Skip to main content
sharethis

ผู้ว่าแม่ฮ่องสอนวางแผนสกัดโควิด-19 ใน 5 ชุมชนชายแดน ด้านชาวบ้านในพื้นที่เสนอรัฐลุยตรวจเชิงรุก พร้อมหามาตรการช่วยชาวบ้านระหว่างล็อกดาวน์

ภาพจากสำนักข่าวชายขอบ

8 ก.ย. 64 สำนักข่าวชายขอบ รายงานเมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ห้องประชุมอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ว่าได้สรุปรายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรณีพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์) ในพื้นที่อำเภอสบเมย และมาตรการแนวทางในการสอบสวน ป้องกันและควบคุมโรคว่ามีจำนวน 5 คลัสเตอร์ ดังนี้

1. พื้นที่พักพิงผู้หนีภัยจากการสู้รบ (Camp) บ้านแม่ลามาหลวง หมู่ 7 ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย มีผู้ป่วยยืนยัน จำนวน 2 ราย รายสุดท้ายพบเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2564 ผู้ป่วยทั้งหมดรักษาในสถานที่แยกกักโรคของ Camp ปัจจุบันรักษาหายแล้วทั้ง 2 ราย

2. พื้นที่พักพิงผู้หนีภัยจากการสู้รบ (Camp) บ้านแม่ละอูน หมู่ 2 ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย มีผู้ป่วยยืนยัน จำนวน 15 รายโดย รายสุดท้ายพบเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 ผู้ป่วยทั้งหมดรักษาตัวในสถานที่แยกกักโรคของ Camp รักษาหายแล้ว 6 ราย อยู่ระหว่างรักษา 9 ราย อาการสีเขียว 7 ราย สีเหลือง 2 ราย โดยโรงพยาบาลแม่สะเรียงได้สนับสนุนยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาผู้ป่วย

3. หมู่บ้านห้วยมะโอ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการ อ.สบเมย ประมาณ 111 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาเดินทางโดยทางรถยนต์ประมาณ 4 ชั่วโมง มีผู้ป่วยยืนยัน จำนวน 11 ราย โดยรายสุดท้ายพบเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 รักษาที่โรงพยาบาล 10 ราย รักษาในศูนย์แยกกักโรคชุมชน (Community Isolation : CI) 1 ราย และมีผู้ป่วยเข้าข่าย (มีผล ATK +ve) 19 ราย ทั้งหมดรักษาแบบแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI)

4. โรงเรียนและหมู่บ้านสบเมย หมู่ 4 ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสบเมย ประมาณ 106 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาเดินทางโดยทางรถยนต์ประมาณ 4 ชั่วโมง หรือ ทางเรือจากหมู่บ้านแม่สามแลบ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง มีผู้ป่วยยืนยัน 2 กลุ่ม คือบุคลากรครู ศึกษานิเทศก์ 10 ราย และผู้สัมผัส 4 ราย รวม 14 รายโดยรายสุดท้ายพบเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 รักษาที่โรงพยาบาลทั้งหมด ส่วนอีกกลุ่มเป็นประชาชนในหมู่บ้าน จำนวน 11 ราย โดยรายสุดท้ายพบเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 รักษาที่โรงพยาบาล 7 ราย รักษาในศูนย์แยกกักโรคชุมชน 4 ราย และมีผู้ป่วยเข้าข่าย (มีผล ATK +ve) 46 ราย ทั้งหมดรักษาแบบแยกกักตัว ที่บ้าน

5. นักเรียนโรงเรียนสบเมยวิทยาคมและหมู่บ้านคอนผึ้ง ม.5 ต.แม่คะวน อ.สบเมย มีผู้ป่วยยืนยัน 13 ราย ผู้ป่วยรายสุดท้ายพบเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 รักษาที่โรงพยาบาล 13 ราย โดยมีความเชื่อมโยงกับ Cluster ที่ 4 ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนเดินทางกลับจากหมู่บ้านสบเมยเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564

นายสิธิชัย กล่าวว่า สำหรับมาตรการควบคุมโรคที่ดำเนินการ ได้แก่ ส่งทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของโรงพยาบาลสบเมย สสอ.สบเมย และ รพ.สต.ในสังกัด ออกให้การดูแลรักษาผู้ป่วยในพื้นที่หมู่บ้านห้วยมะโอ รักษาในศูนย์แยกกักโรคชุมชน 1 ราย รักษาแบบแยกกักที่บ้าน 19 ราย หมู่บ้านสบเมย รักษาในศูนย์แยกกักโรคชุมชน ซึ่งใช้อาคารของ รพ.สต.สบเมย เป็นที่ตั้งศูนย์ฯ มีผู้ป่วยรักษา 4 ราย และรักษาแบบแยกกักที่บ้าน 46 ราย

นอกจากนี้ ได้ส่งทีมสอบสวนควบคุมโรคออกตรวจคัดกรองเชิงรุกประชาชนในหมู่บ้าน ดังนี้ 1 หมู่บ้านห้วยมะโอ ประชากร 218 คน ตรวจ ATK 198 คน ผลบวก 30 คน (ส่ง PCR กลุ่มเสี่ยง 14 ราย ผลพบเชื้อ 11 ราย) 2 หมู่บ้านสบเมย ประชากร 473 คน ตรวจ ATK 309 คน ผลบวก 57 คน (ส่ง PCR กลุ่มเสี่ยง 11 คน ผลพบเชื้อ 11 คน) 3 กลุ่มบ้านย่อย ได้แก่ บ้านพะละอึ บ้านพะคุยแอ และโกหง่อคี อยู่ระหว่างดำเนินการ 4 โรงเรียนสบเมยวิทยา ตรวจ ATK 263 คน ผลบวก 6 คน อยู่ระหว่างรอผลตรวจ PCR 5 หมู่บ้านแม่สวด ตรวจ ATK 101 คน ผลบวก 16 คน อยู่ระหว่างรอผลตรวจ PCR 6 หมู่บ้านแม่คะตวน ตรวจ ATK 45 คน ผลบวก 4 คน อยู่ระหว่างรอผลตรวจ PCR

ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ได้ดำเนินมาตรการควบคุมโรคแบบ Bubble & Sealed คือ การควบคุมโรคในกรณีที่พบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน โดยแยกกัก (Isolation) คนที่ติดเชื้อ หรือคนป่วยออกจากคนที่ยังไม่ป่วย เพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติภายในบริเวณที่กำหนด และคุมไว้สังเกตจนกว่าจะพ้นระยะแพร่เชื้อ (28 วัน ในกรณีโรค COVID-19 ) สำหรับผู้ติดเชื้อ หรือผู้ป่วยที่มีอาการจะให้การรักษาตามสภาพอาการ คือผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือ ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย ให้แยกกักตนเองที่บ้าน ผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง หรือเป็นกลุ่มเสี่ยง ให้การรักษาในศูนย์แยกกักโรคชุมชน ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง นำส่งรักษาที่โรงพยาบาล

“ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคระดับอำเภอสบเมย ซึ่งมีนายอำเภอเป็นประธาน มีคำสั่งดำเนินการควบคุมโรคโดยศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอสบเมย จะทำประกาศมาตรการ Bubble & Sealed แบบเข้มข้น และแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างเข้มข้น ทั้งนี้ ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้า-ออกพื้นที่ รวมทั้งไม่อนุญาตให้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสน และตื่นตระหนกในชุมชน โดย อบต.แม่สามแลบ จะรับผิดชอบในการจัดหาอาหาร และวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดำรงชีพ ให้แก่ประชาชน ตลอดระยะเวลาที่มีการปิดหมู่บ้าน ดังนี้

หมู่บ้านห้วยมะโอ เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2564 ครบกำหนดวันที่ 27 กันยายน 2564 หมู่บ้านสบเมย เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2564 ครบกำหนดวันที่ 30 กันยายน 2564 ส่วนหมู่บ้านแม่สวด และหมู่บ้านแม่คะตวน อยู่ในระหว่างพิจารณากำหนดช่วงเวลาดำเนินการ ส่วนโรงเรียนสบเมยวิทยาคม ดำเนินการควบคุมโรคแบบ Bubble & Sealed ในหอพักประจำของโรงเรียน จำนวน 263 ราย และติดตามนักเรียนที่ไม่ได้อยู่หอพักประจำของโรงเรียนอีกจำนวนหนึ่งเพื่อดำเนินการตรวจและคุมไว้สังเกตอาการ 14 วัน ตามมาตรการทางสาธารณสุข

ชาวบ้านเร่งรัฐตรวจเชิงรุกชุมชนชายแดน

พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ อาสาสมัครสุขภาพภาคประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน และชาวบ้านในพื้นที่ เคยให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 64 ต่อข้อเสนอในการยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 ในชุมชนชายแดน และให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน

เบื้องต้น พงษ์พิพัฒน์ เสนอว่า ตนอยากให้ภาครัฐนำทีมบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาตรวจเชิงรุกทุกคนในชุมชนชายแดน อ.สบเมย เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายเป็นวงกว้างสู่ชุมชนละแวกใกล้เคียงกับคลัสเตอร์ เนื่องจากปัจจุบัน การเดินทางของชาวบ้านเพื่อมาตรวจโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR ที่โรงพยาบาลแม่สะเรียง ต้องใช้ระยะเวลาเดินทางที่นานและลำบาก และชาวบ้านไม่มีเงินจ่ายค่าตรวจซึ่งมีราคาค่อนข้างสูงอีกด้วย 

นอกจากนี้ ภาครัฐควรส่งบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ลงชุมชน เพื่อเร่งสร้างความเข้าใจแก่ชาวบ้านถึงวิธีการปฏิบัติตนในช่วงวิกฤติการระบาดโควิด-19 เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่ชาวบ้านยังไม่คุ้นเคย ยังไม่มีความเข้าใจ และไม่ทราบวิธีการรับมือโรคดังกล่าว ขณะนี้หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ไวรัสโควิดมีการล็อกดาวน์ พร้อมปิดทางสัญจรเข้า-ออกชุมชนด้วยตัวเอง เพื่อไม่ให้มีคนจากข้างนอกเข้ามาในหมู่บ้าน 

พงษ์พิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า ภาครัฐอาจต้องมีมาตรการช่วยเหลือชาวบ้านระหว่างการล็อกดาวน์ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถใช้ชีวิตได้ เนื่องจากการล็อกดาวน์เป็นเวลานาน จะทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเดินทางออกนอกชุมชนเพื่อซื้ออาหาร และสิ่งของอุปโภคบริโภคนอกหมู่บ้าน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนอาหารติดตามมา หรือกรณีที่มีผู้ป่วยที่ไม่ใช่โรคโควิด-19 และอยู่ในชุมชนที่มีการแพร่ระบาดและล็อกดาวน์ จะทำให้ยังไงให้เขาเข้าถึงระบบสาธารณสุขในเวลานี้

"ทางจังหวัดหรืออำเภออาจต้องมาช่วยซัปพอร์ตว่าเรื่องของการอยู่การกินอาจจะต้องช่วยกันดูเลย มันไม่ใช่แค่ถุงยังชีพ มาม่า ปลากระป๋อง สองกระป๋อง ไข่สามฟอง มันไม่ใช่ มันต้องดูบริบทมากกว่านี้ มีทั้งเด็ก-ผู้ใหญ่ คนอื่นอาจจะไม่เป็นโควิด-19 แต่อาจจะเป็นโรคอื่นๆ อาจจะออกไปข้างนอกไม่ได้ ...จะใช้ชีวิตยังไง ช่วยเหลือในเรื่องของการอยู่การกินยังไง ให้มันอยู่ได้กินได้ไม่ลำบาก" พงษ์พิพัฒน์ ทิ้งท้าย  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net