Skip to main content
sharethis

สภาที่ปรึกษาพิเศษกรณีเมียนมา แถลงแสดงความกังวลที่รัฐบาลเงา NUG เรียกร้องให้ประชาชนทำสงครามป้องกันตัวเอง แต่เข้าใจความรู้สึกสิ้นหวังของชาวพม่า หลังถูกกองทัพพม่ากดปราบนองเลือดนาน 7 เดือน พร้อมติงอาเซียนและนานาชาติเฉื่อยชาต่อการแก้ปัญหา

ด้านสถานการณ์สื่อมวลชนในพม่า 7 เดือนหลังรัฐประหาร มีนักข่าวถูกจับแล้วทั้งสิ้น 97 คน มีสำนักข่าวถูกดำเนินคดีและเพิกถอนใบอนุญาตทำสื่อแล้ว 11 สำนักข่าว

 

8 ก.ย. 64 สภาที่ปรึกษาพิเศษต่อกรณีเมียนมา (Special Advisory Council for Myanmar - SAC-M) ออกแถลงการณ์หลังรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ประกาศเริ่ม ‘สงครามปกป้องตนเอง’ ของประชาชนสู้กับกองทัพพม่า เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา

แถลงการณ์ระบุว่า ทาง SAC-M พบว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติถูกบังคับให้ตอบโต้การโจมตีของกองทัพพม่าโดยการประกาศสงครามปกป้องตนเอง แต่ทาง SAC-M เข้าใจทางรัฐบาล NUG และความสิ้นหวังของประชาชนพม่า หลัง 7 เดือนนับตั้งแต่กองทัพพม่าทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. ทหารใช้ความรุนแรงกดปราบผู้ชุมนุมต้านกองทัพนองเลือด ขณะที่นานาชาติต่างเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพม่า

‘ความรุนแรงเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวเมียนต้องเจ็บปวด มันไม่ใช่การแก้ปัญหา’ คริส ซิโดตี กล่าว พร้อมระบุว่า ‘เรามีความเห็นใจรัฐบาล NUG แต่เรากำลังกลัวสิ่งที่เกิดขึ้นจากผลลัพธ์การตัดสินใจดังกล่าว’ 

ทัตมาดอ (ผู้สื่อข่าว - กองทัพพม่า) ที่ชั่วร้ายของเมียนมาฆ่าประชาชนไปมากกว่า 1,000 รายตั้งแต่มีการทำรัฐประหารโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 1 ก.พ. ทหารพม่าทำการโจมตีด้วยปฏิบัติการทางอากาศต่อพลเรือน และทำให้พวกเขาต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นมากกว่า 300,000 คน จากนั้น ทหารพม่าทำให้วิกฤตทางมนุษยธรรมรุนแรงยิ่งขึ้นโดยการทำให้การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ครั้งล่าสุดเป็นอาวุธ กักตุนเวชภัณฑ์ไว้กับตัวเอง และไม่ให้ออกซิเจนแก่ผู้ที่ต้องการมากที่สุด 

“เผด็จการทหารตอบโต้ผู้ต่อต้านรัฐประหารโดยสันติด้วยความโหดร้ายขั้นขีดสุด ใช้ยุทธวิธีอันน่าหวาดหวั่นซึ่งหมายถึงการทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงคราม” ยังฮี ลี สมาชิกของ SAC-M กล่าว “ประชาชนถูกทำร้ายมานานกว่า 7 เดือนจากการกระทำของกองทัพพม่า ซึ่งยังคงดื้อดึงและไม่แยแสต่อความเจ็บปวดของประชาชน”

ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยเมียนมา โดยมีรัฐบาล NUG เป็นตัวแทนนั้นได้ก้าวขึ้นมาทำงานสำคัญให้กับประชาชนในช่วงาภาวะสุญญากาศทางการเมืองอันเป็นผลจากการรัฐประหารของกองทัพ ผู้ฝักใฝ่ประชาธิปไตยยังรวมถึงกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defensive Force) และกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยทั่วประเทศ

มันเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเน้นว่ารัฐบาล NUG กำหนดกฎระเบียบกองทัพพิทักษ์ประชาชน (PDF) ซึ่งคิดถึงการปกป้องพลเรือนเป็นอับดับหนึ่งและเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ในเดือน ก.ค. 64 รัฐบาล NUG ตัดสินใจยอมรับอำนาจกระบวนการยุติธรรมศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ทำให้ศาลสามารถดำเนินคดีต่อทุกฝ่ายให้รับผิดชอบภายใต้ธรรมนูญกรุงโรม รวมถึงกองกำลัง PDF และกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ (EAOs) ในเมียนมา 

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า นานาชาติมีโอกาสอันเหลือเฟือที่จะเข้ามาช่วยเหลือชาวเมียนมา แต่ก็ล้มเหลวมาโดยตลอด โดยเฉพาะสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งใช้เวลานานถึง 6 เดือน เพื่อแต่งตั้งทูตพิเศษและยังไม่ได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แม้จะมีการออกฉันทามติเพื่อคลี่คลายวิกฤตการเมืองพม่าเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม

มาร์ซูกิ ดารุสมัน สมาชิก SAC-M กล่าวว่า คณะทูตพิเศษอาเซียนซึ่งในที่สุดก็ได้รับการแต่งตั้งหลังจากล่าช้ามาเป็นเวลานานกว่า 6 เดือน ได้ออกมาเรียกร้องอย่างไม่เหมาะสมในสัปดาห์นี้ให้มีการหยุดยิงในประเทศเมียนมา แต่สิ่งที่อาเซียนควรให้ความสำคัญคือการยุติความรุนแรงโดยทันที ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฉันทามติ 5 ข้อ” 

มาร์ซูกิ ดารุสมัน กล่าวต่อว่า “การขอให้มีการหยุดยิงนั้นไม่เหมือนกัน มันไม่ได้สะท้อนถึงสถานการณ์ความเป็นจริง และยังไปตอบสนองต่อผลประโยชน์ของทัตมาดออย่างเต็มที่ ซึ่งกองทัพพม่ามักใช้สัญญาการหยุดยิง เพื่อสร้างความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ให้กับตนเองอยู่เสมอ

“การประกาศของรัฐบาล NUG สะท้อนถึงความสิ้นหวังที่กำลังเพิ่มมากขึ้นของผู้ที่อยู่ในเมียนมา ที่ต่อต้านการใช้ความรุนแรงของเผด็จการทหารพม่ายาวนานถึง 7 เดือนอย่างกล้าหาญ ด้วยความช่วยเหลือจากประชาคมโลกอย่างน้อยนิดเท่านั้น ทั้งนี้ ประชาคมโลกมีอีกโอกาสที่จะดำเนินมาตรการ และสนับสนุนประชาชนเมียนมาในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติซึ่งจะจัดในสัปดาห์หน้า” แถลงการณ์ระบุ

นอกจาก SAC-M แล้ว สำนักข่าวอัลจาซีรา รายงานเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 64 ระบุว่า นักวิชาการบางรายก็ออกมาวิจารณ์อาเซียนเช่นกันว่า การประกาศทำสงครามของรัฐบาล NUG ถือเป็นความล้มเหลวของอาเซียนในการแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองในพม่า หลังเพิ่งมีการแต่งตั้งทูตพิเศษเพื่อเป็นคนกลางเจรจาระหว่างกองทัพพม่าและฝ่ายต่อต้าน 

บริดเจต เวลซ์ ผู้ช่วยนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเอเชียมาเลเซีย แห่งมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม ระบุว่า “อาเซียนถูกมองว่าเป็นพันธมิตรกับกองทัพพม่า และทูตพิเศษก็อ่อนแอ” 

เวลซ์ ให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีรา เผยว่า ยูซอฟ เอรีวาน รัฐมนตรีต่างประเทศคนที่สอง แห่งบรูไน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตพิเศษแก้ไขวิกฤตเมียนมานั้น “ไม่ได้มีความเคารพต่อรัฐบาลเงา” ในการเจรจาตกลงครั้งล่าสุด 

เวลซ์ ระบุด้วยว่า คนส่วนใหญ่มองว่าอาเซียนไม่เพียงแค่ดำเนินมาตรการที่น้อยและช้าเกินไปเท่านั้น แต่ยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของกองทัพพม่าอีกด้วย อาเซียนต้องทำให้มากกว่านี้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองแก่รัฐบาล NUG 

สำหรับสภา SAC-M เป็นกลุ่มอิสระที่เกิดจากการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานสนับสนุนประชาชนพม่าในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน สันติสุข ประชาธิปไตย และความยุติธรรมและความรับผิดชอบ สมาชิกของสภา SAC-M มีสมาชิกหลักด้วยกัน 3 ราย ประกอบด้วย คริส ซิโดตี อดีตสมาชิกคณะสอบสวนอิสระแห่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ต่อกรณีเมียนมา มาร์ซูกิ ดารุสมาน อดีตหัวหน้าคณะสอบสวนอิสระแห่งยูเอ็นต่อกรณีเมียนมา และ ยังฮี ลี อดีตผู้เขียนรายงานพิเศษแห่งยูเอ็นต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเมียนมา

7 เดือน นักข่าวพม่าถูกจับ 97 ราย 

สำนักข่าวอิสระ Reporting ASEAN รายงานสถานการณ์สื่อมวลชนในพม่าตั้งแต่กองทัพทำรัฐประหาร จนถึงเมื่อ 3 ก.ย. โดย 7 เดือนที่ผ่านมา มีสื่อมวลชนพม่าถูกทางการจับกุมทั้งหมด 97 คน ถูกควบคุมตัว 43 คน ในจำนวนนี้มีผู้ถูกควบคุมตัวนานสุดถึง 187 วัน หรือประมาณ 6 เดือน มีนักข่าวที่ได้รับการปล่อยตัวแล้วทั้งสิ้น 54 คน

ข้อหาที่นักข่าวถูกดำเนินคดีมากที่สุดคือ ประมวลกฎหมายมาตรา 505[a] ซึ่งระบุว่า ใครก็ตามที่ให้ความคิดเห็น อันจะก่อให้เกิดความหวาดกลัว หรือเผยแพร่ ‘ข่าวลวง’ หรือ ‘ปลุกปั่นทั้งโดยตรงและโดยอ้อมให้กระทำอาชญากรรมต่อต้านเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล’ ถือว่ามีความผิด อาจถูกจำคุกสูงสุด 3 ปี โดยมีนักข่าวถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้ทั้งหมด 30 ราย นอกจากนี้ รายงานเผยด้วยว่ามีนักข่าวที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด จำนวน 6 ราย โดย 5 รายถูกตัดสินว่าผิดมาตรา 505[a]

ขณะที่สำนักข่าวที่ถูกกองทัพพม่าดำเนินคดีและเพิกถอนใบอนุญาตนั้น มีทั้งหมด 11 สำนักข่าว โดย 4 แห่งถูกดำเนินคดีข้อหาละเมิดมาตรา 505[a] และมี 8 สำนักข่าวถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำสื่อ โดยสำนักข่าวเสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า หรือ DVB เป็นสำนักข่าวเดียวที่โดนทั้งดำเนินคดีมาตรา 505[a] และถูกเพิกถอนใบอนุญาต  
 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net