Skip to main content
sharethis

เครือข่ายญาติฯ ทรมาน-อุ้มหาย เข้ายื่นหนังสือเร่งรัดวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย ขึ้นมาเป็นวาระเร่งด่วน ลำดับที่ 1 สมัยสามัญ 1 วันที่ 8 ก.ย.นี้  ขณะที่ 'แอมเนสตี้' ยินดีสภาให้ความสำคัญเรื่องยุติการทรมานและอุ้มหาย ย้ำ กม. ที่ผ่านต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล

 

6 ก.ย.2564 เฟซบุ๊ก Cross Cultural Foundation (CrCF) ของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า วันนี้ (6 ก.ย.64) เมื่อเวลา 13.30 น. เครือข่ายญาติผู้เสียหายจากการทรมานและอุ้มหาย เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน และตัวแทนภาคประชาชน เดินทางมาที่สภาผู้แทนราษฎร ถนนเกียกกาย กรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าพบ  สิระ เจนจาคะ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และ วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เพื่อแจ้งความจำเป็นเร่งด่วนและขอให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการเลื่อนลำดับการพิจารณาเรื่องเร่งด่วน เรื่อง ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... จากเดิมที่อยู่ในลำดับที่ 9 ขึ้นมาเป็นลำดับที่ 1 เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติผ่านเป็นกฎหมายโดยเร่งด่วนที่สุด เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้ปราศจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงทั้งสองข้อหานี้ได้อย่างจริงจัง

สิระ เจนจาคะ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ที่นัดหมายให้พี่สาววันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และเครือข่ายญาติผู้เสียหายจากการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย เนื่องจากว่า วันนี้ เวลา 14.00 น. จะมีการประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่ง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล จะมาร่วมประชุมกัน ถึงญัตติที่จะเข้าพิจารณาเรื่องเร่งด่วน สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1 ปี 2564 ในวันที่ 8-9 ก.ย. 2564 นี้ ซึ่งมีเรื่องของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... อยู่ด้วย

“หลังจากนี้เราจะประสานงานเพื่อเร่งรัดให้ญัตติในเรื่องดังกล่าวเลื่อนขึ้นมาจากลำดับที่ 9 และเลื่อนไปเป็นเรื่องเร่งด่วนในการพิจารณา เพื่อให้ทันสมัยประชุมนี้ ภายในสัปดาห์นี้” สิระ กล่าว

วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ได้เดินทางมารับหนังสือด้วยตนเอง พร้อมกล่าวว่า จะรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลที่จะมีขึ้นในบ่ายวันนี้ต่อไป

 

แอมเนสตี้ยินดีสภาให้ความสำคัญเรื่องยุติการทรมานและอุ้มหาย ย้ำ กม. ที่ผ่านต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล

วันเดียวกัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รายงานว่าจากรายงานข่าวที่ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ….หรือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย จะเป็นหนึ่งในเรื่องด่วนลำดับที่ 9 ที่จะถูกพิจารณาในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 8 ก.ย. นี้ 

โดยร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ….ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาครั้งนี้มีทั้งหมด 4 ฉบับ ได้แก่ ร่างของกระทรวงยุติธรรม ร่างของพรรคพลังประชารัฐร่วมกับพรรคก้าวไกล ร่างของพรรคประชาชาติ และร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งทั้ง 4 ร่างได้ถูกบรรจุเข้าสู่ระเบียบการประชุมของสภาไปตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า แอมเนสตี้ยังคงมุ่งมั่นในการสนับสนุนความพยายามของทางการไทยในการผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามทรมานและอุ้มหายที่ได้มาตรฐานและมีการคุ้มครองอย่างรัดกุมที่สุด เพื่อปกป้องชีวิตของคนไทยทุกคนให้มีความมั่นคงและปลอดภัยมากขึ้นในอนาคต และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบว่าจะมีการนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาในสภาภายในพุธนี้ แต่ขอเรียกร้องให้เลื่อนลำดับการพิจารณามาเป็นลำดับแรกเพื่อให้ทันการพิจารณาในสมัยประชุมนี้ 

“จากการติดตามเรื่องร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายมาตั้งแต่ต้นจนถึงวันนี้รู้สึกยินดีที่เห็นว่าทางการไทยกำลังให้ความสำคัญในการปกป้องชีวิตของคนไทยทุกคนให้มีความมั่นคงและปลอดภัยมากขึ้น โดยการนำร่างกฎหมายนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาอย่างเร่งด่วน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าร่างนี้จะถูกพิจารณาในสมัยประชุมนี้ตามที่วางแผนไว้

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการเร่งรัดวาระพิจารณานำร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ….ทั้ง 4 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน จึงขอให้เลื่อนลำดับการพิจารณาร่างนี้ขึ้นมาเป็นลำดับที่ 1 เพื่อจะได้ผ่านเป็นกฎหมายโดยเร็วที่สุด และคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงจากถูกการทรมานและถูกบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเเนลยังคงเน้นย้ำว่า ร่างกฎหมายที่ผ่านต้องเป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (UNCAT) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศด้วย”

ข้อมูลพื้นฐาน

จากรายงานข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2564 รองโฆษกรัฐบาลเผยสภาฯ เร่งดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เข้าที่ประชุมในสมัยหน้า ซึ่งร่างนี้ ครม.มีมติเห็นชอบไปแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 โดยสภาผู้แทนราษฎรได้แจ้งมาว่าจะบรรจุร่างกฎหมายดังกล่าวให้เป็นวาระเร่งด่วน โดยการเปิดสมัยประชุมสภาฯ ในสมัยหน้าจะหยิบยกร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 1 ร่างกฎหมายดังกล่าวจะคุ้มครองบุคคลทุกคน จากการกระทำการทรมานหรือการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ 

อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของกฎหมายในการป้องกันและปราบปราม รวมไปถึงการเยียวยาผู้ได้รับการเสียหายจากการกระทำในลักษณะดังกล่าวและขจัดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างหลักประกันความเป็นธรรมให้กับประชาชนตามหลักสากล และเป็นหลักประกันว่าไม่มีการงดเว้นการลงโทษกับบุคคลใด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่สังกัดหน่วยงานไหน มีตำแหน่งสูงแค่ไหน ทุกคนจะต้องได้รับโทษเมื่อกระทำความผิด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net