Skip to main content
sharethis

โพลหอการค้าฯ เผยปชช.-ภาคธุรกิจหนุนรบ.คลายล็อก เพิ่มมาตรการฟื้นเศรษฐกิจ

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ถึงผลกระทบจากการล็อกดาวน์ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 2564 พบว่าในส่วนของภาคประชาชน ได้รับผลกระทบในทางลบมากถึง 72.7% เนื่องจากการล็อกดาวน์ทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น รายจ่ายต่อเดือนเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ลดลง หนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบเพิ่มขึ้น

สำหรับผลกระทบต่อการจ้างงานนั้น ทำให้ประชาชนมีทั้งถูกลดชั่วโมงการทำงานลง, ถูกเลิกจ้างชั่วคราว และถูกเลิกจ้างถาวร ซึ่งในกลุ่มนี้มีรวมกันถึง 57.7% ขณะที่อีก 41.6% ยังมีงานทำปกติ โดยเมื่อถามว่าต้องการให้ภาครัฐคลายล็อกดาวน์ เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินธุรกิจได้ หรือยังต้องการให้ล็อกดาวน์ต่อไปนั้น พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 59.2% เลือกให้เปิดดำเนินการธุรกิจ/เศรษฐกิจ ส่วนอีก 30.1% เลือกให้ยังล็อกดาวน์ต่อ เพื่อลดการติดเชื้อโควิด-19

ส่วนมาตรการของภาครัฐในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนนั้น ส่วนใหญ่มองว่ายังน้อยเกินไป และแสดงความพึงพอใจในระดับปานกลางเท่านั้น และเห็นว่าช่วงเวลาเหมาะสมที่รัฐบาลควรผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ให้ธุรกิจกลับมาดำเนินได้ปกติ เหมือนกับช่วงก่อนโควิด คือ ตั้งแต่เดือนพ.ย.64

สำหรับข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล คือ 1.เพิ่มมาตรการช่วยเหลือและเยียวยา ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มทุกพื้นที่ 2.ภาครัฐควรทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 3. ควรปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการสถานการณ์โควิดให้ได้ดีกว่านี้ และกำหนดแผนพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่สามารถนำมาปรับใช้ได้จริงในสถานการณ์ปัจจุบัน

ขณะที่ผลการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ ถึงผลกระทบต่อการล็อกดาวน์ ซึ่งเป็นการสำรวจจากหอการค้าจังหวัดนั้น พบว่า ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ถึง 74.16% ตอบว่าได้รับผลกระทบมาก ซึ่งมีทั้งในแง่ของยอดขายลดลง สภาพคล่องลดลง ต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้น หนี้สินเพิ่มขึ้น เลิกจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น และปิดกิจการเพิ่มขึ้น

โดยภาคธุรกิจถึง 77.32% สนับสนุนให้รัฐบาลคลายล็อกดาวน์เพื่อเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ในขณะที่อีก 14.43% ยังเห็นว่าควรล็อกดาวน์ต่อไปก่อน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจส่วนใหญ่เชื่อว่าธุรกิจของจังหวัดจะกลับมาเปิดดำเนินการได้ไม่ถึง 20% เท่านั้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนมีโควิด และเห็นว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมที่รัฐจะผ่อนคลายมาตรการเพื่อให้ภาคธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการได้ปกติ คือ เดือนต.ค.เป็นต้นไป

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ เพื่อช่วยให้ภาวะเศรษฐกิจไทยกลับมาเป็นปกติได้ คือ 1. การจัดหาวัคซีนให้เพียงพอเพื่อนำมาฉีดให้ประชาชนในประเทศให้เร็วและทั่วถึงที่สุด 2. กำหนดมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 3. ผ่อนคลายมาตรการการกักกันโรค (Lockdown) เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ที่มา: RYT9, 9/9/2564

มหาวิทยาลัยและเครือข่ายวิชาชีพความปลอดภัย รวมตัวคัดค้าน (ร่าง) กฎกระทรวงฯ ข้อ 21(3) เกี่ยวกับ จป.วิชาชีพ หวั่นบัณฑิตโดนแย่งงาน กระทรวงแรงงานเสนอจับคู่งานกับสถานประกอบการ

8 ก.ย. 2564 กระทรวงแรงงาน โดยนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการหารือร่วมกับผู้แทนสภาสถาบันการศึกษาและเครือข่ายวิชาชีพอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (สคอป.) นำโดย ดร.เด่นศักดิ์ ยกยอน อาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมตัวแทนอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันอื่น ๆ ที่ได้มายื่นหนังสือร้องเรียน เพื่อคัดค้านการจัดให้มีการอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพฯ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงานเข้าร่วม ณ กระทรวงแรงงาน

นายสุเทพกล่าวว่า ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาทั่วประเทศที่มีหลักสูตรความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน จำนวน 48 แห่ง และขณะนี้มีสถานประกอบการที่มีความต้องการเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพฯ จำนวนประมาณ 3,000 กว่าแห่ง ซึ่งกระทรวงแรงงาน จะได้ตั้งคณะทำงานเพื่อหารือในรายละเอียดและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

และจากการหารือเรื่องร้องเรียนเพื่อคัดค้านการจัดให้มีการอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพฯในวันนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนหลักสูตรความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน สภาวิชาชีพ สถานประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลในการจับคู่ตำแหน่งงาน (matching) แก่นักศึกษาจบใหม่หลักสูตรความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน แก่สถานประกอบการที่มีความต้องการเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2564 คณาจารย์สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ยื่นหนังสือคัดค้าน (ร่าง) กฎกระทรวงฯ ข้อ 21(3) จัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ……” ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดขอนแก่น

โดย รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู หัวหน้าสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย เปิดเผยว่าคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็น 1 ใน 48 สถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตทางด้าน อาชีวอนามัยและความปลอดภัย เล็งเห็นผลกระทบของกฎกระทรวงฯ ข้อ 21 (3) ต่องานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยทั้งระยะสั้นและระยะยาว

“การอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพของกระทรวงแรงงาน ตามร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 21 (3) ยังไม่มีหลักฐานที่ชี้ชัดว่าผู้ที่ผ่านการอบรมจะมีความเชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ขณะที่บัณฑิตที่จบจากสถาบันการศึกษาต้องเรียนพื้นฐานทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างน้อย 44 หน่วยกิต”

“นอกจากนั้นที่ผ่านมาสถาบันที่เปิดสอนด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยทั้งประเทศ 48 แห่ง สามารถผลิตบัณฑิตเพื่อเป็น จป.วิชาชีพ (เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานวิชาชีพ) ได้ปีละประมาณ 12,000 คน เพียงพอต่อความต้องการของสถานประกอบกิจการ (เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องมี จป.วิชาชีพ โดยในประเทศไทยมีมีบริษัทขนาดนี้ 16,027 แห่ง) ดังนั้น กฎกระทรวงฯ ข้อ 21 (3) อาจจะส่งผลต่อการผลิตแรงงาน จป.วิชาชีพ มากเกินความต้องการของตลาดแรงงาน”

และเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 มี 4 สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา ที่มีการเรียนการสอนสาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา วิทยาลัยนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล รวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้าน (ร่าง) กฎกระทรวงฯ ข้อ 21 (3) ต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดนครราชสีมา เช่นกัน

โดย ผศ.ดร.พงษ์สิทธิ์ บุญรักษา หัวหน้าสาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวว่า สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เป็นสาขาผลิต จป.วิชาชีพ ตามกฎหมายของกระทรวงแรงงาน ได้รวมตัวกันกับอีก 3 สถาบันยื่นหนังสือคัดค้านการออกกฎกระทรวง ในการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ตามข้อ 21 (3) เท่านั้น

“เราเล็งเห็นว่าข้อกฎหมาย ข้อ 21 วรรค 3 เป็นการอนุญาตให้ผู้ที่จบสาขาใดก็ได้ มีประสบการณ์การทำงานด้านไหนก็ได้ระยะเวลา 5 ปี เมื่อเข้ารับการอบรมที่จะจัดขึ้นโดยกระทรวงแรงงานแล้วทำให้สามารถเป็น จป.วิชาชีพได้เลยตามกฎหมาย เทียบเท่าคนที่เรียนจบตรง ในสาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ที่ใช้เวลาเรียนมา 4 ปี”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 8/9/2564

กลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ยื่นหนังสือเพื่อติดตามทวงถามข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม

8 ก.ย. 2564 ที่บริเวณหน้าอาคารวิทุร แสงสิงแก้ว สำนักงานใหญ่สำนักงานประกันสังคม อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี กลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ประมาณ 25 คน นำโดย น.ส.ธนพร วิจันทร์ น.ส.สุธิลา ลืนคำ และนางศรีไพร นนทรีย์ เดินทางมายื่นหนังสือประธานคณะกรรมการบอร์ดประกันสังคม ชุดที่ 13 เพื่อติดตามทวงถามข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมที่กลุ่มเคยยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, ประธานคณะกรรมการบอร์ดประกันสังคม ชุดที่ 13 และเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ไว้เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2563

โดยก่อนยื่นหนังสือกลุ่มมีการปราศรัยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้ ทางกลุ่มเคยมายื่นข้อเรียกร้องไว้แล้วประมาณ 11 เดือน แต่ไม่มีความคืบหน้า แสดงว่าสำนักงานประกันสังคมไม่ให้ความสำคัญ พร้อมกล่าวโจมตีสำนักงานประกันสังคมที่นำเงินไปลงทุนกับศรีพันวา อยากให้ภาครัฐนำเงินของผู้ประกันตนมาเยียวยาประชาชนให้ครบทุกภาคส่วน

กล่าวถึงปัญหาของผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติต่อการใช้สิทธิประกันสังคม เรียกร้องให้ภาครัฐดูแลแรงงานข้ามชาติ เสนอให้ไม่ต้องอายุถึง 55 ปี ก็ให้เบิกเงินกองทุนชราภาพได้ ทั้งนี้ หากเปลี่ยนงานนายจ้างต้องเอาลูกจ้างเข้าระบบประกันสังคมทุกคน อยากให้ผู้ประกันตนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพ

ขณะเดียวกันยังเล่าปัญหาของโรงพยาบาลตามสิทธิของผู้ประกันตน ผ่านมา 30 กว่าปี ระบบประกันสังคมไม่มีความคืบหน้า อยากเห็นระบบประกันสังคมเป็นอิสระตรวจสอบได้ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของบอร์ดประกันสังคม บอร์ดมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ผู้ประกันตนมาหาจึงไม่ยอมออกมาพบ อย่าเอาเงินกองทุนประกันสังคมไปปรนเปรอรัฐเผด็จการ รัฐบาลค้างจ่ายเงินประกันสังคมมากกว่า 87,000 ล้านบาท มีการเอาเงินกองทุนส่วนหนึ่งไปลงทุนแล้วขาดทุน

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงแรงงานที่เป็นผู้ป่วยโควิด-19 บางรายไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาได้ เรียกร้องต่อบอร์ด โดยเฉพาะฝ่ายลูกจ้างให้แสดงสปิริตลาออก อย่าอยู่ใต้เผด็จการ โจมตีข้าราชการสำนักงานประกันสังคมว่าเป็นปรสิต มีการปฏิบัติที่ไม่ดีกับประชาชน โจมตีการทำงานของนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เรียกร้องให้ลาออก

ทั้งนี้ กลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนประกาศจุดยืนว่าหากเรื่องที่กลุ่มติดตามไม่มีความคืบหน้า จะกลับมาติดตามอีกครั้ง จากนั้นยื่นหนังสือผ่าน ดร.จำลอง ช่วยรอด ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และยุติกิจกรรม

ที่มา: มติชนออนไลน์, 8/9/2564

วิจัยกรุงศรีคาดแรงงาน 9.3 ล้านคน เสี่ยงถูกเลิกจ้าง-ลดเงินเดือน

ฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ วิจัยกรุงศรี ประเมินเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ของปีนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะกลับมาติดลบจากไตรมาสก่อน ซึ่งจะนับเป็นการติดลบครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีที่แล้ว จากการระบาดที่รุนแรงของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายรวดเร็วตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. และลากยาวกว่าคาด ทำให้ต้นเดือน ส.ค. ทางการประกาศขยายมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด เพิ่มเป็น 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม

ทั้งนี้ จากการประเมินผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 หากไม่มีมาตรการรัฐเพิ่มเติม คาดว่าธุรกิจราว 27.6% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด จะประสบปัญหาสภาพคล่อง จนนำไปสู่ความเสี่ยงของการเลิกกิจการ ทำให้แรงงาน 9.3 ล้านคน มีความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้างหรือลดเงินเดือน

ล่าสุด แม้ทางการจะได้เริ่มปรับมาตรการควบคุมการระบาดในบางกิจการ กิจกรรม กลับมาดำเนินการได้บ้างภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่โดยภาพรวมแล้วยังต้องอยู่ภายใต้พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดอยู่ จึงคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคธุรกิจและการจ้างงานยังคงซบเซา แม้อาจเห็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงที่เหลือของปี

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) ปรับมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ สะท้อนการมุ่งเน้นใช้นโยบายการเงินที่ตรงกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ ล่าสุด ธปท.ร่วมกับสมาคมธนาคารไทยชี้แจงมาตรการสนับสนุนการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เพิ่มเติม เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับลูกหนี้ได้มากขึ้นในสถานการณ์ที่การระบาดยังคงยืดเยื้อ โดยมาตรการเพิ่มเติมประกอบด้วย

1.มาตรการรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้ SMEs และรายย่อย อาทิ การปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟู เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น รวมถึงการผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินเชื่อรายย่อยเป็นการชั่วคราว ในส่วนของบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล

2. มาตรการแก้ไขหนี้เดิมอย่างยั่งยืน โดยผ่อนคลายหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรอง เพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวที่เหมาะสมแก่ลูกหนี้แต่ละราย เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย.

ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด เป็นผลให้เศรษฐกิจซบเซาลงมาก กระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนไทยในวงกว้าง ซึ่งจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พบว่าธุรกิจใน 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม มีทั้งหมด 615,813 ราย หรือคิดเป็น 76.6% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด และสร้างรายได้ประมาณ 93% ของรายได้รวมทั้งประเทศ

ส่วนด้านแรงงานใน 29 จังหวัดนั้น มีประมาณ 18 ล้านคน โดยเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง 8.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 24% ของแรงงานทั้งหมด ทั้งนี้ มาตรการทางการเงินที่เพิ่มเติมดังกล่าว คาดว่าจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบาง นอกจากนี้ ยังสะท้อนการดำเนินนโยบายการเงินของทางการที่เน้นการแก้ปัญหาที่เฉพาะเจาะจงสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

ที่มา: Thai PBS, 8/9/2564

สหภาพข้าราชการฯ ร้อง กมธ.แรงงาน ค้านปลัดข้ามห้วย

8 ก.ย. 2564 นายสุพจน์ พงษ์สุพัฒน์ ประธานสหภาพข้าราชการและคนทำงานภาครัฐ ได้ยื่นหนังสือถึงนายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน เพื่อให้พิจารณา เรื่อง คัดค้านการโอนย้ายแต่งตั้งหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงาน

โดยหนังสือระบุว่า เนื่องด้วย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้นำเสนอวาระการโอนย้ายแต่งตั้ง นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้มาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ แทนนายสุทธิ สุโกศล ที่จะเกษียณอายุราชการสิ้นเดือน ก.ย. นี้

สหภาพข้าราชการฯ เห็นว่าการกระทำของ รมว.แรงงาน เป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรม ขัดต่อหลักจริยธรรมและหลักการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ ส่งผลกระทบเสียหายต่อภาพลักษณ์ของกระทรวงแรงงาน และส่งผลกระทบต่อข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ตลอดจนพนักงานลูกจ้างของกระทรวงแรงงานอย่างร้ายแรง โดยการโอนย้ายข้าราชการซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงหนึ่ง เพื่อมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับสูงสุดในอีกกระทรวงหนึ่ง มิใช่วิถีปฏิบัติที่กระทำกันทั่วไป นอกจากจะมีเหตุที่จำเป็นอย่างยิ่ง และต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่ทางราชการและหน่วยงานที่รับโอนแต่งตั้งเท่านั้น อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงหลักการและผลกระทบของการบริหารบุคลากรในองค์กรอีกด้วย ดังนั้น การโอนย้ายแต่งตั้งข้ามกระทรวง จึงไม่ปรากฏว่ามีกระทรวงใดกระทำกัน

ที่มา: ไทยโพสต์, 8/9/2564

ลดอัตราเงินสมทบประกันสังคม ม.33-ม.39 อีก 3 เดือน ก.ย.-พ.ย. 2564

8 ก.ย. 2564 ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือเป็นการเร่งด่วนไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นายสุชาติ ชมกลิ่น) เพื่อให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้ขยายมาตรการช่วยเหลือการหักเงินสมทบประกันสังคมต่อไปอีก 3 เดือน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและประคองการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19

ขณะนี้ คณะกรรมการประกันสังคม ชุดที่ 13 ได้มีมติเห็นชอบลดอัตราเงินสมทบ ปี 2564 อีก 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2564 โดยกำหนดลดอัตราเงินสมทบ ฝ่ายนายจ้าง ในอัตราร้อยละ 2.5 และลูกจ้างผู้ประกันตน มาตรา 33 ในอัตรา ร้อยละ 2.5 และสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 จัดเก็บในอัตราเดือนละ 235 บาท ซึ่งมาตรการดังกล่าว จะส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการจ้างงานจากการได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และบรรเทาภาระของลูกจ้างผู้ประกันตนในสถานการณ์ปัจจุบัน

สุดท้ายนี้ ในนามของคณะกรรมการบริหารหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ขอขอบคุณ นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ท่านรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นายสุชาติ ชมกลิ่น) ที่ได้เห็นถึงความสำคัญของผู้ประกอบการ กลุ่มภาคแรงงาน และภาคประชาชน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ภาครัฐ โดยกระทรวงแรงงานจะรับฟังมุมมองและข้อเสนอต่อมาตรการด้านแรงงานในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้มีนโยบายหรือมาตรการบรรเทาภาระและเยียวยาผู้ประกอบการ กลุ่มภาคแรงงาน และภาคประชาชน ให้สามารถร่วมก้าวข้ามผ่านวิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างรวดเร็ว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 8/9/2564

ประธาน กมธ.แรงงานห่วงอนาคตกองทุนประกันสังคม จี้รัฐเร่งเยียวยาแรงงานให้ทั่วถึงรวดเร็วยิ่งขึ้น

นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.พรรคก้าวไกลและประธานคณะกรรมาธิการแรงงานเปิดเผยถึงกรณีการเก็บเงินสมทบผู้ประกันตน ม.33 ของสํานักงานประกันสังคม ว่าการลดหย่อนเก็บเงินสมทบผู้ประกันตนม. 33 ถือว่าเป็นการช่วยเหลือเยียวยาผู้ใช้แรงงานได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็มีความเป็นห่วงในเรื่องขอเสถียรภาพในอนาคตของกองทุน เพราะถ้ามีแต่นำออกแต่ไม่มีรายได้เข้าจะเป็นปัญหาในเรื่องเสถียรภาพของกองทุนได้ ดังนั้นการกลับมาเก็บเงินประกันสังคมต่อนั้นถือว่าเหมาะสมแล้วที่จะต้องดำเนินการ

ทั้งนี้นายสุเทพ กล่าวต่อว่าในส่วนของมาตรการเยียวยาของรัฐบาลนั้นถือว่ามีความล่าช้าซึ่งมาตรการต่างๆควรมีการวางแผนไว้ก่อน อีกทั้งการเยียวยาในแต่ละครั้งของรัฐบาลนั้นไม่มีตรรกะที่แน่ชัดจึงทำให้การเยียวยาไม่ทั่วถึงและตกหล่นจำนวนมาก โดยเฉพาะประเภทกิจการโรงงานฝ่ายผลิตซึ่งมีผลกระทบมาตั้งแต่การระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 รอบแรก ทำให้แรงงานได้รับผลกระทบกิจการจะต้องหยุดชะงัก ส่งผลให้แรงงานขาดรายได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดสภาพการมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ดังนั้นรัฐบาลควรมีการวางแผนที่รัดกุมและจะต้องเยียวยากลุ่มผู้ใช้แรงงานให้ทั่วถึงทั้งหมด

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 7/9/2564

หอการค้าไทย ชงกระทรวงแรงงาน ขยายมาตรการลดเงินนำส่งประกันสังคมต่ออีก 3 เดือน ช่วง ก.ย.-พ.ย. 2564 หวังช่วยประคองนายจ้าง-ลูกจ้าง ผ่านพ้นโควิด-19

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และ ประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ส่งหนังสือถึงนายสุชาติ ชมกลิ่ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ขยายมาตรการช่วยเหลือการหักเงินสมทบประกันสังคมต่อไปอีก 3 เดือน (ก.ย.-พ.ย.นี้) หรือ จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและประคองการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19

"ที่ผ่านมาได้รับข้อร้องเรียนจากสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ถึงสภาพปัญหาการดำเนินธุรกิจในสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจที่ต้องพึ่งพากำลังแรงงาน ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจและเศรษฐกิจ โดยได้มีหนังสือข้อเสนอเป็นการเร่งด่วนไปยังรมว.แรงงานเพื่อให้สำนักงานประกันสังคม ขยายมาตรการช่วยเหลือการหักเงินสมทบประกันสังคมต่อไปอีก 3 เดือน โดยการขยายมาตรการช่วยเหลือการหักเงินสมทบประกันสังคมต่อไปอีก 3 เดือน หรือจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 มีความสำคัญมากที่จะประคองผู้ประกอบการ นายจ้าง ลูกจ้าง ให้ ก้าวพ้นวิกฤตโควิด-19 ในระยะเร่งด่วนนี้"นายพจน์ กล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ขอขอบคุณคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ที่ได้นำข้อเสนอของหอการค้าไทย เรื่อง มาตรการด้านแรงงานในสถานการณ์โควิด-19 ที่ได้นำเสนอต่อกระทรวงแรงงาน

โดยได้ออกเป็นมาตรการที่สำคัญ เช่น 1.มาตรการเชิงรุกในการตรวจคัดกรองความเสี่ยงแรงงานทั้งคนไทยและต่างด้าว 2.มาตรการเร่งรัดจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับผู้ประกันตน 3.มาตรการเยียวยาผู้ประกันตนและนายจ้างได้รับความช่วยเหลือในพื้นที่ 29 จังหวัด 4.มาตรการ Factory Sandbox

5.มาตรการผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ กลุ่มมติ 20 ส.ค.62 และกลุ่มมติ 4 ส.ค.63 ให้สามารถทำงานต่อในราชอาณาจักรไทยได้ และ 6.มาตรการลดหย่อนการส่งเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้าง ลูกจ้างกลุ่มผู้ประกันตน ตั้งแต่มี.ค.63 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการจ้างงานจากการได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทั้ง ยังช่วยผู้ประกอบการบรรเทาภาระด้านสาธารณสุขของแรงงานและผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง หรือเกิดความเสียหายในระบบธุรกิจน้อยที่สุดเพื่อรักษาไว้ซึ่งการจ้างงานในประเทศ

ที่มา: สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย, 6/9/2564

ศอ.บต. เตรียมเลิกจ้าง “พนักงานเหมาบริการ” จำนวน 195 อัตรา หลังรัฐบาลตัดงบ

6 ก.ย. 2564 รายงานข่าวแจ้งว่า ศอ.บต. เตรียมเลิกจ้างพนักงานเหมาบริการ จำนวน 195 อัตรา หรือ อาจน้อยกว่านั้นเล็กน้อย โดยสาเหตุเนื่องจากได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 65 ลดลงจากปี 64 ราว 5.7 ล้านบาท เมื่อปลายเดือน ส.ค.2564 หลังร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ถูกตัดงบจำนวนหนึ่ง

นายอำนาจ ชูทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ ศอ.บต. จึงได้ออกหนังสือแจ้งเวียน เลขที่ นร.5201.1/ว 3368 เรื่อง หลักการแนวทางการจ้างพนักงานจ้างเหมาบริการในปีงบประมาณ 2565 ส่งถึง ผู้อำนวยการสำนักงาน, กอง, สถาบัน และหน่วยงานขึ้นตรง ศอ.บต.ทั้งหมด หลังจากที่ เลขาธิการ ศอ.บต. เห็นชอบมติที่ประชุมกำหนดแนวทางการจ้างงานพนักงานจ้างเหมาบริการ ประจำปีงบประมาณ 2565 แน่นอนว่าแนวทางของปี 65 ต้องจ้างน้อยกว่าปี 64 เพราะได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยกว่า

แนวทางใหม่ที่กำหนดสำหรับการจ้างงานมีดังนี้

1.สำนักงานเลขาธิการ

-โครงการจ้างเหมาเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เดิมปี 2564 จ้าง 105 อัตรา ปี 2565 จ้าง 105 อัตรา แต่เนื่องจากปัจจุบันจ้าง 100 อัตรา มีอัตราว่าง 5 อัตรา ให้นำอัตราว่างมาจ้างพนักงานจ้างเหมาบริการโครงการบริหารจัดการภาครัฐและการขับเคลื่อนนโยบาย 5 อัตรา จากเดิมทั้งหมดมี 13 อัตรา แต่ในปี 2565 ไม่ได้รับการจัดสรรงบ ส่วน 8 อัตราที่เหลือจ้างต่อ โดยใช้งบประมาณจากงบดำเนินงาน

2.กองบริหารยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ (เลิกจ้าง 43 อัตรา)

-โครงการบริหารจัดการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2564 จ้าง 22 อัตรา ทางกองฯ จะจ้างต่อเพียง 12 อัตรา แต่ที่ประชุมมีมติให้จ้างต่อทั้ง 22 อัตรา โดยให้บริหารจัดการตามงบประมาณที่ได้รับ

-โครงการสานสัมพันธ์สร้างความเข้าใจภายในและต่างประเทศ เดิมปี 2564 จ้าง 4 อัตรา ในปี 2565 ให้จ้าง 3 อัตรา

-โครงการสนับสนุนภาคประชาสังคมร่วมสร้างพื้นที่สันติสุขขนาดเล็ก เดิมปี 2564 จ้าง 51 อัตรา ในปี 2565 ให้จ้าง 14 อัตรา คือ กบย.(ภาคประชาสังคม) 9 อัตรา และศูนย์การเรียนรู้เกษตรฮาลาล 5 อัตรา ส่วนพนักงานที่ปฏิบัติงานประจำอำเภอ จำนวน 37 อัตรา ให้เลิกจ้างทั้งหมด

-โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างทัศนคติที่ดีในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาสคใต้ เดิมปี 2564 จ้าง 26 อัตรา ในปี 2565 ให้จ้าง 21 อัตรา

3.กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน

เนื่องจากโครงการขับเคลื่อนแนวทางวิถีชีวิตชุมชนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ ในปี 2565 ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จึงมีการบริหารอัตรากำลังการจ้างภายในดังนี้

-โครงการพัฒนาธุรกิจฮาลาล เดิมปี 2564 จ้าง 14 อัตรา ในปี 2565 ให้ปรับเพิ่มนำพนักงานจากโครงการขับเคลื่อนแนวทางวิถีชีวิตชุมชนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ เพิ่มเข้ามา 3 อัตรา รวมเป็น 17 อัตรา

-โครงการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม เดิมปี 2564 จ้าง 2 อัตรา ในปี 2565 ให้ปรับเพิ่มนำพนักงานจากโครงการขับเคลื่อนแนวทางวิถีชีวิตชุมชนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ เพิ่มเข้ามา 3 อัตรา เป็น 5 อัตรา

-โครงการสนับสนุนและเสริมสร้างโอกาสทางสังคม เดิมปี 2564 จ้าง 3 อัตรา ในปี 2565 ให้จ้าง 3 อัตราเช่นเดิม

4.กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง (เลิกจ้าง 46 อัตรา)

-โครงการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ เดิมปี 2564 จ้าง 75 อัตรา ในปี 2565 จ้าง 73 อัตรา

-โครงการเตรียมความพร้อมเพื่อเปลี่ยนผ่านกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนใต้ เดิมปี 2564 จ้าง 93 อัตรา ในปี 2565 ให้จ้าง 49 อัตรา

5.กองประสานและเร่งรัดการพัฒนาพื้นที่พิเศษ จชต. (เลิกจ้าง 76 อัตรา)

6.กองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจการพิเศษ

-โครงการขยายผลการพัฒนาตามแนวทางพระราชดำริฯ และโครงการเสริมการพัฒนาการศึกษาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ให้จ้างในอัตราเดิม

-โครงการสนับสนุนการดำเนินงานโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ เดิมปี 2564 จ้าง 2 อัตรา ในปี 2565 จ้างเพิ่มเป็น 4 อัตรา โดยนำอัตราจากโครงการส่งเสริมคนดีมีคุณธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปประกอบพิธีฮัจย์มาเพิ่ม 2 อัตรา เนื่องจากไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ เมื่อเทียบการจัดสรรงบประมาณที่ได้รับระหว่างปี 2564 กับปี 2565

7.สำนักงานเลขาธิการ

-โครงการจ้างเหมาเจ้าหน้าที่ รปภ. ปี 2564 จำนวน 11 ล้านบาท ปี 2565 ได้มาเพิ่ม 6 แสนบาท

-โครงการบริหารจัดการภาครัฐและการขับเคลื่อนนโยบาย ปี 2564 จำนวน 1.5 ล้านบาท ปี 2565 ไม่ได้รับจัดสรร

8.กองบริหารยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

-โครงการบริหารจัดการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2564 ได้รับการจัดสรร 22 ล้านบาท ปี 2565 ได้รับจัดสรรลดลงเหลือ 12 ล้านบาท

-โครงการสานสัมพันธ์สร้างความเข้าใจภายในและต่างประเทศ ปี 2564 ได้รับจัดสรรงบจำนวน 3 ล้านบาท ปี 2565 ได้ลดลง 9 แสนบาท

-โครงการสนับสนุนภาคประชาสังคมร่วมสร้างพื้นที่สันติสุขขนาดเล็ก ปี 2564 ได้ 11 ล้านบาท ปี 2565 ได้ 5 ล้านบาท

-โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างทัศนคติที่ดีในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2564 ได้ 22 ล้านบาท ในปี 2565 ได้ 10 ล้านบาท

9.กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน

-โครงการพัฒนาธุรกิจฮาลาล ปี 2564 ได้ 8 ล้านบาท ปี 2565 ได้ 7 ล้านบาท

-โครงการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม ปี 2564 ได้รับการจัดสรร 15 ล้านบาท ปี 2565 ได้ 12 ล้านบาท

-โครงการขับเคลื่อนแนวทางวิถีชีวิตชุมชนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ ปี 2564 ได้จัดสรรงบประมาณ 15 ล้านบาท ปี 2565 ไม่ได้รับการจัดสรร

-โครงการสนับสนุนและเสริมสร้างโอกาสทางสังคม ปี 2564 ได้รับการจัดสรรงบ 13 ล้านบาท ปี 2565 ได้ 4 ล้านบาท

10.กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง

– ค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จ้างเหมาบริการบุคลากรประจำศูนย์เยียวยา ในปี 2564 ได้งบประมาณ 200 ล้านบาท ปี 2565 เหลือเพียง 75 ล้านบาท

– โครงการเตรียมความพร้อมเพื่อการเปลี่ยนผ่านกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2564 ได้งบประมาณ 29 ล้านบาท ปี 2565 ได้ 19 ล้านบาท

11.กองประสานและเร่งรัดการพัฒนาพื้นที่พิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้

-ค่าใช้จ่ายโครงการสนับสนุนบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิในปี 2564 ได้ 2,249 อัตรา ในปีงบประมาณ 2565 ได้ 2,143 อัตรา ( 2,143 ×7,500 × 33 เดือน)

12.กองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจการพิเศษ

– โครงการขยายผลการพัฒนาตามแนวทางพระราชดำริและตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ปี 2564 ได้รับงบประมาณ 16 ล้านบาท ปี 2565 ได้รับการจัดสรร 10 ล้านบาท

– โครงการเสริมการพัฒนาการศึกษาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ปี 2564 ได้รับ 13 ล้านบาท ปี 2565 ได้รับจัดสรร 7 ล้านบาท

-โครงการสนับสนุนการดำเนินงานโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ ปี 2564 ได้ 7 ล้านบาท ปี 2565 ได้ 8 ล้านบาท

-โครงการส่งเสริมคนดีมีคุณธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ ในปี 2564 ได้งบประมาณ 59 ล้านบาท ปี 2565 ไม่ได้รับการจัดสรร

ที่มา: ข่าวสด, 6/9/2564

บริษัทก่อสร้างนำแรงงานรับวัคซีน COVID-19 อย่างต่อเนื่อง

บรรยากาศที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย – ญี่ปุ่น) เขตดินแดง ซึ่งเป็นจุดให้บริการฉีดวัคซีนผู้ประกันตน ม.33 ที่ทำงานกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างทั้งแรงงานไทย-ต่างด้าวที่มีหลักฐานถูกต้องตามกฎหมายพบว่า ล่าสุด ทางบริษัทฯได้นำแรงงานเข้ามาลงทะเบียน รับวัคซีนอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 1

ส่วนการบริหารจัดการคิวนั้น ทางเจ้าหน้าที่จะให้หัวหน้างานแต่ละบริษัทมาลงทะเบียนด้านในตามเวลานัดหมาย ส่วนแรงงานจะมีเจ้าหน้าที่ จัดลำดับแจกเอกสารชี้แจงการกรอกข้อมูลก่อนที่จะเข้ารับวัคซีนอยู่บริเวณด้านหน้า สำหรับการฉีดวัคซีนที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 ยังคงเป็นการให้บริการสำหรับกลุ่มแคมป์คนงานที่เป็นผู้ประกันตน ม.33 และลงทะเบียนผ่านกับทางบริษัทหรือฝ่ายบุคคลโดยแต่ละบริษัทจะต้องนับจำนวนผู้ที่ประสงค์จะฉีดวัคซีนและนำเอกสารมาลงทะเบียนยืนยันกับทางเจ้าหน้าที่ จากนั้นทางเจ้าหน้าที่จะจัดลำดับให้เข้าไปรับวัคซีนยังด้านในซึ่งใน นี้จะทำการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มแคมป์คนงานจนครบจากนั้น จึงจะเริ่มเปิดฉีดให้กับผู้ประกันตน ม.33 ทั่วไป

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 6/9/2564

มีผลแล้วขึ้นเงินเดือนพนักงานเก็บขยะท้องถิ่นสูงสุด 2 หมื่นบาท

4 ก.ย. 2564 มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 3 ระดับ ออกประกาศคณะกรรมการกลาง 3 ฉบับ

ลงนามโดยพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด รประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล และประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล

โดยทั้ง 3 ฉบับว่าด้วย เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับเงินเพิ่มสำหรับพนักงานจ้างผู้ปฏิบัติงานที่มีลักษณะเป็นการเสี่ยงภัยต่อสุขภาพ พ.ศ. 2564 มีหลักการเพื่อให้ “พนักงานจ้าง” เช่น พนักงานจ้างทั่วไป และพนักงานจ้างตามภารกิจผู้ปฏิบัติงานที่มีลักษณะเป็นการเสี่ยงภัยต่อสุขภาพมีสิทธิได้รับเงินเพิ่ม

สำหรับอัตราการจ่ายเงินเพิ่ม ที่ผ่านความเห็นชอบให้พนักงานจ้างสำหรับ อบจ. เทศบาล และ อบต. แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ตามลักษณะความเสี่ยงภัยต่อสุขภาพ ประกอบด้วย

พนักงานจ้าง กลุ่มงานขุดลอกท่อระบายนํ้า ขับรถบรรทุกสูบ ดูดหรือขนถ่ายสิ่งปฏิกูล มูลฝอยติดเชื้อ งานประจำรถสิ่งปฏิกูล อัตราเดือนละไม่เกิน 2,500 บาท

พนักงานจ้าง กลุ่มงานขับรถบรรทุกเก็บขยะมูลฝอย เรือบรรทุกเก็บขยะมูลฝอย หรือรถตักขยะมูลฝอย และคนงานประจำรถและเรือขยะบรรทุกเก็บขยะมูลฝอย อัตราเดือนละไม่เกิน 2,000 บาท

พนักงานจ้าง กลุ่มงานจัดเก็บ และกวาดขยะมูลฝอย รวมถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์หรือหน่วยกำจัด ขยะมูลฝอยอัตราเดือนละไม่เกิน 1,500 บาท

ทั้งนี้ วิธีการจ่ายเงินเพิ่ม ให้จ่ายตามระยะเวลาการปฏิบัติงานจริงที่สัญญาจ้างกำหนด และหากในเดือนใดมีวันที่ปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามสัญญาก็ให้จ่ายเงินเพิ่มตามสัดส่วนจำนวนวันของเดือนนั้น

ปัจจุบันพนักงานจ้างทั่วไป และพนักงานจ้างตามภารกิจ ในกลุ่มงานดังกล่าว เฉพาะ อปท. มีอัตรา ​เงินเดือนระหว่าง 9,000- 18,000 บาท และมีสวัสดิการเทียบเท่า “พนักงานจ้าง”

โดยอัตราดังกล่าว เป็นคนละส่วนกับลูกจ้างชั่วคราว กทม. หรือ ลูกจ้างของภาคเอกชน ที่ได้รับสัมปทานในการจัดเก็บขยะสิ่งปฏิกูลของ อปท.

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 4/9/2564

'ไทยยูเนี่ยน-ซีพีเอฟ' ชงรัฐนำเข้าแรงงานดันส่งออกธุรกิจอาหาร

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหารบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ขณะนี้ในธุรกิจอาหารเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยมีประเด็นที่สำคัญ คือ แรงงานในอุตสาหกรรมไม่เพียงพอ เพราะการระบาดทำให้แรงงานกังวลเรื่องการติดเชื้อ รวมทั้งมีแรงงานจำนวนหนึ่งต้องขอลาออก โดยที่ผ่านมาได้หารือกับนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งได้รับการชี้แจงแนวคิดการแก้ปัญหาดังกล่าวของกระทรวงแรงงาน

“รมว.แรงงานมีไอเดียว่า ถ้าเราปล่อยไว้อย่างนี้ ประเทศเราพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเยอะ อาจจะต้องมีกระบวนการในการเซ็ตมาตรฐานในการนำแรงงานต่างด้าวมา โดยมีระบบจัดการแรงงานที่ดี เข้าใจว่ากระทรวงแรงงานมีแนวคิดในการจัดการ” นายประสิทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ การส่งออกถือเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญมากตัวหนึ่งในการขับเคลื่อนการส่งออก โดยถ้าทุกคนมีกำลังผลิตที่ลดลงเพราะขาดแรงงาน ก็อาจจะกระทบเรื่องเศรษฐกิจของประเทศไทยซึ่งทำให้กระทรวงแรงงานมีแนวคิดที่อาจจะดำเนินการนำเข้าแรงงาน โดยประกาศเชิญชวนให้แรงงานต่างชาติเข้ามา แต่ต้องมีระบบบริหารจัดการ เช่น มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 การจัดสถานที่ Quarantine ให้กับแรงงานก่อนเข้ามาทำงาน โดยการดำเนินการดังกล่าวต้องเป็นไปในลักษณะรัฐต่อรัฐ (G to G) หรือการมีหน่วยงานที่รัฐบาลให้การรับรองเพื่อมาดำเนินการส่วนนี้ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ดีในการเข้ามาแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

นอกจากนี้ ซีพีเอฟได้มีแนวทางในขณะนี้เพื่อจูงใจให้มีผู้มาร่วมทำงาน โดยการรับพนักงานใหม่ถ้าได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจะให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม รวมทั้งซีพีเอฟพยายามสื่อสารว่ามีระบบควบคุมการระบาดและการฉีดเพื่อให้ผู้มาร่วมทำงานมีความเชื่อมั่น ซึ่งที่ผ่านมาซีพีเอฟได้จัดหาวัคซีนเพื่อฉีดให้พนักงาน

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แรงงานต่างชาติที่กลับประเทศไปแล้วเดินทางเข้ามาทำงานในไทยไม่ได้ เพราะการปิดประเทศหลังมีโควิด-19 แต่ปัจจุบันการทำงานในโรงงานได้รับการดูแลมากขึ้น โดยรัฐบาลเห็นชอบให้ใช้มาตรการบับเบิ้ลแอนด์ซีล ซึ่งจะคัดแยกแรงงานที่ติดเชื้อไปรักษา ส่วนแรงงานที่ไม่ติดเชื้อก็ทำงานตามปกติ

ดังนั้นรัฐบาลควรพิจารณาเปิดให้แรงงานต่างชาติเข้ามาแบบโปร่งใสตามขั้นตอนตามกฎหมาย แต่เข้มงวดก่อนข้ามพรมแดน โดยต้องตรวจหาเชื้อโควิดก่อนแล้วนำมากักตัว 14 วัน ก่อนตรวจใหม่อีกครั้ง รวมทั้งการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างความมั่นใจและปลอดภัยต่อทั้งตัวพนักงานและกระบวนการผลิตของโรงงาน

สำหรับการเปิดนำเข้าแรงงาน ดังกล่าวจะส่งผลให้การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารที่ความต้องการในตลาดโลกมีมากขึ้น และเป็นสินค้าพื้นฐานที่ขาดไม่ได้แม้จะเปิดภาวะโรคระบาด แต่ความต้องการยังเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการกักตุน ดังนั้นหากรัฐบาลพิจารณาเปิดนำเข้าแรงงานช่วงนี้ และเมื่อรวมกับสถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอยู่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้การส่งออกในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัว

“ตอนนี้ทั้งสหรัฐและอียูบางประเทศ เริ่มทยอยเปิดประเทศกันแล้ว เป็นสัญญาณดีว่าการใช้ชีวิตประจำวันเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้นความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคจะกลับมาคึกคักเป็นโอกาสของไทย แต่การผลิตของไทยยังทำไม่ได้เต็มศักยภาพ เพราะแรงงานมีน้อย ต้องแก้ปัญหาตรงนี้ ส่วนเรื่องเรือบรรทุกสินค้าคาดว่าจะดีขึ้นตามมา“

ทั้งนี้ แรงงานของไทยยูเนี่ยนหายไปส่วนหนึ่ง แต่อยู่ในระดับที่พอจะหมุนเวียนการทำงาน จัดระบบการทำงานล่วงเวลา (โอที) เพื่อทดแทนผลผลิตที่หายไป ส่วนการปิดโรงงานที่ จ.สงขลา 2 สัปดาห์ เพื่อเคลียร์ปัญหาโควิด เสร็จแล้วก็เปิดต่อ แต่ถ้านำเข้าแรงงานได้จะดีมากขึ้น ซึ่งไทยยูเนี่ยนหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาการนำเข้าแรงงานอย่างปลอดภัย ซึ่งขึ้นกับรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 5/9/2564

กสร. ชี้แจงสิทธิของลูกจ้างที่ประสบภาวะน้ำท่วม ไม่ถือเป็นการขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ หากนายจ้างเลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย

นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและโฆษกกรม (กสร.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ จนส่งผลให้ลูกจ้างไม่สามารถเดินทางเข้าทำงานในสถานประกอบกิจการของนายจ้างได้นั้น นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดูแลสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างในพื้นที่ที่ไม่สามารถทำงานได้เพราะประสบภาวะน้ำท่วม การที่ลูกจ้างไม่สามารถเดินทางไปทำงานในสถานประกอบกิจการของนายจ้างได้เพราะเกิดภาวะน้ำท่วมถนนสาธารณะ ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ตามปกติไม่ใช่ความผิดของลูกจ้าง จึงไม่ถือว่าลูกจ้างขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ นายจ้างจะนำมาเป็นเหตุลงโทษวินัยออกหนังสือเตือนรวมถึงเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยไม่ได้ หากนายจ้างเลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย ลูกจ้างที่ประสบปัญหาการเดินทางไม่อาจไปทำงานได้ชั่วคราวควรมีการแจ้งให้นายจ้างหรือหัวหน้างานทราบทันที เพื่อให้นายจ้างได้จัดเตรียมลูกจ้างอื่นทำงานแทน หรือบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่กิจการของนายจ้างด้วย

โฆษก กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์การประสบภัยธรรมชาติส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการของสถานประกอบกิจการหลายแห่งซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งและการเลิกจ้าง การแก้ไขปัญหาแรงงานในภาวะเช่นนี้สมควรที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องพูดคุยกันด้วยเหตุผล ร่วมมือกันเพื่อให้เกิดความสงบสุขด้านแรงงาน ซึ่งระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำมาซึ่งความสงบสุขดังกล่าว

ที่มา: RYT9, 3/9/2564

1 เม.ย. - 2 ก.ย. 2564 พบ COVID-19 ระบาดในโรงงาน 881 แห่ง ผู้ติดเชื้อ 61,919 คน

กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง จัดเสวนา “ผนึกกลัง ฝ่าวิกฤติ Covid-19 ในสถานประกอบการ” หวังขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อดังกล่าวในสถานประกอบกิจการโรงงาน ขณะที่ตัวเลขโรงงานติดเชื้อล่าสุด 881 แห่งพบสูงสุดใน 5 จังหวัด หนุนประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid และ Thai Save Thai

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการเสวนา “ผนึกกำลัง ฝ่าวิกฤต COVID-19 ในสถานประกอบกิจการ” ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ให้เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับหน่วยงานต่างๆขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและควบคุม การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (หรือ COVID-19) ในสถานประกอบกิจการโรงงาน จึงร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง จัดเสวนาในหัวข้อ “ผนึกกำลัง ฝ่าวิกฤต COVID-19 ในสถานประกอบกิจการ” เพื่อทำความเข้าใจในมาตรการ Good Factory Practice และหลักเกณฑ์ Bubble and Seal ให้กับผู้ประกอบกิจการโรงงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ผ่านช่องทาง Facebook Live เพื่อให้สามารถนำมาตรการ ดังกล่าวไปให้คำแนะนำและ ตรวจประเมินได้ในทิศทางเดียวกัน

“กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันและขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและควบคุม การแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน การเสวนาครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการ ในการปรับตัวในสถานการณ์การแพร่ระบาดในโรงงาน” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้ส่งเสริมให้สถานประกอบการต้องดำเนินการตามมาตรฐานสาธารณสุข และการประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid และ Thai Save Thai ตลอดจนการทำ Bubble and Seal เพื่อลดการแพร่ระบาดในสถานประกอบการลงไปได้ 4-5 เท่า ซึ่งจากข้อมูลของศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤตกระทรวงอุตสาหกรรม (ศูนย์CMC : Crisis Management Center) พบว่าตั้งแต่ 1 เม.ย. - 2 ก.ย. 2564 พบการระบาดของเชื้อ COVID-19 ในโรงงานประมาณ 881 โรงงาน ใน 62 จังหวัด และพบว่ามีผู้ติดเชื้อ ประมาณ 61,919 คน

โดยจังหวัดที่พบการระบาด ในโรงงานสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ฉะเชิงเทรา สระบุรี สมุทรสาคร และเพชรบูรณ์ สำหรับประเภทอุตสาหกรรมที่พบการระบาดในโรงงานสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมโลหะ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมพลาสติก โดยสาเหตุเกิดขึ้นจาก ทั้งในส่วนของพนักงานได้รับเชื้อที่ระบาดภายในโรงงานแล้วนำไปแพร่เชื้อต่อในสถานที่ต่างๆ และจากพนักงานได้รับเชื้อไวรัสจากสถานที่ต่าง ๆ แล้วนำไปแพร่เชื้อต่อที่โรงงาน ส่งผลให้เกิดการระบาด ของ COVID-19 ในวงกว้าง ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ และโรงงานหลายแห่งต้องหยุดประกอบกิจการชั่วคราว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 3/9/2564

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net