Skip to main content
sharethis

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ในสหราชอาณาจักรพบว่ามีปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารในทำนองสนับสนุนรัฐบาลรัสเซีย โดยมุ่งเป้าหมายแพลทฟอร์มสื่อหลายแห่งในยุโรป ในเชิงสร้างภาพลักษณ์ให้กับรัฐบาลวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียและสร้างภาพลักษณ์แย่ๆ ให้กับกลุ่มประเทศตะวันตกรวมถึงพยายามทำลายภาพลักษณ์ของเสรีนิยมประชาธิปไตย

สถาบันวิจัยด้านอาชญากรรมและความมั่นคงของมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ทำการตรวจสอบพบว่ามีปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารจากกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลรัสเซียตามพื้นที่แสดงความคิดเห็นในหน้าเว็บไซต์ต่างๆ ของสื่อตะวันตก มีสื่อออนไลน์ชื่อดังรวม 32 แห่งจาก 16 ประเทศตกเป็นเป้าหมายปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่เป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อรัฐบาลรัสเซีย รวมถึงบางส่วนมีการโยงกลับไปที่เว็บไซต์สื่อที่เป็นภาษารัสเซียเอง

ปฏิบัติการดังกล่าวเกิดขึ้นแม้กระทั่งกับเหตุการณ์เด่นๆ ในปีนี้อย่างกรณีที่กลุ่มตอลีบันยึดอำนาจรัฐบาลไว้ได้ ซึ่งในหน้าแสดงความคิดเห็นของสื่อที่นำเสนอเรื่องนี้มีส่วนหนึ่งที่นักวิจัยมองว่าอาจจะเป็นปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่จัดตั้งจากรัฐบาลรัสเซีย

วามกรรมเรื่องเล่าในแบบของรัสเซียนั้นคือการพยายามปลุกปั้นให้คนเชื่อว่าการยึดอำนาจของตอลีบันที่เกิดขึ้นนั้นเป็น "จุดจบของประชาธิปไตยเสรีนิยม" เป็น "ความล้มเหลวของนาโต" หรือกระทั่งพยายามโยงเรื่องในอัฟกานิสถานว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่ชาติตะวันตกสนับสนุนยูเครน ซึ่งเคยมีเหตุการณ์ที่รัสเซียหนวกรวมเอาพื้นที่ไครเมียของยูเครนให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียมาก่อน เช่น ความคิดเห็นบางส่วนที่แสดงความคิดเห็นแล้วถูกนำไปอ้างอิงต่อที่สื่อของรัสเซียที่ใช้พาดหัวข่าวว่า "ชาวอังกฤษได้เปรียบเทียบการขึ้นสู่อำนาจของตอลีบันกับการสิ้นสุดของอารยธรรมตะวันตก"

ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารจากรัสเซียไม่ใช่เรื่องใหม่ ปฏิบัติการที่เกิดขึ้นในปีนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของปฏิบัติการที่มีมายาวนาน โดยที่นักวิจัยจากคอร์ดิฟฟ์ยังค้นพบว่ามีเนื้อหา 242 เนื้อหาที่เป็นไปในลักษณะยุยงให้มีการสนับสนุนรัสเซียและต่อต้านชาติตะวันตกโพสต์ลงในบทความที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัสเซีย

นักวิจัยอาศัยวิธีการตรวจจับรูปแบบแพทเทิร์นของวิธีการที่กลุ่มปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารใช้เพื่อดูว่าเป็นกลุ่มที่ถูกจัดตั้งมาเสนอเนื้อหาสนับสนุนรัสเซียหรือไม่ ทั้งนี้ยังมีบางครั้งที่มีคนเข้าไปโต้ตอบกล่าวหาว่าโพสต์เหล่านี้เป็น "เกรียนรัสเซีย" แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเจ้าของโพสต์เหล่านี้จะไม่โต้ตอบอะไร

หนึ่งในรูปแบบแพทเทิร์นที่ตรวจจับได้จากกลุ่มปฏิบัติการนี้คือการที่พวกเขาจะใช้การแสดงความคิดเห็นในโพสต์ต่างๆ เพื่อเป็นตัวอ้างอิงโยงกลับไปสร้างเป็นเนื้อหาหลอกลวงซึ่งมักจะมีพาดหัวทำนองว่า "ชาวอังกฤษคิดว่า X หรือ Y" เป็นการพยายามสร้างภาพว่าคนชาติตะวันตกสนับสนุนรัสเซียหรือประธานาธิบดีอำนาจนิยมวลาดิเมียร์ ปูติน

มาร์ติน อินเนส ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านอาชญากรรมและความมั่นคงของมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ กล่าวว่า การปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารนี้มีลักษณะซับซ้อนโดยอาศัยช่องโหว่จากการที่ถึงแม้ว่าเว็บไซต์โซเชียลมีเดียต่างๆ จะใช้ทรัพยากรไปกับการตรวจหาปฏิบัติการสร้างอิทธิพลทางความคิดเหล่านี้มากขึ้นแต่เว็บไซต์กระแสหลักดั้งเดิมมีมาตรการความปลอดภัยที่น้อยกว่าทำให้คนสร้างบัญชีผู้ใช้ปลอมเพื่อทำตัวเป็นไอโอได้ง่าย

มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีผู้ใช้งานรายหนึ่งที่เปลี่ยนสถานที่ตัวเอง 69 ครั้ง และเปลี่ยนชื่อตัวเอง 549 ครั้งนับตั้งแต่ที่สร้างขึ้นเมื่อเดือน มิ.ย. เท่านั้น อินเนสบอกว่าเว็บไซต์ที่มีปฏิบัติการคนสร้างบัญชีผู้ใช้งานปลอมเหล่านี้มีอยู่ทั้งในทวิตเตอร์และเฟสบุคด้วย

"สิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับงานวิจัยนี้คือการแสดงให้เห็นว่าสื่อจำพวกอื่นๆ มีโอกาสจะเกิดหรือกำลังเกิดการถูกปั้นแต่งได้อย่างไร รวมถึงการที่มันเกิดขึ้นในระดับที่แทบจะเป็นอุตสาหกรรม" อินเนสกล่าว

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าในสื่อโซเชียลมีเดียที่อนุญาตให้มีการโหวตความคิดเห็นได้นั้นความคิดเห็นในเชิงสนับสนุนรัสเซียมักจะมีการโหวตให้คะแนนมากผิดปกติ

โดมินิก ราบ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศอังกฤษกล่าวว่างานวิจัยชิ้นนี้ระบุเน้นย้ำให้เห็นถึงภัยต่อประชาธิปไตยจากปฏิบัติการปั้นแต่งข้อมูลเท็จในอินเทอร์เน็ตที่ได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาลรัสเซีย ราบระบุอีกว่าทางสหราชอาณาจักรกำลังทำงานร่วมกับพันธมิตรนานาชาติอย่างใกล้ชิดเพื่อต่อต้านการแพร่กระจายเรื่องหลอกลวงโดยกลุ่มโทรลรัสเซีย

เรียบเรียงจาก

Pro-Kremlin trolls target news website comments, researchers say, BBC, 06-09-2021

British Researchers Say Pro-Russian Influence Operation Targets Western News Websites, Radio Free Europe, 06-09-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net