นิธิ เอียวศรีวงศ์: โลกที่เป็นหลุม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สักประมาณครึ่งศตวรรษหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ มีคำกล่าวที่เห็นพ้องต้องกันทั้งฝ่ายแรงงานและนายจ้างว่า แอลกอฮอล์คือหนทางเร็วที่สุดในการออกจากแมนเชสเตอร์

การบริโภคเหล้าเกินความพอเหมาะอย่างสม่ำเสมอในหมู่ชนจำนวนมาก ไม่ได้เกิดขึ้นจากพิธีกรรม, อากาศหนาว, กำลังการผลิต, การโฆษณา, หรือความดื้อดึงต่อแพทย์ สสส. แต่เกิดขึ้นเป็นปกติในเมืองใหญ่สมัยใหม่ซึ่งมีคนจนเมืองอยู่มาก การปฏิวัติอุตสาหกรรมนำเอาคนชนบทจำนวนมากเข้าสู่โรงงานในเมือง จนชุมชนขนาดเล็กขยายตัวเป็นเมืองอุตสาหกรรมใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว

แมนเชสเตอร์เป็นหนึ่งในเมืองประเภทนั้น ซ้ำร้ายยังเป็นเมืองที่เติบโตขึ้นภายใต้อุดมคติของลัทธิอัตถประโยชน์นิยม และเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม อาคารที่ก่อสร้างขึ้นใหม่อย่างรวดเร็วทั้งหมดมุ่งประโยชน์ใช้สอยทุกตารางนิ้ว ไม่มีอะไรที่จะพึงเสียไปเพื่อความสวยงามซึ่งหาประโยชน์ใช้สอยไม่ได้ และแน่นอนเป็นต้นทุนที่ไม่เพิ่มผลผลิตใดๆ ด้วย

ชีวิตอันแสนยากลำบากของกรรมกรซึ่งได้รายได้ไม่พอเลี้ยงปากท้อง และหาความมั่นคงใดๆ ในชีวิตไม่ได้ จึงไร้อนาคตที่จะให้ความหวังแก่ความอดทนลำบากเพื่อวันข้างหน้าที่จะดีกว่าได้ เหล้าจึงเป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้หลุดจากแมนเชสเตอร์ได้โดยเร็ว

อย่างเดียวกับที่รายงานของฝรั่งที่เคยเข้ามาเมืองไทยในต้นรัตนโกสินทร์ตั้งข้อสังเกตว่า คนขี้เหล้าเมายานั้นพบได้ในหมู่กุลีจีนเท่านั้น ไม่ค่อยได้พบในหมู่ชาวนาไทยหรือคนไทยเลย

ดังนั้น นอกจากตลาดต่างประเทศขนาดใหญ่ที่เครื่องจักรเร่งผลิตสินค้าส่งออกทั้งหลายแล้ว ยังมีตลาดภายในขนาดใหญ่ที่พร้อมจะรองรับเหล้าเลวๆ และถูกๆ อีกด้วย แต่โชคดีที่อังกฤษไม่ปล่อยให้เกิด “เสี่ย” จำนวนน้อยรายที่ได้สัมปทานผูกขาดจากรัฐ จึงทำให้ “เสี่ย” ต้องแข่งขันกันเอง ในระยะยาวคุณภาพของเหล้า-เบียร์ก็ขยับดีขึ้นตามความต้องการของตลาดไปเอง

พูดอย่างสั้นๆ ก็คือ มีการหมักและกลั่นเหล้า-เบียร์มาแต่บรมสมกัลป์ แต่เหล้า-เบียร์ไม่เคยเป็นอันตรายต่อสังคมโดยรวม จนกระทั่งเมื่อมนุษย์ย่างเข้าสู่การผลิตแบบทุนนิยม

แอลกอฮอล์คือหนทางเร็วที่สุดในการออกจากแมนเชสเตอร์ เป็นคำขวัญเดียวกับหนังโฆษณาเรื่อง จน-เครียด-กินเหล้า แหละครับ อย่างไรก็ตาม แม้จะสื่อความหมายเดียวกัน แต่คำขวัญแรกเปิดให้เรามองเห็นมิติอื่นๆ ของการใช้แอลกอฮอล์อย่างผิดๆ ในขณะที่คำขวัญหลัง เน้นย้ำแต่มิติความเลวร้ายของแอลกอฮอล์เท่านั้น ยิ่งกินยิ่งเมาและยิ่งจน

เมาหยำเปในแมนเชสเตอร์ระยะนั้น สะท้อนความไม่เป็นธรรมอย่างเลวร้ายต่อแรงงาน อันเป็นลักษณะปรกติของทุนนิยมระดับปฐมภูมิ ซึ่งสะสมทุนด้วยการยึด, แย่งชิง, ปล้นสะดม เอาทรัพยากรส่วนรวมหรือของคนอื่นมาเป็นของตน แต่เมาหยำเปของไทยกลายเป็นเพียงบุคลิกส่วนตนที่อ่อนแอของคนจน

ประเด็นก็คือ ไม่ว่าเหล้า ยาเสพติด, หรือนิสัยที่ถือว่า “ไม่ดี” ต่างๆ มีมิติมากกว่าความอ่อนแอเชิงบุคลิกภาพ ที่สำคัญคือเชื่อมโยงกับสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งหลายครั้ง ไม่พูดถึงมิติอื่นๆ เสียเลยก็เหมือนสนับสนุนความไม่เป็นธรรมเหล่านั้น เช่น ระหว่างติดเหล้ากับติดนิสัยผูกขาดทางการค้า สสส.ต่อต้านอะไรกันแน่

เหล้ายังมีมิติทางวัฒนธรรมที่มีรากลึกมาในหมู่คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมาก เหล้าเคยถูกใช้เป็น “สื่อ” ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพลังเหนือธรรมชาติ เช่น ผีบรรพบุรุษ, เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ รวมทั้งผีหรือเทพอื่นๆ ทั่วไปด้วย เหล้าจึงไม่เคยขาดในเครื่องเซ่น

และเพราะเป็น “สื่อ” ที่ “แรง” ในตัวเองเช่นนี้ การดื่มเหล้าในหมู่เพื่อนฝูงจึงน่าจะมีมิติทางสังคมแฝงอยู่ด้วย เช่น การยอมรับให้เป็นพวกเดียวกัน และเมื่อเป็นพวกเดียวกันก็ย่อมมีความเท่าเทียมกัน (ผมนึกอย่างไรก็นึกไม่ออกว่า คนที่มีสถานภาพทางสังคมต่างกันอย่างมากในสังคมไทย จะร่วมวงเหล้ากันได้อย่างไร) สามารถสื่ออะไรกันนอกกรอบของธรรมเนียมได้อย่างเสรี เผยหัวใจที่ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยกฎเกณฑ์ทางสังคมต่อกันได้เต็มที่ และด้วยเหตุดังนั้น จึงอาจใช้เหล้าเป็นสื่อกลางในการสาบานได้ด้วย

คนไทยมักพูดว่า “หน้าเหล้าหน้าข้าว” จะไปถืออะไรกันอีกเล่า

ผมไม่ได้หมายความว่า เมื่อคิดถึงมิติอื่นๆ ของเหล้า นอกจากทางการแพทย์แล้ว เราจึงควรดื่มเหล้ากันให้เต็มที่ ผลร้ายต่อสุขภาพกายทางการแพทย์ก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่เราควรคำนึงถึง แต่เพราะเหล้ามีหลากหลายมิติยิ่งกว่าสุขภาพกาย ดังนั้น เมื่ออยากจะวางนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับเหล้า จะใช้อำนาจรัฐในการขจัดเหล้าออกจากปากคนไทยให้หมดดี หรือจะสร้างความรู้ความเข้าใจให้คนไทยส่วนใหญ่รู้วิธีจัดการกับเหล้าอย่างเท่าทันดี

ในที่สุดพวกหมอๆ ก็เลือกวิธีใช้อำนาจรัฐ เพราะมันง่ายดีและเร็วดี กฎหมายทุกฉบับทำหน้าที่ของมันคือสร้างอาชญากรขึ้นมาจากกฎหมาย แต่การกระทำยังอาจเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม เพียงแต่อยู่นอกสายตาของกฎหมายและรัฐเท่านั้น

ในบรรดาวิทยาการแผนใหม่ทั้งหมดของตะวันตก แพทยศาสตร์อาจเป็นแขนงแรกที่สร้างพื้นที่แคบๆ ของตนเอง (คือร่างกายมนุษย์) แล้วเจาะลงลึกที่สุดเท่าที่วิทยาการแขนงอื่นจะช่วยให้ลงลึกได้ โลกทั้งใบหดลงเหลือมิติเดียวคือสุขภาวะของร่างกายมนุษย์

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้การจัดการโรคระบาดจึงไร้ประสิทธิภาพเหมือนที่เราประสบอยู่เวลานี้ แน่นอนว่าแพทย์ต้องมีส่วนในการจัดการโรคระบาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การจัดการโรคระบาดมีมิติอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เหมือนกัน เช่น จะจัดให้มีวัคซีนอย่างไรจึงจะทำให้เกิดหลักประกันที่มั่นคงด้านอุปทานวัคซีนที่สังคมไทยควรได้รับ นอกจากคุณภาพของวัคซีน ซึ่งต้องระดมความรู้จากวิทยาการอีกหลายแขนงแล้ว ยังมีเรื่องของการจัดหาที่พอเป็นไปได้ในสถานการณ์วัคซีนขาดแคลนทั้งโลก เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ต้องการความรู้และประสบการณ์ของคนอีกมาก ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศ, นักการทูต หรือแม้แต่ “เส้นสาย” ประเภทต่างๆ เพื่อเข้าถึงวัคซีน

นี่คือเหตุผลที่เราต้องมีนักการเมืองสำหรับการมองภาพกว้าง และตัดสินใจด้วยการใช้พลังทั้งหมดของเราอย่างเป็นองค์รวม โดยไม่แยกการจัดการโรคระบาดใหญ่เช่นโควิด ให้เหลือเพียงมิติสุขภาพเพียงอย่างเดียว

อันที่จริงแพทยศาสตร์ไม่ได้เป็นวิทยาการแขนงเดียวที่ตั้งกรอบพื้นที่การศึกษาให้แคบ เพื่อจะลงลึกได้เต็มที่ ทุนนิยมได้พัฒนามาถึงระดับที่การแบ่งงานกันทำต้องละเอียดซับซ้อนขึ้น ความรู้เฉพาะด้านที่ลงลึกเป็นรูเล็กๆ ตอบสนองต่อการผลิตที่วางอยู่บนพื้นฐานความรู้เฉพาะด้าน ดังนั้น การศึกษาในทุกแขนงวิชาจึงถูกพัฒนาไปในทางเดียวกัน คือตั้งกรอบพื้นที่สำหรับการศึกษาที่แคบแต่ลงลึกได้มาก

ทุกคนโผล่ขึ้นมาจากหลุม แล้วมองโลกกว้างด้วยสายตาที่เคยใช้มองก้นหลุม เข้าใจแต่ว่าโลกคือหลุมเก่าที่ใหญ่ขึ้นเท่านั้น ยิ่งในสังคมที่เทิดทูนปริญญาบัตรอย่างมืดบอด ภาพของโลกที่เป็นเพียงหลุมยิ่งได้รับความนับถือศรัทธา วิธีอธิบายความเหมาะสมของบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หดลงเหลือเพียงจบปริญญาโทจุฬาฯ ก็เพียงพอที่จะระงับการโต้แย้งใดๆ ได้แล้ว

ด้วยเหตุดังนั้น จึงไม่มียุคสมัยใดที่ประชาธิปไตยมีความจำเป็นยิ่งกว่าปัจจุบัน ไม่ใช่เพราะการเลือกตั้งจะทำให้เราได้นักการเมืองที่สามารถมองโลกกว้างได้ตามความเป็นจริงกว่าคนทั่วไป แต่เพราะประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็น “ปริญญาโทจุฬาฯ” หรือไม่ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรโดยเท่าเทียมกันต่างหาก

ไม่ใช่โดยผ่านตำแหน่งอย่างเดียว แต่ผ่านสื่อประเภทต่างๆ ผ่านการรวมกลุ่มเพื่อส่งเสียง ผ่านการประท้วงในลักษณะต่างๆ รวมทั้งบนท้องถนน ผ่านการผลักดันเรียกร้อง ฯลฯ ได้โดยอิสระเสรี และเท่าเทียม พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เสียงของประชาชน โดยตรงหรือโดยผ่านตัวแทนก็ตาม มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการบริหารจัดการในโลกที่คนแต่ละคนล้วนเป็นเหยื่อของหลุมทางวิชาการหรือหลุมทางผลประโยชน์

ไม่ควรมีใครมีอำนาจตัดสินใจเหนือคนอื่นโดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อคนอื่นอีกเลย

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_455037

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท