Skip to main content
sharethis

การลงมติร่างแก้รัฐธรรมนูญแก้ระบบเลือกตั้งผ่านสภาลงมติเห็นชอบ 472 คะแนน ไม่เห็นชอบ 33 คะแนน งดออกเสียง 187 คะแนน ก่อนประชุม "ก้าวไกล" แถลงงดออกเสียงเพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญต้องแก้ได้ทุกหมวดและมาตราถึงจะแก้ปัญหาการเมืองที่มีอยู่ได้ แต่ที่ผ่านมาฉบับที่ผ่านมา 2 วาระเหลือเพียงฉบับแก้ระบบเลือกตั้ง

10 ก.ย.2564 เวลาประมาณ 8.35 น. ที่รัฐสภา หลังการประชุมเพื่อลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ซึ่งมีเพียงร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) ของประชาธิปัตย์ที่ผ่านมาถึงการลงมติวาระ 3 เพียงฉบับเดียว

ชวน หลีกภัย ในฐานะประธานรัฐสภาประกาศผลการนับคะแนน ผลออกมามีสมาชิกรัฐสภาทั้ง 2 สภาลงมติเห็นชอบ 472 คะแนน เป็นเสียงของ ส.ส. 323 คะแนน ส.ว. 149 คะแนน ลงมติไม่เห็นชอบ 33 คะแนน เป็นส.ส. 23 คะแนน ส.ว. 10 คะแนน และงดออกเสียง 187 คะแนน ส.ส. 121 คะแนน ส.ว. 66 คะแนน ดังนั้นเสียงที่เห็นชอบจึงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาทั้งหมดหรือ 365 คะแนน

ชวนกล่าวว่าขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (7) จะต้องรออย่างน้อย 15 วันแล้วนายกรัฐมนตรีจะต้องนำร่างทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทั้งนี้สาระสำคัญของร่างที่เพิ่งผ่านการลงมติครั้งนี้เป็นการแก้ไขระบบเลือกตั้ง โดยมาตรา 83 สภาผู้แทนราษฎรจะมีสมาชิกจำนวน 500 คน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 400 คน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 100 คน และมาตรา 91 ที่ให้มีการใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือการกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เป็นการกลับไปใช้ระบบคำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อแบบเดิมที่จะมีบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อแล้วคำนวนคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับมาคำนวณแบ่งเก้าอี้ส.ส.บัญชีรายชื่อ

‘ก้าวไกล’ แถลงงดออกเสียงลงมติร่างแก้ รธน.

ทิม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลนำส.ส.พรรคก้าวไกลแถลงจุดยืนพรรคก้าวไกลจะงดออกเสียงเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับผลลัพธ์ตั้งแต่วาระแรก

พิธากล่าวว่าประเด็นแรกว่าปัญหาทางการเมืองที่ผ่านมาสืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญปี 2560 จะแก้ปัญหาต้องแก้ไขทั้งฉบับโดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ที่ตัวแทนถูกเลือกเข้ามาจากการเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญจะต้องสามารถถูกแก้ไขได้ทุกหมวดและมาตรา แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ ผ่านเพียงร่างของพรรคประชาธิปัตย์ร่างเดียว เเละให้สามารถแก้ได้เพียง 2 มาตรา

ประเด็นที่สอง หลังจากที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับถูกลดทอน เหลือเพียงการแก้ไขระบบการเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลมีความเห็นว่า ควรที่จะแก้ไขระบบเลือกตั้งเพื่อที่จะให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าและถอดบทเรียนจากอดีต พรรคเห็นด้วยกับการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ การเลือก ส.ส. 1 ใบ เเละพรรค 1 ใบ จึงมีความชัดเจนเพื่อที่จะแก้ปัญหาการเหมารวมเจตจำนงของประชาชน

“เรายืนยันว่าเราไม่เห็นด้วยกับ รัฐธรรมนูญปี 60 ในการสืบทอดอำนาจ คสช.(คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) แต่ในขณะเดียวกัน เราก็มิอาจเห็นชอบกับผลลัพธ์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ทั้งในวาระ 1 และวาระ 2 ฉะนั้นเราจึงของดออกเสียง ตอนนี้ก็เป็นการชี้ชะตาของผู้ที่ต้องการที่จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่าจะมีเสียงสนับสนุนมากน้อยเพียงใด"

พิธากล่าวต่อว่าพรรคก้าวไกลพร้อมจะสู้ในทุกกติกาในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่เลือกเข้ามาแก้ไขวิกฤติบ้านเมืองไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจสังคมและการเมืองต่อไป

พิธาตอบคำถามนักข่าวประเด็นเรื่องความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลและการลาออกของรัฐมนตรีช่วย 2คนว่า รัฐบาลควรที่จะสนใจปัญหาของประชาชนอย่างเรื่องเศรษฐกิจและการระบาดของโคิด-19 มากกว่าการพยายามแก้ปัญหาเสถียรภาพภายในพรรคของตัวเอง แล้วในการอภิปรายไม่ไว้วางที่ผ่านมาก็เห็นว่าความชอบธรรมของนายกรัฐมนตรีก็ไม่สู้ดีนักรวมถึงปัญหารอยร้าวภายในพรรค

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net