Skip to main content
sharethis

รายงานฉบับใหม่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่าการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำของช่องว่างการคุ้มครองทางสังคมระหว่างประเทศที่มีรายได้สูงกับประเทศที่มีรายได้ต่ำอย่างชัดเจน ชี้ประชากรโลกมากกว่า 4 พันล้านคน ยังคงขาดการคุ้มครองทางสังคม


ที่มาภาพประกอบ: ILO/Byamba-ochir Byambasuren (CC BY-NC-ND 2.0)

เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้เผยแพร่รายงาน World Social Protection Report 2020-22: Social protection at the crossroads – in pursuit of a better future ระบุว่าแม้จะมีการขยายการคุ้มครองทางสังคมทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในช่วงวิกฤต COVID-19 แต่กลับมีผู้คนมากกว่า 4 พันล้านคนทั่วโลกยังคงไม่ได้รับการคุ้มครองโดยสิ้นเชิง 

ILO พบว่าการรับมือกับ COVID-19 ในระดับโลกนั้นไม่สม่ำเสมอและไม่เพียงพอ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างประเทศที่มีรายได้สูงและประเทศที่มีรายต่ำ และไม่สามารถสร้างความคุ้มครองทางสังคมซึ่งมนุษย์ทุกคนบนโลกสมควรได้รับ

"ประเทศต่าง ๆ กำลังอยู่บนทางแยก" กาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการ ILO กล่าว ไรเดอร์ชี้ว่านี่เป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะใช้โอกาสในการแก้ปัญหาการระบาดใหญ่ของ COVID-19 เพื่อที่จะก้าวไปสร้างระบบการคุ้มครองทางสังคมยุคใหม่ สิ่งเหล่านี้จะสามารถบรรเทาทุกข์ผู้คนจากวิกฤตการณ์ในอนาคตได้ ทำให้คนทำงานและธุรกิจมีความปลอดภัยในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอีกหลายครั้งในอนาคต

"เราต้องตระหนักว่าการคุ้มครองทางสังคมที่มีประสิทธิผลและครอบคลุม ไม่เพียงแต่จำเป็นสำหรับการสร้างความยุติธรรมทางสังคมและการสร้างงานที่มีคุณค่าเท่านั้น แต่มันเป็นการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นด้วย" ไรเดอร์ กล่าว

'ยุโรปและเอเชียกลาง' มีอัตราการครอบคลุมสูงสุด 'แอฟริกา' น้อยที่สุด

ในรายงานฉบับนี้ของ ILO ได้ให้ภาพรวมล่าสุดเกี่ยวกับระบบการคุ้มครองทางสังคมทั่วโลก ซึ่งครอบคลุมถึงผลกระทบของการระบาดใหญ่ของ COVID-19 โดยระบุว่าปัจจุบันมีประชากรโลกเพียงร้อยละ 47 ที่ได้รับการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพ จากการคุ้มครองทางสังคมอย่างน้อย 1 อย่าง ในขณะที่ประชากรอีกร้อยละ 53 (4.1 พันล้านคน) ไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมใด ๆ เลยจากของประเทศของตน

การคุ้มครองทางสังคมมีความไม่เท่าเทียมกันในระดับภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญ ยุโรปและเอเชียกลางมีอัตราการครอบคลุมสูงสุด ร้อยละ 84 ของประชากรในยุโรปและเอเชียกลางได้รับผลประโยชน์จากการคุ้มครองทางสังคมอย่างน้อย 1 อย่าง, อเมริกา ร้อยละ 64.3 เอเชียและแปซิฟิก ร้อยละ 44, อาหรับ ร้อยละ 40 ส่วนแอฟริกา ประชากรในภูมิภาคนี้ได้รับผลประโยชน์จากการคุ้มครองทางสังคมอย่างน้อย 1 อย่างเพียงร้อยละ 17.4 เท่านั้น

ค่าใช้จ่ายของรัฐที่เกี่ยวกับการคุ้มครองทางสังคม (ไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ)


แผนที่แสดงสัดส่วนค่าใช้จ่ายของรัฐที่เกี่ยวกับการคุ้มครองทางสังคม (ไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ) ต่อ GDP ของแต่ละประเทศ ณ ปี 2563 (หรือข้อมูลล่าสุดที่ประเทศนั้น ๆ อัพเดท)

ด้านการใช้จ่ายของรัฐบาลในการคุ้มครองทางสังคมก็แตกต่างกันอย่างมากเช่นกัน โดยเฉลี่ยแล้วประเทศต่าง ๆ ใช้จ่ายร้อยละ 12.8 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในการคุ้มครองทางสังคม (ไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านรวมสุขภาพ) อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีรายได้สูงใช้จ่ายร้อยละ 16.4 ต่อ GDP ส่วนประเทศที่มีรายได้ต่ำใช้จ่ายเพียงร้อยละ 1.1 ต่อ GDP เท่านั้น ในการคุ้มครองทางสังคม 

รายงานระบุว่าช่องว่างทางการเงิน (การใช้จ่ายเพิ่มเติมที่จำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่ามีการคุ้มครองทางสังคมขั้นต่ำสำหรับทุกคนเป็นอย่างน้อย) เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 30 นับตั้งแต่เริ่มวิกฤต COVID-19

ILO ชี้ว่าเพื่อรับประกันการคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐานเป็นอย่างน้อย ประเทศที่มีรายได้ต่ำจะต้องลงทุนเพิ่มอีก 77.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ประเทศที่มีรายได้ปานกลางตอนล่างเพิ่มอีก 362.9 พันล้านดอลลาร์ฯ ต่อปี และประเทศที่มีรายได้ระดับกลางบนอีก 750.8 พันล้านดอลลาร์ฯ ต่อปี ซึ่งเท่ากับสัดส่วนร้อยละ 15.9, 5.1 และ 3.1 ต่อ GDP ตามลำดับ

เด็กส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมที่มีประสิทธิภาพ


มีเด็กจำนวนมากขึ้นที่ถูกบังคับให้ทำงานที่เป็นอันตรายในช่วงการระบาดใหญ่ของ COVID-19 | แฟ้มภาพ: Marcel Crozet/ILO (CC BY-NC-ND 2.0)

รายงานฉบับนี้ของ ILO ยังชี้ว่า เด็กส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมที่มีประสิทธิภาพ โดยมีเพียง 1 ใน 4 (ร้อยละ 26.4) ของเด็กทั่วโลกที่ได้รับการคุ้มครองทางสังคม มีเพียงร้อยละ 45 ของคุณแม่ทั่วโลกเท่านั้นที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากการคลอดบุตร 

ผลกระทบของความยากจนที่มีต่อเด็ก สถานการณ์ก็น่าเป็นห่วงในช่วงการระบาดของ COVID-19 ก่อนหน้านี้ในปี 2560 เด็กทั่วโลกร้อยละ 17.5 หรือประมาณ 356 ล้านคน อาศัยอยู่ในครอบครัวที่มีความยากจนขั้นรุนแรง (ลดลงจากประมาณร้อยละ 19.5 เมื่อปี 2556) แต่การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กเป็นอย่างมาก ILO คาดว่าการระบาดใหญ่ได้เพิ่มจำนวนเด็กที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อยเพิ่มอีก 142 ล้านคน รวมเป็นเกือบประมาณ 725 ล้านคน

ด้านรายจ่ายภาครัฐเพื่อการคุ้มครองทางสังคมสำหรับเด็กใน 133 ประเทศ นั้นเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ต่อ GDP และมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก โดยกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำมีรายจ่ายส่วนนี้เพียงร้อยละ 0.1 ต่อ GDP ส่วนประเทศที่มีรายได้สูงมีค่าใช้จ่ายร้อยละ 1.2 ต่อ GDP

ผลกระทบร้ายแรงจาก COVID-19 ที่มีต่อเด็ก ๆ นั้นก็คือเด็กอีกหลายล้านคนต้องตกเป็นเหยื่อของการใช้แรงงานเด็ก ILO ระบุว่ามีหลักฐานเพิ่มขึ้นว่าการใช้แรงงานเด็กเป็นเพิ่มขึ้นเมื่อพวกเขาไม่ได้ไปโรงเรียนในช่วงการล็อกดาวน์และมาตรการควบคุมการระบาดของแต่ละประเทศ 

พัฒนาการด้านการศึกษาและคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กมากกว่า 1.5 พันล้านคนทั่วโลก ถูกขัดจังหวะจากการระบาดใหญ่ของ COVID-19 และถึงแม้ว่าจะเริ่มกลับเข้าสู่โรงเรียน ผู้ปกครองก็อาจไม่มีเงินส่งเด็กไปโรงเรียนได้ นอกจากนี้ยังเด็กจำนวนมากขึ้นที่ถูกบังคับให้ทำงานที่เป็นอันตราย ประเด็นความไม่เท่าเทียมกันทางเพศอาจยิ่งแย่ลงไปอีก โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่เสี่ยงต่อการถูกแสวงประโยชน์ทั้งในภาคเกษตรกรรมและงานบ้าน ILO ระบุว่าเด็กผู้หญิงประมาณ 11 ล้านคน อาจจะไม่มีโอกาสได้กลับไปเรียนหนังสืออีก

กลุ่มผู้เปราะบางก็เช่นกัน

นอกจากนี้มีเพียง 1 ใน 3 (ร้อยละ 33.5) ของผู้ที่มีความทุพพลภาพขั้นรุนแรงทั่วโลกที่ได้รับผลประโยชน์ชดเชยจากความทุพพลภาพ ส่วนความคุ้มครองที่ให้แก่ผู้ว่างงานในภาพรวมก็ยังต่ำ มีเพียงร้อยละ 18.6 ของผู้ว่างงานทั่วโลกที่ได้รับการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพ และในขณะที่ร้อยละ 77.5 ของผู้ที่อยุ่ในวัยเกษียณได้รับเงินบำนาญชราภาพบางรูปแบบ ความเหลื่อมล้ำที่สำคัญยังคงมีอยู่ทั่วภูมิภาค ระหว่างพื้นที่ชนบทและในเมือง และระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย

 

ที่มาเรียบเรียงจาก
World Social Protection Report 2020-22: Social protection at the crossroads – in pursuit of a better future (ILO, 1 September 2021) 
More than 4 billion people still lack any social protection, ILO report finds (ILO, 1 September 2021)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net