ดีอีเอส เผยข้อมูลเอาผิด พ.ร.บ.คอมฯ บัญชีเฟซบุ๊ก-ยูทูบ-ทวิตเตอร์ ผู้ปล่อย ‘ข่าวปลอม’ ปลาย ส.ค. 64

ดีอีเอส เผยแพร่รายงานเอาผิดผู้ปล่อยข่าวปลอมช่วงปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มีเพจสำนักข่าว นักกิจกรรมการเมือง ประชาชน พรรคการเมือง โดนด้วย

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คนปัจจุบัน
 

9 ก.ย. 64 เว็บไซต์สำนักข่าว The Reporters รายงานเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 64 ระบุว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส เผยแพร่รายงานผลการดำเนินการตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ และการดำเนินการด้านข่าวปลอมประจำวันที่ 16 ถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2564

โดยมีคำสั่งศาลให้ปิดกั้นหรือลบข้อมูลจำนวนตามคำสั่งรวม 36 URLs จำนวนคำร้องที่อยู่ระหว่างการนัดไต่สวนคำร้อง 145 URLs

สรุปการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ช่วงวันที่ 16 ถึง 22 สิงหาคม 2564 จำนวน 44 URLs แบ่งเป็นผู้กระทำความผิดทางเฟซบุ๊ก จำนวน 25 URLs ผู้กระทำผิดทางยูทูบ จำนวน 2 URLs และผู้กระทำความผิดทางทวิตเตอร์ จำนวน 17 URLs

ทั้งนี้ The Reporters ระบุรายชื่อบัญชีเฟซบุ๊กผู้กระทําความผิดมีเพจประชาชน นักกิจกรรมการเมือง และสำนักข่าวรวมอยู่ด้วย เช่น Pavin Chachavalpongpun, เพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak, Inthira Charoenpura, Paopoom Chiwarak, Sarayut Tangprasert, Karnt Thassanaphak, ป้าหนิง DK, KTUK – คนไทยยูเค, รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาด หลวง, เยาวชนปลดแอก Free YOUTH, แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม – United Front of Thammasat and Demonstration, พรรคโดมปฏิวัติ Dome Revolution, Thailand48 TALK, Voice TV – Talking Thailand, ประชาไท , ทะลุฟ้า – thalufah, คณะก้าวหน้า - Progressive Movement, Thai Atheist เพจคนไม่เชื่อพระเจ้า V2, Karaland ฯลฯ

ยูทูบแชนแนล (Youtube Channel) “ข่าวเด่นวันนี้” 

บัญชีทวิตเตอร์: @ntp797, @surat8998, @nefj94, @aorsarun, @Thalufah, @ThePeopleSpaces, @arnonnampa, @ThammasatUFTD 

ด้านการคัดกรองตรวจสอบและแก้ไขข่าวปลอมหรือข้อมูลเท็จแต่ช่วงระหว่างวันที่ 16-22 ส.ค. 64 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ตรวจสอบข้อมูลจำนวน 146 เรื่อง ตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว 63 เรื่อง เป็นข่าวปลอม 20 เรื่อง ข่าวบิดเบือนสามเรื่องและข่าวจริง 40 เรื่อง โดยหมวดหมู่ที่พบกระแสข่าวปลอมมากที่สุดอันดับที่ 1 คือ หมวดสุขภาพจำนวน 74 เรื่อง ทั้งหมด 138 ข้อความ คิดเป็นร้อยละ 51 อันดับที่ 2 หมวดหมู่นโยบายรัฐจำนวน 67 รู้เรื่องทั้งหมด 116 ข้อความ คิดเป็นร้อยละ 46 อันดับที่ 3 หมวดหมู่ภัยพิบัติจำนวน 5 เรื่อง ทั้งหมด 10 ข้อความ คิดเป็นร้อยละ 3

นอกจากนี้ ยังมีข่าวปลอมที่ดำเนินการแก้ไขและเผยแพร่เรียบร้อยแล้ว จำนวน 21 เรื่อง อาทิ ข่าวปลอมประเทศไทยเสี่ยงได้รับผลกระทบจากสึนามิเหตุการณ์แผ่นดินไหว 7.2 แมกนิจูด ข่าวปลอมห้องทดลองเชื้อโรคที่ใหญ่ที่สุดของโลกของกองทัพสหรัฐฯ อยู่ที่กรุงเทพฯ ข่าวปลอมทหารได้ฉีดไฟเซอร์สองเข็มที่โรงพยาบาลอานันทมหิดล และข่าวปลอมทานเนื้อวัวนมวัวประจำเลือดมักเป็นกรดจะทำให้เชื้อไวรัสโควิด-19 เจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี

ต่อมา เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 64 สำนักข่าว TNN รายงานว่า ดีอีเอส เผยแพร่รายงานเอาผิดผู้เผยแพร่ข่าวปลอมอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 23-29 ส.ค. 64 มีการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จํานวน 8 URLs แบ่งเป็น ผู้กระทําผิดทางเฟซบุ๊ก จำนวน 6 URLs อาทิ ป้าหนิง DK, Khuntong Faiyen, Pruay Saltihead และ จอมไฟเย็น ปฏิกษัตริย์นิยม และผู้กระทําความผิดทางยูทูบ จํานวน 2 URLs อาทิ ดร. เพียงดิน รักไทย Official และ ชูพงศ์ เปลี่ยนระบอบ

ส่วนเรื่องที่ศาลรับคำร้องและอยู่ระหว่างการนัดไต่สวน จํานวน 3 คําร้อง รวม 90 URLs โดยศาลได้ให้ผู้ถูกกล่าวหา ได้ชี้แจงแก้ต่างตามกระบวนการ ก่อนจะมีคําสสั่งปิดกั้นหรือลบข้อมูลจากระบบคอมพิวเตอร์ต่อไป 

ทำให้ขณะนี้มีคำร้องที่อยู่ระหว่างการนัดไต่สวน สะสม 11 คำร้อง รวม 235 URLs ประกอบด้วย คําร้องที่ยื่นต่อศาลเดือนมีนาคม 2564 จํานวน 2 คําร้อง รวม 57 URLs คําร้องที่ยื่นต่อศาลเดือนมิถุนายน 2564 จํานวน 1 คําร้อง รวม 3 URLs คําร้องที่ยื่นต่อศาลเดือนกรกฎาคม 2564 จํานวน 5 คําร้อง รวม 85 URLs คําร้องที่ยื่นต่อศาลเดือนสิงหาคม 2564 จํานวน 3 คําร้อง รวม 90 URLs โดยศาลอาญา นัดพิจารณาคดี ช่วงเดือน ส.ค.-พ.ย.

สำหรับการตรวจสอบ ข่าวปลอมหรือข้อมูลเท็จ ในช่วงวันที่ 23-29 สิงหาคม 2564 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ตรวจสอบข้อมูล จํานวน 148 เรื่อง ตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว 76 เรื่อง เป็นข่าวปลอม 17 เรื่อง ข่าวบิดเบือน 8 เรื่อง และข่าวจริง 51 เรื่อง

หมวดหมู่ที่พบเบาะแสข่าวปลอมมากที่สุด ดังนี้ อันดับที่ 1 หมวดหมู่สุขภาพ จํานวน 78 เรื่อง ทั้งหมด 136 ข้อความ อันดับที่ 2 หมวดหมู่นโยบายรัฐฯ จํานวน 68 เรื่อง ทั้งหมด 114 ข้อความ และอันดับที่ 3 หมวดหมู่เศรษฐกิจ จํานวน 2 เรื่อง ทั้งหมด 4 ข้อความ

สำหรับชื่อ ‘ประชาไท’ ที่ปรากฏรายชื่อในรายงานผลการดำเนินการตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ และการดำเนินการด้านข่าวปลอมประจำวันที่ 16 ถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2564 ข้างต้นนั้น ทางประชาไท ไม่ได้ทราบเรื่อง หรือได้รับการประสานงานในประเด็นดังกล่าวมาก่อน  รวมทั้งยังไม่ทราบว่าเรื่องหรือข้อความใดที่อยู่ในการดำเนินการของดีอีเอส

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท