นิธิ เอียวศรีวงศ์: จากผ้าถึงการเมือง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในท่ามกลางข่าวการพล่าผลาญทรัพยากรลาวของจีน ผมออกจะยินดีที่ได้อ่านบทความเรื่อง “Textiles economy in Laos: from the household to the world,” ของคุณ Annabel Vallard ในหนังสือชื่อ Changing Lives in Laos เพราะเป็นเรื่องความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่มาจากฝีมือคนลาวเอง อีกทั้งผู้เขียนยังให้รายละเอียดบางอย่างที่ทำให้เข้าใจความล้มเหลวหรือความสำเร็จที่ไม่เท่าของไทยในทางเดียวกัน

ก่อนที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ลาวจะเปิดเศรษฐกิจประเทศในช่วงทศวรรษ 1990 คนลาวก็เหมือนคนไทยสมัยก่อน ร.5 คือทอผ้าใช้เอง แต่ก็พอมีตลาดผ้าอยู่บ้างในเมืองใหญ่ เช่น เวียงจันทน์และหลวงพระบาง

แต่ในช่วงที่เกิดสงครามกลางเมืองในทศวรรษ 1970 ผู้คนจากชนบทต้องอพยพเข้าเมืองจำนวนมาก ก็เริ่มคิดกันถึงการผลิตผ้าทอมือคุณภาพสูง เพื่อส่งออกไปยังตลาดบน (high end) เพราะตลาดภายในนั้น ทั้งเล็กและกำลังซื้อต่ำ อุตสาหกรรมทอผ้าพื้นเมืองเติบโตขึ้นตามลำดับ แต่ยังไม่ฟู่ฟ่าจนหลังจากเปิดประเทศในทศวรรษ 1990 แล้ว ซึ่งรวมกิจกรรมสามด้านหลักไว้ด้วยกัน คือผลิตผ้าทั้งฝ้ายและไหม, ตัดเย็บ, การค้าและการจัดการ ก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนไม่น้อย

น่าสังเกตนะครับว่าทักษะความชำนาญตามประเพณีในการทอผ้าของชาวลาว (รวมชนกลุ่มน้อยด้วย) ยังอยู่ครบ เทคโนโลยีการผลิตระดับพื้นๆ ไปจนถึงระดับสูงสำหรับป้อนชนชั้นสูงก็ยังอยู่ครบ สิ่งใหม่คือพ่อค้าและการจัดการ ซึ่งจะว่าไปก็มีความสำคัญสูงสุด เพราะจะส่งสู่ตลาดโลกได้ ต้องยืดหยุ่นพลิกแพลงเป็น

แรงงานฝีมือจำนวนมากกระจายไปทั่วประเทศ และมีตลาดผ้าพื้นเมืองในรสนิยมของประชาชนเป็นปรกติธรรมดา แม้ไม่ใช่ตลาดใหญ่มหึมา เพราะประชากรลาวมีไม่มากนัก แต่อย่างน้อยก็เป็นฐานการผลิตที่แข็งแกร่งดี เช่น ผู้ขายและบริโภคต่างมีความสามารถในการแยกแยะคุณภาพของผ้าทอมือละเอียด ไม่ได้ซื้อเพราะสีสะดุดตาเพียงอย่างเดียว

หลังเปิดประเทศในทศวรรษ 1990 ธุรกิจผ้าพื้นเมืองในแหล่งท่องเที่ยวก็เฟื่องฟูขึ้น ตลาดเช้าบนถนนล้านช้างในเวียงจันทน์เป็นตลาดผ้าพื้นเมืองที่ใหญ่สุด คือป้อนความต้องการของประชาชนภายในที่ขยายตัวขึ้นด้วย เพราะเมืองกลายเป็นแหล่งอพยพ (ด้วยหลายสาเหตุ) ของประชากรจากชนบท จึงมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่รัฐบาลพยายามส่งเสริม “อัตลักษณ์ลาว” ของประชากร ส่วนหนึ่งคือการแต่งกาย ในขณะเดียวกันยังมีความต้องการของนักท่องเที่ยว ซึ่งซื้อหาผ้าพื้นเมืองไปเป็นที่ระลึกหรือของฝาก

การขยายและปรับปรุงเส้นทางคมนาคมในประเทศ ทำให้มีผ้าทอมือจากแหล่งผลิตจากชนบท ทั้งจากชาวลาวลุ่มในแต่ละวัฒนธรรมย่อยของตน และจาก “ชนเผ่า” ต่างๆ ซึ่งประกอบเป็นประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของลาว ทำให้ตลาดผ้าพื้นเมืองมีเสน่ห์อย่างมาก เพราะมีผ้าหลากหลายทั้งเทคนีคการทอ, สีย้อม, ลวดลาย, การใช้ประโยชน์ หรือถึงตัดเย็บเป็นรูปทรงที่แตกต่างกัน

ผ้าพื้นเมืองลาวสามารถจับตลาดโลกได้ โดยเฉพาะตลาดระดับสูง (high end) ในแต่ละปีมีการส่งออกจำนวนมาก จนกระทั่งเกิด “โรงงาน” ผลิตผ้าพื้นเมืองซึ่งใช้คนงานหลายสิบหรือถึงร้อยในหลายแห่งทั่วประเทศ ดูดซับแรงงาน (ส่วนใหญ่คือผู้หญิง) เข้าสู่การจ้างงานได้มาก เป็นแหล่งรายได้เงินสดที่สำคัญของครอบครัว

ซ้ำไม่ใช่แรงงาน “ไร้ฝีมือ” ที่เจ้าของโรงงานพร้อมจะสับเปลี่ยนได้ง่ายๆ ด้วย แต่ต่างเป็นแรงงานที่ต้องจัดว่า “มีฝีมือ” หรือทักษะทั้งสิ้น และด้วยเหตุดังนั้น แรงงานผลิตผ้าพื้นเมืองในลาวจึงได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าคนงานทอผ้ากับเครื่องจักรในประเทศไทยระยะเริ่มพัฒนาเป็นอันมาก

ในโรงงานลาว ทักษะการทอผ้าชั้นสูงถูกถ่ายทอดจากช่างสู่ช่างได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะแต่ละคนมีพื้นฐานความชำนาญในการทอผ้าอยู่แล้ว แต่ในทางตรงกันข้าม โรงงานก็ไม่ได้บริหารแรงงานแบบแบ่งแยกหน้าที่ออกเป็นคนละด้านอย่างตายตัว เหมือนการจัดองค์กรแรงงานในโรงงานสมัยใหม่ ช่างย้อมขาด ช่างทอก็อาจไปทำแทนได้ เพราะต่างมีทักษะในงานด้านต่างๆ ของการผลิตผ้าพื้นเมืองรอบด้าน ตามประเพณีการผลิตในหมู่บ้านซึ่งทำมานาน ทำให้เกิดความยืดหยุ่นสูง เหมาะกับแรงงานฝีมือลาวซึ่งยังต้องใช้ชีวิตตามตารางเวลาประเพณีด้วย ไม่ใช่ตารางเวลาของเครื่องจักรเพียงอย่างเดียว

คือเก็บเอาส่วนดีของกระบวนการผลิตตามประเพณีไว้ แล้วใช้ประโยชน์มันให้เหมาะกับการผลิตแบบโรงงาน

การผลิตผ้าพื้นเมืองในลาวนอกจากกระทำในโรงงานแล้ว ยังอาศัยระบบ putting out หรือสั่งผลิตตามบ้านเรือนด้วย ปัญหาก็คือจะรักษามาตรฐานคุณภาพได้อย่างไร ตลอดจนจะนำเอาคุณสมบัติใหม่ๆ อันเป็นที่ต้องการของตลาดใส่ลงไปในผ้าหรือเสื้อผ้าได้อย่างไร ถ้าถูกผลิตอยู่ตามบ้านเรือนโดยขาดการกำกับควบคุม

วิธีที่อุตสาหกรรมลาวใช้คือตั้ง “ตัวแทน” ลงไปในเขตต่าง ๆ รวมหลายชุมชนไว้ด้วยกัน ตัวแทนเหล่านี้ล้วนเป็นช่างมากฝีมือ ซึ่งสามารถถ่ายทอดความต้องการและเทคนิควิธีที่โรงงานต้องการลงไปถึงช่างในหมู่บ้านได้ครบถ้วน รวมทั้งกำกับตรวจสอบให้ได้คุณภาพตามต้องการ เหตุดังนั้น การกระจายการผลิตไปถึงครัวเรือนจึงไม่ทำให้คุณภาพของสินค้าระดับสูงสำหรับส่งออกลดลง

กระบวนการผลิตทั้งหมดก็ยังทำในระบบอุปถัมภ์ เพียงแต่เปลี่ยนตัวผู้อุปถัมภ์จากเจ้านายไปเป็นนักธุรกิจ และเปลี่ยนวิธีอุปถัมภ์ให้ไปกันได้กับธุรกิจสมัยใหม่เท่านั้น เช่น ทุกโรงงานล้วนมีหอพักฟรีแก่คนงาน ยกเว้นคนที่สมรสแล้ว เลี้ยงอาหารทุกมื้อ นายทุนมักรู้จักครอบครัวของคนงาน และรับปากจะดูแลลูกสาวซึ่งต้องมาใช้ชีวิตในเมืองใหญ่เช่นเวียงจันทน์ นอกจากนี้ บางทียังอาจเป็นแหล่งเงินกู้ให้แก่ความจำเป็นเฉพาะคราวของครอบครัวแรงงานด้วย

ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์เช่นนี้กีดกันนายทุนจีนออกไปโดยปริยาย เหลือแต่นายทุนลาวและเวียดนามซึ่งคุ้นเคยกับระบบอุปถัมภ์แบบลาวอย่างดี

แต่ที่ทำให้ประสบความสำเร็จอย่างดีคือความตื่นตัวอย่างคึกคักของนายทุนเอง นอกจากหาตลาดต่างประเทศด้วยการนำเอาสินค้าเข้าสู่ระบบธุรกิจในต่างแดนอย่างเต็มรูปแบบ แทนที่จะพึ่งพารัฐให้ช่วยโฆษณาผ้าพื้นเมืองลาวผ่านนิทรรศการทางการทูต ธุรกิจให้ข้อมูลที่จำเป็นในการผลิต นั่นคือรสนิยมแท้จริงของผู้บริโภคในต่างแดน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อผ้าหรือลวดลายรูปแบบ

เหตุดังนั้น ผ้าพื้นเมืองลาวจึงไม่ติดกับรูปแบบตายตัว เพราะไม่ได้ผลิตผ้าเพื่อเก็บในพิพิธภัณฑ์เป็นความภาคภูมิใจของชาติ การเรียนรู้จากของเก่ามีความจำเป็น แต่เพื่อนำมาประยุกต์ให้เข้ากับตลาดได้อย่างไม่สิ้นสุดต่างหาก

เปรียบเทียบกับไทย กว่าเราจะหันมาส่งเสริมผ้าพื้นเมือง ก็แทบจะหาช่างฝีมือในหมู่บ้านทั่วไปไม่ได้เสียแล้ว อีกทั้งผ้าพื้นเมืองเองก็เสื่อมจากความนิยมในหมู่คนไทยไปนานแล้วด้วย แม้ว่าไทยมีประชากรมากกว่าลาว แต่ตลาดภายในกลับอ่อนแอกว่าเสียอีก อย่างไรก็ตาม ผ้าพื้นเมืองและผ้าทอมือทั่วทั้งโลกปัจจุบัน ย่อมเป็นสินค้าในตลาดทางเลือกเล็กๆ (niche market) เสมอ ตลาดภายในของตนจึงมักไม่เพียงพอที่จะรองรับผ้าพื้นเมืองในการผลิตระดับอุตสาหกรรมได้

การผลิตผ้าสำหรับตลาดระดับสูงของลาว มีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรมเดิมเช่นเดียวกับไทย เพราะมีความต้องการในวัฒนธรรมของคนชั้นสูง เช่น ราชสำนัก หรือวัดที่ได้รับการอุปถัมภ์จากชนชั้นสูง แม้กระนั้นเราก็ไม่อาจพูดได้ว่าอุปสงค์เหล่านี้ก่อให้เกิด “ตลาด” ได้จริง เพราะทั้งการผลิตและการกระจายล้วนทำกันในระบบอุปถัมภ์ทั้งสิ้น

ผมพูดเรื่องนี้เพื่อเตือนว่า การจะแปลงการผลิตภายใต้ระบบอุปถัมภ์มาสู่การผลิตเพื่อป้อนตลาดไม่อาจทำได้ง่ายๆ นะครับ ผมเข้าใจว่าการผลิตผ้าทอมือเพื่อตลาดระดับสูงของไทยไม่ประสบความสำเร็จเท่าลาว ส่วนหนึ่งที่สำคัญก็เพราะกระบวนการผลิตก็ยังอยู่ในระบบอุปถัมภ์เหมือนเดิม ไม่อาจตอบรับ “ตลาด” ของโลกปัจจุบันได้

อันที่จริงการเริ่มธุรกิจผ้าพื้นเมืองในไทยก็ไม่ต่างจากลาวนัก การนำเอาเทคนิค (เช่นสี) และตลาดใหม่ ๆ มาสู่ไหมไทยของนายจิม ทอมป์สัน ทำให้ไหมไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลก ในช่วงนั้นหมู่บ้านอีสานจำนวนมากยังผลิตผ้าไหมเพื่อใช้ในครัวเรือน แรงงานที่มีทักษะเพื่อต่อยอดจึงหาได้ไม่ยากนัก ในขณะที่นายทอมป์สันเองมีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมอุปถัมภ์แบบไทยดี เพราะเคยทำงานราชการลับระหว่างสงครามมานาน สามารถปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เช่นนี้ให้เหมาะกับธุรกิจสมัยใหม่ได้

หลังนโยบายพัฒนา ใครๆ ก็เข้าถึงผ้าโรงงานซึ่งราคาถูกกว่าและตอบสนองการใช้งานได้หลากหลายกว่า การผลิตผ้าพื้นเมืองจึงเสื่อมลงอย่างรวดเร็วจนแทบจะสูญสิ้นไปเลย ในช่วงนี้เองที่ชนชั้นสูงได้เข้ามาให้การอุปถัมภ์แก่การผลิตผ้าพื้นเมือง โดยเน้นไปที่ผ้าคุณภาพระดับสูง และมุ่งไปยังตลาด high end ที่แคบมากๆ ทั้งในและต่างประเทศ

ความพยายามอันนี้ไม่ใช่ทำได้ง่าย เพราะกว่าจะรวบรวมฝีมือและความรู้ซึ่งกระจัดกระจายให้สามารถถ่ายทอดไปสู่กลุ่มชาวบ้านที่เลือกสรรได้ ต้องอาศัยการสนับสนุนอยู่มากทีเดียว แต่เนื่องจากตลาดมีจำกัด แรงงานฝีมือที่ผลิตได้จึงไม่มากพอจะขยายไปสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรมได้

แต่สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปอย่างน่าสังเกตก็คือ นายทุนและนักธุรกิจไทยไม่กระตือรือร้นที่จะมาหากำไรกับผ้าพื้นเมืองไทยในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้พอเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะจะทำเช่นนั้นได้ ก็ต้องลงทุน (เงินและ/หรือความอดทนใส่ใจยาวนาน) เพื่อเปิดตลาด คนที่พร้อมจะทำเช่นนั้นคือพ่อค้าระดับกลาง ซึ่งไม่อาจเป็นเสือนอนกินกับธุรกิจของตนเองได้เหมือนเจ้าสัวหรืออาเสี่ย ซึ่งไม่รู้จะไปเสี่ยงกับธุรกิจที่ไม่แน่นอนเช่นนั้นทำไม

แต่พ่อค้าระดับกลางเข้าถึงการอุดหนุนของรัฐได้น้อย ทั้งยังเข้าไม่ค่อยถึงการอุปถัมภ์ค้ำชูของชนชั้นสูงเสียอีก จึงไม่มีศักยภาพที่จะเสี่ยงทางธุรกิจด้วยเวลาอันยาวนานเช่นนั้นได้ (ยังไม่พูดถึงการเข้าถึงแหล่งทุนและเทคโนโลยี ซึ่งยากกว่านายทุนระดับเจ้าสัวและอาเสี่ย) เงื่อนไขต่างๆ ทำให้เราไม่มี enterprising investor ผู้ลงทุนพร้อมเสี่ยง ซึ่งจะเปิดตลาดผ้าพื้นเมืองไทยไปสู่ตลาดโลก

เรื่องนี้มาเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางการเมืองของไทย

เคยสังเกตบ้างไหมครับว่า คนชั้นกลางไทยนั้นดูเหมือนมีอำนาจทางการเมืองสูงมาก เพราะเข้าถึงสื่อ, เข้าถึงการจัดองค์กรจึงสร้างแรงกดดันสูง รวมทั้งเป็นผู้กำหนดทิศทางทางวัฒนธรรมของสังคม เพราะเป็น “ตลาด” ใหญ่สุด ฯลฯ เพราะฉะนั้น รัฐก็ตาม พรรคการเมืองก็ตาม หน่วยงานรัฐก็ตาม ต่างพากันตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องของคนชั้นกลางอย่างขมีขมัน จนคนชั้นกลางเองคิดว่าตนเป็นผู้คุมรัฐและสังคม บางคนยังคิดว่าควรนับค่าคะแนนเสียงของตนเป็นร้อยเท่าพันเท่าของชาวบ้านทั่วไปด้วยซ้ำ

แต่ในขณะเดียวกัน รัฐและองค์กรทางการเมืองไม่เคยมีนโยบายระยะยาวเกี่ยวกับคนชั้นกลางเลย แม้แต่ขยายการศึกษา ก็เพื่อทำให้มีปริมาณของคนชั้นกลางเพิ่มขึ้นในสังคม แล้วการศึกษาของคนชั้นกลางเองเล่าครับ เขาจะสั่งสมความรู้และทักษะไปทางไหน และอย่างไร จึงจะทำให้ก้าวหน้ามากขึ้น ทั้งด้านทรัพย์สิน, ฐานะทางสังคม และรสนิยมสติปัญญา ผมคิดว่าไม่มีคำตอบนะครับ แม้แต่พรรคการเมืองเองก็ยังไม่มีนโยบายระยะยาวกับคนชั้นกลาง ไม่ต้องพูดถึงคณะรัฐประหารชุดต่างๆ

คนชั้นกลางไทยถือกำเนิดขึ้นภายใต้ฉายาบารมีของรัฐราชาธิปไตย ตราบเท่าที่สยบยอมต่อฉายาบารมีนั้น ก็ประกันความมั่นคงของชีวิตได้ตลอดไป…รับราชการแล้วกินบำนาญจนตาย…เป็นต้น

ศักดินาไทยพยายามเชื่อมต่อกับชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ, การเมือง และสังคม ในขณะเดียวกันก็วางตัวเป็นผู้อุปถัมภ์คนระดับล่างที่ถูกรอนสิทธิ์ด้วยประการต่างๆ แต่ไม่มีโครงการอะไรเพื่อเชื่อมต่อกับคนชั้นกลาง จึงเหลือวิธีเดียวในการครอบคลุมคนชั้นกลางซึ่งขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ให้อยู่ภายใต้ฉายาบารมี นั่นคือการปลูกฝัง (indoctrinate) อุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม”

และนั่นคือเหตุผลที่ไม่ว่าในทางการเมืองจะโน้มเอียงไปทางเผด็จการหรือเสรีนิยม เครื่องมือของการ indoctrination หรือปลูกฝังอุดมการณ์ของฝ่ายศักดินา จะต้องปลอดพ้นจากการท้าทาย และดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงไม่สั่นคลอนตลอดไป จำเป็นต้องบิดเบี้ยวกระบวนการยุติธรรมก็ใช้ จำเป็นต้องใช้วิธีอุ้มหายก็ใช้ พิธีกรรม, เวลาออกอากาศ และการควบคุมสื่อด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม ต้องดำรงอยู่ตลอดไป เพื่อให้กระบวนการ indoctrination ดำเนินต่อไปได้

ผมคิดว่าความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุดในสังคมไทยเวลานี้ เกิดในหมู่คนชั้นกลางด้วยกันเองเป็นหลัก (แตกต่างจากการชุมนุมของพธม.หรือเสื้อแดง) และเป็นเรื่องของ “ลัทธิ” (doctrine) และการปลูกฝังลัทธิ (indoctrination) โดยตรงทีเดียว

และผ้าพื้นเมืองไทยไม่อาจหลุดออกไปจากระบบอุปถัมภ์สู่ตลาดโลกได้แท้จริง ก็เพราะเหตุนี้ด้วย

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_459531

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท