#ม็อบ8กันยา 'ทะลุแก๊ซ' ดินแดง มาตามนัด - ศูนย์ทนายสิทธิฯ เผย ส.ค.มีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มไปกว่า 404 ราย

#ม็อบ8กันยา iLaw ประมวลลำดับเหตุการณ์การชุมนุม 'ทะลุแก๊ซ' ดินแดง ขณะที่ ศูนย์ทนายสิทธิฯ เปิดยอดเดือนเดียวผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองเพิ่มไปกว่า 404 ราย ยอดรวมทะลุไปไม่น้อยกว่า 1,161 คนแล้ว

8 ก.ย.2564 การชุมนุมที่บริเวณแยกดินแดงในนาม กลุ่มทะลุแก๊ซ โดยมีเป้าหมายที่ต้องการไปประท้วงที่บ้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ซึ่งอยู่ในค่ายทหาร กรมทหารราบที่ 1 หรือ ร.1รอ. นั้นยังคงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยวันนี้ (8 ก.ย.64) iLaw ประมวลลำดับเหตุการณ์ไว้อีกครั้ง ว่า เวลา 17.30 น. ที่แยกดินแดง ผู้ชุมนุมกลุ่ม "ทะลุแก๊ซ" มารวมตัวกันอีกครั้ง หลังจากเมื่อวานนี้ (7 ก.ย.64) ตำรวจใช้ชุดเคลื่อนที่เร็วจู่โจมเข้าจับกุมผู้ชุมนุมตั้งแต่เวลาประมาณ 17.50 น. ก่อนเริ่มกิจกรรม มีผู้ถูกจับกุมไม่น้อยกว่า 15 คนและมีผู้ได้รับบาดเจ็บอันเป็นผลสืบเนื่องจากปฏิบัติการของตำรวจ ทำให้หลังจากนั้นผู้ชุมนุมกลับมาเคร่งครัดกับการวางจุดสังเกตการณ์เพื่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุมตามจุดต่างๆ มากขึ้น

iLaw ระบุด้วยว่า ลักษณะจุดสังเกตการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นระบบชัดเจนเป็นครั้งแรกๆ ในช่วงหลังวันที่ 22 ส.ค. 2564 ซึ่งวันดังกล่าวตำรวจใช้วิธีการ "ปิดกล่อง" หาชัยภูมิที่ได้เปรียบเช่น ถนนวิภาวดีขาออกล้อมจับผู้ชุมนุม แต่เนื่องจาก "ทะลุแก๊ซ" เป็นการรวมตัวแบบต่างคนต่างมา จึงไม่ใช่ทุกวันที่จะมีระบบสังเกตการณ์ความปลอดภัยอย่างรัดกุม มีเคร่งบ้าง หย่อนบ้าง

ขณะที่ตำรวจก็ปรับยุทธวิธีการปราบปรามไปในทุกวัน ไม่ว่าจะการตั้งด่านตรวจบริเวณถนนขาเข้าแยกดินแดง, การจับตั้งแต่ยังไม่เริ่มกิจกรรม, การ "ปิดกล่อง" และการใช้ชุดเคลื่อนที่เร็วไล่จับกุมหลังเวลา 21.00 น.

สำหรับการชุมนุมวันนี้ตั้งแต่เวลา 17.30 น. เริ่มแรกผู้ชุมนุมค่อนข้างบางตาและเริ่มรวมตัวกันมากขึ้นในเวลา 18.00 น. ผู้ชุมนุมมีการจุดพลุ ไม่มีการเผาหรือการปิดการจราจร จนกระทั่งเวลา 18.09 น. ผู้ชุมนุมเริ่มบอกกันปากต่อปากว่า มีตำรวจชุดคุมฝูงชนที่แยกสามเหลี่ยมดินแดง เมื่อผู้สังเกตการณ์ไปตรวจสอบพบว่า มีด่านตรวจที่ซอยด้านข้างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ตำรวจมีทั้งในเครื่องแบบชุดกากีและตำรวจชุดควบคุมฝูงชนที่มาพร้อมรถกระบะเคลื่อนที่เร็ว 5 คัน

เวลา 18.30 น. ผู้ชุมนุมเดินเท้าจากแยกดินแดงไปบริเวณฝั่งตรงข้ามป.ป.ส. จากนั้นยิงพลุเข้ามาที่บริเวณด่านตรวจแต่ไม่ถึงตัวตำรวจ เวลาไล่เลี่ยกันรถกระบะเคลื่อนที่เร็ว 5 คันออกจากด่านตรวจไปทางพหลโยธิน เหลือเพียงตำรวจในชุดกากีปักหลักที่ด่าน พร้อมปืนลูกซอง ผู้ชุมนุมทยอยกลับไปรวมตัวกันที่แยกดินแดง

ต่อมาเวลา 19.40 น. ผู้ชุมนุมกลับไปที่ด่านตำรวจที่ซอยด้านข้างป.ป.ส. พบตำรวจควบคุมฝูงชนอีกครั้งหลังจากออกจากพื้นที่ไปเมื่อช่วงเวลา 18.30 น. โดยตำรวจยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมจึงระดมปาประทัดใส่ตำรวจ จากนั้นตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม จนผู้ชุมนุมต้องถอยกลับมาที่บริเวณตลาดศรีวณิช โดยผู้ชุมนุมเชื่อว่า ตำรวจที่อยู่บริเวณนี้จะเข้ามาสลายการชุมนุม

ลำดับเหตุการณ์ โดย iLaw 

๐ เวลา 17.24 น. ที่อุโมงค์ดินแดง มีป้ายไวนิลติดว่า โปรดใช้ความระมัดระวังในการใช้อุโมงค์ทางลอดเนื่องจากอยู่ระหว่างซ่อมแซมระบบไฟฟ้า รถยังสัญจรได้ตามปกติ

๐ เวลา 17.25 น. มีด่านตรวจจราจรที่แยกพระราม 9 มุ่งหน้าแยกดินแดง โดยตำรวจมีการเรียกตรวจรถจักรยานยนต์

๐ เวลา 18.17 น. ที่แยกดินแดงผู้ชุมนุมมีการจุดพลุ บรรยากาศวันนี้ผู้ชุมนุมค่อนข้างบางตา ส่วนที่มาแล้วก็มีการนั่งทานอาหารและพูดคุยกันไปพลาง

๐ เวลา 18.25 น. พบด่านตรวจที่ซอยด้านข้างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) บริเวณลานจอดรถหลังด่านมีตำรวจควบคุมฝูงชน พร้อมรถกระบะเคลื่อนที่เร็ว 5 คัน

๐ เวลา 18.30 น. ผู้ชุมนุมเดินเท้าจากแยกดินแดงไปบริเวณฝั่งตรงข้ามป.ป.ส.

๐ เวลา 18.34 น. ผู้ชุมนุมยิงพลุจากฝั่งตรงข้าม ป.ป.ส. เข้ามาที่บริเวณด่านแต่ไม่ถึงตัวตำรวจ จากนั้นรถกระบะเคลื่อนที่เร็ว 5 คันออกจากด่านไปทางพหลโยธิน เหลือเพียงตำรวจในชุดกากีปักหลักที่ด่าน พร้อมปืนลูกซอง ผู้ชุมนุมทยอยกลับไปรวมตัวกันที่แยกดินแดง

๐ เวลา 18.40 น. เริ่มมีเสียงปังบริเวณใต้ทางด่วนดินแดง

๐ เวลา 18.45 น. ที่แยกดินแดง ผู้ชุมนุมเริ่มมารวมตัวมากขึ้นประมาณ 40 คน บางคนใส่หน้ากากกันแก๊สน้ำตาเข้ามา

๐ เวลา 18.50 น. ที่แยกดินแดง ใต้ทางด่วนดินแดง ผู้ชุมนุมรวมกลุ่มกันปาประทัด บางส่วนเดินไปที่แฟลตดินแดง ยังไม่มีการปิดจราจร

๐ เวลา 19.04 น. ที่แยกดินแดง ฝั่งถนนวิภาวดีขาออก ผู้ชุมนุมยิงพลุขนาดเล็ก, ปาประทัดและขวดแก้วลงพื้นผิวการจราจร ทำให้มีเศษแก้วแตกกระจายอยู่บริเวณดังกล่าว

๐ เวลา 19.17 น. ผู้ชุมนุมประมาณ 20 คนมาที่บริเวณหน้าซอยด้านข้างป.ป.ส.

๐ เวลา 19.28 น. ที่แยกดินแดง ฝั่งวิภาวดีขาออก ผู้ชุมนุมมีการจุดไฟเผากรวยจราจรและมีการจุดพลุไปบริเวณทางลงทางด่วนดินแดง

๐ เวลา 19.38 น. ผู้ชุมนุมเริ่มไปสมทบที่บริเวณป.ป.ส.มากขึ้น มีเสียงปังเป็นระยะ

๐ เวลา 19.40 น. ผู้ชุมนุมพยายามเข้าไปที่ด่านตำรวจ ตำรวจยิงกระสุนยางออกมา ทำให้ผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณหน้าป.ป.ส.ระดมปาประทัด

๐ เวลา 19.44 น. ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมวิ่งหนีและแยกย้ายออกมาจากบริเวณป.ป.ส.

๐ เวลา 19.47 น. ผู้ชุมนุมประมาณ 10 คนเดินกลับไปที่ป.ป.ส. พบประชาชนทั่วไปที่กำลังเดินกลับที่พักผ่านมาได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตาระลอกเมื่อสักครู่

๐ เวลา 19.49 น. ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณเยื้องป.ป.ส. ผู้ชุมนุมจุดพลุใส่ มี 1 คนหยิบกระป๋องแก๊สน้ำตาปากลับไปหาตำรวจ แนวยิงข้ามไปถึงถนนขาเข้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

๐ เวลา 19.57 น. ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่อยู่ที่บริเวณตลาดศรีวณิช รถยนต์ฝั่งมุ่งหน้าแยกดินแดงยังคงสัญจรได้

๐ เวลา 20.04 น. ผู้ชุมนุมปิดทางลงอุโมงค์ดินแดงและให้รถที่ผ่านมาเบี่ยงซ้ายใช้ทางราบแทน

๐ เวลา 20.08 น. ผู้ชุมนุมเดินย่องขึ้นสะพานข้ามแยกสามเหลี่ยมดินแดงไปหยุดบริเวณซอยด้านข้างป.ป.ส. จากนั้นปาขวดและประทัดเข้าไปในซอยด้านข้างป.ป.ส. ซึ่งมีด่านตำรวจและตำรวจควบคุมฝูงชน สิ่งของที่ปานั้นไปไม่ถึงด่าน เนื่องจากตั้งอยู่ห่างจากปากซอยประมาณหนึ่ง

๐ เวลา 20.13 น. ผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณเชิงสะพานข้ามแยกสามเหลี่ยมดินแดงเรียกให้ผู้ที่อยู่บนสะพานถอยกลับมารวมกลุ่มกันที่เชิงสะพาน

๐ เวลา 20.14 น. ที่แยกดินแดง ผู้ชุมนุมเริ่มมีการปาประทัดเป็นระยะ

๐ เวลา 20.20 น. ที่เชิงสะพานข้ามแยกสามเหลี่ยมดินแดง ผู้ชุมนุมเผายางรถยนต์และสิ่งของอื่นๆ

ศูนย์ทนายสิทธิฯ เปิดยอดเดือนเดียวผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองเพิ่มไปกว่า 404 ราย ยอดรวมทะลุไปไม่น้อยกว่า 1,161 คนแล้ว

ขณะที่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เดือนสิงหาคม สถานการณ์ชุมนุมเข้มข้น ขณะการจับกุมเกิดขึ้นรายวัน ยอดผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีเกือบ 300 ราย เฉพาะผู้ถูกจับกุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงและพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงการจับกุมต่อเนื่อง ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. เรื่อยมา ยอดผู้ถูกจับกุมมีอย่างน้อย 225 ราย แบ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี อย่างน้อย 15 ราย เยาวชนอายุ 15-18 ปี อย่างน้อย 62 ราย

ดูรายละเอียดที่ : 

ในภาพรวมนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เดือนสิงหาคม 2564 นับได้ว่าเป็นเดือนที่สถานการณ์ทางการเมืองกลับมาร้อนแรง โดยเฉพาะการชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดการชุมนุมรายวันในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และการชุมนุมในลักษณะ “คาร์ม็อบ” รายสัปดาห์ในหลายจังหวัดทุกภูมิภาค ทำให้นำมาซึ่งการดำเนินคดีต่อผู้จัดและผู้เข้าร่วมจำนวนมากในแต่ละกิจกรรม รวมทั้งการจับกุมดำเนินคดีผู้ชุมนุม โดยเฉพาะอย่างสามเหลี่ยมดินแดง เดือนที่ผ่านมา ยอดผู้ถูกดำเนินคดีและจำนวนคดีทางการเมืองจึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ยิ่งกว่าในเดือนก่อนหน้านี้แทบทั้งหมด

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 31 ส.ค. 2564 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,161 คน ในจำนวน 621 คดี ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดนี้ ยังเป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 143 ราย อีกด้วย

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนบุคคลมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 2,221 ครั้งแล้ว

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคม ทำให้พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 404 คน ใน 208 คดี ในเวลาเพียงเดือนเดียว (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) เป็นเยาวชนที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าถึง 92 ราย เท่ากับว่าในเดือนเดียวมีเยาวชนถูกดำเนินคดีมากกว่าเดือนก่อนหน้านี้รวมกัน

ส่วนสถิติการดำเนินคดี ศูนย์ทนายความฯ แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 124 คน ในจำนวน 126 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 107 คน ในจำนวน 33 คดี

3. ข้อหา “มั่วสุมกันใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวาย” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 320 คน ในจำนวน 81 คดี

4. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 893 คน ในจำนวน 324 คดี แยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 24 คดี และคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 300 คดี

หากย้อนนับคดีตั้งแต่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2563 ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองอีกจำนวนหนึ่ง ยอดผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะมีรวมกันอย่างน้อย 902 คน ในจำนวน 331 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 106 คน ในจำนวน 69 คดี

6. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 74 คน ในจำนวน 87 คดี

โดย ศูนย์ทนายความฯระบุด้วยว่า จากจำนวนคดี 621 คดีดังกล่าว มีจำนวน 92 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เพราะผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจหรือในชั้นศาล และในจำนวนนี้ มี 2 คดี ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง และศาลมีคำพิพากษายกฟ้องไป 1 คดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท