นิ/ราษฎร์: The L/Royal Monument การเดินทางคู่ขนานและอนุสรณ์ความทรงจำที่ถูกลืม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หน้าที่หลักอันหนึ่งของงานศิลปะคือการเป็นอนุสรณ์ความทรงจำบันทึกเรื่องราวของบุคคล สถานที่ และยุคสมัย ในยุคที่งานศิลปะเป็นทรัพย์สินและเครื่องมือของชนชั้นนำ สิ่งที่ศิลปินนำเสนอในผลงานสะท้อนแนวคิดและคุณค่าหลักของสังคมว่าต้องการบันทึก ผลิตซ้ำ หรือจำสิ่งใด ในขณะเดียวกันก็ซ่อนนัยยะถึงสิ่งถูกตั้งใจให้ลืมไปด้วย ในปัจจุบันที่ศิลปินสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตและเผยแพร่งานศิลปะได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสถาบันหนึ่งเป็นหลัก ศิลปะถูกปลดโซ่พันธนาการจากการจำต้องรับใช้กลุ่มคนหรืออุดมการณ์หนึ่งเดียวให้ผลิตซ้ำแนวคิดที่มีลักษณะเป็นอำนาจนำมาสู่การขุดค้นสิ่งที่ถูกละเลยมองข้ามหรือตั้งใจกลบฝังให้เกิดเป็นความทรงจำคู่ขนานกันในสังคม

ในโลกตะวันตกที่สังคมที่ประชาธิปไตยลงหลักปักฐาน ผ่านการถกเถียงเรื่อง ความจริง ความงาม อุดมการณ์ อำนาจอย่างกว้างขวาง สิ่งที่ผลิดอกออกผลคือศิลปะที่นำเสนอโดยกลุ่มคนชายขอบของสังคม นำเสนอความเป็นอยู่ โลกทัศน์ ความเชื่อที่แตกต่าง รวมถึงตั้งคำถามกับอำนาจนำที่สร้างปัญหาและบาดแผลจากอดีตซึ่งส่งผลกระทบถึงปัจจุบัน ศิลปินร่วมสมัยจำนวนมากสะท้อนสภาวะปัจจุบันด้วยการเดินทางย้อนสำรวจอดีตเพื่อทำความเข้าใจปัจจุบันที่บิดเบี้ยว

แต่สำหรับ วิทวัส ทองเขียว เส้นทางอาชีพศิลปินของเขาไม่เชิงว่าเป็นการเดินทางจากชายขอบมาสู่ศูนย์กลางแบบเป็นเส้นตรง พัฒนาการทางความคิดที่เกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย ท่ามกลางสงครามการแย่งชิงพื้นที่ความทรงจำของอุดมการณ์สองขั้วที่การถกเถียงเรื่องความจริง ความงาม อุดมการณ์ อำนาจ ถูกจำกัด (restricted) ภายใต้สภาวะสังคมที่การตั้งคำถาม แสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์เป็น “อาชญากรรม” การพยายามทำความเข้าใจปัจจุบันที่บิดเบี้ยวทำให้เขาเห็นการเดินทางในชีวิตที่กลับหัวกลับหางและย้อนแย้ง ในฐานะศิลปินอาชีพ เขาเคยอยู่ที่จุดศูนย์กลางของอำนาจ แต่การเดินทางของเขาในฐานะประชาชนที่ต้องการสังคมประชาธิปไตยที่ทุกคนเท่าเทียมทำให้เขาต้องกลับมาย้อนตั้งคำถามกับสถานะศิลปินและงานศิลปะของเขา

หากจะเปรียบการเดินทางในฐานะศิลปินของวิทวัส อาจกล่าวได้ว่าเขาคือ วินสตัน สมิธ ในนวนิยายดิสโทเปียเรื่อง 1984 (1949) ของจอร์จ ออร์เวลล์ ตรงที่บทบาทการเป็นจิตรกรอภิสัจนิยม (Hyperrealism) ของวิทวัสในอดีตคล้ายคลึงกับวินสตันที่ทำหน้าที่พนักงานผลิตความทรงจำกระแสหลักให้กระทรวงความจริง (Minitrue) ด้วยการสมาทานและผลิตซ้ำคุณค่าของงานศิลปะว่าคือพื้นที่แห่งความบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ ปราศจากมลทินแห่งการเมืองและอุดมการณ์ นำเสนอความงามแบบโรแมนติก บันทึกความรู้สึกประทับใจ และเน้นแสดงฝีมือทางจิตรกรรมเพื่อให้ได้รับการยอมรับว่าถึงมาตรฐานที่จะสามารถกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสถาบัน

แต่ด้วยธรรมชาติที่เป็นคนชอบสงสัยและตั้งคำถาม ทั้งวิทวัสและวินสตัน จึงเหออกนอกเส้นทางหลัก

นิทรรศการ นิ/ราษฎร์: The L/Royal Monument (2564) โดยตัวมันเองคืองานแสดงศิลปะตามมาตรฐานสถาบัน มุ่งนำเสนอความครบเครื่องของศิลปินที่มีความสามารถหลากหลาย ทั้งฝีมือทางจิตรกรรมขั้นสูง การถ่ายภาพ และการจัดวางวัตถุให้มีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ ผู้ชมที่ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางเกี่ยวกับความเป็นไปในสังคมไทยสามารถดื่มด่ำกับสุนทรียศาสตร์และรู้สึกทึ่งกับเทคนิคที่ศิลปินใช้ในการสร้างความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ได้ไม่มากก็น้อย เปรียบเสมือนคนแปลกหน้าที่เดินไปตามถนนหลักได้อย่างเพลิดเพลิน ไม่รู้สึกติดขัดหรือหลงทาง เพราะพื้นถนนนั้นเรียบเนียนตามมาตรฐานของถนนที่มีคุณภาพ

แต่ในสายตาของผู้ชมที่รับรู้บริบททางสังคมและการเมืองไทยเป็นอย่างดี นิ/ราษฎร์ คือทางสองแพร่งที่ต้องเลือกเดิน ไม่ซ้าย (L) ก็ขวา (R) ไม่มีตรงกลาง ผู้ชมจะไม่เพียงเห็นสิ่งที่ถูกนำเสนออยู่ในตัวงาน แต่จะเห็นสิ่งที่ไม่ถูกนำเสนอ ไม่พูดถึงอย่างชัดเจนหรือตรงไปตรงมาอีกด้วยซึ่งเป็นทั้งความตั้งใจของศิลปินเองและจากกฎเกณฑ์ที่ถูกบังคับกำกับไว้ เส้นทางที่ต้องเลือกนี้มาพร้อมกับการตีความความหมายที่ซ่อนอยู่ในสัญญะและรายละเอียดยิบย่อยของงาน ไปจนถึงบริบทรอบตัวงานเช่น ขนาดของงานและกรอบ ชื่อของเฉดสีที่ใช้ สีของผนังในแกลลอรี่ เป็นต้น ความหมายที่จะเกิดขึ้นระหว่างทางนี้สัมพันธ์กับโลกทัศน์และประสบการณ์ของผู้ชมเอง

ที่สำคัญไปกว่านั้น หากเรานำ นิ/ราษฎร์ ไปย้อนดูประกอบกับผลงานของศิลปินในอดีต เราจะพบว่า นิ/ราษฎร์ ไม่ใช่การเดินทางครั้งล่าสุดของศิลปิน แต่เป็นการเดินทางกลับไปหาอดีตพร้อมๆกับการเดินทางไปข้างหน้าที่ยังไม่จบบนเส้นทางที่คดเคี้ยวและหลอกหลอน (haunting) หากขนบวรรณกรรมประเภท นิราศ คือการพรรณนาการเดินทางและคิดคำนึงถึงคนรักและสถานที่ที่จากมา นิราษฎร์ คือการพรรณนาการเดินทางของตัวศิลปินและสังคมที่โหยหาอดีตที่ไม่ถูกจดจำ

วิทวัสคร่ำหวอดอยู่ในวงการการประกวดศิลปกรรมมาตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นนักศึกษาคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งร่วมแสดงและได้รับรางวัลในระดับชาติหลายครั้ง เอกลักษณ์ของวิทวัสคืองานจิตรกรรมสีน้ำมันภาพภูมิทัศน์ (Landscape) แนวสัจนิยม (Realism) และอภิสัจนิยม (Hyperrealism) ที่มุ่งแสดงให้เห็นความงดงามในความธรรมดา นอกจากนั้นยังวาดภาพภาพบุคคล (Portrait) ที่มุ่งนำเสนอความงามแบบอุดมคติของบุคคลสำคัญเป็นครั้งคราว ด้วยฝีมือจิตรกรรมขั้นสูงในระดับแนวหน้าทำให้วิทวัสมีผู้ติดตามผลงานจากทั้งในและต่างประเทศ 

Blue Sky (2003), สีน้ำมันบนผ้าใบ
Blue Sky (2003), สีน้ำมันบนผ้าใบ 

Memorial Bridge (2004), สีน้ำมันบนผ้าใบ
Memorial Bridge (2004), สีน้ำมันบนผ้าใบ 

Easy and Peaceful Life (2006), สีน้ำมันบนผ้าใบ
Easy and Peaceful Life (2006), สีน้ำมันบนผ้าใบ  

จุดเปลี่ยน (turn) ทางโลกทัศน์ของวิทวัสเกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านของการเมืองไทย นั่นคือช่วงเวลาที่เมล็ดพันธุ์แห่งประชาธิปไตยค่อยๆถูกบ่อนเซาะทำลาย การเรียกร้องตรวจสอบความโปร่งใสถูกนำไปใช้ฉาบเคลือบวาระซ่อนเร้นที่ในที่สุดนำไปสู่การทำลายระบอบประชาธิปไตยด้วยการที่คณะรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญและยึดอำนาจการปกครองไปจากประชาชน สภาวะถูกปล้นอำนาจประกอบกับการใช้ความรุนแรงกดขี่ประชาชนคือปัจจุบันอันบิดเบี้ยวที่ยังดำเนินต่อไปอย่างไร้จุดจบ

อิทธิพลของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในช่วงหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2557 สะท้อนอยู่ในในงานนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของวิทวัส Mythical Reality (2557) ตั้งคำถามกับความหมายและเส้นแบ่งของ “ความจริง” กับมายาคติที่เป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคม งานศิลปะในนิทรรศการนี้แตกต่างจากงานประกวดของวิทวัสในยุคก่อนหน้าอย่างสิ้นเชิง 

นอกเหนือจากบริบทสังคมการเมืองไทยในขณะนั้น อิทธิพลสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแนวทางการทำงานมาจากหัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของวิทวัสที่มีชื่อว่า “อำนาจแห่งมายาคติในสังคมไทย” ในขั้นตอนการหาข้อมูล วิทวัสได้อ่านตำราวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์สายวิพากษ์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับแนวคิดหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) และแนวคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่โลกตะวันตกตั้งคำถามและเสื่อมศรัทธากับชุดความรู้ ความเชื่อ และคุณค่ากระแสหลักในสังคมที่เคยถูกเชิดชูผ่านแนวคิดมนุษยนิยม ทำให้วิทวัสเริ่มเดินทางตามหา “ความจริง” โดยการหาข้อมูลภาคสนามเพื่อพบปะกับกลุ่มผู้สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย

วิกฤติการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทยกระตุ้นให้วิทวัสตั้งคำถามกับโลกทัศน์กระแสหลักที่ตัวเขาเติบโตมาจนคุ้นชินว่าอะไรคือ ความจริง ความดี ความงาม และอำนาจ คำถามเหล่านี้ถูกนำเสนอผ่านภาพวาดจิตรกรรมสีน้ำมันจำนวน 13 ชิ้น ที่ตั้งคำถามกับ “มายาคติ” วิทวัสหันหลังให้กับภาพวาดภูมิทัศน์และเลือกวาดภาพวัตถุแนวอภิสัจนิยมเพื่อเล่นกับความหมายของ “สัญญะ” โดยจัดวางวัตถุแต่ละชิ้นไว้ในบริบทที่ไม่คุ้นชิน แปลกตา จนเกิดความหมายใหม่ขึ้นมา ความงดงามแนบเนียนเหมือนจริงถูกนำมาสร้างบริบทใหม่ให้เกิดการสะดุดขบคิด การเปิดเผยกระบวนการสร้างภาพลวงตาและความหมายผ่านการสร้างงานศิลปะในนิทรรศการชุดนี้คือก้าวแรกของวิทวัสในการแยกตัวออกจากศูนย์กลางร่มเงาของสถาบันศิลปะที่เขาเคยถูกกลืนกลายในอดีต 

สองปีถัดมาใน พ.ศ. 2559 วิทวัสแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งที่ 2 ในชื่อ Prelude (โหมโรง) ซึ่งยังคงเน้นการนำเสนอและตั้งคำถามกับสัญญะและการใช้สัญลักษณ์โดยเฉพาะการเมืองเรื่องสี แต่สิ่งที่แตกต่างจากผลงานในนิทรรศการครั้งที่แล้วคือการเพิ่มศิลปะจัดวาง (Installation art) เข้ามาซึ่งถือเป็นพื้นที่ใหม่ของวิทวัส พัฒนาการอีกอย่างหนึ่งคือวัตถุและสัญญะที่ถูกนำมาวาดและจัดวางนั้นไม่ได้เป็นเพียงการตั้งคำถามภายในความคิดของตนเอง แต่มีความเชื่อมโยงอย่างเป็นรูปธรรมกับบริบททางสังคมและการเมืองร่วมสมัยมากขึ้น 

ความหมายใหม่ที่เกิดขึ้นในนิทรรศการครั้งนี้คือการสร้างนัยยะว่าสัญญะต่างๆในสังคมไทยนั้นไม่เพียงสะท้อนปัญหาซึมลึกในเรื่องโลกทัศน์ที่แตกแยกไม่ลงรอยกันของคนในสงคม แต่ยังขับเน้นปัญหาเรื่องการเซนเซอร์ สภาวะไร้เสรีภาพในการแสดงออกไม่เพียงเป็นใจกลางปัญหาของสังคมไทยในการปลูกฝังแนวทางประชาธิปไตย แต่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้างงานศิลปะ 

ศิลปะที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้เพดานเสรีภาพการแสดงออกเป็นศิลปะที่แท้จริงหรือไม่ สัญญะที่ถูกใช้หลบเลี่ยงความหมายตรงคือเทคนิคทางศิลปะหรือเป็นอาการที่แสดงถึงความป่วยไข้ของสังคมไร้เสรีภาพ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ อธิบายจุดเปลี่ยนทางโลกทัศน์ที่สะท้อนอยู่ใน Prelude ว่าวิทวัสเปรียบเทียบได้กับ นีโอ “ตัวละครเอกในหนัง The Matrix (1999) ที่เลือกยาเม็ดสีแดง แทนที่จะเป็นยาเม็ดสีน้ำเงิน สิ่งที่เขาค้นพบในโพรงกระต่ายหลังจากนั้นทำให้เขามองโลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” [1]

ใน นิ/ราษฎร์ (2564) ผู้เขียนเปรียบเทียบวิทวัสหลังจากได้รับยาเม็ดสีแดงแล้วกับตัวละคร วินสตัน สมิธ ที่หลังจากตาสว่างแล้วก็พยายามต่อสู้ค้นหาวิธีต่อรองกับอำนาจ และที่สำคัญไม่แพ้กันคือการทำความเข้าใจอดีตของตนเอง เพื่อสะสางสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเหตุใดโลกทัศน์ในอดีตเขาจึงมืดบอดและรู้สึกหวั่นเกรงต่ออำนาจที่แม้แต่ตัวเขาก็ไม่เคยพบเจออย่างเป็นรูปธรรม


Durian and Pizza (2018), ประติมากรรมเชิงทดลอง จากทุเรียนและพิซซ่าของจริง  [2]


Big Boots (2016), สีน้ำมันบนผ้าใบ [2]


Spectrum (2018), สีน้ำมันบนผ้าลินิน  [2]

นิ/ราษฎร์ คือความพยายามของศิลปินในการย้อนกลับไปเผชิญกับความทรงจำและตัวตนในอดีต สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือการกลับไปหา “รูปแบบเดิม” นั่นคือ จิตรกรรมภูมิทัศน์ที่เป็นทั้งจุดแข็งและจุดเริ่มต้นของตัวศิลปินในเส้นทางการทำงานศิลปะ แต่วิทวัสไม่ได้วาดภาพด้วยมุมมองและวิธีการแบบเดิม

รูปแบบอภิสัจนิยมถูกนำมาใช้ในความหมายใหม่ ที่ไม่ได้เน้นการขับเน้นกับความเหมือนจริงผ่านความชัดเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความไม่ชัด ความเบลอ การละเว้นพื้นที่แบบปล่อยให้ว่าง เพื่อเปิดเผยความตั้งใจและอำนาจของศิลปินในการเลือกโฟกัสในเรื่องราวที่ตนให้ความสำคัญ รวมทั้งทดลองกับการรับรู้ของผู้ชมในเรื่องความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่เห็นด้วยตาภายนอกกับโลกทัศน์ภายในว่าการวาดให้เห็นแบบ “ชัดเว่อร์” ก็ยังมีคนที่ “มองไม่เห็น” หรือถึงแม้จะไม่ได้วาดบางสิ่งให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน แต่ศิลปินก็ไม่สามารถกลบลบการมีอยู่และอำนาจล้นเหลือของสิ่งนั้นได้


(ซ้าย) ทนายอานนท์ (2021), สีน้ำมันบนผ้าใบ [3]
(ขวา) หมอลำแบงค์ (2021), สีน้ำมันบนผ้าใบ [3]


วิทวัส ทองเขียว

นอกจากนั้น ยังมีจิตรกรรมภาพบุคคลและภาพถ่ายที่เล่าถึงความทรงจำที่ไม่ถูกจำในประวัติศาสตร์กระแสหลักเพราะความ “ธรรมดาสามัญ” ของพวกเขา ในฐานะศิลปินผู้ทำหน้าที่ผลิตสร้างความทรงจำ วิทวัสให้พื้นที่นิทรรศการของเขากับความทรงจำสามานย์และสามัญสำนึก มากกว่าความทรงจำศักดิ์สิทธิ์ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลอยู่แล้วในสังคม

ในห้องสุดท้ายของ นิ/ราษฎร์ วิทวัสจัดวางวัตถุที่เป็นสมบัติส่วนตัวของเขาที่ใช้จริงในชีวิตประจำวันเพื่อสื่อถึงสิ่งที่มีอิทธิพลที่ทำเส้นทางการสร้างตัวตนในฐานะศิลปินและฐานะประชาชนเกิดการหักเหและมาบรรจบเป็นเส้นเดียวกันกลายเป็นถนนเส้นหลักที่ศิลปินยังมุ่งหน้าเดินต่อไปแม้ต้องเผชิญกับ “ปีศาจแห่งอดีต” ที่คอยดึงรั้งและหลอกหลอน

 

อ้างอิง
[1] ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์, อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ: PRELUDE สภาวะโหมโรงก่อนเข้าสู่ความมืดมนอนธการของการเมืองไทย (1), มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 มิถุนายน 2561, เผยแพร่วันอังคารที่ 5 มิถุนายน 2561, https://www.matichonweekly.com/column/article_106272
[2] ศุภโชค ดิ อาร์ต เซ็นเตอร์ https://www.sac.gallery/artists/wittawat-tongkeaw/prelude-2/
[3] ศุภโชค ดิ อาร์ต เซ็นเตอร์ https://www.sac.gallery/exhibitions-th/%E0%B8%99%E0%B8%B4-%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%8E%E0%B8%A3%E0%B9%8C-the-l-royal-monument/
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท