให้กับ NT ซึ่งในภายหลังเครือไทยคมฯ ที่มีบริษัทกัลฟ์ถือหุ้นใหญ่ทางอ้อม ก็เข้ามาคว้าสิทธิควบคุมดาวเทียมเหล่านั้น และใช้แสวงหากำไรต่อไปได้ โดยที่ฝ่ายรัฐได้ผลประโยชน์เพียงเศษเสี้ยวเล็กน้อยเท่านั้น”

สุดท้ายแล้ว ผลประโยชน์ในวงการดาวเทียม เมื่ออยู่ภายใต้อำนาจของชัยวุฒิที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ แล้วก็จะถูกกินรวบเข้าไปอยู่ในมือของนายทุนทั้งหมด ส่วนผลประโยชน์ในกิจการด้านอื่นๆ ถ้ายังให้รัฐบาลจากพรรคพลังประชารัฐนำประเทศต่อไป ก็คงไม่พ้นต้องตกในชะตากรรมเดียวกัน?

รังสิมันต์กล่าวว่า “ปัญหาการกินรวบที่เกิดจากกลุ่มทุน ที่ได้ประโยชน์จากธุรกิจผูกขาด เราอาจจะเปรียบเปรยว่าแทบไม่แตกต่างกับปรสิตที่กัดกินสังคมไทยไม่ให้พัฒนา ด้านหนึ่งปรสิตกลุ่มทุนเหล่านี้กำลังต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของตนเอง ผ่านการจ่ายเงินให้พรรคการเมือง เพื่อให้ส.ส.และส.ว. ออกนโยบายที่จะเอื้อประโยชน์แก่ปรสิต และส่งสมัครพรรคพวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล หรือคนใกล้ชิดของรัฐบาลเพื่อให้มั่นใจว่า จะผูกขาดทรัพยากรต่างๆ ในประเทศได้ต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการจ่ายเงินให้กับบรรดาข้าราชการไม่ว่าจะเป็นทหาร ศาล ตำรวจ หรือข้าราชการพลเรือนอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่า แขนขาของร่างกายจะเชื่อฟังตามใจปรารถนาของปรสิตกลุ่มทุนที่เข้ามายึดครอง”

“หนทางเดียวที่จะรักษาอาการป่วยของประเทศนี้คือ การทลายปรสิตการเมือง ซึ่งนั่นคือ การจัดการทุนผูกขาด ทำให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจอย่างเสรี พอได้แล้วกับสัมปทานไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน พอได้แล้วกับการใช้เครือข่ายการเมือง เพื่อเอื้อนโยบายให้ตัวเองเติบโตกว่าใครเพื่อน เราต้องจัดการขุนศึก เพื่อให้พวกเขาหยุดเป็นมือเป็นไม้ในการทำลายประชาชน ถึงเวลาที่พวกเขาต้องกลับกรมกอง มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเอง เราต้องจัดการศักดินาให้อยู่ภายใต้กฎหมาย เปลี่ยนศักดินา ให้มีสถานะเหมือนกับประชาชนทุกคน เพื่อจะไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายและประชาชนอีกต่อไป” รังสิมันต์ได้ทิ้งท้าย

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ชัยวุฒิ มีการนำรูปของบุคคลที่ 3 มาประกอบสไลด์ชี้แจง ทำให้ ส.ส.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกลประท้วงว่าผิดข้อกำหนด แต่ ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานสภา ยืนยันว่าสามารถแสดงได้ แต่ไม่ให้โรมแสดงรูปแผนผังที่มีรูป พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

นำมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจตนเองภายหลัง

อย่างไรก็ตาม ศุภชัยอนุญาตให้รังสิมันต์ทวงถามเรื่องอนุญาโตตุลาการ แต่ชัยวุฒิไม่ตอบ บอกว่าชี้แจงแล้วเรื่องสัมปทานว่าดาวเทียมเป็นของ NT ส่วนลูกค้าที่ต่างประเทศอาจจะมีไทยคมเป็นตัวแทนจำหน่าย ไม่ใช่การสัมปทาน แต่เป็นการธุรกิจร่วมกันช่วยกันหาลูกค้า อะไรที่พร้อม NT ก็ทำเอง แต่อะไรที่ไม่พร้อมก็ใช้ของไทยคม เพราะตอนนี้ไทยคมเป็นผู้ทำธุรกิจดาวเทียมรายเดียวในไทย

ทั้งนี้รังสิมันต์ พยายามจะขอเวลาพูดต่อ แต่ศุภชัย ไม่อนุญาต อีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net