Skip to main content
sharethis

คนทำงานภาคสาธารณสุขแนวหน้าที่ต้องรับมือกับการระบาดใหญ่ของ COVID-19 เผชิญกับโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD) ทั้งนี้ปกติแล้วอัตราการฆ่าตัวตายของแพทย์สูงกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า และอัตราการคิดฆ่าคนทำงานภาคสาธารณสุขในแนวหน้าก็เพิ่มขึ้น เนื่องจากทำงานมากขึ้นในช่วง COVID-19


คนทำงานภาคสาธารณสุขแนวหน้าที่ต้องรับมือกับการระบาดใหญ่ของ COVID-19 เผชิญกับโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD) ที่เพิ่มขึ้น | ที่มาภาพประกอบ: Prettysleepy (Pixabay License)

9 ก.ย. 2564 คนทำงานภาคสาธารณสุขในแนวหน้าที่ต้องรับมือกับการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ซึ่งรวมทั้งเจ้าหน้าที่ในหออภิบาลผู้ป่วยวิกฤต (ICU) และพยาบาล ต้องเผชิญกับโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-traumatic stress disorder หรือ PTSD) ที่เพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ จากการรายงานของสื่อเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย. 2564

ฮูเซยิน บายาซิท จิตแพทย์ประจำ Texas Tech University Health Science Center ในรัฐเท็กซัส สหรัฐฯ ได้ร่วมกับนักวิจัยในตุรกี ทำการสำรวจคนทำงานภาคสาธารณสุข 1,833 คน เมื่อฤดูใบไม้ร่วงปีที่ผ่านมา ผลการสำรวจพบว่าบุคลากรการแพทย์มีอัตราการเกิดภาวะ PTSD ร้อยละ 49.5 ในกลุ่มคนที่ไม่ใช่แพทย์ และร้อยละ 36 ในกลุ่มแพทย์ ส่วนความคิดที่จะฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นในกลุ่มที่ต้องทำงานในแผนกดูแลผู้ป่วย COVID-19

ทั้งนี้การศึกษาวิจัยก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 เผยว่าอัตราการเป็น PTSD ของคนทำงานภาคสาธารณสุขในแนวหน้าอยู่ในระดับร้อยละ 10-50

นอกจากนี้ผลการสำรวจและเก็บข้อมูลของโรงพยาบาลในเดือน มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา ทำให้กระทรวงสาธารณสุขและบริการประชาชนสหรัฐฯ (Department of Health and Human Services) เตือนว่าการขาดแคลนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีผลกระทบต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย ในขณะที่ความเหนื่อยล้าและความกระทบกระเทือนต่อจิตใจ มีผลต่อสุขภาพจิตของบุคลากรการแพทย์

คริสติน ซินสกี้ รองประธานสมาคมการแพทย์อเมริกัน (American Medical Association หรือ AMA) ระบุว่าแพทย์ประมาณ 5,000 คน จะลาออกทุก ๆ 2 ปี เนื่องจากภาวะหมดไฟในการทำงาน (burnout) ซึ่งการลาออกของแพทย์เหล่านี้คิดเป็นค่าเสียหายประมาณ 4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะทำให้เกิดการสูญเสียรายได้ และเกิดค่าใช้จ่ายในการจ้างแพทย์คนใหม่มาแทน

ส่วนอัตราการฆ่าตัวตายของแพทย์สูงกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า และอัตราการคิดฆ่าคนทำงานภาคสาธารณสุขในแนวหน้าก็เพิ่มขึ้น เนื่องจากพวกเขาใช้เวลาในการทำงานมากขึ้นในช่วง COVID-19 ระบาดใหญ่

ด้านสหภาพแรงงานคนทำงานภาคสาธารณสุขได้ตั้งกฎขึ้นเพื่อจำกัดจำนวนผู้ป่วยที่อยู่ภายใต้การดูแลของพยาบาลหนึ่งคน เพื่อลดผลกระทบต่อสภาพจิตใจของพวกเขา ส่วนพยาบาลได้ออกมาเรียกร้องว่าพวกเขาไม่ควรต้องจ่ายค่าดูแลรักษาสภาพจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นค่ายา ค่ารักษา หรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ

พาสคาลีน มูฮินดูรา พยาบาลวัย 40 ปี ที่ดูแลผู้ป่วย COVID-19 ในเมืองแคนซัสซิตี รัฐมิสซูรี ได้รณรงค์ให้เพื่อนร่วมงานของเธอรักษาความปลอดภัย หลังจากที่เธอต้องสูญเสียเพื่อนร่วมงานที่พยาบาลคนหนึ่งไปเพราะ COVID-19 เธอระบุว่าสภาพที่ทำงานมีแต่จะย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ พยาบาลต้องกลับไปเจอสภาพเหล่านั้นทุกวัน และต้องจัดการกับความรู้สึก ผลกระทบต่อจิตใจที่เกิดขึ้น

"โรงพยาบาลหลายแห่งไม่ได้จัดสรรประกันสุขภาพที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับบริการด้านสุขภาพจิตหรือการเยียวยาที่เพียงพอ" มูฮินดูรา กล่าว

 

ที่มาเรียบเรียงจาก
Health care workers experience PTSD, trauma heightened by COVID (Axios, 5 September 2021)
Health workers suffering from PTSD during COVID-19 (Daily Sabah, 5 September 2021)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net