Skip to main content
sharethis

ตร.อำนาจเจริญ ขับรถไปส่งหมายเรียกนักกิจกรรมในอุบลฯ หลังร่วมคาร์ม็อบ ทั้งฝากผู้ใหญ่บ้านห้ามลูกบ้านไปชุมนุมอีก - ศาลยังไม่ให้ประกัน 'ทนายอานนท์' อนุญาตฝากขังอีก 7 วัน ขณะทนายยื่นประกันครั้งที่ 4 - ผู้ร่วม #คาร์ม็อบลำปาง2 เข้ารับทราบข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยืนยันสู้คดี - ตร.แจ้งข้อหา “ไผ่” เพิ่มถึงใน รพ.ราชทัณฑ์ กล่าวหา ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุม-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากชุมนุม #ม็อบ25ตุลา ที่แยกราชประสงค์

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าช่วงปลายเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาก้านของ (นามสมมติ) อายุ 19 ปี นักกิจกรรม “คณะอุบลปลดแอก” ให้ข้อมูลกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า หลังจากเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2564 เขาเดินทางจากจังหวัดอุบลราชธานีไปร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบที่จังหวัดอำนาจเจริญ #อำนาจไม่ทนคนหลงอำนาจ 

วันที่ 26 ส.ค. 2564 ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านที่ก้านของอาศัยอยู่ในอำเภอวารินชำราบ โทรมาแจ้งว่าเมื่อวันพุธที่ 25 ส.ค. 2564 ตำรวจจาก สภ.เมืองอำนาจเจริญ เข้ามาพบผู้ใหญ่บ้าน โดยสอบถามทางไปบ้านของก้านของเพื่อจะส่งหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันชุมนุมหรือจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดในพื้นที่ควบคุมสูงสุด  หลังได้ข้อมูลพิกัดบ้านเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไปพบก้านของที่บ้าน แต่ปรากฏว่าไม่มีใครอยู่บ้าน ตำรวจจึงกลับไปที่บ้านผู้ใหญ่บ้านและฝากหมายเรียกไว้ให้ก้านของ

ขณะที่ตำรวจจากอำนาจเจริญไปหาที่บ้าน ก้านของไปเรียนออนไลน์อยู่บ้านเพื่อน ส่วนพ่อและแม่ไปทำงาน เมื่อก้านของได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่บ้านจึงได้ไปรับหมายเรียกที่บ้านผู้ใหญ่ โดยผู้ใหญ่ได้บอกก้านของด้วยว่า ตำรวจฝากเตือนให้เขางดทำกิจกรรมการเมืองหรือเข้าร่วมชุมนุมอีก แต่ไม่ได้ระบุสาเหตุว่าเพราะอะไร เมื่อก้านของดูหมายเรียกผู้ต้องหา จึงเห็นว่าออกเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2564 หลังคาร์ม็อบที่เขาไปร่วมเพียง 1 วัน หมายเรียกยังระบุว่า พ.ต.ท.เทวราช เอื้อประเสริฐวงษ์ เป็นผู้กล่าวหา และ ร.ต.ท.พิษณุ เพชรจิตร เป็นพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดี นัดหมายให้ก้านของไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 30 ส.ค. 2564

มีข้อมูลด้วยว่า วันเดียวกันตำรวจ สภ.เมืองอำนาจเจริญ ยังได้ไปส่งหมายเรียกผู้ต้องหาที่บ้านของเค้ก (นามสมมติ) นักกิจกรรมคณะอุบลปลดแอกอีกราย ขณะที่ ฉัตรชัย แก้วคำปอด และวิศรุต สวัสดิ์วร นักกิจกรรมกลุ่มเดียวกัน ซึ่งได้รับแจ้งว่าถูกออกหมายเรียกกรณีเข้าร่วมคาร์ม็อบอำนาจเจริญด้วยเช่นกัน กลับไม่มีตำรวจ สภ.เมืองอำนาจเจริญ ไปส่งหมายเรียกที่บ้าน

โดยปกติการส่งหมายเรียกให้บุคคลที่อยู่นอกพื้นที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจที่ออกหมาย พนักงานสอบสวนจะส่งไปยังสถานีตำรวจในท้องที่นั้นๆ เพื่อให้ตำรวจท้องที่เป็นผู้ดำเนินการส่งหมายไปยังบ้านของบุคคลที่ถูกออกหมาย การที่ตำรวจ สภ.อำนาจเจริญ ไปส่งหมายเรียกนอกเขตพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง โดยเลือกเป้าหมายเฉพาะนักกิจกรรมรุ่นใหม่ อีกทั้งยังมีการสั่งห้ามไปร่วมชุมนุมอีก จึงมองได้ว่า เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ข่มขู่คุกคามนักกิจกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อปิดกั้นคาร์ม็อบไล่รัฐบาลที่มีการประชาสัมพันธ์ว่าจะจัดขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 28 ส.ค. 2564

อ่านข่าวนี้ในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ศาลยังไม่ให้ประกัน 'ทนายอานนท์' อนุญาตฝากขังอีก 7 วัน ขณะทนายยื่นประกันครั้งที่ 4

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2564 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ พนักงานสืบสวน สน.ปทุมวันยื่นคำร้องขออำนาจศาลฝากขังครั้งที่ 3 สำหรับ “อานนท์ นำภา” ในคดีมาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในชุมนุมครบรอบ 1 ปี #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์  ขณะที่ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นครั้งที่ 4 แต่ศาลไม่ให้ประกัน 

เวลา 11.00 น. ศาลเบิกความโจทก์มาไต่สวน พ.ต.ต.เวียงแก้ว สุภาการณ์ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ให้การว่า พยานลำดับที่ 1 – 4  ประกอบด้วย 1.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ 2. นางสาวตรีดาว อภัยวงศ์ 3. นายคมสัน โพธิ์คง 4. นายกันตเมธส์ จโนภาส ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย จะต้องเป็นผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับคำปราศรัยของอานนท์  ได้มีการถอดเทปเสียงปากคำของพยานเสร็จเรียบร้อย เหลือเพียงนำส่งให้พยานตรวจสอบอีกครั้ง ส่วนพยานปากสุดท้ายนางสาวกุลศิรินทร์ นาคไพจิตร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของราชบัณฑิตยสภาจะทำหน้าที่แปลความหมายถ้อยคำของอานนท์ต่อไป

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนระบุว่า การปล่อยอานนท์ชั่วคราวจะไม่เป็นปัญหาต่อการสอบสวน

ทางด้านอานนท์ นำภา ได้ขอคัดค้านการฝากขัง โดยเบิกความว่าคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนไม่ใช่เหตุผลตามกฎหมาย เนื่องจากตนเป็นผู้มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง  มีอาชีพเป็นทนายความและมีภารกิจที่ต้องไปว่าความ ประกอบกับช่วงเวลานี้มีการระบาดของเชื้อโควิดภายในเรือนจำอย่างกว้างขวาง จึงขอคัดค้านการฝากขังและขอให้ศาลโปรดพิจารณายกคำร้องของพนักงานสอบสวน

ต่อมาในเวลา 12.30 น. โดยประมาณ ตระการ สุรมณี ผู้พิพากษา มีคำสั่งให้อนุญาตฝากขังอานนท์อีก 7 วัน โดยระบุว่า “พิเคราะห์เหตุตามคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 3 คำให้การผู้ร้อง และคำคัดค้านของผู้ต้องหาและทนายผู้ต้องหาแล้ว เห็นว่าเมื่อผู้ร้องยืนยันว่าพนักงานสอบสวนจำเป็นต้องสอบสวนพยานอีก 5 ปาก และเสนอสำนวนการสอบสวนต่อผู้บังคับบัญชาอันเป็นกรณีการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้นและมีความจำเป็นที่จะต้องฝากขังเพื่อทำการสอบสวนต่อไป 

กรณีจึงมีเหตุจำเป็น แต่เนื่องจากผู้ต้องหาถูกคุมขังมาโดยตลอดเพื่อให้การสอบสวนแล้วเสร็จโดยเร็ว จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาได้อีก 7 วัน กำชับผู้ร้องให้เร่งรัดการสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว”

หลังศาลมีคำสั่งอนุญาตฝากขัง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวทนายอานนท์ ครั้งที่ 4 ต่อมาในเวลา 16.25 น. ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วราย โดยระบุว่า “ศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้ว 3 ครั้ง พิเคราะห์เหตุผลตามคำร้องของผู้ต้องหาที่ยื่นมาวันนี้แล้ว กรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง” ทั้งนี้ นายอาคม นิตยากรณ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ เป็นผู้ลงนาม

อ่านข่าวนี้ในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ผู้ร่วม #คาร์ม็อบลำปาง2 เข้ารับทราบข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยืนยันสู้คดี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2564 ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองลำปาง นายพินิจ ทองคำ แกนนำกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน และประชาชนในจังหวัดลำปาง รวม 7 คน ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา เหตุจากการเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบลำปาง ครั้งที่ 2 เพื่อร่วมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา

คดีนี้มี ร.ต.อ.ทองทิพย์ พรมเดช เป็นผู้กล่าวหา โดยมีคณะทำงานของพนักงานสอบสวนสภ.เมืองลำปาง นำโดย พ.ต.ท.วิเชียร ใจสันกลาง พร้อมพนักงานสอบสวนอีก 6 นาย ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้  พฤติการณ์ข้อกล่าวหาระบุว่าผู้ต้องหากับพวก รวม 9 คน ได้ร่วมกิจกรรมชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรค โดยเฟซบุ๊คเพจ “พิราบขาวเพื่อมวลชน” ได้โพสต์เชิญชวนให้ร่วมกิจกรรม “Carsmobลำปาง ครั้งที่ 2” ในวันอาทิตย์ที่ 15 ส.ค. 2564 บริเวณสวนสาธารณะเขลางค์นครฯ เริ่มเคลื่อนขบวนเวลา 16.00 น. 

ต่อมาตามวันและเวลาที่เกิดเหตุ มีรถยนต์และรถจักรยานรวมตัวกันบริเวณหน้าสวนสาธารณะเขลางค์นครฯ ที่เกิดเหตุ มีการปราศรัยบนรถยนต์ติดเครื่องขยายเสียง โดยมีการชักชวนประชาชนให้เข้าร่วมกิจกรรม มีนายพินิจ ทองคำแจ้งกำหนดการ เส้นทาง และรูปแบบการจัดรูปแบบจัดรูปขบวน จะมีรถแห่คันที่ 1 ใช้รถยนต์กระบะติดตั้งเครื่องขยายเสียงเป็นรถนำขบวน และปิดท้ายด้วยรถยนต์ของกลุ่มแกนนำพิราบขาวเพื่อมวลชน 

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีประมาณ 60 คน รถยนต์และจักรยานยนต์ มีการติดป้ายกระดาษ มีข้อความไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาล การจัดหาวัคซีนโควิด-19 พบว่าระหว่างทางมีรถจักรยานยนต์มาร่วมกิจกรรมเพิ่มประมาณ 20 คัน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 80 คน โดยขับรวมกลุ่มกันไป ก่อนเลิกกิจกรรมที่สวนสาธารณะเขลางค์นครฯ 

ข้อกล่าวหาได้ระบุถึงบทบาทของผู้ต้องหาแต่ละคนที่มีในระหว่างกิจกรรมคาร์ม็อบ พร้อมระบุว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าว ผู้เข้าร่วมมีการสวมใส่หน้ากากอนามัย แต่ไม่พบว่ามีการตั้งจุดวัดอุณหภูมิ จุดล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และไม่มีการเว้นระยะห่าง ไม่เป็นไปตามมาตรการของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดลำปางในการป้องกันโควิด-19 และมีการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดซึ่งออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อทั้ง 7 คน และได้แจ้งข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตต่อพินิจ และนักกิจกรรมอีก 2 ราย ที่ระบุว่าได้ร่วมปราศรัยบนรถเครื่องขยายเสียง

ทั้ง 7 คน ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะให้การเป็นหนังสือต่อไป ก่อนพนักงานสอบสวนจะแจ้งวันนัดรายงานตัวเพื่อส่งสำนวนต่ออัยการในวันที่ 27 ก.ย. 2564 เวลา 9.00 น. 

หลังเสร็จสิ้นกระบวนการ นักกิจกรรมได้ร่วมกันถ่ายรูปหน้าสถานีตำรวจ บางส่วนได้แสดงออก โดยสวมถุงดำคลุมหัว พร้อมชูสามนิ้ว เพื่อสื่อสารถึงประเด็นต่อต้านการซ้อมทรมานผู้ต้องหาจนเสียชีวิตโดยชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สภ.เมืองนครสวรรค์

อ่านข่าวนี้ในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ตร.แจ้งข้อหา “ไผ่” เพิ่มถึงใน รพ.ราชทัณฑ์ กล่าวหา ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุม-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากชุมนุม #ม็อบ25ตุลา ที่แยกราชประสงค์

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2564 ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ได้เดินทางเข้าแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่ “ไผ่” หรือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา โดยกล่าวหาว่า “ร่วมกัน” ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  จากการร่วมชุมนุมปราศรัยเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในระหว่าง #ม็อบ25ตุลา เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2563 ที่แยกราชประสงค์ โดยจตุภัทร์ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค 2563 ที่ สน.ลุมพินี ผู้ต้องหาจากการร่วมชุมนุม #ม็อบ25ตุลา ได้แก่ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, ธานี สะสม, “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ และ “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา ได้เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบ 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 “ไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า” และฝ่าฝืนข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 13 ข้อ 1 และข้อ 5 โดยหลังจากที่ทั้ง 4 รับทราบข้อกล่าวหาและทำบันทึกประจำวันแล้ว ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ก่อนที่พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี จะสรุปสำนวนการสอบสวนส่งพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญาศาลแขวง 6 แต่พนักงานอัยการได้ตีสำนวนกลับให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มเติมต่อผู้ต้องหาทั้ง 5 ใหม่ รวมถึงจตุภัทร์ด้วย

อ่านข่าวนี้ในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net