Skip to main content
sharethis

3 ก.ย. 2564 สปสช. เผยกระจายชุดตรวจโควิด ATK 8.5 ล้านชุด ผ่านผู้นำ/อาสาสมัครในชุมชน หรือรับที่หน่วยบริการผ่านแอปเป๋าตัง คาดเริ่มแจกได้ 15 ก.ย. 2564 นอกจากนี้ ยังจ่ายชดเชยอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนไปเกือบ 3 พันคน วงเงินกว่า 110 ล้านบาท

ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงแนวทางการกระจายชุดตรวจแอนติเจนเทสต์คิต (Antigen Test Kit-ATK) แบบ Self-test สำหรับให้ประชาชนตรวจโควิดด้วยตัวเอง หลังจากที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ลงนามจัดซื้อ 8.5 ล้านชุด โดยระบุว่าขณะนี้ทางคณะทำงานวางแผนการกระจาย ATK ของ สปสช. ซึ่งมี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน วางแผนเร่งกระจายชุดตรวจ เบื้องต้นจะเน้นที่กลุ่มเสี่ยง อาทิ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่สีแดง ในครอบครัว/ชุมชนมีผู้ติดเชื้อ เพื่อให้ตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตัวเอง คาดว่าจะเริ่มแจกได้ 15 ก.ย.2564  

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า สำหรับช่องทางการกระจายนั้น จะกระจายผ่านหน่วยบริการที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพใน 2 รูปแบบ คือ  

1. แจกให้ชุมชนแออัด รวมทั้งกระจายไปตามตลาดต่างๆ โดยที่ทางผู้นำชุมชน หรือผู้ประสานงาน หรืออาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จะดำเนินการรับชุดตรวจและกระจายให้กลุ่มเป้าหมายโดยที่ประชาชนไม่ต้องเดินทางมารับที่หน่วยบริการ ใน กทม. ลงทะเบียนรับ ATK กับศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ส่วนต่างจังหวัด ลงทะเบียนรับ ATK กับหน่วยบริการในพื้นที่ เช่น รพ.สต. หรือ รพ.ใกล้ชุมชน

  • กลุ่มเป้าหมาย  

1. ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 7 โรค (ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด) 

2. ผู้ที่สงสัยว่ามีอาการติดเชื้อ (มีไข้ ไอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจหอบ หายใจลำบาก) 

3. ผู้ที่อยู่ร่วมบ้านกับผู้ติดเชื้อโควิด 

4. ผู้ที่ทำงานประสานงานในชุมชน  

2. แจกที่หน่วยบริการ ได้แก่ รพ. และ รพ.สต.ทุกแห่ง รวมถึงคลินิก และร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ ในพื้นที่สีแดงเพื่อให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงนำกลับไปตรวจที่บ้าน โดยประชาชนขอรับผ่านแอปเป๋าตัง หากเข้าเกณฑ์ว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง จะมีขั้นตอนให้ดูร้านขายยาใกล้บ้าน และโทรประสานเพื่อไปขอรับหรือให้ผู้อื่นไปรับที่หน่วยบริการ ซึ่งวิธีดูว่ามีหน่วยบริการไหนเข้าร่วมบ้างนั้น ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยขณะนี้ธนาคารกรุงไทยกำลังพัฒนาระบบและคาดว่าวันที่ 11 ก.ย. 2564 จะมีการอัพเดทแอปเป๋าตังที่เพิ่มเมนูรับชุดตรวจโควิด-19 ฟรี ในหัวข้อเป๋าตังสุขภาพแล้วเสร็จ ซึ่งประชาชนกลุ่มเสี่ยงเลือกใช้บริการตามเมนูนี้ได้ อีกทั้งที่หน้าร้านยาก็จะมีสติ๊กเกอร์ใหญ่ๆ ว่าเป็นจุดแจก ATK ของ สปสช. ด้วย 

"ที่ต้องแจกผ่านหน่วยบริการเพราะต้องการให้มีการให้คำแนะนำ และแจกคนละ 2 ชุด เพราะเมื่อได้ผลเป็นลบแล้ว อาจยังไว้วางใจไม่ได้ อีก 5 วัน อาจต้องตรวจอีกครั้ง และถ้ามีผลเป็นบวกก็จะมีขั้นตอนเพื่อนำเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้านหรือ Home Isolation หรือถ้าเข้าระบบการดูแลในระบบชุมชน หรือ Community Isolation ก็จะต้องตรวจซ้ำด้วย RT-PCR" นพ.จเด็จ กล่าว 

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า หากประชาชนมีปัญหาในการรับชุดตรวจ ATK สามารถโทรถามสายด่วน สปสช. 1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ add line สปสช. ที่ @nhso เพื่อสอบถามข้อมูลต่างๆได้เช่นกัน นอกจากนี้แล้ว ขอแนะนำประชาชนที่ไม่มีอาการเจ็บป่วยให้ add friend กับ @nhso ไว้ก่อนก็ได้ เพราะเมื่อเกิดเหตุจำเป็นก็จะได้สอบถามข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ สปสช.เปิดให้ผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สามารถยื่นขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. 2564 ข้อมูลจนถึงวันที่ 27 ส.ค. 2564 มีผู้ยื่นคำร้องเข้ามาทั้งหมดจำนวน 3,888 รายและยังอยู่ระหว่างรอข้อมูลเพิ่มเติมอีก 99 ราย โดยทางคณะอนุกรรมการระดับเขตได้พิจารณาจ่ายเงินชดเชยแล้ว 2,875 ราย และพิจารณาไม่จ่าย 914 ราย รวมเป็นเงินที่จ่ายชดเชยเบื้องต้นไปแล้ว 110,295,000 บาท 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า หลักเกณฑ์การพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นจะแบ่งเป็น 3 ระดับตามความรุนแรงของอาการไม่พึงประสงค์นั้นๆ โดยระดับ 1.มีอาการป่วยต้องรักษาต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท มีผู้รับเงินเยียวยาแล้ว 2,641 ราย ระดับ 2.เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท มีผู้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว 12 ราย และ ระดับ 3.กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท มีญาติผู้เสียชีวิตรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว222 ราย  

นพ.จเด็จ กล่าวด้วยว่า หากพิจารณาแยกตามเขต พบว่าสปสช.เขต 13 กทม. มีผู้ยื่นคำร้องเข้ามามากที่สุด จำนวน 840 ราย รองลงมาคือ สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ จำนวน 559 ราย และ สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี 451 ราย อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากจำนวนเงินที่มีการจ่ายเยียวยาไป พบว่า สปสช.เขต 4 สระบุรี จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวนประมาณ 13 ล้านบาท รองลงมาคือ สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี จำนวนประมาณ 11 ล้านบาท และ สปสช.เขต 6 ระยอง จ่ายเงินแล้วจำนวนประมาณ 10 ล้านบาท ส่วนเขตที่มีผู้ยื่นคำร้องมากที่สุดอย่าง สปสช.เขต 13 กทม. มีการจ่ายเงินเยียวยาไปแล้ว ประมาณ 7.5ล้านบาท 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า หลักการจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ สปสช.นั้น ไม่ไช่การพิสูจน์ถูกผิดหรือชี้ชัดว่าเป็นผลที่เกิดจากการฉีดวัคซีนแต่อย่างใด แต่เป็นเงินเยียวยาเพื่อลดผลกระทบที่เกิดแก่ประชาชนเมื่อมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ซึ่งแม้ในภายหลังจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าสาเหตุของอาการต่างๆที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากวัคซีน ก็ไม่เป็นเหตุให้เรียกเงินคืนแต่อย่างใด 

ทั้งนี้ ผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ใน 3 จุด คือ ที่หน่วยบริการที่ไปรับการฉีด ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือที่ สปสช.เขตพื้นที่ ซึ่งหลังจากได้รับคำร้องแล้ว จะมีคณะอนุกรรมการในระดับเขตซึ่งประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนภาคประชาชนเป็นผู้พิจารณาว่าจะจ่ายเงินเยียวยาหรือไม่และจ่ายเป็นจำนวนเท่าใด ตามหลักฐานทางการแพทย์และระดับความหนักเบาของอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น เมื่อมีผู้มายื่นคำร้องแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ระดับเขตพื้นที่จะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการ สปสช. ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบผลการวินิจฉัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net