Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปรากฏการณ์ “ไลฟ์สนทนาธรรม” ระหว่างพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต กับพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ วัดสร้อยทอง กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา มียอดคนดูกว่า 2 แสน มีสื่อพูดถึงกันหลายแง่มุม ทำให้ผมต้องไปนั่งดูคลิปตั้งแต่ต้นจนจบ 

เมื่อดูจบแล้ว ก็เห็นด้วยกับมิตรสหายท่านหนึ่งที่ตั้งข้อสังเกตว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้สะท้อนให้เห็นมูฟเมนท์ทางความคิดและปัญญาจากการตีความพุทธธรรมผ่านการแทรกอารมณ์ขันให้มีคุณค่าความหมายต่อปัจเจกบุคคลและสังคมที่ชัดเจนอะไร 

เพราะที่จริงไม่ใช่การเสนอพุทธธรรมที่แทรกอารมณ์ขัน แต่เป็นการเน้นการขายขำ หรือขายอารมณ์ขันที่แทบจะไม่เห็น “ธรรมะเข้ามาแทรก” ทั้งสองก็เล่นมุขอยู่แล้วว่า “พอเข้าสาระ คนดูก็จะออก” ก็เลยต้องคุยตลกกันเรื่อยๆ ไปตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ และจบลงด้วยการให้พรเป็นภาษาบาลีตาม “ประเพณีพระ” ซึ่งดูย้อนแย้ง หรือไม่เข้ากับความพยายาม “ฉีกแนว” จารีตเดิมเท่าใดนัก

ดูเผินๆ เหมือนเป็นปรากฏการณ์ “แปลกใหม่” หรือ “แหวกแนว” แต่อันที่จริงแล้วการเทศน์ปุจฉา-วิสัชนาแนวตลกๆ มีมานานแล้วในประเพณีพุทธไทย หรือในประเพณีพุทธที่สัมพันธ์กับชุมชนผู้ศรัทธาต่างๆ แต่เมื่อสังคมเปลี่ยน คนเข้าวัดน้อยลง การสนทนาตลกแทรกธรรมะก็มาอยู่ในโลกออนไลน์อย่างที่เห็น 

แต่การดึงดูดยอดคนดู ก็ย่อมขึ้นอยู่กับต้นทุนความมีชื่อเสียงของพระที่เรียกกันว่า “พระเซเลบ” ซึ่งไม่ใช่เรื่องเดียวกับการมีคนสนใจธรรมะจำนวนมาก และไม่ใช่เรื่องเดียวกับการที่พระเซเลบทำให้คนสนใจพุทธธรรม คนดูก็อาจจะมีทั้งคนใกล้วัดและห่างวัด มุมมองต่อการสนทนาตลก และ “ธรรมะ” ผ่านการนำเสนอของพระก็คงแตกต่างกันไป 

มีปรากฏการณ์สืบเนื่องที่น่าสนใจคือ เสียงวิจารณ์บนจุดยืนของ “พุทธศาสนาแบบคัมภีร์” ของอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ทำนองว่าการไฟล์สนทนาตลกของพระไม่เหมาะสมเมื่อมองจากธรรมวินัยตามคัมภีร์ ขณะที่เสียงสะท้อนที่ออกแนวเสรีนิยมหรือก้าวหน้ามองว่า เป็นเรื่องดีที่พระมีวิธีการนำเสนอธรรมะที่ทำให้คนสนใจและเข้าถึงได้ง่าย

ถ้าเรามองบนจุดยืนเสรีนิยม (liberalism) และโลกวิสัย (secularism) ที่ยืนยันเสรีภาพแห่งมโนธรรม เสรีภาพทางความคิดเห็น เสรีภาพทางศาสนา ยืนยันการเคารพและการมีขันติธรรมต่อความแตกต่างหลากหลายทางความเชื่อแบบศาสนาต่างๆ และแบบไม่มีศาสนาในฐานะที่เป็น “ความเชื่อส่วนบุคคล” เราย่อมไม่มีปัญหากับความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยม หรืองมงาย ไม่งมงาย เพราะความเชื่อส่วนบุคคลเป็นสิทธิที่แต่ละคนจะเลือก และเขาก็มีเสรีภาพจะประกาศความเชื่อของตนเอง หรือใช้ความเชื่อของตนเองวิจารณ์การกระทำใดๆ ในกลุ่มศาสนาเดียวกัน

คำถามคือ การที่อาจารย์สุจินต์อ้างคัมภีร์พุทธศาสนาแบบเถรตรงตามตัวอักษรวิจารณ์พระสงฆ์ในพุทธศาสนาที่อ้างว่ายึดถือปฏิบัติตามคัมภีร์นั้น เป็นการกระทำที่ขัดหลักการเสรีนิยมและโลกวิสัยหรือไม่ คำตอบคือ “ขัด” ถ้าอ้างคัมภีร์มาวิจารณ์พร้อมๆ กับเรียกร้องให้ใช้อำนาจรัฐและศาสนจักรดำเนินการเอาผิดพระที่ตนวิจารณ์ 

แต่ถ้าเพียงแค่อ้างคัมภีร์แบบเถรตรงตามตัวอักษรมาวิจารณ์เฉยๆ ก็ย่อมไม่ขัดหลักการเสรีนิยมและโลกวิสัย แล้วมันมีปัญหาต่อความพยายามในการขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวหน้าตามอุดมคติเสรีนิยมและโลกวิสัยหรือไม่

คำตอบ น่าจะเป็นไปได้สองทางคือ ถ้าการวิจารณ์แบบ อ.สุจินต์ต่อนักบวชในระบบศาสนจักรของรัฐ(ที่อ้างไตรปิฎกรองรับความชอบธรรมของสถานะพวกตน) ได้ช่วยเปิดเผยให้สังคมเห็น “ความไม่อยู่กับร่องกับรอย” หรือ “สองมาตรฐาน” ในการอ้างธรรมวินัยของนักบวชและอำนาจศาสนจักรเสียเอง 

เช่น เปิดเผยให้เห็นว่า นักบวชในระบบศาสนจักรโจมตีการอ้างคัมภีร์แบบเถรตรงของ อ.สุจินต์ว่าไม่ยอมเข้าใจ “บริบท” ของสังคมสมัยใหม่ แต่ขณะเดียวกันอำนาจศาสนจักรเองกลับอ้างไตรปิฎกแบบเถรตรงกีดกันการบวชภิกษุณี โดยไม่สนใจบริบทสังคมสมัยใหม่ เช่น ไม่นำหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรีมาพิจารณาเลย เป็นต้น

แต่ในอีกด้านหนึ่ง นักบวชกลับตีความธรรมวินัยในไตรปิฎกแบบ “ยืดหยุ่น” เพื่อสนับสนุนการมีสมณศักดิ์, ศาสนจักรของรัฐ, การได้รับอุปถัมภ์จากรัฐ และผลประโยชน์อื่นๆ ของพวกตน ในแง่นี้การอ้างคัมภีร์แบบอนุรักษ์นิยมแบบอาจารย์สุจินต์ที่พุ่งเป้าไปที่นักบวชและศาสนจักร ก็เป็นการวิจารณ์จากคนที่มีสถานะและอำนาจน้อยกว่าต่อนักบวชและศาสนจักรที่มีสถานะและอำนาจเหนือกว่า และคำวิจารณ์นั้นได้เปิดโปงความไม่อยู่กับร่องกับรอยและความเป็นสองมาตรฐานของลัทธิชายเป็นใหญ่ในวัฒนธรรมนักบวชและระบบศาสนจักรของรัฐ คำวิจารณ์เช่นนี้ย่อมมีส่วนช่วยโดยอ้อมในการขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความเป็นเสรีนิยมและโลกวิสัย

แต่ก็อาจเป็นไปได้ในทางที่สองคือ คำวิจารณ์เช่นนั้นอาจ “เข้าทาง” อำนาจรัฐและศาสนจักรในการใช้อำนาจทางกฎหมายเอาผิดพระสงฆ์ผู้ที่ถูกวิจารณ์ว่าประพฤติตนไม่เหมาะสมได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่อง “เข้าทาง” ก็เป็นเรื่องที่วิจารณ์ได้ เหมือนที่เราวิจารณ์ความเห็นทางการเมืองของนักวิชาการที่เข้าทางเผด็จการ

แต่ถ้าใน “กรณีเฉพาะ” การอ้างคัมภีร์แบบเถรตรงของ อ.สุจินต์ที่ไม่เกี่ยวกับจุดยืนทางการเมืองว่าผู้วิจารณ์เป็น “สี” อะไร แค่อ้างคัมภีร์แบบเถรตรงวิจารณ์นักบวชและวิจารณ์ทั้งพุทธะอิสระและพระมหาไพรวัลย์หรือพระทั่วๆ ไปในมาตรฐานเดียวกัน โดยไม่ได้เรียกร้องให้ใช้อำนาจรัฐและศาสนจักรจัดการเอาผิดผู้ที่ถูกวิจารณ์ ในแง่นี้ย่อมไม่ขัดหลักการเสรีนิยมและโลกวิสัย และต่อให้สังคมไทยเป็นสังคมโลกวิสัยที่แยกศาสนากับรัฐได้แล้ว ในโลกของศาสนาก็จะยังมีคนที่ยึดถือคัมภีร์แบบเถรตรงเช่นนี้อยู่เช่นเดิม ซึ่งก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร 

ปัญหาที่เห็นได้ชัดในปัจจุบันคือ ขณะที่ยังไม่แยกศาสนาจากรัฐ ยังมีศาสนจักรที่มีอำนาจขัดหลักเสรีภาพทางศาสนา ฝ่ายอนุรักษ์นิยมและไม่อนุรักษ์นิยมทางศาสนาทะเลาะกันเอง เพราะความเห็นต่างทางศาสนา ย่อมไม่ต่างอะไรกับการที่คนในสังคมขัดแย้งกันทางการเมืองภายใต้อำนาจเผด็จการ ยิ่งประชาชนขัดแย้งกันมาก เผด็จการการยิ่งอ้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจควบคุมและปกครอง

มีแต่ต้องย้ายจากการขัดแย้งกันเองด้วยความเชื่อที่แตกต่างทางศาสนาและการเมืองไปตั้งคำถามต่ออำนาจรัฐและศาสนจักรที่ขัดหลักการเสรีประชาธิปไตยและโลกวิสัยเท่านั้น จึงจะเปลี่ยนสังคมให้ก้าวหน้าขึ้นได้

ส่วนปรากฏการณ์ของ พส. ถ้าในสังคมโลกวิสัยที่แยกศาสนากับรัฐย่อมไม่มีปัญหาอะไร ใครชอบก็ดู ไม่ชอบก็ไม่ดู คนไม่ชอบก็ไปร้องอำนาจรัฐและศาสนจักรให้เอาผิดไม่ได้ เพราะในสังคมโลกวิสัยรัฐไม่ยุ่งกับเรื่องการทำถูก ผิดตามหลักความเชื่อทางศาสนา และไม่มีศาสนจักรของรัฐที่มีอำนาจทางกฎหมายมาจัดการ 

แล้วปรากฏการณ์ พส.เอื้อต่อการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ความเป็นสังคมโลกวิสัยหรือไม่ คำตอบอยู่ที่ว่าเทรนด์ศาสนาแบบ พส.ดำเนินไปบนการตระหนักรู้คุณค่าแบบเสรีนิยมและโลกวิสัยหรือไม่ หรือมีการใช้จุดยืนแบบเสรีนิยมและโลกวิสัยตั้งคำถามต่ออำนาจรัฐและศาสนจักรที่ขัดหลักการเสรีนิยมและโลกวิสัยหรือไม่ อย่างไร

ถ้าเพียงต้องการนำเสนอวิธีการดึงดูดคนให้สนใจพุทธศาสนา ก็เป็นได้เพียงการเผยแพร่ “พุทธศาสนาเถรวาทไทย” ภายใต้ศาสนจักรของรัฐในรูปแบบตลกเฮฮาเท่านั้นเอง ไม่มีอะไร “ใหม่” ในเชิงความคิดและปัญญาที่กลั่นออกมาจากพุทธธรรมอันจะมีความหมายในเชิงขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความเป็นสังคมโลกวิสัย ที่เปิดกว้างและเป็นธรรมต่อความแตกต่างหลากหลายทางศาสนา และความเชือที่ไม่ใช่ศาสนาแต่อย่างใด  

 

ที่มาภาพ: https://www.matichon.co.th/social/news_2921871


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net